ธุรกิจพอดีคำ l วิธีคิดในการทำธุรกิจและใส่ใจในแบบฉบับ ‘คนญี่ปุ่น’

“โอโมเตะนาชิ”

วันนี้ผมมีนัดกินอาหารที่ร้านอาหารญี่ปุ่นกับเพื่อนสนิทที่ไม่ได้เจอกันมานานหลายปี

เพื่อนตัวแสบนัดที่ร้านอาหารญี่ปุ่น ใจกลางเมือง

ทั้งๆ ที่รู้ว่าผมไม่ชอบกินอาหารญี่ปุ่นเอาซะเลย

ไม่ใช่แค่ว่าผมทานปลาดิบไม่เป็น

แต่มันมีอะไรบางอย่างเกี่ยวกับร้านอาหารญี่ปุ่น ที่ทำให้ผมรู้สึกกระอักกระอ่วนใจทุกครั้ง

เจ้าเพื่อนก็จองห้องไว้เสียโอ่อ่าเชียว

พอไปถึง พนักงานต้อนรับก็ส่งเสียงดัง

แนวว่าคงจะต้อนรับแขกแหละ

แต่ว่าฟังไม่ออก คงจะประมาณ

“ยินดีต้อนรับค่า”

เดินเข้าไปในห้อง ก่อนจะเข้าไปได้ก็ต้องถอดรองเท้า

เข้าไปคุยกับเพื่อนสักพัก

รู้สึกอยากจะเข้าห้องน้ำ

พอออกมาจากห้องกินอาหารเท่านั้นแหละ

เมื่อสัปดาห์ก่อน

ผมได้มีโอกาสเชิญไมเคิล เพ็ง (Mike Peng) มาที่บริษัท

ผู้บริหารสูงสุดของบริษัท ไอดีโอ (IDEO) ที่ประเทศญี่ปุ่น

ที่ปรึกษาในการสร้างนวัตกรรมให้กับองค์กรชั้นนำทั่วโลก

ปัจจุบันก็ต้องบอกว่า มีบริษัทใหญ่ๆ ในไทยหลายๆ แห่งอยากจะร่วมงานกับเขา

ผมเผอิญรู้จักเขาเป็นการส่วนตัวนิดหน่อย

เพราะเรียนกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาตอนที่อยู่อเมริกา

อาจารย์ผมเอง เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทนี้ครับ

พอลองถามว่า อยากร่วมงานด้วย

อาจารย์เลยแนะนำให้รู้จักกับ “ไมค์” เป็นการส่วนตัวนิดหน่อย

ประจวบกับช่วงนี้องค์กรไทยเริ่มสนใจความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ไม่น้อย

เราจึงได้มีโอกาสร่วมงานกัน เป็นโครงการแรกเลยของไอดีโอที่เมืองไทย

วันนั้นผมเชิญไมค์มาเล่าเรื่องวิธีการสร้างนวัตกรรมในแบบญี่ปุ่นๆ ให้กับคนที่บริษัทฟัง

มีเรื่องน่าสนใจหลายเรื่องทีเดียวเชียว

เรื่องแรกคือ ความใส่ใจเล็กๆ น้อยๆ

ที่ประเทศญี่ปุ่น ถ้าเราได้มีโอกาสขึ้นแท็กซี่ จะพบว่ามีเรื่องให้ต้องขัดเขินทุกครั้ง

เพราะประตูของรถแท็กซี่ฝั่งคนนั่งนั้น จะไม่สามารถเปิดออกได้ด้วยตัวเราเอง

แต่จะถูกเปิดออกอัตโนมัติ จากการกดปุ่มบังคับที่คนขับรถ

เช่นเดียวกัน ปิดก็ปิดเองไม่ได้ เดี๋ยวพัง

คนขับจะกดปุ่มปิดประตูอัตโนมัติให้เอง

ผมไม่แน่ใจว่าเราเรียกเจ้าประตูอัตโนมัตินี้ว่านวัตกรรมได้หรือเปล่า

บางทีมันก็สร้างปัญหาให้กับเราเหมือนกัน ไม่เหมือนที่เราคาดคะเน

แต่ไมค์บอกว่า รู้มั้ยว่า วันที่ฝนตกแล้วต้องขึ้นแท็กซี่

วันนั้นแหละรู้เลยว่ามันมีประโยชน์

เราจะสามารถพุ่งตัวเราเข้ารถแท็กซี่ได้เลย

และไม่ต้องเอื้อมมือออกมาปิดประตูให้แขนเสื้อเปียก

ใช้ได้หรือไม่ได้ ไม่สำคัญ

สำคัญที่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้

คนญี่ปุ่นเขาคิดและใส่ใจ

เราอาจจะเคยเข้าร้านสะดวกซื้อที่บ้านเรา

ขนมจีบ ซาลาเปา ต่างๆ นานา

ที่ประเทศญี่ปุ่น เขาก็ขายอาหารเช่นเดียวกันในร้านสะดวกซื้อ

และเมนูเด็ดที่คนที่นั่นชอบกินก็คือ “ไก่ทอด”

