พานหิน เทวาลัย พันปีมาแล้ว บ้านโคกขวาง อ. ศรีมหาโพธิ จ. ปราจีนบุรี โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

พานหินŽ เทวาลัย พันปีมาแล้ว

บ้านโคกขวาง อ. ศรีมหาโพธิ จ. ปราจีนบุรี

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ขรรค์ชัย บุนปาน และผม เมื่อ พ.ศ. 2509 เป็นนักเรียนคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ต้องออกภาคสนามประจำปีตามหลักสูตรวิชาขุดค้นทางโบราณคดี ร่วมกับนักศึกษาหลายสิบคน และคณะอาจารย์ผู้อำนวยการขุดค้น ที่เนินดินในป่ารกซึ่งชาวบ้านเรียกพานหิน บ้านโคกขวาง ต. หนองโพรง อ. ศรีมหาโพธิ จ. ปราจีนบุรี

ขุดค้นเสร็จแล้วพบเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ก่อด้วยศิลาแลง ที่ประดิษฐานพระวิษณุจตุรภุช (นารายณ์ 4 กร)

ปีรุ่งขึ้น พ.ศ. 2510 ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ขายบัตรจัดทัวร์คนทั่วไปเรียก โบราณคดีทัศนาŽ ไปเทวาลัยพานหิน ดูผลงานการขุดค้นของอาจารย์และนักศึกษา แล้วนำชมแหล่งโบราณคดีเมืองมโหสถ (ตอนนั้นอยู่ในท้องที่ อ. ศรีมหาโพธิ จ. ปราจีนบุรี ยังไม่แยกเป็น อ. ศรีมโหสถ)

ท่านอาจารย์ (ม.จ. สุภัททรดิศ ดิศกุล) มอบหมายให้ทำเอกสารแจกผู้ซื้อทัวร์ครั้งนั้นเต็มรถบัส 1 คัน
ผมทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือชื่อ โบราณคดีดงศรีมหาโพธิ์ ขนาด 8 หน้ายกธรรมดา ปกกระดาษอาร์ตการ์ดหนา พิมพ์สี เนื้อในกระดาษปรู๊ฟธรรมดา พิมพ์ขาว-ดำ 100 หน้า (12 ยกครึ่ง) มีกระดาษอาร์ตแทรก พิมพ์ขาว-ดำรูปการขุดค้นที่โบราณสถานพานหิน

ทุนค่าพิมพ์ทั้งหมดไม่มีงบหลวงจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ขรรค์ชัยกับผมต้องจัดหาเองโดยว่าจ้าง ตัวแทนหาโฆษณาŽ จากบริษัทห้างร้าน (สมัยนั้นเป็นที่รู้กันของนักศึกษาคนทำหนังสือในมหาวิทยาลัย เช่น หนังสือรับน้องใหม่)

เทวาลัยโถง พานหิน (แบบสันนิษฐาน โดย ปติสร เพ็ญสุต)

พานหินเป็นชื่อได้จากฐานรูปเคารพทรงกลม ทําจากศิลาแลง ที่ชาวบ้านเข้าใจว่าคือพาน (แต่ที่จริงเป็นฐานไว้ประดิษฐานพระวิษณุ ซึ่งขุดพบชิ้นส่วนพระกรถือสังข์)
เทวาลัยพานหิน อายุราว พ.ศ. 1300 สร้างจากศิลาแลงและวัสดุเบาจําพวกไม้ และหลังคาซ้อนเป็นชั้นๆ อาจมุงด้วยหญ้าคาหรือจาก
ยอดเทวาลัยคล้ายยอดซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปที่จันทิบุโรพุทโธ บนเกาะชวา ในอินโดนีเซีย
ฐานเทวาลัยในปัจจุบันพังทลาย ทําให้เตี้ยลงจากเดิมที่มีสัดส่วนสูง (ดังแบบสันนิษฐาน)