“สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” “สมเด็จ” องค์สุดท้ายใน “รัชกาลที่ 9”

ได้รายชื่อพระเถรานุเถระที่จะเข้ารับพระราชทานสถาปนาเลื่อน และตั้งสมณศักดิ์ 160 รูป เนื่องในวาระวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช วันที่ 5 ธันวาคม 2559 เป็นที่เรียบร้อยโดยผ่านที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) แล้ว

คาดว่ารายชื่อดังกล่าวจะได้รับการเสนอขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ อาทิ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

พระธรรมวราจารย์ (แบน กิตฺติสาโร) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นพระสุธรรมาธิบดี

พระธรรมสุธี (พีร์ สุชาโต) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร กทม. เป็นพระธรรมปัญญาบดี

พระธรรมมังคลาจารย์ (ทอง สิริมงฺคโล) วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร จ.เชียงใหม่ เป็นพระพรหมมงคล วิ.

พระเทพวิสุทธิกวี (เกษม สญฺญโต) ประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย วัดราชาธิวาส กทม. เป็นพระธรรมกิตติเมธี

พระเทพปริยัติมุนี (สมคิด เขมจารี) วัดทองนพคุณ กทม. เป็นพระธรรมเจดีย์

พระเทพมุนี (เก็ง อาสโภ) วัดไตรมิตรวิทยาราม กทม. เป็นพระธรรมคุณาภรณ์

พระเทพวิริยาภรณ์ (นรินทร์ นรินฺโท) วัดหัวลำโพง กทม. เป็นพระธรรมสุธี

พระเทพสิทธิญาณรังสี (ประยงค์ ปิยวณฺโณ) วัดโสธรวราราม วรวิหาร พระอารามหลวง จ.ฉะเชิงเทรา เป็นพระธรรมมังคลาจารย์ วิ.

พระเทพพุทธิมงคล (สวัสดิ์ อตฺถโชโต) วัดพุทธาราม ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เป็นพระธรรมพุทธิวงศ์

พระเทพโพธิวิเทศ (เจ้าคุณวีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ) ประธานพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล วัดไทยพุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย เป็นพระธรรมโพธิวงศ์

พระราชสารโมลี (เฉลิม วีรธมฺโม) วัดนาควัชรโสภณ จ.กำแพงเพชร เป็นพระเทพวัชราภรณ์

พระราชวินัยเวที (ประยงค์ ปภาโส) วัดโบสถ์ จ.สิงห์บุรี เป็นพระเทพสารเวที

พระราชสุวรรณมุนี (แคล้ว อุตฺตโม) วัดมหาธาตุ จ.เพชรบุรี เป็นพระเทพสุวรรณโมลี

พระราชวิจิตรปฏิภาณ (สุนทร ญาณสุนทโร) หรือเจ้าคุณพิพิธ วัดสุทัศนเทพวราราม กทม. เป็นพระเทพปฏิภาณวาที

พระราชพุฒิมุนี (ประทัย วชิรญาโณ) วัดศรีษะเกษ จ.หนองคาย เป็นพระเทพกิตติมุนี

พระราชวินัยสุนทร (สำเภา ติสาโร) วัดนิเวศธรรมประวัติ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระเทพญาณไตรโลกาจารย์

พระราชปริยัติกวี (สุพจน์ โชติญาโณ) วัดกลาง จ.บุรีรัมย์ เป็นพระเทพปริยัตยาจารย์

พระราชภาวนาพินิจ (สนธิ์ อนาลโย) วัดพุทธบูชา กทม. เป็นพระเทพมงคลญาณ วิ.

พระราชปัญญาเวที (ริด ริตเวที) วัดตากฟ้า จ.นครสวรรค์ เป็นพระเทพปัญญาภรณ์

พระราชสุตาภรณ์ (ประชัน ฐิตปญโญ) วัดปากน้ำ กทม. เป็นพระเทพมุนี

พระราชวิสุทธิดิลก วัดสามพระยา กทม. เป็นพระเทพวิสุทธิดิลก

พระราชสุมนต์มุนี วัดบวรนิเวศวิหาร กทม. เป็นพระเทพวิสุทธิกวี

พระราชวรเวที (เฉลา เตชวนฺโต) วัดราชคฤห์ กทม. เป็นพระเทพวิสุทธิโสภณ

พระราชปฏิภาณโกศล (ละเอียด สลฺเลโข) วัดเขมาภิรตาราม จ.นนบุรี เป็นพระเทพเมธากรกวี

พระราชปริยัติมุนี (อักษร ยติโก) วัดคูหาสวรรค์ จ.พัทลุง เป็นพระเทพวิริยาภรณ์

พระราชสุวรรณเวที วัดต้นสน จ.อ่างทอง เป็นพระเทพสุวรรณมุนี

พระราชโมลี วัดหงส์รัตนาราม กทม. เป็นพระเทพปริยัติมุนี

พระราชบัณฑิต วัดเฉลิมกาญจนาภิเษก จ.อ่างทอง เป็นพระเทพบัณฑิต

พระราชภาวนาวิมล วัดพุทธปทีป สหราชอาณาจักร เป็นพระเทพภาวนามงคล วิ.

