จรัญ พงษ์จีน : “ประยุทธ์” วัดใจ “ประเทศไทย” มองไกลไปอีกก้าว

จรัญ พงษ์จีน

เทศกาลตรุษจีนในเมืองไทยปีนี้มีความพิเศษมากกว่าประเทศอื่นใดในโลก กล่าวคือ เป็นช่วงรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ คณะกรรมการการเลือกตั้งเปิดให้สมัครตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ จนถึง 8 กุมภาพันธ์

ระหว่างนี้ กกต.เปิดให้ลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขตเลือกตั้งและนอกเขตราชอาณาจักร จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายวันที่ 19 กุมภาพันธ์

ช่วงวันที่ 4-16 มีนาคม เป็นวันลงคะแนนนอกราชอาณาจักร และวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม เป็นวันลงคะแนนนอกเขตเลือกตั้ง

ส่วนวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศเป็นวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51 ล้านคน

นี่เป็นตารางเวลา “เลือกตั้ง ส.ส.” ของประเทศไทยครั้งที่ 28

อีกหนึ่งความพิเศษที่ทุกคนต้องจับตามอง นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้จะร่วมหอลงโรงกับพรรคพลังประชารัฐ

เหมือนเช่น 4 รัฐมนตรีที่ถอนตัวออกจากตำแหน่งไปลุยหาเสียงให้ พปชร.เต็มตัว

“บิ๊กตู่” ยังมีเวลาตัดสินใจกับอนาคตทางการเมืองจนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์

ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้า “บิ๊กตู่” เลือกเดินบนเส้นทางประชาธิปไตย ผ่านกระบวนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีกไม่ถึง 2 เดือนข้างหน้า ต้องมีชื่อตัวเองอยู่ในรายชื่อของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ระบุไว้ว่า

“ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกฯ ไม่เกิน 3 ชื่อต่อ กกต. ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้ กกต.ประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ”

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ “คลายล็อก” ให้นายกฯ คนที่ 30 ของไทย ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองอย่างเต็มตัว แค่ยอมให้พรรคเสนอชื่อก็เพียงพอแล้ว เพราะยังมีอีกหลายขั้นตอนที่ “ดีไซน์” ไว้เพื่อรองรับผู้นำคนใหม่ที่เป็นคนพิเศษเท่านั้น

 

ตามโพลการเมืองวันนี้ พรรคเพื่อไทยยังมาแรงในพื้นที่เหนือ อีสาน ตามด้วยพลังประชารัฐที่เริ่มไล่ตามมาห่างๆ

ใน 116 เขตของอีสาน กับอีก 33 เขตภาคเหนือ พท.มีโอกาสคว้า 70 เสียง พปชร.ประเมินไม่ถึง 60

ส่วนที่เหลือมีพรรคประชาธิปัตย์แซมอยู่ประปราย

พื้นที่ภาคใต้ 50 เขต ปชป.ยังมีฐานเสียงแน่นเหมือนเดิม อาจจะโดนเฉือนไปบ้างในพื้นที่สุดชายแดน 4 จังหวัด

พรรครวมพลังประชาชาติไทยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่วาดฝันตั้งเป้าจะได้ 3.5 ล้านเสียง กุมเก้าอี้ ส.ส. 50 ที่นั่ง อาจมีสิทธิชกลม ดีไม่ดีเหลือต่ำ 10

กทม. 30 เขต รวมกับภาคกลาง 76 เขต เป็นพื้นที่ที่โพลยังแกว่ง เพราะสำรวจแต่ละครั้งได้ผลออกมาไม่แม่นยำ

อย่าลืมว่าในการเลือกตั้งคราวนี้ มีตัวแปรสำคัญคือคนรุ่นหนุ่ม-สาวที่ไม่เคยลิ้มรสการเลือกตั้งมาก่อน หรือเคยใช้สิทธิเพียงครั้งเดียว นับจากมีการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 อยู่ในช่วงอายุ 18-26 ปี มีจำนวน 8.3 ล้านคน

ส่วนอายุ 27-50 ปี มี 23.8 ล้านคน ก็เป็นอีกตัวแปรหนึ่ง

การเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญบ่งชี้ว่า การเมืองไทยจะเดินไปทางไหน?

จะเดินย้อนกลับหลังซ้ำรอยเหมือนในอดีตที่ผู้คนร่วมเจ็บปวดเพราะกีฬาสี

คนในครอบครัวเดียวกันทะเลาะกันเอง

ได้เห็นฝ่ายหนึ่งใส่เสื้อแดง อีกฝ่ายเสื้อเหลือง ถืออาวุธประจันหน้าฆ่ากันอย่างเหี้ยมโหดทั้งที่เป็นไทยด้วยกัน

หรือจะเลือกเส้นทางเดินใหม่ เป็นเส้นทางปรองดอง แม้คิดต่างแต่ร่วมในสังคมเดียวกันได้อย่างกลมเกลียวสามัคคี?

นักวิเคราะห์ประเมินว่า คนรุ่นหนุ่ม-สาวจะเป็นตัวแปรหลักของการเลือกตั้งครั้งนี้

 

อย่างไรก็ตาม มีการประเมินในเบื้องต้นไว้ว่า แม้พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.เฉียดๆ 200 เสียงจากทั้งหมด 500 ที่นั่ง โอกาสตั้งรัฐบาลแทบริบหรี่

เพราะรัฐธรรมนูญดีไซน์ให้วุฒิสมาชิก 250 คนร่วมตัดสินใจในการเลือกนายกฯ คนใหม่

นั่นหมายถึงว่า ผู้ที่จะเป็นนายกฯ ต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกทั้งสองสภามากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือเท่ากับ 376 เสียงขึ้นไป

สมมุติเพื่อไทยและพรรคในเครือ “เพื่อ” ได้รวมกัน 200 เสียง ดึงพรรคภูมิใจไทยของเสี่ยหนู “อนุทิน ชาญวีรกูล” อีก 40 ชาติไทยพัฒนา 20 ชาติพัฒนา 20 มาเป็นพันธมิตร ก็ยังยากที่จะตั้งรัฐบาล เพราะเสนอชื่อบุคคลที่ไม่ใช่ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ แล้วให้ 250 ส.ว.ยกมือเห็นชอบ ดูเหมือนเป็นเรื่องยากเย็นยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา

เช่นเดียวกัน หาก ปชป.ได้เสียง 100 เสียง แล้วไปรวมกับพรรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ “พปชร.” พร้อมกับเสนอชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นนายกฯ ก็ไม่ผ่านด่าน 250 ส.ว.

ฝ่าย “พปชร.” โดยภาพรวมแล้ว จึงมีแนวโน้มอย่างสูงที่จะเป็นแกนหลักจัดตั้งรัฐบาลผสมมากกว่าพรรคใดๆ

ทั้งนี้ อยู่บนเงื่อนไข “บิ๊กตู่” ไฟเขียวให้ พปชร.เสนอชื่อเป็นว่าที่นายกฯ

การเลือกตั้งยังมาไม่ถึง แต่หลายคนมองช็อตประเทศไกลถึงขั้นวิเคราะห์ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ คนใหม่ แต่อยู่ในตำแหน่งได้ไม่กี่เดือน ก็ต้องยุบสภา กาบัตรใหม่อีกรอบ