โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ /มงคล-เหรียญรุ่นแรก หลวงปู่แพงตา เขมิโย เถระวัดประดู่วีรธรรม

หลวงปู่แพงตา เขมิโย

โฟกัสพระเครื่อง/ โคมคำ [email protected]

มงคล-เหรียญรุ่นแรก

หลวงปู่แพงตา เขมิโย

เถระวัดประดู่วีรธรรม

 

“พระครูภาวนาภิรัต” หรือ “หลวงปู่แพงตา เขมิโย” อดีตเจ้าอาวาสวัดประดู่วีรธรรม ต.กุดตาไก้ อ.ปลาปาก จ.นครพนม พระเกจิที่สามารถช่วยขจัดปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บแก่ญาติโยม เพราะมีความรู้ด้านยาสุมนไพร

มีชาวบ้านให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมาก สร้างวัตถุมงคลเอาไว้ 3 รุ่น หนึ่งในนั้นเป็นเหรียญหลวงปู่แพงตา รุ่นแรก พ.ศ.2516

พระมหาวินิตย์ ทันตจิตโต หลานชาย ซึ่งบวชและจำพรรษาที่วัดไทยในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา จัดสร้างขึ้น เพื่อนำเงินรายได้สมทบสร้างศาลาการเปรียญของวัดประดู่วีรธรรม

ลักษณะเป็นเหรียญอาร์ม มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อกะไหล่เงิน กะไหล่ทอง และทองแดงรมดำ สร้างชนิดละ 10,000 เหรียญ

ด้านหน้า มีรูปเหมือนหลวงปู่แพงตาครึ่งองค์ สันขอบเส้นนูนสองชั้น ด้านล่างสลักชื่อ “หลวงพ่อแพงตา เขมิโย”

ด้านหลัง ตีเส้นขอบล้อมเหรียญ ตรงกลางเป็นยันต์ป้องกันภยันตราย ด้านล่างระบุ “วัดประดู่วีระธรรม ๑ ธ.ค. ๒๕๑๖”

เฉพาะเหรียญทองแดงรมดำรุ่นนี้ปั๊มพิมพ์ 2 ครั้ง เนื่องจากไม่เพียงพอต่อการให้เช่าบูชาและแจกจ่ายลูกศิษย์ที่มาทำบุญ สังเกตให้ดี พิมพ์บล๊อก 2 ใบหน้าหลวงปู่จะแก่กว่า

ปัจจุบัน บรรดานักนิยมสะสมพระเครื่องต่างเชื่อมั่น จึงนิยมเก็บไว้ในครอบครองและไม่ยอมปล่อยมือ

ทำให้เหรียญนี้พบเห็นค่อนข้างน้อย นับวันหายาก เป็นที่ต้องการของนักสะสมไปแล้ว

เหรียญหลวงปู่แพงตา (หน้า)

 

มีนามเดิมว่า แพงตา นุนนท์ เกิดเมื่อวันพุธที่ 5 มิถุนายน 2457 ที่บ้านดอนดู่ ต.กุดตาไก้ อ.ปลาปาก จ.นครพนม บิดา-มารดา ชื่อนายพองและนางคำตา นุนนท์

ชีวิตในวัยเยาว์ เมื่ออายุ 9 ขวบ ได้บรรพชา ศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ 3 ปี

ครั้นอายุครบ 22 ปี ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบวรศรัทธาราม ต.กุดตาไก้ โดยมีพระวงษ์ เป็นพระอุปัชฌาย์

ศึกษาเล่าเรียนมนต์น้อย มนต์กลาง มนต์หลวง และเรียนอักษรธรรม อีกทั้งได้ศึกษาแนวทางการปฏิบัติธรรมจากพระอุปัชฌาย์ กระทั่ง พ.ศ.2480 ไปจำพรรษาที่ภูค้อ จ.สกลนคร กับพระอาจารย์ลับ เพื่อปฏิบัติธรรมด้วยการอดข้าว ดื่มแต่น้ำอย่างเดียว

หลังออกพรรษาเดินทางไปที่ถ้ำกวนพลอย ถ้ำยาโดน สปป.ลาว ขากลับแวะนมัสการพระอาจารย์ศรีทัตถ์ ที่วัดพระธาตุท่าอุเทน อ.ท่าอุเทน ก่อนที่ท่านจะแนะนำให้ไปปฏิบัติธรรมที่ภูเขาควาย เป็นเวลาร่วม 3 เดือน

