การศึกษา / ดับ ‘อุณหภูมิร้อน’ ป.ป.ช.เว้น ‘กก.สภา’ ไม่ยื่นทรัพย์สิน

การศึกษา

 

ดับ ‘อุณหภูมิร้อน’

ป.ป.ช.เว้น ‘กก.สภา’ ไม่ยื่นทรัพย์สิน

 

ถือว่าดับอุณหภูมิร้อนได้สนิท เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย…

หลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 102 (ฉบับที่) พ.ศ.2561 แก้ไขโดยที่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 21/2551 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) และให้ยกเลิกความใน 7.8 ของข้อ 4(7) แห่งประกาศ ป.ป.ช. เดิม

ยกเลิกการแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ ของนายกสภาและกรรมการสภาในสถาบันอุดมศึกษา และรวมถึงตำแหน่งประธาน กรรมการและเลขาธิการ อาทิ กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันชีวิตกองทุนประกันวินาศภัย กองทุนสงเคราะห์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนของอธิการบดี และรองอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษา ยังคงต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ตามเดิม!!

 

จากที่ก่อนหน้านั้น ป.ป.ช.ออกประกาศให้นายกสภา กรรมการสภา ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามกฎหมาย เกิดเป็นกระแสคัดค้านอย่างหนัก ทำให้นายกสภาและกรรมการสภาหลายแห่งตัดสินใจลาออก เพราะไม่อยากยุ่งยาก ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แถมต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ

โดยเฉพาะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากภาคเอกชน หลายคนที่มองว่า เรื่องนี้ได้ไม่คุ้มเสีย หากต้องยื่นจริงๆ ก็คงไม่ขออยู่ต่อ

โดยกลุ่มแรกที่ลาออกจากตำแหน่งคือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ลาออกจากตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ (มรร.) พร้อมด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 3-4 ราย ตามด้วยนายกสภาและกรรมการสภาอีกหลายแห่งที่ตัดสินใจลาออกทันที

เกิดสภาพสุญญากาศหลายแห่ง!!

ที่เหลือรอดูท่าทีจาก ป.ป.ช. เนื่องจากมีการขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป 60 วัน จากเดิมที่มีผลวันที่ 2 ธันวาคม 2561 มาเป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562

กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 21/2561 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปรับนิยามผู้ดำรงตำแหน่งใดต้องยื่นทรัพย์สินและหนี้สิน และตำแหน่งใดไม่ต้องยื่นทรัพย์สินและหนี้สิน

โดยยกเว้นให้นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยในกำกับรัฐไม่ต้องยื่นทรัพย์สินและหนี้สิน ส่งผลให้นายกสภาและกรรมการสภาของมหาวิทยาลัยออกนอกระบบทั้ง 28 แห่งได้รับการยกเว้น

ขณะที่นายกสภาและกรรมการสภาของกลุ่มมหาวิทยาลัยรัฐเดิมยังต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. รวมถึงคู่สมรสทั้งที่จดทะเบียนและไม่จดทะเบียน และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย

คำสั่งนี้นอกจากไม่สามารถลดอุณหภูมิความขัดแย้งได้แล้ว ยังทำให้มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) มองว่าถูกเลือกปฏิบัติ และไม่ได้รับความเป็นธรรม

ดังนั้น การที่ ป.ป.ช.ตัดสินใจปลดล็อก ยกเว้นตำแหน่งกรรมการสภา นายกสภามหาวิทยาลัยทั่วประเทศไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน จึงถือเป็นการตัดเนื้อร้ายที่ได้ผลชะงัก สร้างความพึงพอใจให้กับทุกฝ่าย…

 

นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) บอกว่า ดูมหาวิทยาลัยรู้สึกดี แต่มีคำถามในส่วนของนายกสภา กรรมการสภา ที่ลาออกไปแล้วว่า จะขอกลับเข้ามาใหม่โดยอัตโนมัติได้หรือไม่

ตนขอย้ำว่า ใครที่ลาออกไปแล้ว ไม่สามารถกลับเข้ามาโดยอัตโนมัติได้ เพราะใบลาออกมีผลแล้ว หากอยากกลับเข้ามาต้องเข้าสู่กระบวนการสรรหาใหม่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ประกาศนี้ยกเว้นเฉพาะนายกสภา กรรมการสภาเท่านั้นที่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ส่วนอธิการบดี และรองอธิการบดี ยังต้องยื่นตามเดิม

ด้าน นพ.กำจร ตติยกวี อดีตปลัด ศธ. ในฐานะกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นคล้ายกันว่า ถือว่าเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม ทำให้อุดมศึกษาสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนตัวคงไม่ลาออกจากตำแหน่งแล้ว ขณะที่ในส่วนของสภาจุฬาฯ เอง เชื่อว่าคงไม่มีใครลาออกเช่นกัน

