ไม่มีใครกล้าพูดเต็มปากว่า การตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่ จะชี้ขาดว่าใครจะเป็นผู้นำประเทศ

ประเทศไทยเรายังคงยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้ง ไม่มีข่าวยืนยันว่าจะปกครองประเทศกันโดยไม่มีการเลือกตั้ง กระนั้นก็ตาม กำหนดยืนยันว่าจะให้ประชาชนเข้าคูหากาบัตรเพื่อให้สิทธิเลือกผู้บริหารตามโครงสร้างอำนาจแบบระบอบประชาธิปไตย ล่าสุดมีแค่ข่าวว่าจะเป็นวันที่ 24 มีนาคม 2562 แค่นั้น

เลยไกลไปกว่านั้นคือ ความมั่นใจว่าการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยของประเทศไทยเที่ยวนี้ คิดการกลับสู่ความเชื่อมั่นในอำนาจประชาชนไม่มีอยู่เลย

ไม่มีใครกล้าพูดได้เต็มปากว่า การตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นการชี้ขาดว่าใครจะเข้ามาเป็นผู้นำประเทศ

กลับกลายเป็นความเชื่อที่ว่า ประชาชนก็เลือกไป แต่การกำหนดว่าใครจะนำตั้งทีมขึ้นมาครองอำนาจ เป็นเรื่องที่แทบไม่เกี่ยวอะไรกับการเลือกของประชาชน

เป็นประชาธิปไตยที่ให้ภาพความพิลึกกึกกือกันถึงขนาดนั้น

อาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ เมื่อผลสำรวจล่าสุดของ “นิด้าโพล” ออกมาแบบประหลาด คือ ความนิยมอยู่ที่พรรคการเมืองหนึ่ง แต่คนที่อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีกลับเป็นอีกคนหนึ่ง

การสำรวจเรื่อง “ประชาชนอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (ครั้งที่ 6)” คือ “นิด้าโพล” สำรวจเรื่องนี้มา 6 ครั้งแล้ว

ผลการสำรวจทั้ง 6 ครั้ง คือตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อมีนาคม 2561 จากนั้นก็สำรวจเรื่อยมา 2 เดือน ครั้งคำตอบยังเหมือนเดิม คือคนที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 26.20 รองลงมาเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร้อยละ 22.40 ตามด้วยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะร้อยละ 11.56 และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ร้อยละ 9.60

แต่เมื่อถามว่าอยากให้พรรคการเมืองไหนได้เสียงข้างมาก และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล คำตอบกลับกลายเป็น “พรรคเพื่อไทย” ร้อยละ 32.72 ตามด้วยพรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 24.16 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 14.92 และพรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 11.00

คล้ายว่าเป็นประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามมีความสับสน เพราะหากต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ควรจะต้องเลือกพรรคที่ให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่น่าที่คะแนนของ “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งไม่เอาด้วยเด็ดขาดกับ พล.อ.ประยุทธ์จะมีคะแนนเหนือกว่า

แต่หากลองคิดถึงความเป็นไปได้ว่าประชาชนเองก็รู้ดีว่า อำนาจในการเลือกว่าใครจะเป็นผู้นำประเทศนั้น ประชาชนไม่ได้มีบทบาทในการกำหนดเต็มที่เหมือนที่ผ่านมา

แม้จะมีความปรารถนาในคำถามที่ว่า “ท่านอยากให้นายกรัฐมนตรีที่ท่านเลือกคนต่อไป เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องใดมากที่สุด” ร้อยละ 52.80 ตอบว่า ปัญหาปากท้อง และหนี้สินของประชาชน ร้อยละ 21.96 ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ

ขณะที่ “ปัญหาความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ” ซึ่งเป็นจุดขายของคณะรัฐประหารเป็นเพียงส่วนหนึ่งของร้อยละ 2.16 คำตอบว่า “อื่นๆ” ที่รวมเอาปัญหาตอบมาจำนวนเล็กๆ น้อยๆ อย่างการคมนาคม การบังคับใช้กฎหมาย ราคาน้ำมัน สิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศ ส่งเสริมการท่องเที่ยว

การบริหารประเทศมา 5 ปีของรัฐบาลชุดนี้ ได้เปลี่ยนความรู้สึกเดือดร้อนจากความไม่สงบมาเป็นเรื่องปากท้อง การทำมาหากินและหนี้สิน

ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าทำไมจึงวางความหวังไว้ที่พรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ

แต่เมื่อต้องเลือกว่าอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี กลับยังเลือกที่จะให้เป็น พล.อ.ประยุทธ์

เป็นไปได้หรือไม่ที่ผลสำรวจนี้เป็นภาพสะท้อนความไม่มั่นใจของประชาชนในสิทธิที่จะเลือก

และที่สุดแล้วความไม่มั่นใจนี้เองจะส่งผลให้การเมืองหลังเลือกตั้ง ไม่เป็นอย่างที่หวังไว้

จะยังเป็นการเมืองที่มีความสับสน หาความลงตัวอะไรไม่ได้

เกิดการไม่ยอมรับ และเห็นต่างในระดับที่ก่อความยุ่งยากในการบริหาร

และในที่สุดแล้ว หนีไม่พ้นที่จะต้องใช้ระบอบ “อำนาจนิยม” เข้ามาจัดการควบคุม