ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ / อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสุรัสวดี : แหล่งกำเนิดใหม่ของ “อารยัน” ในลัทธิชาตินิยมฮินดู?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

โดยทั่วไปแล้ว เมื่อนักวิชาการกล่าวถึง “อารยัน” (Aryan) พวกเขาหมายถึงกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียน และเรียกตนเองว่าเป็นอารยัน ซึ่งย่อมหมายถึงกลุ่มคนขนาดใหญ่ ที่ไม่จำกัดอยู่เพียงชนชาติใดชนชาติหนึ่งเท่านั้น เพราะภาษาตระกูลดังกล่าวครอบคลุมถึงทั้งภาษาละติน ที่เป็นบรรพชนให้กับอีกหลากหลายภาษาในยุโรป และภาษาสันสกฤต ที่มีอิทธิพลอย่างสูงทั้งในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และก็เป็นเพราะความแพร่หลายของภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียนนี่เอง ที่ทำให้ในยุคหนึ่ง ชาวยุโรปได้มองพวกอารยันในฐานะเผ่าพันธุ์ชั้นปกครองที่พิชิตยุโรปเลยทีเดียวนะครับ

ดังนั้น เมื่อนักชาตินิยมนำคำว่าอารยันไปใช้ พวกเขาจึงมักจะกำหนดขอบข่ายของความเป็นอารยัน ให้มีความหมายที่คับแคบอยู่เฉพาะกับ “ชาติ” ที่ตนเอง “นิยม” เท่านั้น

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ การที่ครั้งหนึ่งเผด็จการท่านผู้นำระดับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้จำกัดความหมายของอารยันไว้ในวงแคบๆ ว่าหมายถึงเฉพาะชาวนอร์ดิกผิวขาว และมีดวงตาสีฟ้า เป็นต้น

 

แต่การนำอารยันไปใช้สร้างเสริมแนวคิดแบบชาตินิยม ไม่ได้มีเฉพาะแต่ฝ่ายยุโรปเท่านั้น ในปัจจุบันกลุ่มชาตินิยมฮินดูในประเทศอินเดีย ก็มีแนวคิดที่ว่า ชาวอารยันนั่นแหละคือกลุ่มชนดั้งเดิมที่สร้างสรรค์อารยธรรมฮินดูในอินเดีย และยังเดินทางออกไปพิชิตดินแดนต่างๆ อีกด้วย

แถมแนวคิดชาตินิยมแบบนี้ก็ดูจะยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อพรรคชาตินิยมฮินดูอย่าง “ภารติยะ ชนะตะ” หรือ BJP ก้าวเข้ามามีอำนาจตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2557

พวกชาตินิยมที่นำโดยพรรค BJP กลุ่มนี้อ้างว่า ชาวอารยันนี่เองที่เป็นผู้ก่อสร้างอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus Valley Civilization) หรือที่บางทีเรียกว่า อารยธรรมหารัปปา (Harappan Civilization) ที่เคยเจริญอยู่ในประเทศปากีสถาน และทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ร่วมสมัยกันกับอารยธรรมอียิปต์ และเมโสโปเตเมีย เมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว โดยเชื่อกันว่า เป็นอารยธรรมของคัมภีร์พระเวท ซึ่งเป็นคัมภีร์เก่าแก่ที่สุดในศาสนาฮินดู

เรื่องก็ฟังดูจะง่ายๆ แค่นั้น ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่สุดท้ายก็มีปัญหาจนได้ ซึ่งนั่นก็คือ หลักฐานจาก DNA ที่แสดงให้เห็นว่า “อารยัน” ไม่ใช่ “ชนพื้นเมืองอินเดีย”

 

โครงการวิจัย “โครงสร้างพันธุกรรมของบริเวณภาคกลางและใต้ของทวีปเอเชีย” (The Genomic Formation of South and Central Asia) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2561 โดยมีนักพันธุศาสตร์ (geneticist) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อย่างเดวิด ไรช์ (David Reich, พ.ศ.2517-ปัจจุบัน) ร่วมกับนักวิชาการสาขาต่างๆ เช่น นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ นักมานุษยวิทยา รวม 92 ชีวิต ทำให้พวกชาตินิยมขวาจัดในอินเดียหัวเสียไปไม่น้อย

เมื่อผลการวิจัยของพวกเขาระบุว่า อารยันไม่ใช่ชนพื้นเมืองของอินเดีย และอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุก็ไม่ใช่ของชาวอารยันด้วย

