ฉัตรสุมาลย์ : สักการะกวนกง

คณะของเราทั้งหมด 21 ชีวิต รวมคุณมนัสเจ้าของบริษัททัวร์ และคุณสุลิน ไกด์ชาวจีนของเรา ออกเดินทางจากเมืองเจียวจั๊ว ถึงเมืองลั่วหยาง ระยะทาง 126 ก.ม. ใช้เวลา 2 ชั่วโมง

เมืองลั่วหยางมีความสำคัญมากค่ะ ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของมณฑลเหอหนาน ซึ่งอยู่ทางภาคกลางของแผ่นดินจีน ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของทั้งเก้าทวีป เป็นแหล่งกำเนิดทางอารยธรรมที่สำคัญของชนชาวจีนในสมัยโบราณ

และเนื่องจากลั่วหยางตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำลั่วเหอ จึงได้ชื่อเมืองว่าลั่วหยาง

เนื่องจากมีประวัติศาสตร์อันยาวนานและเป็นเมืองที่รัฐบาลประกาศเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เป็นชุดแรก เป็นเมืองหลวงโบราณ 1 ใน 7 ของจีน ได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวงตั้งแต่สมัยราชวงศ์เซี่ย ซึ่งเป็นราชวงศ์แรกของจีน และราชวงศ์ต่อมาอีก 13 ราชวงศ์

จึงนับว่าเป็นเมืองหลวงแห่งแรกที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุดของประเทศจีน

ลั่วหยางมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง

หนึ่งในนั้นคือสุสานของกวนอู เล่าเรื่องกวนอูฉบับย่อพอเข้าใจนะคะ ในช่วงที่จีนยังไม่ได้เป็นประเทศเดียวกัน มีก๊กเล็กก๊กน้อยมาก สมัยของกวนอูเป็นสมัยสามก๊ก มีหัวหน้าก๊กทั้งสามคือ โจโฉ เล่าปี่ และซุนกวน

กวนอูนั้นเป็นแม่ทัพเอกและสามิภักดิ์อยู่กับเล่าปี่ที่มีเชื้อสายกษัตริย์ อีกสองก๊กก็เกรงก๊กของเล่าปีอยู่เพราะมีแม่ทัพที่ทรงพลังอย่างยิ่ง

สองอย่างที่เล่าถึงกวนอู คือม้าของกวนอูที่มีพลังมาก ขนาดเหงื่อเป็นสีเลือดประมาณนั้น

และเนื่องจากกวนอูเป็นนักรบที่มีพละกำลังเลื่องชื่อ ง้าวประจำกายที่เป็นอาวุธมีขนาดใหญ่และหนักเป็นพิเศษคู่ควรกับความเป็นแม่ทัพของกวนอูยิ่งนัก

กวนอูเพลี่ยงพล้ำแก่ทหารของซุนกวน โดยเป็นคนที่มีความเมตตา ทหารของซุนกวนปลอมตัวเป็นครอบครัวที่มีทั้งคนแก่และเด็ก หากปล่อยไว้นอกกำแพงเมืองก็คงอดตาย กวนอูจึงอนุญาตให้เข้ามาในเมืองได้ เมื่อถึงคราวได้ทีจึงจับกวนอูได้

ทหารพวกนี้ก็ไม่รู้ถึงความสำคัญของกวนอู เมื่อบังคับให้กวนอูคุกเข่าไม่ได้ ก็เลยตัดคอกวนอู แล้วส่งศีรษะกวนอูไปให้ซุนกวนซึ่งเป็นเจ้านายของตน

เมื่อซุนกวนเห็นศีรษะของกวนอู ก็ตกใจ นึกว่าต้องโดยเล่าปี่เล่นงานแน่ๆ จำเป็นต้องดึงเอาโจโฉอีกก๊กหนึ่งมาช่วย ซุนกวนจึงอุบายส่งศีรษะกวนอูไปบรรณาการแก่โจโฉ

