ธงทอง จันทรางศุ : อาสน์สงฆ์

ธงทอง จันทรางศุ

คนไทยเราส่วนใหญ่ซึ่งหมายความรวมถึงผมด้วย ประกาศตนอยู่เสมอว่าเป็นพุทธศาสนิกชน

การเข้าวัดไปฟังเทศน์ฟังธรรม หรือไปบำเพ็ญกุศลด้วยเหตุต่างๆ เป็นกิจวัตรประจำที่เราประพฤติปฏิบัติกันอยู่เป็นนิจ

ขนาดยังไม่ต้องนึกไปถึงงานจร เช่น งานศพที่มีทั้งการฟังสวดพระอภิธรรมและงานเผาศพ งานประจำปีที่ต้องเข้าวัดของผมก็มากพอสมควรอยู่แล้ว

ไม่ว่าจะเป็นวันเกิดของตัวเอง การทำบุญอุทิศให้บรรพบุรุษในเทศกาลสงกรานต์

หรือแม้กระทั่งการเข้าวัดในวันสำคัญต่างๆ เช่น ไปเวียนเทียนในวันมาฆบูชาหรือวันวิสาขบูชา เป็นต้น

มาถึงเวลานี้ อายุของตัวเองมากขึ้น กลางปีนี้ก็จะ 64 ปีเต็มเปี่ยมแล้ว สิ่งที่เคยทำได้คล่องแคล่วตอนเป็นเด็ก ได้แก่ การนั่งพับเพียบเรียบร้อยเป็นเวลานานๆ กลายเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่ายนัก ถ้าจะต้องนั่งราบกับพื้น

ผมขอสารภาพว่าจะสอดส่ายสายตามองหาเสาหรือผนังเป็นที่พึ่งอันดับแรก

ถ้าไม่มีเสาหรือฝาผนังให้พึ่งพิง พอรับศีลเสร็จ พระสงฆ์ท่านเริ่มสวดมนต์ไปได้ไม่นาน ผมก็ต้องเปลี่ยนท่าจากนั่งพับเพียบมาเป็นการนั่งขัดสมาธิเสียแล้ว

ขนาดนั่งขัดสมาธิแบบนี้แล้ว เวลาพระสวดมนต์จบ ผมจะลุกขึ้นยืน ยังต้องร้องโอดโอยประกอบการลุกยืนด้วย อย่างที่คนโบราณเขาว่า “ลุกโอยนั่งโอย” ไงครับ

แม้จะลุกโอยนั่งโอยบ้าง แต่ผมขอโอ้อวดหน่อยนะครับว่า เพื่อนวัยเดียวกันกับผม นั่งขัดสมาธิก็ไม่ได้ นั่งพับเพียบก็ไม่สำเร็จ กลายเป็นตุ๊กตาล้มลุกเสียอย่างนั้น สิ่งที่ทำได้คือการขออนุญาตนั่งอยู่ไกลๆ จากอาสน์สงฆ์ และหาเก้าอี้นั่งเพื่อบรรเทาทุกข์ ที่เกิดจากร่างกายอันชราภาพ

เรื่องทั้งหมดนี้ต้องกลับไปสู่หลักสำคัญคือ โดยพระวินัยที่บัญญัติขึ้นเมื่อเกือบ 2,600 ปีมาแล้ว

สมเด็จพระบรมศาสดาของชาวเราท่านกำหนดไว้ว่า พระภิกษุทั้งหลายไม่พึงแสดงธรรมกับบุคคลที่นั่งอยู่เหนือกว่า

ด้วยสาเหตุที่เข้าใจได้ครับ พระธรรมของพระพุทธเจ้าของเรานั้นเป็นของประเสริฐสุด

ผู้ที่จะสดับรับฟังพึงอยู่ในอาการที่นอบน้อม ไม่ใช่แสดงกิริยา “กร่าง” มาแต่ไกล

เห็นพระภิกษุเป็นผู้ที่มีฐานะต่ำต้อยกว่า ถ้าตั้งท่ามาอย่างนั้นก็เห็นจะคุยกันไม่รู้เรื่องตั้งแต่ต้นแล้ว

การเจริญพระพุทธมนต์ของพระภิกษุที่เราได้พบเห็นอยู่เสมอ เป็นการแสดงธรรมอย่างหนึ่ง

เพราะสิ่งที่ท่านสวดให้เราฟัง (แต่ชาวเราสมัยนี้ไม่มีความรู้มากพอว่าท่านสวดอะไร) ร้อยทั้งร้อยเป็นการกล่าวถึงพระธรรมของสมเด็จพระบรมศาสดา บทสวดมนต์หลายบทขึ้นต้นด้วยการเล่าย้อนความไปด้วยว่าเมื่อครั้งพุทธกาลมีเหตุอย่างนั้นอย่างนี้เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าของเราจึงตรัสสอนไว้ว่าอย่างนั้นอย่างนี้

