วังวนความขัดแย้งในไทย อะไรคือทางออก? เลือกตั้งครั้งนี้ จะมีทางตัน ? สนทนา ‘โคทม อารียา’

โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มองว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ทางร่วมไม่มี

แต่ทางสันติมีแน่นอน

“ในมุมมองของผม ทางสันติคือสิ่งที่เราเรียกว่านิติรัฐนิติธรรม อย่างเช่น ถ้าถามว่าผมชอบรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่? ผมไม่ชอบ แล้วผมอยากจะหาทางแก้ แต่ว่าเอาเถิด ตอนนี้เรามีรัฐธรรมนูญแล้ว แนวทางสันติก็คือปล่อยให้มีการขับเคลื่อนทุกอย่างไปตามรัฐธรรมนูญ”

“ทีนี้ถามว่าฝ่ายที่ไม่ต้องการการเลือกตั้ง มันแปลว่าเขาต้องการอะไร? จะแปลว่ามีความหมายว่าเขาต้องการให้เกิดรัฐประหารอีกครั้ง? ซึ่งการรัฐประหารผมเองถือว่าไม่สันติ ถ้าคุณอยากได้รัฐประหารอีกครั้งก็ช่วยบอกมาตรงๆ แต่ถ้าไม่ต้องการรัฐประหาร ซึ่งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันดังนี้ มันก็จะกลับเข้าไปสู่ “ระบบนิติรัฐนิติธรรม” มันก็จะเดินหน้าไปได้ขลุกขลักหน่อย แต่ก็ต้องอยู่ร่วมกันได้ตามหลักนี้ แต่ถ้าไม่อยู่ร่วมกันตามหลักนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรเป็นหลักยึดมั่น บ้านเมืองจะไม่วุ่นวายไปกันใหญ่กว่านี้หรือ?”

“ถ้าสังคมไม่มีอะไรเป็นหลักยึด ก็เป็นเหมือนสังคมที่จะถือว่าใครมีกำลังเป็นใหญ่กว่า ใครมีกำลังมากกว่ากันก็สู้กันไป ต่อมาอาจจะกลายเป็นสังคมที่เรียกกันว่า “อนาธิปไตย” ทุกคนต่างทำตามใจชอบ แบบนี้ไม่วุ่นวายไปกันใหญ่หรือ?”

“ถ้าอนาธิปไตยก็วุ่นวาย ใช้กำลังเป็นใหญ่ก็วุ่นวาย มนุษย์ได้ต่อสู้กันมาเป็นสหัสวรรษหลายพันปีแล้วพวกเขาก็มาตกลงกันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าขออย่าให้เป็นเช่นนั้นอีกเลย ยิ่งตอนนี้เรามีอาวุธนิวเคลียร์ในระดับระหว่างประเทศ และคุณใช้ความเป็นอนาธิปไตย หรือคุณมองว่ากำลังคือความถูกต้อง มันก็จะกลับไปสู่สังคมโลกที่เคยเป็นกันมา ซึ่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้พิสูจน์แล้วว่าเราไม่เอาแบบนั้นอีกแล้ว”

“แต่ถ้าคุณอยากจะกลับไปตรงนั้นเพื่อไปพิสูจน์ใหม่ มันไม่จีรังนะ ผมว่าการถือกำลังเป็นใหญ่ หรือยึดตามอำเภอใจ มันเป็นสิ่งที่ไม่มีความไม่เสถียร คนที่อยากได้ อยากมีเสถียรภาพ ขอความกรุณาลองไปใคร่ครวญคิดเรื่องนี้ดู”

: มองวังวนความขัดแย้ง 10 กว่าปีของไทยอย่างไร?

ผมมองว่ามันขึ้นๆ ลงๆ ผมขอย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2534-2535 มาถึงช่วงปี 2549 และรัฐประหารปี 2557 มีการรัฐประหาร 3 ครั้ง ความไม่มีเสถียรภาพเกิดขึ้น 3 ครั้งใหญ่ๆ ในห้วงนี้ก็เกิดรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ นี่คือความไม่เสถียรของระบบ

