จีนยุคบุราณรัฐ : ร้อยสำนักเปล่งภูมิ (1)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
flickr/Rosmarie Voegtli

การเกิดขึ้นของนักปราชญ์หลากหลายสำนักถือเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งของยุคอักษายนะ ที่ในกรณีจีนก็ไม่ต่างกับทางยุโรปหรืออินเดียซึ่งต่างก็เป็นอู่อารยธรรมที่สำคัญของโลก

และเช่นเดียวกันที่ว่า ปราชญ์ของจีนเองก็เกิดภายใต้บริบททางการเมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและสงคราม ที่ทำให้สังคมเวลานั้นต่างก็แสวงหาทางออกจากวงจรดังกล่าวที่ดำรงมานานหลายร้อยปี

แต่ก็ภายใต้บริบทที่ว่าเช่นกัน ที่ทำให้นักคิดหรือปราชญ์แต่ละสำนักต่างเสนอทางออกให้สังคมหลากหลายแนวทาง

บางแนวทางแม้จะสอดคล้องกับความเป็นจริง แต่ก็ยากแก่การปฏิบัติอยู่ไม่น้อย

บางแนวทางก็ดูเป็นอุดมคติที่เกินจะไขว่คว้า

ในขณะที่บางแนวทางก็พิสดารจนยากที่จะเข้าใจว่าเป็นทางออกได้อย่างไร เป็นต้น

ปราชญ์แห่งสำนักต่างๆ ของจีนเวลานั้นเกิดในช่วงปลายยุควสันตสารท แล้วต่อเนื่องไปจนถึงปลายยุครัฐศึก การปรากฏขึ้นของสำนักเหล่านี้ได้ผ่านช่วงเวลานานนับร้อยปี ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะทำให้มีสำนักเกิดขึ้นจำนวนมาก จนกล่าวกันว่ามีอยู่นับ “ร้อยสำนัก”

คำว่า “ร้อย” นี้ไม่ได้มีความหมายตามคำ หากแต่เป็นคำกล่าวเปรียบว่ามีอยู่จำนวนมากจนเกินจะนับ

การที่มีสำนักเกิดขึ้นมากมายเช่นนี้เป็นไปโดย 2 นัย

นัยแรก สำนักที่มากมายนี้มีความคิดเฉพาะตนที่ต่างก็อิสระไม่ขึ้นต่อกัน

นัยสอง มีสำนักจำนวนไม่น้อยที่มีปรัชญาเดียวกับสำนักที่มีมาก่อนหน้านี้ แต่สำนักตนได้พัฒนาปรัชญาของสำนักเดิมให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีก ตามนัยนี้ก็แสดงว่าสำนักที่เกิดในชั้นหลังถือเป็นสำนักเดียวกับสำนักที่เกิดก่อน ปรัชญาของสำนักที่เกิดในชั้นหลังนี้จึงเป็นอนุปรัชญาของสำนักแรก อนุปรัชญาเหล่านี้จึงส่งผลให้มีสำนักมากขึ้นไปด้วย

จากสำนักปรัชญาที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากจนเป็นที่มาของคำกล่าวเปรียบว่ามีมากเป็น “ร้อยสำนัก” นี้เอง ที่ได้ทำให้เกิดคำเรียกขานปรากฏการณ์นี้ว่า “ไป่เจียเจิงหมิง” หรือ “ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” ขึ้นมา เพื่อสื่อให้เห็นว่า มีสำนักปรัชญาหรือสำนักคิดจำนวนมากมายต่างแข่งขันประชันภูมิกัน

ส่วนสำนวนที่ว่า “ไป่ฮวาฉีฟ่าง ไป่เจียเจิงหมิง” หรือ “ร้อยบุปผาบานเบ่ง ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1950 หลังจากที่จีนตกอยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ไปแล้ว

ผู้ที่ใช้สำนวนที่ว่าคือ เหมาเจ๋อตง (1893-1976) ซึ่งเป็นการใช้ด้วยเหตุผลทางการเมือง ซึ่งในที่นี้ขออนุญาต “ออกนอกเรื่อง” เพื่อกล่าวถึงเรื่องนี้ให้เข้าใจแต่พอประมาณ

เริ่มจากถ้อยคำ “ร้อยบุปผาบานเบ่ง” ก่อน ถ้อยคำนี้เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) โดยมีที่มาจากวรรณกรรมเรื่อง จิ้งฮวาหยวน (จินตมายาลิขิต) ของหลีหญู่เจิน (ประมาณ ค.ศ.1763-1830)

วรรณกรรมชิ้นนี้มีเนื้อหาที่ยกย่องสรรเสริญสติปัญญาและความรู้ความสามารถของตัวละครหญิง ที่แฝงทัศนะวิพากษ์วิจารณ์ด้านอัปลักษณ์ทางด้านมโนทัศน์ของชายผู้สูงศักดิ์กับหญิงผู้ต่ำต้อยและผู้คนในยุคศักดินา

