วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /ก่อนถึงชื่อ ‘มติชน’

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ 

ก่อนถึงชื่อ ‘มติชน’

หลังปฏิวัติ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2520 ถึงต้นเดือนมกราคม 2521 นักเขียนจากกองบรรณาธิการเข็มทิศทยอยนำเสนอความคิดเห็นในชื่อจริงนามสกุลจริง ด้วยไม่รู้ว่าจะใช้นามปากกาเขียนปิดบังตัวจริงชื่อจริงไปทำไม เมื่อคณะปฏิวัติทุบหอยทิ้งไม่เป็นอันตรายกับปากกาแต่อย่างใด

นอกจากขรรค์ชัย บุนปาน, พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียรแล้ว ไพสันต์ พรหมน้อย, เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์, แสงไทย เค้าภูไทย ยังแสดงทัศนะความคิดเห็นตรงไปตรงมากับสังคมการเมืองไทยอีกด้วย

ไพสันต์ พรหมน้อย แสดงความคิดเห็นเรื่อง วัฒนธรรมทางการเมือง ดาบนั้นคืนสนอง ว่า สภาที่มาจากการเลือกตั้ง คือสภาที่มาจากประชาชน “ส.ส.ผู้ใดถ้าทำหน้าที่ของตนไม่สมบูรณ์ อาจจะไม่ได้รับเลือกจากประชาชนให้เข้ามาทำหน้าที่แทนในสมัยต่อไป นั่นเป็นวิถีทางลงโทษ ส.ส.น้ำเน่าได้ดีที่สุดทางหนึ่ง”

“นี่แหละคืออำนาจของประชาชน และเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของประชาชนที่มีอยู่”

อีกเรื่องหนึ่งชื่อ “ศึกล้างบางของคณะปฏิวัติ” ไพสันต์ พรหมน้อย แสดงความเห็นว่าเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ แล้วจบด้วยประโยคว่า

“ความถูกต้องและความเป็นธรรมเท่านั้นที่จะอยู่ได้ตลอดไป”

 

ในหน้าเดียวกัน มีล้อมกรอบ “ประกาศ” ความว่า

ตามที่มีผู้ใช้นามว่า “ประเสริฐ ตะระสาน” พิมพ์นามบัตรระบุตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร ใช้ชื่อหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ประชาชาติ และประชามติ อยู่ในนามบัตรใบเดียวกัน แล้วเที่ยววิ่งเต้นไปตามบ้านข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อันเป็นการส่อเจตนาไม่สุจริตนั้น

กองบรรณาธิการเข็มทิศ ซึ่งเป็นกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ประชาชาติเดิม ขอเรียนชี้แจงว่า

  1. ทางกองบรรณาธิการได้มีมติให้นางสาววิยะดา ประสาทกิจ เป็นผู้ไปขอหัวหนังสือพิมพ์ประชามติ ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2520 ซึ่งเรื่องนี้กำลังอยู่ในพิจารณาของหน่วยราชการผู้เกี่ยวข้อง
  2. ได้ตรวจสอบไปยังหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยเดิมแล้ว ไม่เคยมีชื่อนายประเสริฐ ตะระสาน ทำงานหนังสือพิมพ์แต่อย่างใด
  3. การแอบอ้างของนายประเสริฐ ตะระสาน เป็นการสร้างความเข้าใจผิด และก่อความเสียหายให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์โดยสุจริตที่เคยสังกัดหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยและประชาชาติอย่างยิ่ง

การจารกรรมหัวหนังสือพิมพ์ และการฉวยโอกาสหากินด้วยคราบนักหนังสือพิมพ์สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นเช่นนี้ กองบรรณาธิการเข็มทิศขอประกาศว่า จะต้องได้รับการตอบโต้อย่างสาสม

กองบรรณาธิการเข็มทิศธุรกิจ

 

นอกจากนั้น แสงไทย เค้าภูไทย บรรณาธิการ ยังเขียนทัศนะ ชื่อเรื่อง ฤกษ์รัฐบาล ตบท้ายเรื่องว่า

“…เมื่อถามว่า หากเขาเลือกวันที่ 12 แต่ประกาศเลยไปจากเวลา 20.30 น. แล้วจะเป็นไรไหม”

แสงไทยตอบว่า “ไม่เป็นอะไรหรอก แต่ถึงเวลา 20.30 น.ไป นั่นมันเป็นฤกษ์พาผู้หญิงหนี หรือฉุดลูกสาวชาวบ้านนะคุณ”

ฉบับต่อมา ไพสันต์ พรหมน้อย เขียนเรื่อง คนหนังสือพิมพ์ต้องทำหน้าที่หนังสือพิมพ์ ยกคำพูดของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีนักหนังสือพิมพ์เข้าร่วมเป็น ส.ส. นิติบัญญัติหรือไม่

