ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 กุมภาพันธ์ 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | กรองกระแส |
เผยแพร่ |
กรองกระแส
โฉมใหม่ การเมือง
นวัตกรรม และเทคโนโลยี
กับเลือกตั้ง 2562
ไม่เพียงแต่ธนาคารจะถูก “ปรับโครงสร้าง” ไม่เพียงแต่สื่อมวลชนจะถูก “ปรับโครงสร้าง” หากเด่นชัดมากยิ่งขึ้นว่าการเมืองก็กำลังจะถูก “ปรับโครงสร้าง”
การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 จะเป็นเครื่องพิสูจน์
มีความพยายามยกร่างกติกาผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สร้างความได้เปรียบ มีการนำเอาอำนาจจากการรัฐประหารจัดแถวข้าราชการและองค์กรอิสระ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับการสืบทอดอำนาจอย่างน้อยที่สุด 4 ปี
แต่เมื่อประสบเข้ากับ “เทคโนโลยี” ที่ทะลวงเข้ามาภายในกระบวนการของการเลือกตั้ง ความพยายามอาจดำเนินไปในสภาพที่ว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายามยังอยู่ที่นั่น
คำว่า “เทคโนโลยี” ในที่นี้มิได้ครอบคลุมแต่เพียงการเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างสูงของ “สื่ออิเล็กทรอนิกส์” หากแต่ยังเป็นนวัตกรรมใหม่ในทางการเมืองที่จะเข้าสู่กระบวนการเพื่อสกัดขัดขวางมิให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประสบความสำเร็จ
แม้ว่า คสช.จะยังสามารถสืบทอดอำนาจได้ แต่ก็มิได้หมายความว่าการดำรงอยู่ในอำนาจจะเหมือนกับหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
กลยุทธ์แตกพรรค
กลยุทธ์ “เพื่อไทย”
ต้องยอมรับว่าการแยกแตกตัวของพรรคเพื่อไทยไปเป็นพรรคประชาชาติที่นำโดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา คือจุดเริ่มต้นโดยเน้นพื้นที่เฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก
จากพรรคประชาชาติก็เป็นพรรคไทยรักษาชาติ และรวมถึงพรรคเพื่อชาติ
แกนนำที่เข้าไปมีบทบาทในพรรคประชาชาติ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ ล้วนเคยสัมพันธ์กับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย
ทั้งหมดนี้คือพรรคที่มีแนวทางสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย เพียงแต่แยกกันเคลื่อนไหวเท่านั้น
น่าสังเกตว่าแม้ฝ่ายของ คสช.จะมีการแยกตัวในลักษณะเดียวกันนี้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังธรรมใหม่ หรือแม้กระทั่งพรรคประชาชนปฏิรูป
แต่ก็ต้องยอมรับว่าแม้ยุทธศาสตร์ของพรรคเหล่านี้จะหนุน คสช. แต่ยุทธศาสตร์ก็ไม่หนักแน่นและจริงจังเท่ากับพรรคที่แยกแตกตัวไปจากพรรคเพื่อไทย
นี่คือบาทก้าวสำคัญก้าวหนึ่งของฝ่ายที่จะสัประยุทธ์กับการสืบทอดอำนาจของ คสช.
การรุกคืบ ยึดครอง
ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ไม่เพียงแต่จะมีการจัดรายการ Good Monday มาจากต่างแดนแสดงวิสัยทัศน์ที่รู้เท่าทันกับเทคโนโลยีโลก ขณะเดียวกันก็ประสานความจัดเจนนั้นมาเป็นข้อมูลหนึ่งในการแก้ไขปัญหาอันกำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย
หากแต่ประสานไปกับการเคลื่อนไหวปราศรัยหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคประชาชาติไทย พรรคเพื่อชาติ ได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองอันแหลมคมยิ่ง
บรรดานักปราศรัยฝีปากกล้า ไม่ว่าจะเป็น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ไม่ว่าจะเป็นนายอดิศร เพียงเกษ ไม่ว่าจะเป็นนายจาตุรนต์ ฉายแสง ไม่ว่าจะเป็นนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ไม่ว่าจะเป็นนายจตุพร พรหมพันธุ์ ต่างเดินสายไปตามเวทีต่างๆ ด้วยความคึกคัก
จากนั้นรายละเอียดคำปราศรัยก็ปรากฏผ่านช่องทางของ “ยูทูบ” สามารถรับฟังแม้กำลังนอนอยู่ที่บ้านก็ตาม
เนื้อหาการปราศรัยเป็นไปในเนื้อหาเดียวกัน นั่นก็คือ สะท้อนให้เห็นอันตรายของการทำรัฐประหาร สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน สะท้อนให้เห็นปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนตลอด 4 ปีภายหลังการอยู่ในอำนาจของ คสช.
การปราศรัยเหล่านี้มีเนื้อหาตรงกันข้ามและสวนกับที่ปรากฏผ่านรายการคืนวันศุกร์และทุกวันในตอนเย็นย่ำอย่างสิ้นเชิง
เป็นการนำเอายุทธศาสตร์ของการต้าน คสช.มาดำรงอยู่ในยุทธวิธีอันเหมาะสม
บทบาท เทคโนโลยี
การเมือง การเลือกตั้ง
หากประเมินจากนวัตกรรมในการแยกแตกตัวจากพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคประชาชาติ เป็นพรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ เป็นต้น นี่คือการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ในทางการเมืองอันเป็นผลโดยตรงมาจากกฎกติกาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
เมื่อพิจารณาบทบาทของรายการ Good Moyday ประสานเข้ากับบทบาทการนำเอาคำปราศรัยของแต่ละคนนำเสนอผ่านช่องทางยูทูบ
นี่ไม่เพียงแต่เป็นการปรับประสานนวัตกรรมทางการเมืองให้สอดรับเข้ากับการเข้ามาของเทคโนโลยีอย่างใหม่ได้อย่างเหมาะสม หากแต่ในเนื้อหาของการปรับประสานทั้งหมดนี้คือ ทาง 1 วิพากษ์วิจารณ์ความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารจัดการของ คสช.
ขณะเดียวกัน ทาง 1 นำเสนอวิสัยทัศน์อันมีลักษณะก้าวหน้าและไต่ระดับไปกับเทคโนโลยีของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ผลการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 จะเป็นคำตอบว่าการใช้ยุทธวิธีเช่นนี้จะช่วยให้พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ บรรลุยุทธศาสตร์ทางการเมืองในการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.ได้หรือไม่