ถ้ามองต่อไปข้างหน้าว่ามันจะเสถียรขึ้นหรือไม่ ผมมองว่า คสช.ก็พยายามในสไตล์ของ คสช.เอง หมายความขอว่าให้ทุกคนอยู่ในกรอบที่ฉันวางเอาไว้ ซึ่งความเสถียรจะเกิดขึ้นได้มันต้องเกิดความเห็นพ้องต้องกันมากกว่านี้ แต่แนวโน้มตอนนี้มันยังไม่เกิดขึ้น มันก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป แม้จะเดาไม่ได้ว่าสุดท้ายจะเป็นอย่างไร แต่ขอว่าอย่าให้ใช้ความรุนแรงต่อกัน อย่าทำให้เกิดบรรยากาศนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง

ยิ่งถ้ามีกลุ่มบุคคลเรียกร้องให้มีการรัฐประหารอีก มันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้เขาไม่ได้พูดตรงๆ ว่าไม่ต้องการเลือกตั้ง มันก็เหมือนการต้องการรัฐประหาร เหมือนกับกลุ่มที่บอกว่าต้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง นั่นก็คือการรัฐประหาร ไม่เลือกตั้งก็คือรัฐประหาร เพราะว่ากฎกติกามันวางไว้อยู่แล้ว และกติกานี้คุณก็เป็นฝ่ายแก้แล้วแก้อีก ใครก่อใครแก้ ก่อแล้วก็แก้ แล้วผลเป็นอย่างไร? คุณได้หรือยังสภาพความเห็นพ้องต้องกันในสังคมไทย แต่ก็ไม่เป็นไร เราก็ค่อยๆ สร้างกันต่อไป

การที่คนในสังคมยังไม่มีฉันทามติร่วมกันมันก็เหมือนมีวิกฤตแอบแฝง ไม่ลงตัวพอที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพของระบบ พอเราไปดูประเทศอื่นๆ แล้วก็อิจฉาเขาเหมือนกันนะ ทั้งนอร์เวย์ สหรัฐอเมริกาที่รัฐธรรมนูญอยู่มากันได้เป็น 200 ปี ของเรา 20 ฉบับแล้ว ยังไม่มีเสถียรภาพเลย

ถ้าบอกประเทศอยากปกครองโดยนิติรัฐนิติธรรม แต่ตัวกฎหมายสูงสุดมันฉีกทิ้งได้บ่อยๆ มันเขียนขึ้นมาใหม่ได้บ่อยๆ แสดงว่าที่ฉีกทิ้ง แล้วที่เขียนมาใหม่ มันยังไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนยอมรับกัน ถ้าทุกคนยอมรับและประคับประคองรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นหลักนิติธรรมสูงสุด สังคมประเทศชาติมันก็ไปได้ แต่ถ้าตัวรัฐธรรมนูญกลายเป็นอำเภอใจมากไป มันก็จะไปได้แค่ระยะหนึ่ง พูดง่ายๆ ก็คือ ตัวกฎหมายต้องชนะใจประชาชน

: เลือกตั้งครั้งนี้คืออะไร ทางออก-ทางตัน?

ผมมองว่าอย่างน้อยมันก็ทำให้เกิดพลวัตทางสังคม ถ้าคุณไม่ต้องการให้เกิดรัฐประหารใหม่ คุณมีแนวคิดว่าอำนาจไม่ได้มาจากการใช้กำลัง คุณก็ต้องปล่อยให้พลวัตมันเกิดขึ้น จะพิสูจน์ว่าอะไรเป็นจุดมุ่งหมายของสังคมก็ต้องปล่อยให้มีการขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ อาจจะไม่ได้มีเสถียรภาพที่ยืนยาว 200 ปีอย่างประเทศที่ยกตัวอย่างมา แต่อย่างน้อยก็ได้ฟันฝ่าไปได้ ของเราเองก็อยากจะมีหลักนิติธรรมที่สามารถฟันฝ่าวิกฤตต่างๆ ไปได้ โดยที่อย่าใจร้อนนัก

ส่วนหลังเลือกตั้งคนมองว่าจะเกิดความวุ่นวาย ผมมองว่า พวกเราต้องพยายามให้พรรคการเมืองมาลงนามให้สัญญาแก่ประชาชนว่ารัฐบาลหลังเลือกตั้งต้องเคารพเสียงของประชาชน นี่คือกติกาพื้นฐาน ถ้าคุณเป็นเพียงคนกลุ่มน้อย คุณก็ต้องทำสัญญา ว่าต้องทำให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่