นายโกวิทย์ พวงงาม นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครศรีธรรมราช มองคล้ายกันว่า เป็นเรื่องดี เพราะมหาวิทยาลัยจะได้ดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ถือว่าเรื่องนี้คลี่คลายไปด้วยดี ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ ตนและกรรมการสภา มรภ.นครศรีธรรมราช 7-8 คน เตรียมยื่นลาออกแต่รอความชัดเจนจาก ป.ป.ช.ก่อน จึงระงับไว้ เมื่อไม่ต้องยื่นบัญชี ตนและกรรมการสภาก็พร้อมทำหน้าที่ต่อ

อย่างที่เคยพูดแล้วว่า นายกสภาและกรรมการสภา ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง เนื่องจากไม่ได้เข้าไปบริหาร หรือยุ่งเกี่ยวกับการเงิน งบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างในมหาวิทยาลัย มีหน้าที่เพียงออกนโยบาย อนุมัติเรื่องวิชาการ เช่น หลักสูตร อนุมัติปริญญา และควบคุมดูแลการดำเนินงานของอธิการบดีในการบริหารมหาวิทยาลัย ว่าดำเนินงานตามนโยบายที่เคยให้ไว้หรือไม่เท่านั้น

ขณะที่นายภาวิช ทองโรจน์ รักษาการนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่นายกสภาเชื่อว่าสามารถผ่อนคลายปัญหาไปได้มาก  เพราะทุกคนกำลังรอฟัง ป.ป.ช. อย่างมหาวิทยาลัยนครพนม มีกรรมการสภาลาออกก่อนไปแล้ว 3 ราย และมีกรรมการสภาเตรียมลาออก 4-5 ราย เมื่อชัดเจนแล้วว่าไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรรมการสภาที่เตรียมจะลาออกก็ยืนยันว่าจะทำงานต่อไป

ส่วนกรรมการสภาที่ลาออกไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องเข้าสู่กระบวนการสรรหากรรมการสภาใหม่ ซึ่งไม่มีปัญหา สามารถดำเนินการได้เลย

 

ปิดท้ายด้วย นายมนตรี นุ่มนาม อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ (มรร.) กล่าวว่า ตนได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิก่อนมีประกาศ ป.ป.ช.ให้ยกเลิกการแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ ของนายกสภา และกรรมการสภาออกมาเพียง 1 วัน เพราะตนไม่อยากนั่งรอเวลา เนื่องจากใกล้ครบกำหนดวันที่ ป.ป.ช.ให้นายกสภา และกรรมการสภายื่นบัญชีทรัพย์สินฯ แล้ว ตนไม่อยากมาเสี่ยงว่า ป.ป.ช.จะออกประกาศเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ หรือไม่

อีกทั้งส่วนตัวได้ประกาศออกมาชัดเจนแล้วว่าหากต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินจริง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 12 ราย พร้อมลาออก เพราะพวกเราเป็นนักธุรกิจ ไม่อยากเสี่ยงในการผิดพลาดในการยื่นบัญชีทรัพย์สิน

ส่วนตัวไม่อยากลาออก อยากอยู่ช่วยงานมหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนงานต่างๆ ได้ แต่ถ้ามีปัญหาที่ยุ่งยากตามมาก็ไม่อยากเสี่ยง จึงขอลาออกก่อน ขณะนี้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกลาออกเกือบหมด เหลือเพียง 4-5 รายที่ยังไม่ลาออก เมื่อ ป.ป.ช.ประกาศออกมาชัดเจนแล้ว จึงขอให้คนที่ยังไม่ลาออกอยู่ช่วยงานมหาวิทยาลัยต่อไป เพราะกังวลว่าหากมีสัดส่วนกรรมการสภาไม่ครบองค์ประชุม ไม่ครอบองค์ประกอบ การดำเนินการของมหาวิทยาลัยอาจจะหยุดชะงัก

โดยขณะนี้สภา มรร.อยู่ระหว่างการสรรหานายกสภาแทนนายมีชัย และกรรมการสภาที่ตัดสินใจลาออกไปก่อนหน้านี้ ซึ่งก็เสี่ยงว่ากรรมการสภาที่เหลืออยู่หากไม่ถึงครึ่งหนึ่งขององค์ประชุม ก็อาจไม่สามารถสรรหาชุดใหม่ได้

ต้องลุ้นว่า มรร.จะแก้ปัญหานี้อย่างไร

   ขณะที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ที่นายกและกรรมการสภายังไม่ลาออกต่างโล่งอก เดินเครื่องทำงานต่อไปได้แบบไม่ต้องลุ้นอีกต่อไป…