เมื่อทหารของซุนกวนเข้ามาขอพบ และว่า มีศีรษะของกวนอูมาเป็นบรรณาการ โจโฉไม่เชื่อ เพราะกวนอูเป็นแม่ทัพที่เก่งและกล้าหาญมาก เมื่อเปิดดู เป็นศีรษะของกวนอูจริงๆ โจโฉจึงพูดในเชิงต่อว่า ว่าเคยชวนกวนอูให้เป็นพวก แต่กวนอูไม่ยอมรับ เห็นไหมล่ะ เพราะไม่ยอมรับคำชวนของโจโฉ จึงต้องมาถึงวันนี้

ปรากฏว่านัยน์ตาของศีรษะกวนอูเบิกโพลงขึ้น

โจโฉตกใจทิ้งศีรษะของกวนอูลง และว่า ตั้งแต่บัดนั้น โจโฉก็มีอาการปวดศีรษะไม่หาย

 

โจโฉเคารพในความสามารถและคุณธรรมของกวนอู จัดการศพให้ดุจเดียวกับพระศพของจักรพรรดิ

เพราะฉะนั้น ที่สุสานที่เราไปเยี่ยม เราจึงได้สักการะรูปเคารพของกวนอูทั้งที่เป็นแม่ทัพ เป็นกษัตริย์ และท้ายที่สุดเป็นเทพเจ้า ที่ชาวจีนเรียกว่ากวนกง

ศาลเจ้ากวนอู ตั้งอยู่ทางใต้ของเมืองลั่วหยางออกไป 7 ก.ม. เล่าขานกันว่าเป็นที่ฝังศีรษะของกวนอู

ในประเทศจีน จะมีสุสานของกวนอูถึงสามแห่ง แห่งที่เราไปสักการะนั้นเป็นที่ที่เชื่อกันว่าฝังศีรษะของท่าน อีกแห่งหนึ่งคือจุดที่ท่านถูกตัดศีรษะ และฝังร่างของท่าน

ส่วนสุสานแห่งที่สาม คือบ้านเกิดของท่านที่ชาวเมืองสร้างศาลไว้เป็นการระลึกถึงท่าน และเพื่อเทิดทูนเกียรติของท่านทั้งที่เป็นแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่ และเป็นผู้ทรงคุณธรรม มีความซื่อสัตย์

โจโฉนั้น ด้วยความที่มีความชื่นชมในตัวของกวนอู เมื่อทำสุสานให้แล้ว ก็ให้ปลูกป่าสนโดยรอบให้เป็นที่ร่มรื่น ให้ผู้คนได้มาสักการะและเทิดคุณความดีของกวนอูให้ปรากฏ

สุสานแห่งนี้มีผู้เข้าเยี่ยมชมจำนวนมาก ต้องซื้อบัตรผ่านประตูเหมือนกันหมด ตรงด้านหน้ามีต้นไม้เก่าแก่ที่ไกด์ชี้ให้ดูว่า จากต้นเดียวแต่แยกเป็นสามกิ่ง หมายถึงความมั่นคงในระหว่างสหายทั้งสาม คือ เล่าปี่ กวนอู และเตียวหุย

เราเดินผ่านศาลด้านหน้ามีรูปเคารพกวนอูในฐานะที่เป็นนักรบ ด้านหลังเป็นรูปเคารพของกวนอูขนาดใหญ่กำลังศึกษาคัมภีร์ชุนชิว ซึ่งเป็นคัมภีร์ยุทธศาสตร์การรบ ถัดมาเป็นศาลเจ้าที่มีรูปกวนอูในฐานะจักรพรรดิ ด้านข้างเป็นรูปกวนอูที่ส่งไปให้ประชาชนได้กราบไหว้ในที่ต่างๆ มีกวนอูที่ประจำอยู่ที่ชลบุรีด้วย