ตราบใดที่เป็นเสียงข้างน้อยคุณก็มีสิทธิของเสียงข้างน้อย แต่ไม่ใช่เอาสิทธิของคนกลุ่มน้อยไปครอบคนกลุ่มใหญ่ เพราะฉะนั้น รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นหลังจากนี้ ขอให้อย่างน้อยมีเสียงรวมกันเกิน 251 เสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ส่วนกติกาที่เขียนขึ้นมาว่าให้ไปเอา ส.ว.รวมเสียงได้จัดตั้งรัฐบาลได้ ผมก็เชื่อว่าไม่นานจะโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจเพราะคุณไม่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จะตั้งรัฐบาลทั้งทีต้องให้มีเสถียรภาพ ก็ให้มี ส.ส.เกินกว่า 251 หลังจากนั้นจะบวก ส.ว.หรือไม่ ค่อยว่ากัน

ผมคิดว่าน่าจะฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ถ้าทุกคนยอมรับหลักการนี้ได้ ว่าประชาชนมาออกเสียงให้ใคร ก็ถือว่าได้อาณัติจากประชาชนตั้งรัฐบาล ถ้าดำเนินไประยะหนึ่งแล้วมันไปไม่ได้แล้วค่อยไปว่ากัน นี่คือการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่เขาใช้กันในนานาอารยประเทศ ไทยก็น่าจะลองใช้ดู

ส่วนคนที่พยายามจะบอกว่าอย่าไปเอาตะวันตก เราเป็นแบบไทยๆ ผมเพียงแต่พูดถึงหลักการทั่วไปว่าจะเอาอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสิน ก็คือ “เสียงข้างมากของประชาชน” ตะวันตก ตะวันออก จะแบบไหนถ้าคุณไม่ใช้เกณฑ์อันนี้ไม่เอาเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ คุณก็ลองเสนอทางอื่นมาสิ จะเอาอะไร?

มันก็จะกลายเป็นระบอบที่เราเรียกกันว่า “คณาธิปไตย” แต่คนอื่นเขาไม่อยากได้แบบคณะของคุณ การที่อ้างว่าไปเอามาจากต่างประเทศมันเป็นสิ่งที่พูดง่าย ฟังเหมือนจะดูดีว่าไทยเราใหญ่กว่า เราเก่ง อย่าไปเอาต่างประเทศ เราพิเศษกว่า มันไม่ใช่ เราไม่ได้ใหญ่ ก็ไม่ได้เก่ง แล้วไม่ได้พิเศษ มันเป็นหลักทั่วไป

ถ้าคุณไม่เอาเสียงข้างมาก คุณจะเอาเสียงข้างน้อยเป็นคณาธิปไตยก็ว่ากันไป แล้วทำไปเพื่ออะไรผมก็ไม่รู้ เพื่อเสถียรภาพของกลุ่มคณะคุณเองหรืออย่างไร?

แต่ถ้าคุณบอกว่า เราต้องไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ประเทศชาติของเราจะเดินก้าวไปข้างหน้า ต้องการการมีส่วนร่วมของทุกๆ คน ทุกๆ ฝ่ายมาช่วยกัน คุณจะใช้คณาธิปไตยไม่ได้ เพราะคุณสถาปนาตัวคุณเป็นใหญ่กว่าคนอื่นแล้วจะให้คนอื่นยอมรับคุณได้อย่างไร

ประชาธิปไตยเสียงข้างมากถ้าคนไม่ชอบก็มีคราวหน้าให้เลือกใหม่ ตัดสินใหม่ มันมีกติกาและวิธีทางของมัน แต่ถ้าคุณบอกว่าไม่เอาแล้วคุณใช้คณาธิปไตย ผมมองดูแล้วว่าที่ทำๆ มามันก็ไม่ใช่คำตอบสำหรับบ้านเมืองเราเช่นกัน แล้วมันก็ไม่ได้ทำให้ประเทศมีเสถียรภาพอะไรเลย

การที่บอกว่ามาเพื่อความสงบ จุดขายความสงบ จะนำพาไปสู่ความวัฒนาสถาพร สิ่งนี้มันถูกเขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกเกือบทุกฉบับว่าจะพัฒนาประเทศ แต่มันก็ถูกฉีกไปเรื่อยๆ คนฉีกสร้างความสงบหรือไม่? ไม่ใช่อะไรถูกใจแล้วเอ่ยว่าปฏิรูปมาก่อน ขอให้มีรัฐประหาร อ้างความสงบมาก่อนก็เชิญมารัฐประหาร แบบนี้มันไม่ใช่ทางออก

นี่มันคือคณาธิปไตยชัดๆ