ลุ้นชะตาโรงไฟฟ้าถ่านหินในมือ “ลุงตู่” โยน ปชช.เลือกเองจะทำคลอดหรือปล่อยแท้ง

ทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาระบุถึงทิศทางโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหิน กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ว่า

“รัฐบาลได้ชะลอเรื่องไว้อยู่แล้ว อย่าต้องให้ใช้คำว่าระงับ วันนี้ใช้คำว่าชะลอไปก่อน แต่ก็ขอให้เป็นข้อสรุปมาว่าประชาชนในพื้นที่ต้องการอะไร เพราะรัฐบาลต้องทำตามความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ แต่ก็ระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ไม่ได้ไปข่มขู่ใคร เพียงแต่ว่าวันนี้ไฟฟ้าก็ยังติดๆ ดับๆ อยู่ในภาคใต้หลายแห่งเหมือนกัน”

การออกมาพูดของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ แสดงให้เห็นท่าทีที่สามารถตีความได้หลากหลาย

อาจตีความได้ว่ารัฐบาลต้องการให้ชะลอยาว จนกว่าจะมีข้อสรุปจากประชาชนในพื้นที่

หรืออาจตีความได้ว่ารัฐบาลต้องการส่งสัญญาณให้ทราบว่าหากผลการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อพิจารณาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2558 ออกมาเช่นไรก็ต้องยอมรับ

หรือรัฐบาลเองที่ไม่กล้าตัดสินใจ

 

โดยสาเหตุที่นายกรัฐมนตรีออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยท่าทีดังกล่าว เนื่องจากกลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินกระบี่มีการเคลื่อนไหวด้วยการโกนหัวประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล เพราะเชื่อว่ารัฐบาลกำลังจะเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ภายหลังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่ง 15,000 รายชื่อที่สนับสนุนโรงไฟฟ้ากระบี่ให้นายกรัฐมนตรีแล้ว

ประกอบกับผลจากความขัดแย้งภายในคณะกรรมการไตรภาคี ที่ตั้งโดยรัฐบาลเพื่อพิจารณาโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ ก็พบว่ามีการลาออกของกรรมการบางท่าน ทำให้คณะกรรมการไม่สามารถประชุมพิจารณาได้ มีเพียงการส่งข้อมูลต่อนายกรัฐมนตรี ทำให้ทางเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินกระบี่รู้สึกเหมือนกำลังถูกหลอก

อย่างไรก็ตาม แม้นายกรัฐมนตรีจะออกมาย้ำเรื่องการชะลอโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ แต่หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า หรือจะแท้งแน่ๆ

แต่ในมุมของกระทรวงพลังงาน และ กฟผ. กลับมองอีกมุม

โดย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า การตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่หรือไม่ ต้องขึ้นกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่

หากไม่ต้องการถ่านหินก็ต้องใช้เชื้อเพลิงอื่นในการผลิตไฟฟ้าที่ต้นทุนสูงกว่า

อาทิ ก๊าซธรรมชาติ พลังงานทดแทน จะกระทบต่อราคาค่าไฟให้สูงขึ้นแน่นอน

แต่สิ่งที่เป็นห่วงมากกว่าคืออาจเกิดวิกฤตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ได้ เพราะปัจจุบันก็ต้องพึ่งไฟฟ้าจากภาคกลางส่งไปช่วย ดังนั้น โรงไฟฟ้าถ่านหินต้องเกิดในภาคใต้ หากไม่ใช่ จ.กระบี่ ก็ต้องเป็นจังหวัดอื่น

“ล่าสุดผมได้สั่งการให้ กฟผ. จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าถ่านหิน ว่ามีความเห็นต่อการก่อสร้างอย่างไร สนับสนุนกี่ราย คัดค้านกี่ราย โดยให้เสนอผมโดยเร็วที่สุด ทันทีที่ได้ผลสำรวจเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา”

พล.อ.อนันตพร กล่าวไว้

 

ที่ผ่านมาพบว่า กฟผ. ได้เคยส่งผลสำรวจประชาชนในพื้นที่ จ.กระบี่ ซึ่งสนับสนุนโรงไฟฟ้า จำนวน 15,000 ชื่อ ให้นายกรัฐมนตรีแล้ว

แต่เพื่อความชัวร์ รัฐบาลจึงอยากให้มีการสำรวจอีกครั้งเพื่อให้ได้คำตอบที่ตอบคำถามสังคมได้

โดย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน แสดงความเห็นมุมบวกว่า นายกรัฐมนตรีต้องการฟังเสียงประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ไม่ได้ชะลอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ออกไปเพิ่มอีก เพราะปัจจุบันโครงการได้ชะลออยู่แล้ว ต้องรอข้อสรุปจากประชาชนในพื้นที่

