จีนยุคบุราณรัฐ : ร้อยสำนักเปล่งภูมิ (3)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
หุ่นขี้ผึ้งขงจื่อ

ขงจื่อกับสำนักหญู (ต่อ)

การเป็นผู้ดีที่มีเลือดขัตติยะของตระกูลข่งนี้ มาสะดุดลงเมื่อเกิดการแก่งแย่งอำนาจกันภายในตระกูล และส่งผลให้ซูเหลียงเหอหรือข่งเหอบิดาของขงจื่อซึ่งเป็นรุ่นที่ 4 ของตระกูลต้องอพยพครอบครัวจากรัฐซ่งมาอยู่ที่รัฐหลู่ ซึ่งเวลานั้นราศีผู้ดีของตระกูลข่งได้หมองลงไปมากแล้ว

ที่รัฐหลู่นี้บิดาของขงจื่อได้แต่งงานกับหญิงที่มีอายุน้อยกว่ามากชื่อ เอี๋ยนเจิงจ้าย

กล่าวกันว่า การแต่งงานครั้งนี้มิได้เป็นไปตามประเพณี ครอบครัวผู้ดีตกยากของข่งเหอจึงมักถูกนินทาค่อนแคะจากสังคมที่แวดล้อมอยู่เสมอ

หลังจากนั้นทั้งสองก็ให้กำเนิดขงจื่อขึ้นมา แต่ครั้นขงจื่ออายุได้ 3 ขวบ ข่งเหอผู้เป็นบิดาก็เสียชีวิต ดังนั้น สองชีวิตแม่ลูกจึงดำเนินไปในสภาพที่ขัดสนยากจน และอยู่ในท่ามกลางคำครหานินทาของเพื่อนบ้าน

แต่ด้วยสภาพแวดล้อมเช่นนี้เอง ที่มีส่วนไม่น้อยในการหล่อหลอมให้ขงจื่อแข็งแกร่งขึ้นมา

ขงจื่อได้รับการศึกษาตามสมควร จนอายุได้ 17 ปี มารดาของเขาก็ลาโลกไป นับจากนั้นขงจื่อก็มุมานะในการศึกษาเล่าเรียนจนมีความรู้เพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับ

วิชาที่เขาร่ำเรียนเป็นวิชาที่เหล่าวิชาธรในสมัยนั้นร่ำเรียนกัน นั่นคือ รีต (หลี่) คีตศิลป์ (เย่ว์) เกาทัณฑ์ (เส้อ) รถศึก (อี้ว์) วรรณศิลป์ (ซู) และคำนวณ (ซู่) รวม 6 สาขาวิชา

จนอายุราว 26-27 ปี ขงจื่อจึงเข้ารับราชการในตำแหน่งเล็กๆ โดยครั้งหนึ่งทำหน้าที่ดูแลปศุสัตว์ อีกครั้งหนึ่งทำหน้าที่ทางด้านบัญชี แต่จากความรู้ที่เขามีอยู่สูงจนเป็นที่รู้กันไปทั่ว ขงจื่อในวัย 30 ปีจึงเริ่มมีผู้มาขอเป็นศิษย์

ภูมิหลังของผู้เป็นศิษย์เหล่านี้มีความหลากหลาย อันเท่ากับขงจื่อได้ทลายกำแพงที่กีดกันมิให้ราษฎรเข้าถึงการศึกษาที่มีมาช้านานลงไป

แต่จะด้วยเริ่มมีลูกศิษย์ลูกหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ดี หรือด้วยความขัดแย้งกับการศึกระหว่างรัฐต่างๆ ในยุคนั้นก็ดี ขงจื่อเริ่มมีความคิดที่จะนำความรู้ของตนมาให้คำปรึกษาทางการเมือง

รัฐที่ขงจื่อเข้าไปสัมพันธ์ในลักษณะนี้เป็นรัฐแรกคือ รัฐฉี แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ตราบจนมีอายุได้ 51 ปี ขงจื่อจึงเริ่มมีบทบาททางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ด้วยหวังว่าความรู้ที่ตนมีอยู่จะสามารถแก้ไขให้สถานการณ์ดีขึ้นได้บ้าง

บทบาทด้านนี้ของขงจื่อเริ่มจากรัฐหลู่ถิ่นเกิดของเขา จากนั้นก็เป็นรัฐเว่ย จิ้น ซ่ง เฉิน และฉู่ ซึ่งต่างก็ล้มเหลวแทบทั้งสิ้น

ขงจื่อแสดงบทบาทนี้เป็นเวลา 14 ปี จนเมื่อย่างสู่ความชราภาพ เขาจึงตัดสินใจกลับมายังรัฐหลู่เพื่อใช้ชีวิตในบั้นปลาย ซึ่งกลับมาสู่จุดเดิมของการเป็นครูบาอาจารย์อีกครั้งหนึ่ง

แต่ที่ดูต่างไปจากครั้งก่อนก็คือ ในครั้งนี้ขงจื่อได้อุทิศเวลาให้กับการชำระเอกสารที่ทรงคุณค่าขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งต่อมาจักได้เป็นคัมภีร์สำคัญของสังคมจีนสืบมา

แม้ขงจื่อจะใช้ชีวิตบั้นปลายไปในทางการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่บางครั้งก็มิวายที่จะแสดงความเห็นทางการเมืองให้แก่ผู้นำรัฐหลู่ ซึ่งก็ยังคงเป็นเช่นเดิมคือ ถูกปฏิเสธ

ส่วนชีวิตส่วนตัวและครอบครัวนั้นก็เป็นไปตามอัตภาพและความเป็นจริง ขงจื่อได้รับผลกระทบทางจิตใจอยู่ครั้งหนึ่งตอนอายุได้ 71 ปี เมื่อบุตรชายคนเดียวของเขาได้เสียชีวิตลง คงทิ้งไว้แต่หลานปู่ให้อยู่เคียงข้างตัวเขา

ถึงกระนั้น สิ่งที่ขงจื่อดูจะไม่เคยขาดแคลนเลยก็คือ การที่ยังคงมีศิษยานุศิษย์มาคอยดูแลในยามชราอยู่เสมอ และทั้งศิษย์กับอาจารย์ก็ยังคงสนทนาการในเรื่องของความรู้กันอยู่เสมอเช่นกัน

ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการสนทนาทั้งก่อนหน้านี้และระหว่างนี้ ต่อมาศิษย์ของเขาได้รวบรวมและเรียบเรียงขึ้นเป็นเสมือนคัมภีร์อีกเล่มหนึ่งที่ทรงคุณค่า ด้วยเป็นเอกสารที่รวมเอาหลักคำสอนและหลักคิดของขงจื่อมาไว้ในที่เดียวกัน และเป็นที่มาของปรัชญาขงจื่อที่เรารู้จักกันในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ขงจื่อใช้ชีวิตบั้นปลายไปตามที่กล่าวมาจนถึงอายุ 73 ปีจึงจากโลกนี้ไป

จากประวัติโดยสังเขปดังกล่าวของขงจื่อ ทำให้พอเห็นภาพได้ในระดับหนึ่งว่า ชีวิตที่นับแต่เล็กจนโตเป็นนักปราชญ์นั้น ขงจื่อตกอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นไร

เหตุดังนั้น เมื่อขงจื่อคิดที่จะใช้ความรู้มาแก้ปัญหากลียุคให้แก่สังคมจีนในขณะนั้นแล้ว

คำถามจึงมีว่า ถ้าเช่นนั้นอะไรคือความรู้ที่ว่านี้?

ความรู้ที่ว่านี้ก็คือสิ่งที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น นั่นคือ ความรู้อันเป็นเอกสารที่เขาได้ชำระขึ้นมาที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า อู่จิง (เบญจปกรณ์) และความรู้อันเกิดจากการรวบรวมคำสนทนาในวาระต่างๆ ระหว่างเขากับศิษย์และบุคคลอื่น โดยเมื่อเป็นเอกสารตำราขึ้นมาแล้วก็เรียกกันต่อมาว่า หลุนอี่ว์ (บทสนทนา) และได้มีความสำคัญต่อรากฐานวัฒนธรรมจีนจนถูกถือเป็นเสมือนหนึ่งคัมภีร์

ความรู้ที่ปรากฏออกมาในรูปของ อู่จิง และ หลุนอี่ว์ มีข้อที่น่าสังเกตอยู่ตรงที่เป็นความรู้ที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ หากไม่มี อู่จิง แล้วก็ยากที่จะมี หลุนอี่ว์ ได้ เพราะสารัตถะที่ปรากฏใน หลุนอี่ว์ นั้น ขงจื่อมักอ้างจาก อู่จิง อยู่เสมอ

แต่หากไม่มี หลุนอี่ว์ ก็ยากที่จะเข้าใจสารัตถะที่สำคัญๆ จาก อู่จิง เพราะ หลุนอี่ว์ ได้ประมวลเอาสิ่งละอันพันละน้อยตามที่ปรากฏใน อู่จิง มาพัฒนาเป็นคำอธิบายเฉพาะของตนเอง ซึ่งมิใช่เรื่องที่จะทำได้โดยง่าย และทำให้เห็นด้วยว่าขงจื่อได้ศึกษาเอกสารสำคัญจำนวนมากมาก่อน หาไม่แล้วก็คงประมวลเอามาตอบในการสนทนาไม่ได้

และเพราะเห็นว่าเป็นเอกสารสำคัญนี้เองที่ทำให้เขาทำการแยกแยะ เรียบเรียง รวบรวม แล้วชำระสิ่งอันเป็น “ความรู้” ในเอกสารดังกล่าวออกมาเป็น อู่จิง ในที่สุด จากนี้ไปนี้จะได้กล่าวถึงชุดความรู้ทั้งสองนี้แต่เพียงสังเขป

