44 ปี จาก “สยามมกุฎราชกุมาร” สู่ พระเจ้าแผ่นดิน “รัชกาลที่ 10”

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2515

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร

มีพระนามาภิไธย ตามจารึกพระสุพรรณบัฏ ว่า

2632-768x535

“สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร”

ในมงคลวาระนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณในการพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ความว่า

“ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทยเฉพาะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เฉพาะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรท่ามกลางสันนิบาตนี้ว่า

ข้าพเจ้าผู้เป็น สยามมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ด้วยชีวิต

จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน

จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ และโดยความเสียสละ

เพื่อความเจริญสงบสุขและความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่”

จากวันนั้น จนมาถึงวันนี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงยึดมั่นในคำสัตย์ปฏิญาณ ดังกล่าว ตลอด 44 ปี ที่ผ่านมา

จึงเป็นความเหมาะสมแล้ว ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สวรรคต รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งปฏิบัติหน้าที่รัฐสภา จะมีมติอัญเชิญให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จขึ้นครองราชย์ ในฐานะ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี

2632-768x472

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ เป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียว ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2495 เมื่อเวลา 17 นาฬิกา 45 นาที ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นปีที่ 7 ในการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ 1 พรรษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทานพระนาม ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นผู้ตั้งถวายตามดวงพระชะตา ว่า

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร

ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 1 เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2499 เมื่อพระชนมายุ 4 พรรษา ณ โรงเรียนจิตรลดาชั้นอนุบาล ตั้งอยู่ ณ พระที่นั่งอุดร ในพระราชวังดุสิต ต่อมาโรงเรียนย้ายไปตั้งในบริเวณพระราชฐานสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ทรงศึกษาจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จึงเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

พ.ศ.2509 ทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นชัสเชกส์ ประเทศอังกฤษ

และในเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น ได้เสด็จฯ ไปทรงศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ เมืองสตรีท แคว้นซัมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ จนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2513

2641-768x868

เดือนสิงหาคม พ.ศ.2513 ทรงเข้ารับการศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ เขตพารามัตตา นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทรงศึกษาอยู่จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2514

พ.ศ.2515 ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา

หลักสูตรของวิทยาลัยการทหารแห่งนี้แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาควิชาการทหาร รับผิดชอบและดำเนินการโดยกองทัพบกออสเตรเลีย นักเรียนที่สำเร็จตามหลักสูตรนี้จะได้เป็นนายทหารยศร้อยโท ส่วนอีกภาคหนึ่งเป็นการศึกษาวิชาสามัญ ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลล์ รับผิดชอบการวางหลักสูตร แบ่งออกเป็นสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ นักเรียนนายร้อยที่ผ่านหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับปริญญาตรีตามสาขาวิชาที่เลือกศึกษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเลือกศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตร์

ทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ.2519

ในปีเดียวกันนั้น ทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมและทรงศึกษางานด้านการทหารในประเทศออสเตรเลีย โดยทุนของกระทรวงกลาโหม และทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษที่นครเพิร์ท รัฐออสเตรเลียตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย

ต่อมา พ.ศ.2520-2521 ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก

พ.ศ.2527-2530 ทรงศึกษาด้านกฎหมาย ทรงได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

พ.ศ.2533 ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

2644-768x505

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงสนใจการบิน ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ.2522-มกราคม 2523 ทรงเข้าศึกษาหลักสูตร การบินเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบเอ เอช-1 เอช คอบรา ของบริษัทเบลล์

เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2523 ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบยู เอช-1 เอช และเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบยู เอช-1 เอ็น ของบริษัทเบลล์ จำนวนชั่วโมงบิน 249.56 ชั่วโมง

เดือนกันยายน-ตุลาคม ปีเดียวกัน ทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธ ของกองทัพบกไทย จำนวนชั่วโมงบิน 54.50 ชั่วโมง

เดือนธันวาคม 2523-กุมภาพันธ์ 2524 ทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินปีกติดลำตัว แบบ Siai-Marchetti SF 260 MT จำนวนชั่วโมงบิน 172.20 ชั่วโมง

เดือนมีนาคม-กรกฎาคม 2524 ทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินปีกติดลำตัวแบบ Cessna T-37 จำนวนชั่วโมงบิน 240 ชั่วโมง

จากนั้นทรงฝึกและสะสมชั่วโมงการบินอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อ พ.ศ.2553 เป็นต้นมา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงทำการบินเที่ยวบินมหากุศลในตำแหน่งนักบินที่ 1 เที่ยวบินพิเศษของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นำคณะพุทธศาสนิกชนไปสักการะปูชนียสถานสำคัญ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์เพื่อประโยชน์ทางศาสนา จึงมีผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินเพื่อสมทบทุนเพื่อการกุศลอื่นๆ เป็นจำนวนมาก

พ.ศ.2555 เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ วันที่ 28 กรกฎาคม 2555 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำการบินเที่ยวบินมหากุศล เส้นทางไปกลับกรุงเทพฯ-ขอนแก่น เที่ยวบินพิเศษ TG 8866 นำคณะพุทธศาสนิกชนจำนวน 113 คน ไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดป่าวิเวกธรรม อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น รายได้จากการจำหน่ายบัตรและเงินบริจาคสมทบจากผู้มีจิตศรัทธาครั้งนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อสมทบทุน มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.)

2652-768x530

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงยึดแนวทางการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาตลอด

โดยเฉพาะการดูแลช่วยเหลือราษฎร

ทรงได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ในความรักประเทศชาติและคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชน

อย่างการเกษตรซึ่งเป็นหัวใจหลักด้านเศรษฐกิจของชาติ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงปฏิบัติพระราชกิจในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นพระราชพิธีสร้างขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรประจำทุกปี

เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในการทำนาสาธิตโดยการใช้ปุ๋ยหมัก ณ บริเวณบึงไผ่แขก ต.ดอนโพธิ์ทอง อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี

เสด็จฯ ไปทรงหว่านข้าวและเกี่ยวข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ที่บ้านนาป่า ต.บางงาม อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เป็นต้น

ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข พ.ศ.2520 รัฐบาลและประชาชนชาวไทยทั่วประเทศได้ร่วมกันจัดสร้าง “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ขึ้น 21 แห่ง เพื่อให้บริการด้านสาธารณสุขกระจายไปยังประชาชนในถิ่นทุรกันดารอย่างทั่วถึง

ด้านศาสนา ทรงออกผนวชเมื่อ พ.ศ.2521 นอกจากนี้ ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการสนับสนุนกิจกรรมศาสนาต่างๆ เป็นนิตย์

วันที่ 16 สิงหาคม ปี 2558 ทรงจัดกิจกรรม “Bike for Mom-ปั่นเพื่อแม่” กิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา 12 สิงหาคม 2558 โดยมีวัตถุประสงค์การจัดงานเพื่อให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อเป็นการร่วมแสดงออกของประชาชนถึงความรักที่มีต่อแม่และแม่ของแผ่นดิน

ต่อมา วันที่ 11 ธันวาคม 2558 มีกิจกรรม “ปั่นเพื่อพ่อ BIKE FOR DAD” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558 และทรงนำขบวนพสกนิกรผู้เข้าร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติฯ และแสดงความจงรักภักดี และกตัญญูกตเวทีต่อพระมหากษัตริย์ ร่วมเทิดพระคุณพ่อ และเพื่อความสามัคคีของชาวไทยทั้งชาติ

นั่นคือส่วนหนึ่งของพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงมีคุณูปการต่อชาวไทย