จากเนื้อหาดังกล่าว ในองก์ที่ 3 ของวรรณกรรมได้กล่าวถึงเทพผู้สูงสุดแห่งสรวงสวรรค์ได้มีบัญชาให้เทพองค์หนึ่งมีหน้าที่ดูแลเหล่าบุปผชาตินานาพรรณในสวนแห่งหนึ่งให้เบ่งบานอยู่ตลอดเวลา

วรรณกรรมตอนนี้เองที่เป็นที่มาของถ้อยคำ “ไป่ฮวาฉีฟ่าง” หรือ “ร้อยบุปผาบานเบ่ง” ให้เป็นที่กล่าวขานในเวลาต่อมา

แต่จนถึงตอนนั้นก็ยังมิได้มีเหตุหรือวี่แววอันใดที่จะทำให้ถ้อยคำนี้ไปอยู่เคียงคู่กับถ้อย “ไป่เจียฉีฟ่าง” จนกลายเป็น “ไป่ฮวาฉีฟ่าง ไป่เจียเจิงหมิง” หรือ “ร้อยบุปผาบานเบ่ง ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” แต่อย่างใดเลย

และกว่าที่ถ้อยคำทั้งสองจะอยู่เรียงเคียงคู่กันจริงๆ เวลาก็ลุล่วงไปในอีกกว่าหนึ่งร้อยปีต่อมา

กล่าวคือว่า หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดอำนาจการปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 1949 ไปได้ประมาณ 2 ปี วันหนึ่งของปี 1951 เหมาเจ๋อตง (ค.ศ.1893-1976) ผู้นำจีนในขณะนั้นได้กล่าวคำปราศรัยต่อคณะอุปรากรจีน (งิ้ว) เกี่ยวกับการสร้างสรรค์งานทางด้านศิลปวัฒนธรรมโดยมีความตอนหนึ่งว่า งานทางด้านนี้ควรที่จะมีการชำระล้างสิ่งเก่าและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมา

โดยเหมาได้ยกเอาถ้อยคำ “ร้อยบุปผาบานเบ่ง” จากวรรณกรรมเรื่องดังกล่าวขึ้นมาชี้นำว่า งานทางด้านนี้ควรได้รับการปลดปล่อยให้มีอิสระ คือให้แต่ละสำนักหรือสาขาต่างๆ ของงานศิลปวัฒนธรรมได้มีโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานของตนอย่างเต็มที่ ประดุจหนึ่งการเบ่งบานของมวลบุปผชาตินานาพรรณ โดยให้มีเนื้อหาที่มุ่งรับใช้มวลชน

ต่อมาในปี 1953 เหมาก็ได้ชี้นำในลักษณะที่คล้ายๆ กันนี้อีกครั้งหนึ่งกับงานศึกษาทางประวัติศาสตร์ ว่างานวิชาการทั้งทางสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (ฝ่ายซ้ายมักจะเรียกงานทั้งสองด้านนี้ว่า วิทยาศาสตร์ สังคม และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ตามลำดับ) ก็ควรได้รับการปลดปล่อยด้วยเช่นกัน

โดยเหมาได้ยกเอาถ้อยคำ “ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” ในสมัยยุควสันตสารทและยุครัฐศึกมาใช้เปรียบเปรยในทำนองเดียวกัน

จะเห็นได้ว่า ตอนที่เหมายกเอาถ้อยคำทั้งสองนี้มาอ้างอิงนั้น ถ้อยคำทั้งสองยังมิได้ถูกนำมารวมกันแต่อย่างใด

การรวมกันจริงๆ นั้นเกิดขึ้นในวันที่ 2 พฤษภาคม 1956 เมื่อเหมานั่งเป็นประธานในที่ประชุมผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยตอนหนึ่งของการประชุมเหมาได้เสนอนโยบายเกี่ยวกับปัญญาชนขึ้นมาว่า พรรคควรรณรงค์ให้ปัญญาชนและนักวิชาการได้แสดงความเห็นต่อนโยบาย บทบาท และท่าทีต่างๆ ของพรรคอย่างอิสระและเปิดเผย

ตอนที่เสนอความคิดเห็นที่ว่านี้เอง เหมาได้นำเอาถ้อยคำทั้งสองจากที่กล่าวมามารวมเคียงคู่กันเป็น “ร้อยบุปผาบานเบ่ง ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” ขึ้นมาเป็นครั้งแรก

จากนั้นต่อมาในวันที่ 26 พฤษภาคมของปีเดียวกัน ก็ได้มีการจัดให้มีการประชุมบรรดาปัญญาชนและนักวิชาการทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์สังคมและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ รวมตลอดจนผู้มีอาชีพในแวดวงศิลปวัฒนธรรมกันขึ้น