โดยเหตุที่การเจริญพระพุทธมนต์เป็นการแสดงธรรม จึงมีประเพณีที่เอื้อเฟื้อต่อพระวินัยบัญญัติ เช่น การนิมนต์ให้พระภิกษุรูปที่จะแสดงพระธรรมเทศนานั่งบนธรรมาสน์ แล้วญาติโยมนั่งฟังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็เช่น การจัดอาสนะหรือเครื่องปูลาดสำหรับพระที่เจริญพระพุทธมนต์ให้มีระดับที่สูงกว่าชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของงานหรือมาร่วมงาน ที่ว่าสูงกว่าแค่ไหนนี้ไม่มีกำหนดครับ

ข้อสำคัญคืออย่าให้ต่ำกว่าก็แล้วกัน

หลายปีก่อนผมจะไปร่วมงานบำเพ็ญกุศลที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานนั้นนิมนต์พระมาร่วมงานนับสิบนับร้อยรูป กำหนดจัดงานที่ศาลาพระเกี้ยวซึ่งเป็นศาลาโถงขนาดใหญ่ เจ้าหน้าที่จัดสร้างอาสน์สงฆ์ขึ้นเป็นแถวยาวหลายแถว และได้เตรียมเก้าอี้สำหรับคนที่จะนั่งฟังพระสวดมนต์ไว้เป็นจำนวนเรือนร้อย ด้วยความเจ้ากี้เจ้าการของผม ผมได้แวะไปที่จัดงานหนึ่งวันล่วงหน้า เมื่อเข้าไปเห็นเขาเตรียมสถานที่ไว้ มีความรู้สึกว่ามีสิ่งผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น

เพื่อทดสอบสายตาของตัวเองจึงขอให้เจ้าหน้าที่นำเก้าอี้ที่เตรียมไว้ให้คนนั่งมาเทียบระดับกับอาสน์สงฆ์

ได้ผลครับ ความสูงของเก้าอี้ทุกตัวสูงกว่าระดับของอาสนะประมาณ 2 นิ้ว

ผมต้องอธิบายเหตุผลอย่างที่เล่ามาข้างต้นให้เจ้าหน้าที่ฟัง เพื่อขอให้มีการปรับแก้ระดับของอาสน์สงฆ์เสียใหม่ให้ถูกต้องตามกติกา

พอถึงวันงานจริงทุกอย่างก็เรียบร้อยงดงาม ถูกต้องตามแบบแผนประเพณี

เรื่องกำหนดที่นั่งของพระภิกษุให้สูงกว่าหรืออย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่าที่นั่งของคนธรรมดานั้น เป็นธรรมเนียมที่เราพบเห็นและปฏิบัติกันจนคุ้นชิน และไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะการฟังเทศน์ฟังธรรมเท่านั้น

คงเคยสังเกตกันมาแล้วนะครับว่า แม้ในเวลานั่งสนทนากันด้วยเรื่องอื่นๆ ที่แม้จะไม่ใช่เรื่องของพระธรรมคำสอนโดยตรง ก็มีประเพณีที่เราจะให้เกียรติยกย่องพระภิกษุ โดยให้ท่านนั่งอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าเรา

เช่น ปูผ้าอาสนะสักผืนหนึ่งให้ท่านนั่ง ขณะที่เรานั่งอยู่บนพื้นราบธรรมดา

ประสบการณ์ที่ผมประทับใจเป็นพิเศษมีอยู่ครั้งหนึ่ง

คราวนั้นเป็นการประชุมเกี่ยวกับการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามหลวงสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ

สถานที่ประชุมนั้นไม่ได้อยู่ในวัด แต่อยู่ในสถานที่ราชการแห่งหนึ่ง

ท่านผู้จัดสถานที่มีความเข้าใจในเรื่องนี้ดีมาก เรามีโต๊ะประชุมอยู่ตรงกลาง ผู้เข้าประชุมมีทั้งพระภิกษุและฆราวาส เขาปูพรมไว้ที่พื้นตรงตำแหน่งที่มีเก้าอี้ซึ่งเป็นที่นั่งของพระภิกษุ

ส่วนชาวบ้านอย่างผมแม้จะนั่งเก้าอี้เหมือนกันกับท่าน แต่เก้าอี้ของเราไม่มีพรมรองรับนะครับ

ดูแล้วชื่นใจและชื่นชมในความรอบคอบเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมได้ไปร่วมงานบำเพ็ญกุศลงานหนึ่ง ซึ่งพระภิกษุที่ผมเคารพคุ้นเคยท่านเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กุฏิของท่าน ซึ่งไม่ได้มีขนาดใหญ่โตกว้างขวางอะไร

