เกษียร เตชะพีระ l ประชานิยม : ที่มาที่ไปทางแนวคิดวิชาการ (ตอนต้น)

เกษียร เตชะพีระ

ประชานิยม : ที่มาที่ไปทางแนวคิดวิชาการ (ตอนต้น)

หากท่านผู้อ่านจะจำได้ ผมเคยนำเสนอแนวคิดประชานิยม (populism) ทางคอลัมน์นี้มาแล้ว ผ่านบทความชุด “รู้จักประชานิยมผ่านหนังสือดีที่สุด 5 เล่มกับคาส มูด์เด” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมสองปีก่อน (คลิกอ่าน)

หลังจากนั้นผมก็ได้แปลหนังสือ ประชานิยม : ความรู้ฉบับพกพา ที่คาส มูด์เด เขียนร่วมกับคริสโตวัล โรวีรา คัลต์วัสเซอร์ ตามออกมาโดยสำนักพิมพ์ Bookscape เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว

สิ่งที่ผมสนใจใคร่รู้ก็คือหนึ่งปีผ่านไป นักรัฐศาสตร์ชาวดัตช์ผู้เชี่ยวชาญ “ประชานิยม” แห่งมหาวิทยาลัยจอร์เจียในอเมริกาผู้นี้ คิดค้นติดตามประเด็นสำคัญในการเมืองไทยและการเมืองโลกร่วมสมัยดังกล่าวคืบหน้าไปถึงไหนอย่างไรบ้าง?

เผอิญว่าเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ศกก่อน คาส มูด์เด ได้ตีพิมพ์บทความเล่าเรียบเรียงภูมิหลัง สภาพปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตของการศึกษาค้นคว้าปรากฏการณ์ “ประชานิยม” ทางการเมืองในวงวิชาการรัฐศาสตร์รอบเสี้ยวศตวรรษที่ผ่านมา

ซึ่งสะท้อนความรู้ความเข้าใจที่ค่อยคลี่คลายเปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับ “ประชานิยม” จนได้ข้อสรุปชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ

เคียงขนานไปกับการก่อเกิดขบวนการ “ประชานิยม” ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายในประเทศทุนนิยมก้าวหน้าตะวันตกต่างๆ ในรอบสิบปีหลังวิกฤตซับไพรม์และเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลกเมื่อปี ค.ศ.2008

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังประชามติเบร็กซิทในอังกฤษและโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีในอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.2016 ชื่อ

“ประชานิยมกลายมาเป็นแนวคิดที่นิยามยุคสมัยของเราได้อย่างไร?” (Cas Mudde, “How populism became the concept that defines our age”, www.theguardian.com/commentisfree/2018/nov/22/populism-concept-defines-our-age)

โดยที่ผมมีความเห็นว่า “ไม่ว่ารัฐบาลไหน ไทยหนีไม่พ้น “ประชานิยม”” (news.thaipbs.or.th/content/276226) อีกทั้งก็ปรากฏรายงานข่าวสนับสนุนอยู่เนืองๆ ในหน้ารณรงค์เลือกตั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของรัฐบาลเองหรือพรรคการเมืองต่างๆ (เช่น www.matichonweekly.com/column/article_140989 & ศัลยา ประชาชาติ, “เช็กนโยบายประชานิยม 5 พรรค”, มติชนสุดสัปดาห์, 4-10 มกราคม 2562)

จึงน่าเป็นประโยชน์ที่จะรับฟังข้อมูลความคิดเห็นเรื่อง “ประชานิยม” ทางรัฐศาสตร์ล่าสุดของคาส มูด์เด ดูเพื่อเปรียบเทียบวิเคราะห์ให้กว้างขวางออกไป ผมจึงขอทยอยแปลสู่ท่านผู้อ่านดังนี้ :

“ศัพท์คำว่า “ประชานิยม” ใช้กันน้อยในคริสต์ศตวรรษที่ 20 มันจำกัดอยู่ในหมู่นักประวัติศาสตร์อเมริกันที่ใช้มันบรรยายพวกนักประชานิยมเกษตรกรสมัยกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในความหมายเฉพาะเจาะจงยิ่ง ส่วนบรรดานักสังคมศาสตร์ลาตินอเมริกัน (บ่อยครั้งเป็นพวกมาร์กซิสต์) ก็รวมศูนย์ใช้ศัพท์คำนี้กับพวกเปรองนิสต์ในอาร์เจนตินา

ผมเองเพิ่งเริ่มเอาธุระจริงจังกับศัพท์คำนี้ในกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ขณะกำลังค้นคว้าวิจัยทำวิทยานิพนธ์ของผมเรื่องที่ตอนนั้นด้านหลักแล้วยังเรียกขานกันว่า “ลัทธิสุดโต่งปีกขวา”

ตอนนั้นนักรัฐศาสตร์เยอรมันชื่อ ฮันส์-ยอร์จ เบตซ์ เพิ่งตีพิมพ์หนังสือที่ยังถือกันว่าดีที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ Radical Right-Wing Populism in Western Europe (ประชานิยมปีกขวาแบบถึงรากถึงโคนในยุโรปตะวันตก) แล้วผมก็เลยดำดิ่งอยู่ในห้องสมุดมหาวิทยาลัยไลเดนเพื่อหาอะไรก็ตามแต่ที่หาได้เกี่ยวกับศัพท์แปลกๆ คำนี้