เขาจะวางขายไว้เป็นถาดๆ คล้ายกับโดนัทที่บ้านเรา

ใครอยากกินก็เอาที่หนีบไปหนีบใส่ถาด แล้วก็นำไปจ่ายเงิน

ที่น่าสนใจคือ เมื่อจ่ายเงินเสร็จแล้ว พนักงานจะทำการห่อเจ้าไก่ทอดนี้ให้เราเอากลับมากินที่บ้าน

ไม่ได้ห่อธรรมดา

แต่ห่อเสร็จแล้วแพ็กเกจชนิดนี้สามารถฉีกตรงกลางออก

ทำให้ไก่ทอดที่เราซื้อนั้นโผล่ออกมาครึ่งหนึ่งให้เรากิน

อีกครึ่งหนึ่งให้เราถือไว้ กินไปเรื่อยๆ

สรุปคือ กินเสร็จ อิ่ม และมือไม่เลอะเลยแม้แต่น้อย

กินไก่ทอดให้มือไม่เลอะได้

คนคิดเขาคิดมาเผื่อคนกินแล้วเรียบร้อย

หลายๆ คนเวลากินอาหารเสร็จแล้ว

ก็มักจะต้องขอ “ไม้จิ้มฟัน” มาชอนไชช่องฟันเสียหน่อย

มีใครเคยสังเกตบ้างว่า ไม้จิ้มฟันบางรุ่น

ด้านหนึ่งจะแหลม

แต่อีกด้านจะแบนๆ

และมีแถบสองแถบที่ร่องไม้

ทราบหรือไม่ว่า แถบสองแถบนั้นมีไว้ทำไม

ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก

คำตอบคือ เอาไว้หักเป็นท่อนเล็กๆ

ทำเป็นที่วางไม้จิ้มฟันครับ

ถ้านึกไม่ออกว่าเป็นยังไง

ให้นึกถึงวิธีการวางตะเกียบ ตอนเราไปร้านอาหารญี่ปุ่น

จะมีแท่นไม้หรือพลาสติกเล็กๆ สำหรับให้เราวางตะเกียบข้างหนึ่ง ไม่ให้โดนโต๊ะ เผื่อเวลาเราจะต้องหนีบอาหารซ้ำอีก

ตะเกียบก็ว่าโอเคแล้ว

แต่ “ไม้จิ้มฟัน” นี่สิเด็ด

คนญี่ปุ่นเขาไม่อยากให้คนต้องเอาไม้จิ้มฟันที่ใช้แล้วไปโดนพื้นโต๊ะ

จึงทำด้านแบนหนึ่งด้าน สำหรับเอาไว้หักแล้วทำเป็นที่วางไม้จิ้มฟัน

ฟังแล้วอาจจะดูเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่จำเป็นหรือเปล่า

เห็นด้วยครับ ว่าบางเรื่องก็เกินไปจริงๆ

แต่ก็นี่แหละ ความใส่ใจขั้นพีกที่คนญี่ปุ่นเขาบริการกัน

สิ่งเหล่านี้ไมค์เรียกว่า “โอโมเตะนาชิ”

แปลเป็นไทยว่า “ความยินดีจะช่วยเหลือโดยไม่ต้องให้คนอื่นรู้”

สิ่งเหล่านี้ทำให้เวลาจะทำอะไรสักอย่าง จะคิดถึง “คนใช้งาน” เป็นอันดับแรก

เขาจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ฉันอยากจะทำให้

เรื่องธุรกิจ จะทำเงินอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่คิดตามมา

แต่ไม่ควรจะเป็น “สิ่งแรก” ที่ควรคิดในการสร้างนวัตกรรม

และนี่แหละก็คือหัวใจของ “ความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)”

ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในบริษัทชั้นนำทั่วโลกนั่นเอง

พอออกมาจากห้องเท่านั้นแหละ

อยากจะพุ่งตรงไปที่ห้องน้ำใจจะขาด

พอก้มหน้าลงจะหารองเท้า

ตรงหน้าก็มีรองเท้า ที่ “หันหัวออก” ในทิศทางที่พร้อมให้เราใส่และเดินออกไปทันที

ผมใส่รองเท้าเดินออกไปเข้าห้องน้ำ

ระหว่างที่ทำธุระ ก็แอบนึก

ใครหว่า มาแอบกลับด้านรองเท้าให้เรา

โอโมเตะนาชิ

เต็มๆ เลย