โดยแผนชะลอโครงการโรงไฟฟ้าช่วงที่ผ่านมาได้ทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ต้องเลื่อนเข้าระบบออกไปจาก ปี 2562 เป็นปี 2564 และล่าสุดก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้

คาดว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะเข้าระบบช่วงปี 2565 เป็นต้นไป (ถ้าสามารถเดินหน้าโครงการได้)

ล่าสุดการขยายสายส่งก็ยังติดปัญหาชุมชนไม่ยอมรับ โดย กฟผ. แจ้งว่าสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ ที่จะก่อสร้างไปยังพื้นที่ภาคใต้ ประกอบด้วย จอมบึง-บางสะพาน-สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต ระยะทาง 800 ก.ม. ตามแผนจะก่อสร้างปี 2562 ต้องเลื่อนออกไปอีก 1 ปีเนื่องจากประสบปัญหาการเวนคืนที่ดินล่าช้า

จนเป็นเหตุให้ปลัดกระทรวงพลังงานถึงกับออกปากว่า สถานการณ์ไฟฟ้าในภาคใต้ปัจจุบันคือ “ตันทุกจุด” เพราะโรงไฟฟ้าเลื่อน สายส่งก็เลื่อน

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ ต้องเร่งหาข้อยุติโรงไฟฟ้า และจะมุ่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในพื้นที่แต่ยอมรับว่าเป็นไปได้ยากเพราะไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานทดแทนไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในภาคใต้

 

ขณะที่ นายกรศิษฎ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า หากได้รับคำสั่งให้สำรวจจะว่าจ้างมหาวิทยาลัยหรือนักวิชาการเป็นผู้สำรวจเพื่อไม่ให้ถูกกล่าวหาว่าไม่มีความเป็นกลาง และอีกส่วนไม่มีกำลังคนเพียงพอ

ข้อมูลจาก กฟผ. ยืนยันว่า ปัจจุบันความต้องการใช้ไฟภาคใต้สูงถึง 2,700 เมกะวัตต์ แต่กำลังผลิตมีเพียง 3,088 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องรวมโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีไว้ด้วยทั้งที่หมดอายุแล้วเพื่อป้องกันความเสี่ยงหากโรงไฟฟ้าหลักเกิดปัญหาที่จะต้องส่งไฟภาคกลางไป 500-700 เมกะวัตต์ การสูญเสียในระบบบสูงเมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่และสายส่งล่าช้าก็จะยิ่งเสี่ยงมากขึ้นและยืนยันสำรองไฟสูง 40% เพราะไปรวมพลังงานทดแทนและไม่คอนเฟิร์ม แต่หากดูเฉพาะที่มีสัญญาแน่นอนมีเพียง 16% เท่านั้น

นอกจากนี้ กฟผ. ยังแจงข้อมูลผลกระทบจากการเลื่อนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ว่า การชะลอการก่อสร้างดังกล่าวจะส่งผลให้พื้นที่ภาคใต้ขาดความมั่นคงทางไฟฟ้า เพราะปัจจุบันภาคกลางต้องส่งไฟฟ้าไปช่วยเสริมระบบมากถึง 200-300 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 5-6% ต่อปี

หากไม่สามารถใช้เชื้อเพลิงถ่านหินซึ่งมีราคาถูกได้ ก็อาจต้องใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติแทน ทำค่าไฟฟ้าทั้งประเทศปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่กว่า 4 บาทต่อหน่วย

 

อย่างไรก็ตาม จากความไม่แน่นอนของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหิน ล่าสุดกระทรวงพลังงานเตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมวันที่ 8 ธันวาคมนี้ หารือประเด็นการชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ 800 เมกะวัตต์ ตลอดจนความคืบหน้าร่างกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ ที่คาดว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะใช้เวลาอีกพอสมควร และจะเสนอ กพช. พิจารณาเรื่องการเตรียมก่อสร้างคลังแอลเอ็นจีที่ จ.ระยอง และการศึกษาสร้างคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ 2 แห่ง ในประเทศพม่า และในอ่าวไทย เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า ทดแทนก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ลดลง รวมทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อาจเข้าระบบช้ากว่ากำหนด

โดยคาดว่าปี 2579 ไทยจะมีความต้องการใช้แอลเอ็นจีมากถึง 34-35 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์กลางปีนี้อยู่ที่ 31.5 ล้านตัน โดยปริมาณแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นมากจากครั้งแรกที่ทำแผนความต้องการช่วงปี 2558-2559 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 22-23 ล้านตันเท่านั้น

น่าลุ้นว่าผลสำรวจโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะออกมาเช่นไร คลอดหรือแท้ง หรือจะยืดเยื้อต่อไปเรื่อยๆ เพียงเพราะรัฐบาลเองต่างหากที่ไม่กล้าตัดสินใจ…