และในที่สุดกวนอูในฐานะที่เป็นเทพเจ้า แม้จนปัจจุบันชาวจีนในประเทศไทยก็ยังมีการไหว้กราบกวนกงตามเทศกาลต่างๆ

ในเมืองไทเป เกาะไต้หวัน ศาลเจ้าที่ใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นศาลเจ้ากวนอู มีผู้คนไปสักการะกันในแต่ละวันจำนวนไม่น้อย

คุณสุลิน ไกด์ของเราเน้นว่า เวลาที่กษัตริย์ขึ้นครองราชย์ ก็ยังมีพิธีที่นำข้าราชบริพารมาสักการะกวนกง ในฐานะที่ท่านเป็นคนซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน

เมื่อเวลาผ่านไป ประชาชนอาจจะจำไม่ได้แล้วว่า เจ้านายชื่ออะไร สมัยใด ยุคใด แต่ทุกคนจะจำได้ถึงความซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินของกวนอู

เมื่อเดินผ่านเข้าไปภายใน สุสานของท่านเป็นเนินดินสูง เต็มไปด้วยต้นสน สงบ ร่มรื่น สมกับเป็นสุสานของผู้ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในแผ่นดินจีน

รอบๆ มีเก้าอี้หินให้นั่งพักอย่างดี เมื่อเดินกลับออกมา เพิ่งเห็นศาลาที่มีรูปปั้นม้าของท่านงามสง่ามาก ส่วนอีกศาลหนึ่ง เป็นที่ประดิษฐานง้าวของท่าน อาจจะไม่ใช่ง้าวที่ท่านใช้จริง แต่ก็ให้เราระลึกได้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร

ร้านค้าภายในบริเวณสุสานมีศิลปะอย่างยิ่ง หินที่มีชื่อของเมืองนี้คือหินลายดอกโบตั๋น เนื้อหินสีดำ มีลวดลายเป็นดอกโบตั๋นตามธรรมชาติ บางทีธรรมชาติก็สร้างอะไรที่น่าอัศจรรย์อยู่ วันนี้ดูเหมือนว่าเราจะมีเวลาก่อนอาหารกลางวันเล็กน้อย ดูไกด์จะไม่เร่งรัดเรานัก

ที่หน้าสุสาน มีแม่ค้าพ่อค้าขายถั่ว ทั้งวอลนัตที่เราซื้อไปแล้วตอนที่เราขึ้นไปต้าถง ที่คณะเราสนใจคือมันเผา ตามแบบที่เราเคยกินกันตอนเด็กๆ แต่ทำไมคณะเราถึงสนใจกันมากมายเป็นพิเศษ

ป้าเล็ก เจ้าของสวนขนาดใหญ่จากเชียงใหม่ ยืนยันว่ามันที่นั่นหวานกว่าบ้านเรา และด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็น การกินมันเผาคงเป็นอะไรที่น่าสนใจกว่าปกติ ดูเหมือนว่าลูกทัวร์ทุกคนได้กินมันเผากันอย่างเอร็ดอร่อย

สามี-ภรรยาคู่หนึ่งที่เป็นคนเริ่มต้นก็เลยได้ถ่ายรูปกันสนุกสนาน

บางทีชีวิตคนเราก็ไม่ได้ต้องการอะไรมาก แม้การกินมันเผาก็ทำให้เรามีความสุขได้ ขณะเดียวกันเราไปเคารพท่านกวนอู เพื่อเป็นสักขีพยานว่าความซื่อสัตย์ยังคงเป็นคุณธรรมที่จะค้ำจุนโลกจริง

ขอสักการะท่านกวนกงอีกครั้ง พอดีในห้องทำงานของท่านธัมมนันทามีรูปท่านกวนอูกำลังผงาดอยู่บนม้าศึก พอกลับมาจากจีนเที่ยวนี้ ท่านก็เลยให้ทาสีใหม่ให้สดใสเพื่อถวายความเคารพถึงท่านด้วย