นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ความยุติธรรมกับกฎหมาย

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในการพิจารณาคดีอาชญากรสงครามของศาลระหว่างประเทศที่สิงคโปร์เมื่อเสร็จสงคราม มีชาวเกาหลีจำนวนมากถูกตัดสินว่ากระทำความผิด และถูกจำคุกตั้งแต่หลายปี, ตลอดชีวิต, ไปจนถึงถูกพิพากษาให้ประหารชีวิต ส่วนใหญ่ของข้อกล่าวหาในคดีต่างๆ เกิดขึ้นจากการสร้างทางรถไฟที่ต่อมาถูกเรียกว่า “สายมรณะ” ในประเทศไทยและพม่า

ชาวเกาหลีเหล่านี้เป็นใคร?

โดยทฤษฎีคือพลเมืองของจักรวรรดิญี่ปุ่น เพราะเกาหลีถูกญี่ปุ่นผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ แต่ในความเป็นจริงคือพลเมืองชั้นเลวสุดของจักรวรรดิ เพราะญี่ปุ่นเหยียดหยามว่าป่าเถื่อนล้าหลังตน การผนวกเข้ามาในจักรวรรดิแตกต่างจากการยึดเอาเป็นอาณานิคม ซึ่งถึงอย่างไรก็ไม่ใช่ “เมืองแม่” แต่ญี่ปุ่นปฏิบัติต่อเกาหลีเหมือนอาณานิคมเพื่อประโยชน์ของญี่ปุ่นเป็นหลัก

คนเกาหลีในกองทัพญี่ปุ่นเหล่านี้เป็น “อาสาสมัคร” ทั้งนั้น บางคนเป็นทหาร บางคนเป็นพลเรือนฝ่ายกลาโหม เป็นพนักงานดับเพลิง เป็นยุวชนทหาร แต่ในความเป็นจริงส่วนใหญ่ถูก “เกณฑ์” มากกว่าอาสาสมัคร หรือที่อาสาสมัครจริงก็เพราะต้องการหางานทำเพื่อหลบหนีความยากจน

เช่น ชาวเกาหลีที่สมัครเป็นผู้คุมเชลยศึกได้รับสัญญาว่าจะได้เงิน 50 เยนต่อเดือน และต้องรับการฝึกแบบทหารมาแต่ต้น

กองทัพญี่ปุ่นซึ่งนำเชลยศึกผิวขาวจากความปราชัยที่สิงคโปร์, ชวา และสุมาตราขึ้นมาสร้างทางรถไฟในประเทศไทย (และ Romusha หรือแรงงานเกณฑ์, จ้าง, และอาสาสมัคร จากเวียดนาม, มลายู และชวา ซึ่งมีจำนวนมากกว่าเชลย และตายเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าเชลยศึกมาก) ล้วนมีผู้คุมเป็นชาวเกาหลีทั้งนั้น ทหารญี่ปุ่นเป็นนายสูงสุดซึ่งสัมพันธ์กับเชลยโดยตรงไม่สู้จะมากนัก แต่เป็นผู้ออกคำสั่งลงมาให้ผู้คุมเกาหลีปฏิบัติ ฉะนั้น ผู้คุมเกาหลีเหล่านี้แหละที่ต้อง “ลงโทษ” เชลยทางกาย (นับตั้งแต่ขั้นต่ำสุดคือตบหน้า, เตะ, ถีบ, กระทืบ) เพื่อคุมให้เชลยทำงาน

คนป่วยหนักใกล้ตาย ญี่ปุ่นก็ยังบังคับให้ลุกขึ้นไปทำงาน แต่ใครจะเป็นคนเตะให้ลุกขึ้นได้ล่ะ ก็ต้องผู้คุมเกาหลีนี่แหละ ดังนั้น เมื่อเชลยที่รอดชีวิตจะชี้นิ้วไปยังผู้ทำทารุณกรรมต่างๆ ย่อมชี้ไปยังผู้คุมเกาหลีนี่เอง

ผู้คุมเกาหลีมีอำนาจเพียงเป็นผู้รายงานให้นายญี่ปุ่นเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาคือผู้มีสถานะต่ำสุดในกองทัพ แม้แต่พลทหารญี่ปุ่นก็อาจลงโทษพวกเขาได้ และในความเป็นจริง เขาก็ถูก “นาย” ญี่ปุ่นดุด่าว่ากล่าวด้วยถ้อยคำรุนแรง ตลอดจนถูกทำร้ายร่างกายอยู่เป็นประจำ เมื่อไม่ปฏิบัติงานเป็นที่พอใจของ “นาย”