และเนื่องจาก อู่จิง เป็นเสมือนต้นธารของ หลุนอี่ว์ ในที่นี้จะได้กล่าวถึง อู่จิง ก่อน

ก. อู่จิง

ก่อนที่จะได้กล่าวถึง อู่จิง มีประเด็นที่พึงทำความเข้าใจอยู่ประการหนึ่ง ซึ่งในที่นี้เห็นว่ามีความสำคัญพอสมควร นั่นคือ ก่อนที่จะมาเป็น อู่จิง นั้น ว่ากันว่า ผลงานที่ขงจื่อชำระมีอยู่ 6 เรื่องด้วยกัน เรียกว่า ลิ่วจิง (ษัฏปกรณ์) อันประกอบด้วย ซือ ซู หลี่ เย่ว์ อี้จิง และ ชุนชิว หรือ กาพย์ รัฐตำนาน รีต คีตะ อนิจจะ และ วสันตสารท ตามลำดับ

โดย 1 ใน 6 เรื่องอันเป็นปัญหาที่พึงอธิบายในที่นี้คือ เย่ว์ (คีตะ) ซึ่งเป็นผลงานการคัดสรรและรวบรวมทำนองเพลงในสมัยนั้นมาไว้ในที่เดียวกัน แต่กลับไม่พบผลงานเรื่องนี้

ปราชญ์ในยุคหลังขงจื่อจึงคิดเห็นแตกต่างกันไป บ้างก็ว่าผลงานเรื่องนี้ได้ถูกทำลายไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งที่จักรพรรดิฉินสื่อทรงสั่งให้เผาตำราของสำนักหญู บ้างก็ว่าผลงานชิ้นนี้มิได้มีอยู่จริง หากแต่ตัวผลงานได้ปะปนอยู่ใน หลี่ และ ซือ แล้ว

จะเห็นได้ว่า ข้อคิดเห็นของปราชญ์ดังกล่าวล้วนมีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะข้อหลังนั้นพบว่า มีบางบทของ หลี่ และ ซือ มีทำนองที่ใช้สวดหรือขับขานอยู่ด้วย

แต่ก็ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ปกรณ์เหลืออยู่ 5 เรื่อง

อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์ฉินมีอายุไม่ยืนยาวนัก คือเพียง 15 ปีก็ล่มสลายลงไปใน 206 ปีก่อน ค.ศ. ราชวงศ์ฮั่นที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจแทนไม่มีนโยบายต่อต้านปราชญ์สำนักต่างๆ จึงได้ให้มีการฟื้นฟูปกรณ์ที่ถูกเผาทำลายไปในสมัยราชวงศ์ฉินขึ้นมาใหม่

ในบรรดานี้ย่อมมีปกรณ์ทั้งห้าเรื่องข้างต้นอยู่ด้วย

และเนื่องจากการเผาตำราเกิดขึ้นเมื่อ 213 ปีก่อน ค.ศ. แล้วอีก 7 ปีต่อมาฉินก็ล่มสลาย¹ เวลา 7 ปีจึงไม่นานมากเกินกว่าที่จะฟื้นฟูตำราเหล่านี้ เพราะมีปราชญ์บางคนซ่อนปกรณ์เหล่านี้เอาไว้ให้เหลือรอดมาได้ ถึงแม้จะมีบางส่วนของบางเล่มเสียหายในขณะที่ซ่อนเอาไว้บ้างก็ตาม

กล่าวเฉพาะปกรณ์ทั้งห้าดังกล่าว ภายหลังเมื่อถูกฟื้นฟูแล้วก็ได้รับการยกย่องเอาไว้ในฐานะที่สูงส่ง โดยเพิ่มคำว่า จิง ที่แปลว่า ปกรณ์ หรือ คัมภีร์ ต่อท้ายชื่อแต่ละเรื่อง (ยกเว้นเรื่องเดียวคือ ชุนชิว ที่ไม่มีคำว่า จิง ต่อท้าย แต่ก็ละเอาไว้ในฐานที่เข้าใจว่ามีฐานะสูงส่งไม่ต่างกับปกรณ์อีก 4 เล่ม)

เมื่อรวมทั้งห้าเรื่องก็จะเรียกว่า อู่จิง หรือ เบญจปกรณ์ ในที่สุด


เชิงอรรถ

¹การเผาตำราหรือปกรณ์ต่างๆ ในสมัยราชวงศ์ฉินโดยจักรพรรดิฉินสื่อที่เกิดเมื่อ 213 ปีก่อน ค.ศ. หรือปีที่ 8 ของการครองราชย์นี้ ผู้เป็นต้นคิดคือมหาอำมาตย์หลี่ซือ โดยหลี่ซือเสนอให้เผาตำราของปราชญ์ทุกสำนัก ด้วยเห็นว่าไม่มีประโยชน์ต่อการบริหารรัฐ แต่ก็ให้เหลือไว้ก็แต่ตำราบางเล่ม เช่น แพทยศาสตร์ โหราศาสตร์ เกษตรศาสตร์ เป็นต้น