ผู้ที่จะไปร่วมงานหลายท่านเจริญวัยอาวุโสกว่าผม แข้งขาก็ไม่เอื้ออำนวยให้นั่งกับพื้นได้นานๆ เสียแล้ว

เพื่อแก้ไขความขัดข้องในเรื่องนี้ ความคิดเบื้องต้นท่านจึงตัดสินใจว่าจะให้คุณลุงคุณป้าทั้งหลายนั่งเก้าอี้

เมื่อตกลงใจดังนั้นแล้วคำถามที่ตามมาคือที่นั่งของพระหรืออาสนะของพระจะทำอย่างไร

ครั้นจะให้สร้างอาสน์สงฆ์ขึ้นมาใหม่เป็นแนวยาวตามจำนวนพระภิกษุที่จะมาเจริญพระพุทธมนต์ ก็จะเป็นการเหน็ดเหนื่อย สิ้นเปลือง และไม่คุ้มประโยชน์กับการใช้งาน

ผมได้เห็นทางแก้ของท่านแล้วปลาบปลื้มครับ

ท่านใช้วิธีวางเก้าอี้เรียงกันเป็นแนวยาวตามตำแหน่งที่ควรจะเป็นที่นั่งของพระภิกษุนั่นแหละ

แล้วท่านจัดหาโต๊ะตัวเล็กซึ่งมีใช้สอยอยู่เป็นประจำในวัดนั้นมาเท่ากับจำนวนพระภิกษุ มีผ้าปูโต๊ะขาวขลิบริมด้วยผ้าลูกไม้คลุมโต๊ะเหล่านั้นเสีย ชักชายผ้าด้านหน้าให้ยาวลงมาสักหน่อย พอปิดบังไม่ให้เห็นพื้นที่ตอนในเมื่อพระภิกษุนั่งบนเก้าอี้แล้ว

โต๊ะปูผ้าขาวนี้ สามารถย้ายไปมาได้สะดวก เช่น แต่แรกไม่ได้เรียงเป็นแถวยาวพืดติดกัน หากแต่ขยับวางให้สะดวกสำหรับเดินเข้า-ออกได้

ต่อเมื่อพระภิกษุนั่งประจำที่ครบจำนวนแล้ว จึงวางโต๊ะเหล่านั้นเข้าระเบียบชิดกัน คราวนี้ก็ง่ายละครับ จะลาดภูษาโยงแล้วทอดผ้าบังสุกุล หรือจะถวายเครื่องไทยธรรม ก็สามารถวางลงบนโต๊ะที่ว่านั้นได้ด้วยความเรียบร้อยสวยงาม

แขกเหรื่อที่ไปในงานเดียวกันนี้ เมื่อได้เห็นการจัดสถานที่และการตั้งแต่งแบบนี้แล้ว ต่างยิ้มย่องผ่องใส หลายคนรวมทั้งผมเองตั้งใจว่าจะจดจำไว้เป็นแบบแผนสำหรับเวลาเมื่อถึงคราวที่ตัวเองจะจัดงานบ้าง จะได้ใช้วิธีนี้แก้ข้อขัดข้องที่เคยพบมาแต่ก่อน

ความยากของวิธีนี้มีอยู่ข้อเดียวคือ การหาโต๊ะที่มีขนาดเหมาะสมสำหรับมาวางเรียงอยู่ด้านหน้าของเก้าอี้ เพราะเก้าอี้เป็นของหาง่ายอยู่แล้ว โต๊ะนี้อาจจะยากอยู่สักหน่อย แต่ไม่เป็นไรครับ ที่เล่าสู่กันฟังนี้ก็เป็นแนวคิด เวลาปฏิบัติจริงแต่ละสถานที่แต่ละงานก็สามารถไปพลิกแพลงให้เหมาะสมได้

ข้อสำคัญคือ สิ่งที่เราปฏิบัติหลายอย่างในวิถีแห่งความเป็นชาวพุทธของเรา ถ้าทำตามกันไปเรื่อยๆ โดยไม่เคยแสวงหาเหตุผลต้นปลาย เราก็อาจจะทำผิดพลาดด้วยความไม่รู้หรือด้วยความประมาทได้

ตัวอย่างเช่น เรื่องอาสน์สงฆ์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ผมเล่ามาข้างต้น

แต่ถ้ารู้หลักเสียแล้วครั้งหนึ่ง คราวนี้จะมาไม้ไหนเราก็จัดการใดทั้งสิ้น ไม่จนแต้มละครับ

ใครจะยืมตำรานี้ไปใช้บ้าง ท่านผู้เป็นเจ้าของตำราท่านฝากมาบอกว่าไม่หวงห้ามครับ