เศรษฐกิจ / ส่งออกติดลบรับน้องรัฐบาลใหม่ ลุ้นเศรษฐกิจไทยปี ’62 โตหรือทรุด

เศรษฐกิจ

 

ส่งออกติดลบรับน้องรัฐบาลใหม่

ลุ้นเศรษฐกิจไทยปี ’62 โตหรือทรุด

 

กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขส่งออกในเดือนธันวาคม 2561 ติดลบ 1.71% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากเดือนพฤศจิกายน ติดลบ 0.95%

ส่งผลให้การส่งออกตลอดทั้งปี 2561 โตได้เพียง 6.7% จากเป้าหมายเดิมโต 8%

ส่วนในปี 2562 แม้ทั้งภาคเอกชนและหน่วยงานพยากรณ์ด้านเศรษฐกิจของรัฐมองตรงกันว่าส่งออกของไทยดีสุดโตระดับ 5% แต่กระทรวงพาณิชย์ยังใจแข็งคงเป้าส่งออกโต 8%

ตัวเลขส่งออกล่าสุดทำให้หลายฝ่ายใจตุ้มๆ ต่อมๆ ว่าเศรษฐกิจปีนี้อาจเจอปัญหาหนัก

หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประเมินตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2562 ว่า จะโตมากกว่า 3.8% สูงกว่าที่ธนาคารโลกประเมินไว้

ส่วนจะถึง 4% หรือไม่ ให้ไปถามรัฐบาลใหม่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการส่งออกในเดือนธันวาคม 2561 ติดลบต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายน 2561 แต่เศรษฐกิจไทยยังโตได้ แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยค่อนข้างเข้มแข็ง

นายสมคิดกล่าวต่อว่า รัฐบาลชุดนี้เน้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น มาตรการช่วยรากหญ้า การดูแลผู้มีรายได้น้อย กระตุ้นการบริโภค ถือว่าการดำเนินการดังกล่าวเข้ามาช่วยรักษาสมดุลของเศรษฐกิจเป็นอย่างดี ส่วนที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายส่งออกโต 8% เป็นการมองในแง่ดีก็ต้องทำงานให้เต็มที่

เมื่อส่งออกเริ่มติดลบโครงสร้างสินค้าส่งออกต้องพัฒนาให้มากกว่านี้ และต้องกว้างกว่านี้

 

หลังกระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขส่งออกไม่ถึงสัปดาห์ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ประกาศตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2562 ว่าจะโต 4.0% ส่งออก 4.5% ต่ำกว่าปี 2561 คาดว่าเศรษฐกิจจะโต 4.1% ในปี 2561 ยังเป็นตัวเลขคาดการณ์ เพราะตัวเลขจริงต้องรอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงในเดือนกุมภาพันธ์

ทั้งนี้ สศค.มองว่าการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวเป็นผลมาจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยชะลอลงจากปีก่อน และปัญหาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

โดยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนยังเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2562 เพราะขณะนี้ยังมองไม่ออกว่าบทสรุปจะออกมาอย่างไร

ผลจากสงครามการค้าทำให้การส่งออกสินค้าในกลุ่มซัพพลายเชนปรับลดลงในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม หากสงครามการค้ายืดเยื้อจะส่งผลดีต่อไทย

เพราะทำให้นักลงทุนตัดสินใจย้ายฐาน และไทยมีโอกาสที่จะเป็นฐานการลงทุนใหม่ของนักลงทุนดังกล่าว

 

ตัวเลขเป้าหมายส่งออก 8% ในปี 2562 การส่งออกต้องมีมูลค่า 272,685 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเฉลี่ยต่อเดือนต้องได้ 22,724 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่ง น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวประเมินถึงปัจจัยเสี่ยง ทั้งสงครามการค้า อัตราแลกเปลี่ยน น้ำมันดิบ เศรษฐกิจคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกไว้แล้ว

ทั้งนี้ มีแผนเจาะต่างๆ เช่น ตลาดอาเซียนใช้ประโยชน์จากการเป็นประธานอาเซียนสร้างโอกาสให้สินค้าไทย และผลักดันธุรกิจบริการ มุ่งเจาะตลาดเมืองรอง การค้าชายแดน ตลาดจีนเจาะเป็นรายมณฑล โดยเฉพาะจีนตอนเหนือและจีนตะวันตก ส่วนตลาดเอเชียเน้นเจาะตลาดอินเดีย สร้างพันธมิตร เจาะกลุ่มลูกค้าคนรวย กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ ขยายตลาดผ่านการค้าออนไลน์ ใช้โอกาสข้อตกลงการค้าเสรี (FTA)

สำหรับตลาดตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ มีแผนจะเพิ่มกำลังคนทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ และคนท้องถิ่นเพื่อช่วยด้านการตลาด ขณะที่ตลาดละตินอเมริกาจะใช้สำนักงานทูตพาณิชย์ที่เม็กซิโกเป็นศูนย์กลางในการเจาะตลาดลดต้นทุนการขนส่ง

ด้านตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) จะเร่งผลักดันการส่งออกควบคู่ไปกับการโปรโมตสินค้าไทยผ่านนักท่องเที่ยว ส่วนตลาดหลัก เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น ปรับกลยุทธ์ในการเจาะตลาดด้วยการแบ่งกลุ่มให้ชัดเจน เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มรักสุขภาพ กลุ่มสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

 

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากการเจาะตลาดในแต่ละประเทศ กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งพัฒนาช่องทางการขายสินค้าทั้งรูปแบบออฟไลน์ และออนไลน์ รวมถึงต้องเร่งหาตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเข้ามาทดแทนตลาดที่ลดลง

และพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและอุตสาหกรรม รวมถึงสนับสนุนการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ เพื่อยกระดับสินค้า รวมทั้งเร่งเจรจาความตกลงอาเซียนบวก 6 หรือ RCEP ให้จบโดยเร็ว เพื่อเพิ่มแต้มต่อด้านภาษีให้สินค้าไทย

นอกจากนี้จะเร่งขยายความร่วมมือทางการกับคู่ค้าศักยภาพ อาทิ เกาหลี และขยายความร่วมมือทางการค้าในภูมิภาคอาเซียน และกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) ในโอกาสไทยเป็นประธานอาเซียนจะช่วยสร้างโอกาสการส่งออก

 

ฝั่งเอกชนมองถึงการส่งออก มีทั้งฝ่ายที่เห็นคล้อยกับกระทรวงพาณิชย์ และฝั่งที่เห็นต่าง

โดยนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย มองว่า เป้าหมายส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ 8% ในปีนี้น่าจะเป็นไปได้ เพราะสถานการณ์ระหว่างจีนกับสหรัฐน่าจะดีขึ้น รวมถึงการค้าระหว่างชายแดนในประเทศยังขยายตัวดี

ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การส่งออกไทยปีที่ผ่านมาถือว่าผิดคาดพอสมควร เดิมภาคเอกชนโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินว่าจะขยายตัว 7-9% แต่ตัวเลขจริงออกมาเพียง 6.7% โดยปีนี้ กกร.คาดว่าส่งออกจะขยายตัว 5-7% ไม่น่าถึง 8% ตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายไว้

เช่นเดียวกัน นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มองว่าปีนี้ส่งออกจะโต 5% โดยจะได้รับผลกระทบจากเหตุจลาจลในกลุ่มประเทศยุโรป ความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าเงินบาท การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.5% เป็น 1.75% ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้น

รวมถึงกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศจะเป็นการกีดกันผู้ประกอบการในการส่งออกสินค้าทางอ้อม

 

ด้านนักวิชาการแอบมีความหวังลึกๆ ว่าสงครามการค้าคลี่คลายในการเจรจาเดือนมีนาคม นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้การเจรจาเทรดวอร์ดูดีขึ้น ทางทำเนียบขาวมองว่าจีนไม่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ทางจีนต้องการเปิดตลาดปีละ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จึงเป็นประเด็นปัญหาและทำให้การเจรจาในรอบ 2 ระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐและรองนายกฯ จีนเมื่อเดือนมกราคมนี้จึงไม่ได้ข้อสรุป คาดว่าจะเจรจาดำเนินไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกปีนี้มีแนวโน้มแย่กว่าปีที่ผ่านมา จึงมองว่าสหรัฐไม่ควรเครียดกับเรื่องจีน และหวังว่าสหรัฐจะดูแลเศรษฐกิจไม่ให้สถานการณ์แย่กว่านี้ โดยต้องรอดูผลการเจรจาในรอบเดือนมีนาคมอีกครั้งหนึ่ง

ปีนี้ผลสงครามการค้ามีแนวโน้มกระทบต่อการส่งออกตั้งแต่ต้นปี การคงเป้าหมายส่งออก 8% ของกระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชน และหน่วยงานอื่นๆ มองว่าเป็นไปได้ยาก ประกอบกับมีความเสี่ยงจากการเลือกตั้งว่าจะเรียบร้อยอย่างที่หวังไว้หรือไม่

   ใครมาเป็นรัฐบาลใหม่ปีนี้คงต้องเหนื่อยหน่อย เพราะเรื่องเศรษฐกิจ ส่งออก เป็นปัญหาใหญ่รอรัฐบาลใหม่เขามาวัดฝีมือ