พระราชสารมุนี วัดวิชิตาราม สหรัฐอเมริกา เป็นพระเทพสารมุนี เป็นต้น

M3365E-4503
M3365E-4503

สําหรับพระพรหมคุณาภรณ์ หรือเจ้าคุณประยุทธ์ ซึ่งมีรายชื่อได้รับการเลื่อนสมศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระที่ดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย สมถะ มีวัตรปฏิบัติที่อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ได้มีตำแหน่งทางการปกครองอื่นใด นอกเหนือจากเป็นเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน แต่กลับได้รับการเสนอรายชื่อให้ได้รับสมณศักดิ์ชั้นสมเด็จพระราชาคณะในครั้งนี้ ได้สร้างความประหลาดใจในวงการสงฆ์

ขณะเดียวกันก็มีเสียงตอบรับว่ามีความเหมาะสมอย่างยิ่ง

เพราะนอกจากวัตรปฏิบัติที่งดงามแล้ว เจ้าคุณประยุทธ์นับเป็นนักคิดนักเขียนที่มีผลงานมากมาย เป็นพระนักปราชญ์คนสำคัญในพระพุทธศาสนา ได้รับการยกย่องทั้งในประเทศ และทั่วโลก มีผลงานโดดเด่นด้านพระพุทธศาสนา

และได้รับการประกาศเกียรติคุณมากมาย

pa03

เจ้าคุณประยุทธ์ ชื่อเดิม ประยุทธ์ อารยางกูร เป็นบุตรคนที่ 5 ของนายสำราญ และนางชุนกี อารยางกูร เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2481 ที่ตลาดใต้ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เข้าเรียนโรงเรียนอนุบาลครูเฉลียว ตลาดศรีประจันต์ ปี 2487 และระดับประถมที่โรงเรียนประชาบาลชัยศรีประชาราษฎร์ (วัดยาง) จ.สุพรรณบุรี ปี 2488-2490 ชั้น ม.1-3 ที่โรงเรียนมัธยมวัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ โดยได้รับทุนเรียนดีของกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2490-2493

บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2494 ที่วัดบ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เมื่ออายุย่าง 13 ปี

สอบได้นักธรรมชั้น ตรี โท เอก และเปรียญธรรม 3 ถึง 9 ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร

จึงได้รับพระราชทาน พระบรมราชานุเคราะห์ ให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในฐานะนาคหลวง ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งน้อยคนนัก ที่จะได้รับโอกาสเช่นนี้

เมื่อจบการศึกษาขั้นปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสอบได้วิชาชุดครู พ.ม.

ส่วนงานด้านศาสนกิจ ปี 2507 เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ และรองเลขาธิการ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) อาจารย์สอนในชั้นปริญญาตรี พุทธศาสตรบัณฑิต ของ มจร, ปี 2515-2519 เจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์, ปี 2515 บรรยายวิชาพุทธศาสนากับวัฒนธรรมไทยที่ University Museum, University of Pennsylvania, ปี 2519-2521 บรรยายวิชาการทางพระพุทธศาสนาที่ Swarthmore College, Pennsylvania, ปี 2524 ได้รับอาราธนาเป็น Visiting Scholar ที่ Center for the Study of World Religions และบรรยายวิชาการทางพุทธศาสนา สำหรับ Divinity Faculty และ Arts Faculty ที่ Harvard University และปี 2537-ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม

เจ้าคุณประยุทธ์ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบัน

อาทิ พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มจร, ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาปรัชญา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาหลักสูตรและการสอน) มหาวิทยาลัยศิลปากร, อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาภาษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยมหิดล, ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ตรีปิฎกาจารย์กิตติมศักดิ์ (สาขาปรัชญา) นวนาลันทามหาวิหาร รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย, ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้รับประกาศเกียรติคุณ และรางวัลจำนวนมาก อาทิ ปี 2525 ได้รับการประกาศเกียรติคุณ ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ในการฉลอง 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์

ปี 2532 รับพระราชทานโล่รางวัล “มหิดลวรานุสรณ์”

ปี 2533 รางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ “สังข์เงิน” สาขาเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ปี 2537 รางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การยูเนสโก (UNESCO Prize for Peace Education)

ปี 2538 สถาบันนวนาลันทา ประเทศอินเดีย ถวายตำแหน่ง “ตรีปิฎกาจารย์” หมายถึงอาจารย์ผู้รู้แตกฉานในพระไตรปิฎก

ปี 2544 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เป็น “ศาสตราจารย์พิเศษ” ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ปี 2547 มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก ถวายตำแหน่ง “เมธาจารย์” (Most Eminent Scholar) ในฐานะนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาสายเถรวาท

ปี 2549 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เป็น “ราชบัณฑิต (พิเศษ)” เป็นต้น

นับเป็น “สมเด็จ” องค์สุดท้าย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช