มนัส สัตยารักษ์ : พิมพ์เอง-ขายเอง

ผมมีประสบการณ์ “พิมพ์เอง-ขายเอง” อย่างผิวเผินในระยะสั้นๆ ที่อยากเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องของคนนอกเส้นทางวรรณกรรมที่ผ่านมาและเข้าไปลงมือทำ เรื่องราวอาจจะตกหล่นและไม่รอบด้าน ดังนั้น โปรดอย่าได้ยึดถือเป็นข้อเท็จจริงที่จะเอาไปอ้างอิง

พิมพ์เอง-ขายเอง น่าจะมีมานานแล้ว การนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุผล “ขัดข้อง” ของสำนักพิมพ์ หรือจะด้วยความต้องการของนักเขียนเองก็ตาม แต่ที่ทำอย่างจริงจังเป็นระบบ ประสบความสำเร็จอย่างสูง เป็นปรากฏการณ์สำคัญทางวรรณกรรมที่ถูกกล่าวขวัญถึงมาจนทุกวันนี้

ต้องเป็นสำนักพิมพ์ “โอเลี้ยง 5 แก้ว” ของอาจินต์ ปัญจพรรค์

เหตุที่พี่อาจินต์ตั้งชื่อสำนักพิมพ์เช่นนี้เพราะพิมพ์ในรูปเล่ม “พ็อกเก็ตบุ๊ก” ขายในราคาเล่มละ 5 บาท ในยุคที่โอเลี้ยงแก้วละบาท คนหนุ่มคอกาแฟอย่างผมซึ่งกินแทนน้ำวันละ 4 หรือ 5 แก้วอยู่แล้ว จึงแสนคุ้มค่ากับหนังสือรวมเรื่องสั้นฉบับกระเป๋า ที่อ่านสนุก เป็นตัวอย่างที่ดีของการเขียนเรื่องสั้น นักอ่านต้องอ่านและเก็บเข้าตู้หนังสือให้ลูกหลานได้อ่านต่อไป

วิเคราะห์จาก “คำนำ” ในแต่ละเล่มของหนังสือที่อาจินต์ ปัญจพรรค์ พิมพ์ในช่วงเวลานี้ จะพบว่าแรงจูงใจมาจากความคิดสร้างสรรค์ (create) จากหัวใจนักสู้ของคนเขียนหนังสือ มิใช่มาจากอารมณ์แบบ “แองกรี้ยังแมน” ต่อสำนักพิมพ์ การวางตัวของพี่อาจินต์ยังคงเดิม กล่าวคือ รักทุกคนที่อยู่ในเส้นทางวรรณกรรม

การพิมพ์เอง-ขายเองเป็นเรื่องที่เหนื่อย ใช้ความสามารถในตัวเองหลายทาง ทั้งต้องใจถึงและเสียสละพอสมควรในฐานะเป็นหัวขบวน พี่อาจินต์ต้องการแรงสนับสนุนจากนักอ่านเสมอ

ในส่วนของผมที่พิมพ์เอง-ขายเองนั้น น่าจะมาจากความเป็นคนแปลกหน้านอกวงการ นักเขียนที่ผมรู้จักตัวเป็นๆ มีเพียง “คุณพ่อพัฒน์” พ.เนตรรังษี ซึ่งเป็นพ่อของเพื่อน นรต.ร่วมรุ่น ส่วนสำนักพิมพ์นั้นไม่รู้จักใครเลย “เฮียชิว” สุพล เตชะธาดา แห่งประพันธ์สาส์น มารู้จักสนิทสนมกันก็ภายหลัง

ผมมีอัตตาหรือปมอีโก้อยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ เรื่องสั้นไม่เคยลงตะกร้าบรรณาธิการ เรื่องแรกส่งไปที่พี่นพพร บุณยฤทธิ์ บ.ก.นิตยสาร “ชาวกรุง” ก็ได้รับการพิจารณาตีพิมพ์เลย ซ้ำยังได้รับกำลังใจทางโทรศัพท์ให้ “เขียนส่งไปอีก” ทำให้กลายเป็นคนคิดมาก (เหมือนเด็กกลัวสอบตก) ไม่กล้าส่งต้นฉบับไปที่อื่นนอกจากชาวกรุง สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ และหนังสือในเครือมติชน

ครั้นเมื่อถึงเวลาพอจะรวมเป็นเล่มขนาดพ็อกเก็ตบุ๊กได้ ผมหอบหิ้วต้นฉบับไปหาพี่อาจินต์ทันที ด้วยอุดมการณ์ที่เห็นความสำคัญและคุณค่าของนักเขียน พี่อาจินต์กรุณาให้ทั้งชื่อหนังสือและคำนำ และเมื่อตีพิมพ์เป็นเล่มแล้วยังได้รับการตีปี๊บจนดังไปโดยอัตโนมัติ