พ.ศ.2482-2484 ธุดงค์ไปเมืองกาสีและเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว จำพรรษาสอนมนต์น้อยมนต์กลางให้พระเณรครบ 7 วัน จึงสลับสับเปลี่ยนกับพระอาจารย์ลับไปปฏิบัติและสอนพระเณรที่วัดป่าต่อตลอดทั้งพรรษา จากนั้นไปถ้ำภูผาเจริญ ก่อนนั่งบำเพ็ญภาวนาตามป่าช้าที่เป็นกลลวงของผีสางนางไม้ ในเขตน้ำมิ่ง น้ำปอน สปป.ลาว แล้วธุดงค์ไปถ้ำจำปาที่ภูเขาควายนั่งสมาธิอีก 3 เดือน จึงกลับมาอยู่ที่วัดประดู่วีรธรรมนาน 7 พรรษา เพื่อปฏิสังขรณ์วัด

พ.ศ.2492-2494 เดินทางไปพระบาทโพนสัน ประเทศลาวเพื่อช่วยสร้างกุฏิ วิหาร ก่อนมุ่งไปเวียงจันทน์และธุดงค์ไปยังเชียงตุง ผ่าน 10 เมืองของพม่าถึงย่างกุ้ง แล้วนั่งสมาธิบริเวณพระธาตุ 7 วันและกลับสู่มาตุภูมิใน พ.ศ.2495 ได้ 1 ปี จึงเดินทางไปพม่าและลาวอีกครั้ง เพื่อทบทวนความทรงจำหลักวิปัสสนากัมมัฏฐานนานอีก 3 ปี

เหรียญหลวงปู่แพงตา (หลัง)

 

ลําดับงานปกครองคณะสงฆ์

พ.ศ.2486 เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดประดู่วีรธรรม

พ.ศ.2517 เป็นเจ้าอาวาส

ผลงานด้านการศึกษา

พ.ศ.2499 จัดตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน

พ.ศ.2500 จัดสอนพระปริยัติธรรม

พ.ศ.2515 จัดสอนพระอภิธรรม

งานด้านสาธารณูปการ

พ.ศ.2507 เป็นประธานสร้างอุโบสถวัดกุดตาไก้เหนือ

พ.ศ.2509 เป็นผู้อำนวยการสร้างพระพุทธบาทจำลอง ภูกระแต

พ.ศ.2511 เป็นประธานสร้างอุโบสถวัดบ้านชะโนด ต.คำเตย

พ.ศ.2512 เป็นผู้อำนวยการสร้างอุโบสถวัดบวรศรัทธาราม ต.กุดตาไก้

พ.ศ.2515 เป็นประธานสร้างอุโบสถวัดตาลกุด ต.โพนแพง

พ.ศ.2514 เป็นผู้อำนวยการสร้างพระธาตุอินทร์แขวนจำลอง นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว และเป็นผู้อำนวยการสร้างศาลาการเปรียญวัดกุดตาไก้เหนือ

นอกจากนี้ ยังสร้างเสนาสนะในวัดประดู่วีรธรรม เช่น กุฏิ 6 หลัง ศาลาการเปรียญ 2 หลัง อุโบสถ หอระฆัง กำแพงวัด ซุ้มประตู สิมน้ำ เป็นต้น

 

หลวงปู่แพงตา ได้เดินธุดงค์ไปตามป่าเขานาน 19 ปี ท่ามกลางสัตว์ร้ายและภยันตราย ก่อนจะกลับมาทำนุบำรุงวัดบ้านเกิดดังกล่าว นอกเหนือจากเป็นพระวิปัสสนาจารย์เป็นประธานในงานบุญต่างๆ ยังมีความสามารถพิเศษช่วยบรรเทาและรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วย

ช่วงระยะ 8 ปีให้หลัง ป่วยด้วยโรคเบาหวาน กระทั่งในวันที่ 9-10 สิงหาคม 2535 เกิดปวดท้องอย่างรุนแรงกะทันหัน ลูกศิษย์จึงนำไปหาหมอที่คลินิก ก่อนส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลนครพนม แต่กว่าจะรู้ว่าไส้ติ่งอักเสบ อาการอ่อนระโหยโรยแรงมากแล้ว

กระทั่งเวลา 13.00 น. วันที่ 12 สิงหาคม 2535 มรณภาพลงอย่างสงบ สร้างความโศกเศร้าให้คณะศิษย์ที่อยู่ใกล้ชิดอย่างยิ่ง

สิริอายุ 78 ปี พรรษา 57