บทวิเคราะห์ : “หัวเว่ย” ในสายตาโลกทั้งใบ

ข้อกล่าวหาของสหรัฐที่มีต่อบริษัทหัวเว่ย บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกตึงเครียดมากยิ่งขึ้นในช่วงหลัง

ข้อกล่าวหา “ความปลอดภัยทางไซเบอร์” เป็นข้อกล่าวหาที่ยกขึ้นโดยสหรัฐอเมริกา ส่งแรงกระเพื่อมไปยังหลายๆ ประเทศทั่วโลก

และแน่นอนว่าส่งผลกระทบกับบริษัทหัวเว่ยเองที่ถือได้ว่าเป็นผู้นำในด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานของโครงข่ายการสื่อสารในยุคที่ 5 หรือ “5 จี” เทคโนโลยีที่หัวเว่ยได้รับความไว้วางใจให้เป็นบริษัทแกนหลักในการพัฒนาระบบในประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศก่อนหน้านี้

แม้นายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน จะออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาอย่างแข็งขัน พร้อมทั้งระบุว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ “ไม่ยุติธรรมและไม่เหมาะสม” ทว่าหลายๆ ประเทศในโลกตะวันตกก็ดูเหมือนว่าจะเริ่มหันหลังให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนแห่งนี้แล้ว

สำหรับสหรัฐอเมริกา ชาติที่มักเผชิญหน้ากับจีนโดยเฉพาะในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำให้สงครามการค้ากับจีนคุกรุ่นขึ้น ได้ออกมาตรการเข้มงวดกับบริษัทหัวเว่ยแล้ว พร้อมทั้งเรียกร้องให้พันธมิตรดำเนินรอยตามอีกด้วย

 

เรื่องเกิดขึ้นย้อนไปตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2012 คณะกรรมาธิการด้านข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเปิดเผยรายงานการตรวจสอบที่พบว่า หัวเว่ย รวมถึงบริษัทแซดทีอี บริษัทที่มีสำนักงานในประเทศจีนอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือ “บ่อนทำลายความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา” พร้อมทั้งเรียกร้องให้ตัดสองบริษัทนี้ออกจากการทำสัญญาใดๆ กับรัฐบาลสหรัฐ

รายงานดังกล่าวระบุว่า ผู้ก่อตั้งบริษัทผู้ซึ่งเป็นอดีตวิศวกรของกองทัพจีน “ไม่ให้ความร่วมมือกับการสืบสวนอย่างเต็มที่ และไม่เต็มใจที่จะอธิบายความเกี่ยวข้องที่มีกับรัฐบาลจีน” ขณะที่หนังสือออกโดยสภาคองเกรสเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2017 ที่ผ่านมา ยังคงระบุด้วยว่าอุปกรณ์ของบริษัทหัวเว่ยยังคงเป็น “ภัยคุกคามกับความมั่นคง” ของสหรัฐอเมริกาอยู่

ด้วยความกังวลดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มบริษัท “เอทีแอนด์ที” และ “เวอร์ริซอน” สองผู้ให้บริการโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของสหรัฐหยุดขายสมาร์ตโฟนของหัวเว่ยในสหรัฐอเมริกา และล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2018 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้ลงนามในร่างงบประมาณทางการทหารประจำปี 2019 ลงรายละเอียด “ห้าม” ไม่ให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของกองทัพใช้อุปกรณ์ที่ผลิตโดย “หัวเว่ย” และ “แซดทีอี” ของจีนด้วย

ด้านออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ก็แสดงให้เห็นถึงความกังวลดังกล่าวเช่นกัน

โดยรัฐบาลออสเตรเลียประกาศห้าม “หัวเว่ย” ยื่นข้อเสนอในการพัฒนาโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงของประเทศเมื่อปี 2012 ก่อนที่ล่าสุดเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา ออสเตรเลียได้กันหัวเว่ยออกจากโครงการพัฒนาเทคโนโลยี 5 จี ในประเทศโดยให้เหตุผลถึงความเสี่ยงด้านความมั่นคงในประเทศ

ด้านนิวซีแลนด์ ดำเนินการตามแบบประเทศออสเตรเลียในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยอ้างถึง “ความเข้ากันไม่ได้ของเทคโนโลยี” ขณะที่ญี่ปุ่นดำเนินการไปในแนวทางเดียวกันในเดือนธันวาคม โดยมีเป้าหมายเพื่อ “หลีกเลี่ยงการรั่วไหลของข้อมูล”

สาธารณรัฐเช็ก ชาติในยุโรปตะวันออกก็ตื่นตัวในเรื่องนี้เช่นกัน โดยหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ ออกมาเตือนถึงการใช้ซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ของทั้งหัวเว่ยและแซดทีอี ด้วยเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับ “ความมั่นคงของชาติ”

 

ล่าสุดในช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของหัวเว่ยรายหนึ่งถูกจับกุมในประเทศโปแลนด์ ในข้อหา “จารกรรมข้อมูล” ให้รัฐบาลจีน ก่อนที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลโปแลนด์ระบุว่าโปแลนด์ได้เริ่มกระบวนการสืบสวนอุปกรณ์ของหัวเว่ยเพื่อประเมินความเสี่ยงแล้ว

นอกจากหลายๆ ประเทศดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่เริ่มตื่นตัวไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ประเทศที่แสดงความกังวลอย่างจริงจัง ก็มีบริษัทผู้ให้บริการอย่าง “โวดาโฟน” ที่ยกเลิกการสั่งซื้ออุปกรณ์เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในยุโรปจากหัวเว่ย ขณะที่ “บริษัทบีที” ก็ประกาศในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่าจะเลิกใช้อุปกรณ์หัวเว่ยจากระบบ 3 จี และ 4 จี ในประเทศทั้งหมด

ฝรั่งเศสหรือแม้แต่นอร์เวย์ก็แสดงความกังวลเช่นกัน และเริ่มคิดถึงการถอยห่างออกจากการใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม “เยอรมนี” เป็นประเทศเดียวที่ยังคงยืนยันว่าการที่ตัดสินใจดำเนินการบอยคอตอย่างจริงจังนั้นจำเป็นจะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน

สำหรับแคนาดา ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนมากที่สุดด้วยการจับกุม “นางเมิ่ง หวั่น โจว” ผู้บริหารและลูกสาวผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ยตามคำร้องขอของสหรัฐอเมริกาในข้อหาละเมิดมาตรการคว่ำบาตรทางการค้ากับอิหร่าน จนกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศเองนั้นก็ระบุเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า จะมีการพิจารณาอย่างต่อเนื่องว่าจะมีการห้ามใช้อุปกรณ์จากหัวเว่ยในโครงข่ายในประเทศหรือไม่ แม้ว่าทางการจีนจะขู่ตอบโต้หากมีการแบนเกิดขึ้นก็ตาม

จากนี้คงต้องจับตาดูกันว่า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนที่เริ่มขยายเป็นปัญหาระหว่างชาติพันธมิตรสหรัฐและจีนในครั้งนี้นั้นจะเป็นเรื่องที่กระตุ้นเตือนให้เห็นถึงความเสี่ยงจากการจารกรรมข้อมูลระดับโลก

หรือจะเป็นเพียงข้ออ้างทำลายเศรษฐกิจของศัตรูทางการค้ากันแน่