มาร์กาเร็ต คาโนแวน นักทฤษฎีการเมืองอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่ได้เขียนงานดีเลิศที่ให้ภาพรวมเรื่องดังกล่าวไว้โดยตั้งชื่อเรียบง่ายว่า Populism (ประชานิยม) ในปี ค.ศ.1981

ทว่าเธอเถียงว่าขณะที่มีประชานิยมประเภทแยกย่อยแบบต่างๆ ถึงเจ็ดประเภท แต่กระนั้นก็มิอาจนิยามคำว่าประชานิยมเองได้

ผมก็เลยดำดิ่งลึกลงไปอีก โดยพยายามเอางานกับข้อเขียนของเออร์เนสโต ลาคลาว ผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นนักทฤษฎีหลังมาร์กซิสต์ชาวอาร์เจนตินา และไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขายังเป็นนักวิชาการด้านประชานิยมที่ทรงอิทธิพลที่สุดทั้งในหมู่นักวิชาการและนักการเมืองเหมือนกันอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อฤดูร้อนปีนี้ ราฟาเอล คอร์เรีย อดีตประธานาธิบดีเอกวาดอร์ผู้ถูกถือกันกว้างขวางว่าตัวเขาเองก็เป็นนักประชานิยมด้วยเช่นกัน ได้อ้างอิงถึงลาคลาวอย่างเห็นพ้อง เป็นคราวเคราะห์ที่ผมไม่ฉลาดเท่าคอร์เรียและไม่เคยเข้าใจหนังสือที่สลับซับซ้อนของลาคลาวเรื่อง Politics and Ideology in Marxist Theory (การเมืองกับอุดมการณ์ในทฤษฎีมาร์กซิสต์, ค.ศ.1977) จริงๆ เลย

ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจเดินหน้าต่อโดยไม่ใช้ศัพท์คำว่าประชานิยมนี้

อย่างไรก็ตาม ผมสังเกตเห็นว่ามีการใช้คำว่า Rechtspopulismus (ประชานิยมปีกขวา) มากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่นักวิชาการเยอรมัน พวกเขากำลังใช้ศัพท์คำนี้เพื่อจำแนกพรรคการเมืองอย่างพรรคเสรีภาพของออสเตรียและพรรครีพับลิกันของเยอรมนี ออกจากพรรค “ขวาสุดโต่ง” หรือ “ขวาถึงรากถึงโคน” อย่างเช่น แนวร่วมแห่งชาติของฝรั่งเศสหรือกลุ่มชาวเฟลมิชในเบลเยียม

สำหรับผมแล้ว ความข้อนี้ดูเหมือนจะสะท้อนการยอมรับพรรคประชานิยมปีกขวาเหล่านี้อย่างกว้างขวางขึ้นในสังคมกระแสหลัก มากกว่าจะสะท้อนความแตก ต่างทางอุดมการณ์ของพรรคทั้งหลายที่กล่าวมา

ในปี ค.ศ.2002 ผมย้ายไปมหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ป ที่ซึ่งนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของผมชื่อเอียน ยาเกอส์ เขียนวิทยานิพนธ์เรื่องประชานิยมซึ่งรื้อฟื้นความสนใจของผมในแนวคิดนี้ขึ้นมาใหม่ จากการสนทนากับเขา ผมก็พัฒนาคำนิยามประชานิยมของผมเองขึ้นมาซึ่งมุ่งจะสังเคราะห์ฉันทามติที่รองรับบรรดาคำนิยามที่มีอยู่ตอนนี้ส่วนใหญ่

ในบทความของผมเรื่อง จิตวิญญาณประชานิยมแห่งยุคสมัย (The Populist Zeitgeist) ผมนิยามประชานิยมว่าเป็นอุดมการณ์ที่ถือว่าสังคมแบ่งแยกออกเป็นกลุ่มสองกลุ่มซึ่งต่างก็กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวและเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ได้แก่ “ประชาชนผู้บริสุทธิ์” กับ “ชนชั้นนำที่ทุจริตฉ้อฉล” และอุดมการณ์นี้เถียงว่าการเมืองควรเป็นการแสดงออกซึ่งเจตจำนงทั่วไป (volont? g?n?rale) ของประชาชน

บทความนี้ไม่ค่อยเป็นที่ฮือฮานัก มันถูกอ้างอิงถึงแค่ 9 ครั้งในปี ค.ศ.2005 16 ครั้งในปี ค.ศ.2016 และ 28 ครั้งในปี ค.ศ.2007

นักวิชาการส่วนใหญ่อย่างผมยังคงเห็นประชานิยมเป็นส่วนหนึ่งแห่งระเบียบวาระของ “ฝ่ายขวาถึงรากถึงโคน” และไม่ใคร่สนใจคุณูปการเฉพาะเจาะจงของมัน

การผงาดขึ้นของพรรคพลังอิตาลีของซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี ได้สร้างประเภทแยกย่อยใหม่ของประชานิยมขึ้นมาเรียกว่า “ประชานิยมแบบเสรีนิยมใหม่” เผอิญที่ฮันส์-ยอร์จ เบตซ์ ก็ได้จำแนก “ประชานิยมแห่งชาติ” กับ “ประชานิยมแบบเสรีนิยมใหม่” ออกจากกันไว้แล้วในหนังสือปี ค.ศ.1994 ของเขา”

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)