พล.อ.เกรียงศักดิ์ตอบว่า “ผมคัดค้านเรื่องที่จะให้นักหนังสือพิมพ์มาเป็น ส.ส. ผมไม่เห็นด้วย ผมอยากเห็นหนังสือพิมพ์เป็นสถาบันพิเศษสถาบันหนึ่ง เปรียบเสมือนกระจกคอยส่องรัฐบาล จะด่าก็ด่า จะชมก็ชม พูดด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะเข้าไปในสภาแล้วก็ต้องเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่เป็นฝ่ายรัฐบาลก็เป็นฝ่ายสภา เพราะถ้าไม่ออกเสียงก็กินเงินเดือนของประชาชนเปล่า”

“คิดว่าเรื่องนี้นักหนังสือพิมพ์คงเข้าใจ เพราะถ้าด่าใครไม่ได้ก็ไม่ดี สำหรับผมไม่ห่วง ใครจะด่าก็ด่า”

 

ส่วนผม เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ เริ่มเขียนเมื่อมีข่าว “บุคคลในผ้าเหลืองระดับผู้ใต้บังคับบัญชา ต้องถึงแก่ชีวิตไปหนึ่งศพ อีกสองสมีต้องเป็นปาราชิก” จากเหตุพระฆ่าพระเมื่อหลายคืนก่อน ตามประสาเพิ่งพ้นจากใต้ร่มกาสาวพัสตร์ แล้วว่าไปถึงเรื่องภิกษุให้เลิกคำว่า “ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์” โดยให้ภิกษุด้วยกันมั่นคงในศีล หมั่นปฏิบัติธรรม และรักษาพรหมจรรย์ให้ปรากฏต่อสายตาพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป

ทั้งว่าเลยไปถึงรัฐบาลนี้มุ่งมั่นที่จะสร้างความสามัคคีให้เกิดแก่ชนในชาติทุกหมู่เหล่า โดยเฉพาะทางด้านประชาชนทั่วไป ในหมู่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ แม้ว่าคณะสงฆ์จะไม่อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐบาลก็ตามที แต่อะไรต่ออะไรในประเทศนี้ อาณาจักรกับศาสนจักรจะต้องเดินควบคู่กันไปเสมอ

แม้นักข่าวอย่าง “วชิราภรณ์” ยังมีโอกาสแสดงทัศนะเรื่อง “มนุษยธรรม การค้า และประชาชน”

เข็มทิศ ฉบับ 7-9 ธันวาคม 2520 เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ มีคำถามว่า “หนังสือพิมพ์ไทยมีพอแล้วหรือ” ด้วยเหตุว่า ปัญหาหนึ่งซึ่งเห็นว่า นายกรัฐมนตรี (พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์) ออกจะมองอย่างไม่เห็นความสำคัญสำหรับคนส่วนใหญ่ และกลับเห็นเป็นว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าไรนัก คือเรื่องหนังสือพิมพ์

พล.อ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า หนังสือพิมพ์เวลานี้มีเพียงพอแล้ว ไม่ควรมีให้มากไปกว่านี้อีก ทั้งยังเห็นว่าหนังสือพิมพ์ที่ถูกปิดไปแล้วไม่ควรให้มีออกมาอีก แม้สถานการณ์การเมืองภายในประเทศคลี่คลายไปมากแล้ว

สำหรับการพิจารณาหนังสือพิมพ์ที่ถูกปิดไปเมื่อเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคมนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรจะทบทวนเสียใหม่ว่าหนังสือพิมพ์เหล่านั้นมีความผิดหรือกระทำอะไรบ้าง อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือมุ่งหวังล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือสร้างความแตกแยกให้เกิดในแผ่นดิน

ถ้าหากพิจารณาได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง ก็สมควรที่จะถอนใบอนุญาตการเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของผู้นั้นเสียตามตัวบทกฎหมาย

ส่วนกรณีที่ว่าหนังสือพิมพ์ในปัจจุบันมีเพียงพอแล้ว ในสายตาของนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ทราบว่านายกรัฐมนตรีเอาอะไรมาเป็นกฎเกณฑ์ในการวัดความเพียงพอของจำนวนหนังสือพิมพ์

โดยความหมายของหนังสือพิมพ์ในประเทศประชาธิปไตยนั้น การจำกัดจำนวนของหนังสือพิมพ์ย่อมเป็นไปไม่ได้ และไม่สามารถทำได้ เพราะขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ที่ให้ประชาชนมีสิทธิคิดเขียนและพูดในขอบเขตที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

นับแต่หนังสือพิมพ์เข็มทิศออกจำหน่ายเป็นฉบับธุรกิจ นำเสนอข่าวตลาดหลักทรัพย์ฯ และตารางหุ้น รวมทั้งข่าวธุรกิจเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ หลังจากนั้นหนังสือพิมพ์รายวันจึงนำเสนอจนเป็นที่นิยมแต่นั้น