วิธี “ขายเอง” คือเดินตามเส้นทางที่พี่เขาปูไว้แล้ว ผมหอบหนังสือใส่ท้ายรถเก๋งขับตระเวนไปส่งตามร้านค้าด้วยตนเอง ในช่วงปี 2512-2513 ผมยังหนุ่มและการจราจรยังไม่เป็น “นรก”

เมื่อ “รงค์ วงษ์สวรรค์ กลับจากอเมริกา ได้รวมหัวกับ “เพื่อนหนุ่ม” ทำหนังสือชื่อเดือน ผมกับ ประเสริฐ สว่างเกษม ทำหน้าที่ “ขายเอง” อย่างที่เคยทำ

ผมต้องคอยตอบคำถามของตำรวจที่ตั้งด่านตรวจ พวกเขามักจะถามคล้ายๆ กันว่า

“ยังรับราชการอยู่หรือเปล่าครับ ?”

คุยเรื่อง “พิมพ์เอง-ขายเอง” ไปในคอลัมน์นี้ท่ามกลางเสียงเตือนของนักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์

“10 อาชีพเสี่ยงตกงานและถูกเลิกจ้างในปี 2562”

2 ใน 10 อาชีพที่ว่า คือนักเขียน กับสำนักพิมพ์!

นักวิชาการท่านอาศัยจากข้อเท็จจริงที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งไทยเริ่มยุคเทคโนโลยี พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ความสะดวกรวดเร็วของสื่อออนไลน์ ทำให้อาการหนักหนาหัสถึงขนาดที่ว่า ผู้คนไม่ต้องการเสพเนื้อหาหรือคอนเทนต์ที่ป้อนให้ แต่จะเป็นผู้หาคอนเทนต์ที่ต้องการเอง!!

นักเขียนและสำนักพิมพ์ทั้งหลายรู้คำทำนายนี้มานานแล้ว (ก่อนปี 2557 ด้วยซ้ำ) แม้จะเชื่อแต่ก็ไม่เชื่อทั้งหมด มันเหมือนมีทางออกอยู่แล้วหลายทางนอกจากเลิกเขียนกับปิดสำนักพิมพ์

ทางหนึ่งคือเขียนเอง-พิมพ์เอง และขายเอง

ภาพข่าว “ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์จีนโตสวนกระแส” เป็นภาพข่าวที่ตรงกันข้าม (ราวฟ้ากับเหว) กับภาพข่าว “การทำลายหนังสือจำนวนกว่า 8 ล้านเล่ม” ของสำนักพิมพ์ดวงกมล

กระเทือนใจนักอ่านและนักเขียนคนไทยอย่างมาก

จีนเริ่มต้นที่นโยบายจากภาครัฐ กระตุ้นกระแสธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ไม่ให้แผ่ว ช่วยเหลืออุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์โดยตลอดและสม่ำเสมอ ส่งผลให้วัฒนธรรมการอ่านของชาวจีนยังถูกรักษาไว้แบบหยั่งรากลึกแล้วเติบโตไปพร้อมๆ กับการพัฒนาของสื่อดิจิตอล

เฉพาะในปี 2017 มีหนังสือกว่า 500,000 เล่ม ที่ได้รับการตีพิมพ์

“แม้ว่าสื่อในรูปแบบใหม่จะมาแรง แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ความสำคัญของสื่อสิ่งพิมพ์ก็ยังมีอยู่” หนังสือพิมพ์ People”s Daily หนังสือพิมพ์แห่งชาติกล่าวยืนยันในการประชุม Media Co-operation Forum on Bell and Road ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติฯ

“เนื่องจากสื่อสิ่งพิมพ์ยังต้องแสวงหาข้อเท็จจริงมาแก้ไข ข่าวลวง ข่าวเท็จ ยุติการแพร่กระจายของข่าวลวงและข่าวเท็จ” สื่อจีนย้ำ

สังคมไทยก็ตกอยู่ในสภาวะเดียวกับจีน กล่าวคือ สื่อดิจิตอลคืบคลานเข้าแทนที่สื่ออะนาล็อกหรือสื่อกระดาษ สังคมใช้สื่อโซเชียลสร้างข่าวลวงและข่าวเท็จ ผมซึ่งกลับมาเขียนคอลัมน์และกลับมาเป็นนักอ่านตระหนักในสภาวะการณ์นี้ ยังมองเห็นความสำคัญของสื่อสิ่งพิมพ์ ยังต้องแสวงหาข้อเท็จจริงมาแก้ไขข่าวลวงและข่าวเท็จ จึงขอยกย่อง ขอคารวะและนับถือสื่อสิ่งพิมพ์ที่ยังต่อสู้ไปตามลำพังโดยปราศจากการช่วยเหลือจากภาครัฐ

แต่ความหวังที่จะยุติการแพร่กระจายของข่าวลวงและข่าวเท็จยังห่างไกลอยู่