ในการนี้ ลู่ติงอี้ (ค.ศ.1906-1996) ผู้อำนวยการทบวงโฆษณาการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ขึ้นกล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุม โดยได้อธิบายถ้อยคำทั้งสองอ้างอิงไปถึงยุควสันตสารทและยุครัฐศึก

จากนั้นก็ยังได้ชี้ให้เห็นถึงความประสงค์ของพรรคในอันที่จะรณรงค์ให้ปัญญาชน นักวิชาการ และผู้ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมได้แสดงความเห็นต่อพรรคตามข้อเสนอของเหมาดังกล่าว

หลังจากนั้นการรณรงค์ก็เริ่มขึ้น

การรณรงค์ดังกล่าวได้มีบรรดานักศึกษา ปัญญาชน นักวิชาการ ศิลปิน รวมตลอดจนผู้ที่อยู่ในแวดวงสาขาอาชีพต่างๆ พากันออกมาวิพากษ์วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างกว้างขวาง

การรณรงค์ถูกแสดงออกมาในลักษณะที่แตกต่างกันไป บางคนบางกลุ่มก็กระทำไปอย่างมีเหตุมีผล แต่กับอีกบางกลุ่มบางคนกลับก้าวไกลไปถึงการเสนอให้ลดบทบาทของพรรคลง หรือไม่ก็ให้พรรคยุติการเผด็จอำนาจทางการเมือง แล้วปล่อยให้เกิดการเมืองแบบประชาธิปไตยขึ้นมา

ที่สำคัญ การรณรงค์ได้มีการใช้ถ้อยคำที่รุนแรง และถูกเรียกขานให้สอดคล้องกับที่มาว่า “ขบวนการร้อยบุปผา”

จนกระทั่งถึงกลางปี 1957 พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงเห็นว่า หากขืนปล่อยให้สภาพการเคลื่อนไหวเป็นเช่นนี้ต่อไป เสถียรภาพของพรรคก็จะถูกกระทบมากขึ้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงได้ออกมาประกาศให้ยุติการรณรงค์ดังกล่าวไปในที่สุด

ไม่เพียงเท่านั้น พรรคยังได้ทำการกวาดจับบรรดาผู้ที่มีบทบาทวิพากษ์วิจารณ์พรรคไปนับหมื่นคนทั่วประเทศ

ไม่ว่าผู้ที่ถูกจับกุมนั้นจะกระทำอย่างมีเหตุมีผลหรือไม่ก็ตาม

ผลที่ลงเอยเช่นนี้จึงมีผู้คิดเห็นในเวลาต่อมาว่า “ขบวนการร้อยบุปผา” ที่จุดประกายขึ้นโดยเหมาในครั้งนี้แท้จริงแล้วเป็นเรื่องโกหกพกลม และเป็นแผนล่อให้ผู้ที่มีความเห็นแตกต่างไปจากพรรคได้ออกมาแสดงตน เพื่อที่พรรคจะได้ทำการกวาดล้างโดยไม่ต้องลงแรงสืบสวนสอบสวนให้เปล่าเปลือง

ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้เรียกเหตุการณ์ในครั้งกระนั้นว่าเป็น “กับดักเหมา” (Mao”s Trap) คือเชื่อว่า “ขบวนการร้อยบุปผา” เป็นกับดักที่เหมาสร้างขึ้นมาเพื่อล่อเหยื่อให้ตายใจ ก่อนที่จะจัดการในภายหลัง

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความคิดที่ปล่อยให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระเสรีเพื่อให้เกิดข้อค้นพบใหม่ๆ หรือภูมิปัญญาใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมนั้น เป็นเรื่องเพ้อฝันและไม่มีอยู่จริงสำหรับโลกที่ถูกปกครองโดยอำนาจเผด็จการ

จะว่าไปแล้ว ถ้อยคำที่ว่า “ร้อยบุปผาบานเบ่ง ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” ที่เป็นจริงในยุควสันตสารทและยุครัฐศึกนั้น หาได้เกิดขึ้นโดยความใจกว้างของผู้มีอำนาจรัฐไม่ หากแต่เป็นจริงได้ก็โดยสำนึกของผู้ที่คงแก่เรียน และปรารถนาจะได้เห็นสังคมจีนหลุดพ้นไปจากสภาพความเสื่อมถอย

ซึ่งจะว่าไปแล้ว ข้อค้นพบที่สร้างสรรค์ในยุคที่ว่าไม่ว่าจะโดย ขงจื่อ เหลาจื่อ ฯลฯ นั้นก็ใช่ว่าชนชั้นปกครองในสมัยนั้นจะยอมรับก็หาไม่