ผลการวิจัยชิ้นล่าสุดนี้ระบุว่า ในช่วง 65,000 ปีที่แล้ว ได้มีมนุษย์กลุ่มแรกที่เดินทางออกจากแอฟริกาแล้วเข้ามาอยู่ในอินเดีย จนกลายเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่สุด จากนั้นในช่วงระหว่าง 9,000-6,000 ปีที่แล้วก็เกิดการอพยพครั้งใหญ่โดยผู้คนจากบริเวณซากรอส (Zagros) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่าน ซึ่งเป็นชนกลุ่มแรกในโลกที่รู้จักการเลี้ยงแพะ เข้ามาในอินเดีย พร้อมกับนำเทคโนโลยีการปศุสัตว์เข้ามาด้วย

คนกลุ่มหลังนี้ที่เข้ามาอยู่ในอินเดีย ที่บริเวณเมืองโธลาวีระ รัฐคุชราต ที่ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นแหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง และการผสมผสานระหว่างคนทั้งสองกลุ่มนี้เองที่สร้างอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุขึ้นมา

หลังจากนั้น ชาวอารยันจึงค่อยอพยพเข้ามาเมื่อราว 4,000 ปีที่แล้ว พร้อมกับที่นำกิ่งหนึ่งของภาษาอินโด-ยูโรเปียนคือ ภาษาสันสกฤตในยุคแรก และความรู้ในการควบคุมม้า และขนบธรรมเนียมใหม่ๆ เช่น พิธีกรรมบูชายัญ อันเป็นรากฐานของวัฒนธรรมพระเวท ที่จะสืบทอดและกลายรูปมาเป็นศาสนาฮินดูในภายหลังเข้ามาด้วย

(งานวิจัยดังกล่าวยังพบอีกด้วยว่า นอกจากชนทั้งสามกลุ่มข้างต้นแล้ว ยังมีผู้อพยพอีกหลายกลุ่มที่เดินทางเข้ามาในอินเดีย รวมถึงกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก ที่เดินทางมาจากภูมิภาคอุษาคเนย์ของเราด้วย)

พูดง่ายๆ ว่า อารยันไม่ใช่ชนพื้นเมืองอินเดีย แต่เป็นคนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่อพยพเข้าไปเมื่อราว 4,000 ปีที่แล้ว ไม่ต่างอะไรกับชนอีกหลายกลุ่ม ที่อพยพเข้าไปเป็นจำนวนมากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของแต่ละกลุ่มชนนั่นเอง

 

และที่สำคัญก็คือ นี่ไม่ใช่งานวิจัยทำนองนี้ชิ้นแรกของคุณไรช์นะครับ

เพราะงานที่เป็นหมุดหมายเริ่มต้นชิ้นสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ใน DNA ของประชากรอินเดียของไรช์นั้นก็คือ ข้อเขียนที่มีชื่อว่า “การสร้างภาพประวัติศาสตร์ของประชากรอินเดียขึ้นใหม่” (Reconstructing Indian Population History) ซึ่งเผยแพร่ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2552 และเขายังทำงานเกี่ยวกับการสืบรากจาก DNA ของมนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มพวกที่ใช้ภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียนมาโดยตลอดสิบปีเศษที่ผ่านมานี้

ผลวิจัยของไรช์ยังสัมพันธ์กับข้อเสนอเก่าแก่ที่ว่า ชนพื้นเมืองเดิมของอินเดียไม่ใช่ “อารยัน” แต่เป็นชาวดราวิเดียน (Dravidian, คำนี้มาจากการผูกศัพท์ภาษาอังกฤษ โดยใช้รากจากภาษาสันสฤตว่า “ทราวิฑ” ซึ่งก็คือคำเดียวกับคำว่า “ทมิฬ”)

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดั้งเดิมนั้นยังมีข้อผิดพลาดอยู่ เพราะแต่เดิมเชื่อกันว่า ชาวอารยันบุกรุกเข้ามาทำสงคราม และฆ่าฟันพวกดราวิเดียน ที่เป็นเจ้าของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุเดิม จนถอยร่นลงไปทางใต้ของอนุทวีปอินเดีย ส่วนพวกอารยันก็เข้ามาครอบครองพื้นที่ทางตอนเหนือของอนุทวีปแห่งนี้แทน

แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่มีการค้นพบมากขึ้นเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบันนี้ ชวนให้เชื่อได้ว่า ต่อให้จะมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง (มีความสัมพันธ์ประเภทไหนบ้างที่ไม่กระทบกระทั่งกันเลย?) แต่ความสัมพันธ์ระหว่างชนทั้งสองกลุ่มนี้ ก็ดูจะเป็นไปในรูปแบบอื่นมากกว่า เช่น ความสัมพันธ์ทางการค้า เป็นต้น

ผลการศึกษาทางสัทวิทยา (phonology, คือการศึกษาเกี่ยวกับระบบของเสียง) ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ฤคเวท ซึ่งเป็นส่วนที่เก่าที่สุดในชุดคัมภีร์พระเวททั้ง 4 ฉบับนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า มีอิทธิพลภาษาของชาวดราวิเดียนปะปนอยู่มากพอสมควร ซึ่งนั่นก็หมายความด้วยว่า พวกอารยันไม่ได้หอบเอาคัมภีร์ฤคเวท มายังลุ่มแม่น้ำสินธุตั้งแต่ต้น แต่คัมภีร์เก่าแก่ฉบับนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมทางระหว่างพวกอารยัน และชาวดราวิเดียนในแง่มุมต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมของชาวชมพูทวีปยุคนั้นต่างหาก

ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จึงไม่ชวนให้บรรดานักชาตินิยมฮินดูปลื้มปิติเอาเสีย เพราะอารยันก็ไม่ใช่ชาวพื้นเมือง อารยธรรมโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในอนุทวีปอินเดียก็เป็นของดราวิเดียน แถมชนทั้งสองกลุ่มนี้ยังไม่เคยทำสงครามกันอีกต่างหาก

 

ในปัจจุบัน รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐหรยาณา ซึ่งมาจากพรรค BJP และสนับสนุนแนวคิดชาตินิยมฮินดู กำลังเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนชื่อเรียก “อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ” มาเป็น “อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสุรัสวดี” แทน เพราะแม่น้ำสุรัสวดีเป็นแม่น้ำสายสำคัญในคัมภีร์พระเวท

แม่น้ำสุรัสวดีนั้นเป็นแม่น้ำที่เหือดแห้งไปตั้งแต่เมื่อ 4,000-3,900 ปีที่แล้ว เพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของลมมรสุม และสภาพติดขัดของต้นน้ำ จนทำให้พื้นที่บริเวณที่เคยเป็นแม่น้ำดังกล่าว กลายสภาพเป็นทะเลทรายธาร์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในเขตรัฐคุชราต ปัญจาบ ราชสถาน และหรยาณา ของรัฐบาลท้องถิ่นพรรค BJP ด้วย ในขณะที่แม่น้ำสินธุทั้งสายนั้น อยู่ในเขตพื้นที่ประเทศปากีสถาน

ดังนั้น ชื่อ “สุรัสวดี” จึงเหมาะสำหรับปลุกกระแสชาตินิยมในอินเดียมากกว่าอยู่เห็นๆ

ส่วนในทางโบราณคดี ได้มีทั้งการสำรวจและขุดค้นบริเวณพื้นที่ที่สันนิษฐานว่าเป็นลุ่มแม่น้ำสุรัสวดีแล้ว มีการค้นพบแหล่งโบราณคดีใหม่ๆ ซึ่งมีลักษณะร่วมกับอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุอีกหลายแห่ง

ดังนั้น นี่จึงเป็นความพยายามใหม่ในการตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ กับอารยันของพวกขวาจัดในอินเดียที่น่าจับตามอง

แต่มันจะเป็นไปได้อย่างไรกัน ในเมื่อผลวิจัยทางสัทวิทยาก็บอกอยู่ทนโท่ว่า แม้แต่คัมภีร์ฤคเวทที่เก่าที่สุดยังไม่ใช่งานของพวกอารยันเพียวๆ แต่เกิดขึ้นในสังคมที่อารยันอยู่ร่วมกับชาวดราวิเดียน ข้อมูลจาก DNA ก็เผยให้เห็นว่า อารยันเพิ่งจะเข้ามาเมื่อ 4,000 ปีที่แล้ว ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่ข้อมูลทางวิทยาลัยระบุว่า แม่น้ำสุรัสวดีได้แห้งเหือดไปแล้วอีกต่างหากไม่ใช่หรือครับ?