เกาหลีเป็นเชลยอีกชนิดหนึ่ง ไม่ต่างจากเชลยศึก จึงไม่ได้รับความไว้วางใจจากญี่ปุ่นเหมือนกัน ยิ่งถูกระแวงมากก็ยิ่งต้องเจ็บตัวหนักขึ้น หนทางเดียวที่ชาวเกาหลีจะรอดจากการถูกลงโทษและหวาดระแวงได้ คือพยายามพิสูจน์ความภักดีของตนต่อกองทัพพระจักรพรรดิ ยิ่งจำเป็นต้องพิสูจน์มากเท่าไร ก็ยิ่งต้องแสดงความเคร่งครัดต่อเชลยศึกมากเท่านั้นซึ่งในสถานการณ์ขณะนั้นคือความโหดร้าย

เพราะนับแต่ปี 1942 เป็นต้นไป สถานการณ์การสร้างทางรถไฟตกอยู่ในวิกฤตมากขึ้น ทางรถไฟคืบเข้าป่าลึกจนกระทั่งพ่อค้าในเมืองไทยเลิกหาบหิ้วหรือถ่อเรือบรรทุกสินค้าไปขายค่ายเชลยเสียแล้ว เส้นทางเดินเรือของญี่ปุ่นในมหาสมุทรอินเดียถูกฝ่ายสัมพันธมิตรก่อกวนจนการขนส่งแทบจะหยุดชะงักลง กองทัพญี่ปุ่นในพม่าเหมือนถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิง จึงยิ่งต้องเร่งสร้างทางรถไฟจากไทยไปให้บรรจบกับทางพม่าโดยเร็วที่สุด เพื่อส่งยุทธสัมภาระแก่กองทัพในพม่า ซึ่งเตรียมการจะรุกเข้าอินเดียต่อไปด้วย ส่วนค่ายเชลยเองนอกจากขาดแคลนอาหารแล้ว ยังขาดแคลนยาซึ่งทางโตเกียวส่งกำลังบำรุงได้ยากขึ้นอีกด้วย เชลยตายลงด้วยการป่วยที่ไม่น่าต้องตายจำนวนมาก

(ข้อมูลทั้งหมดอาศัยหนังสือของ Gavan McCormack & Hank Nelson, The Burma-Thailand Railway)

อันที่จริงเชลยศึกที่ถูกจับได้พร้อมกันจำนวนมากเป็นปัญหาที่กองทัพสมัยใหม่แก้ไม่ตก ยกเว้นแต่จับได้แล้วสงครามสงบลงทันที ปัญหาแรกคือต้องหาอาหารให้กิน กลายเป็นภาระจัดหาและขนส่งซึ่งสูญเสียกำลังไปโดยไม่ได้ประโยชน์ด้านการรบเลย ปัญหาต่อมาคือจะควบคุมเชลยศึกซึ่งมีจำนวนมากอย่างไร รักษากำลังทหารให้เหนือกว่าเชลยอย่างเด็ดขาด ก็เป็นอันไม่ต้องรบต่อไปเพราะเสียกำลังทหารไปโดยเปล่าประโยชน์จำนวนมาก จะควบคุมเชลยศึกมิให้ก่อกวนในแนวหลังด้วยกำลังทหารจำนวนน้อยได้อย่างไร

วิธีที่เขาทำกันก็คือทำลายขวัญกำลังใจของเชลยให้พินาศล่มจมอย่างสิ้นเชิง เช่น ให้อาหารไม่พอ, จัดชีวิตความเป็นอยู่ให้ต่ำจนแทบไม่ต่างจากสัตว์, ทรมานทารุณหรือให้ทำงานหนักจนสิ้นเรี่ยวแรงและสุขภาพ โดยสรุปคือทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเชลยศึกจนไม่เหลือมาตรฐานทางวัฒนธรรมใดๆ อยู่ในจิตสำนึกอีกต่อไป เช่น สูญเสียความรู้สึกเป็น “พวก” เดียวกับเชลยศึกคนอื่น (ซึ่งในความเป็นจริงมักทำไม่สำเร็จถึงขั้นนี้)

ผู้คุมเกาหลีเข้ามามีบทบาทตรงนี้แหละครับ เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา คนเกาหลีตกอยู่ใต้การบังคับควบคุมของญี่ปุ่นมาเกือบสองชั่วอายุคนแล้ว ซ้ำเป็นการบังคับควบคุมที่มุ่งจะทำลายล้างความเป็นเกาหลีให้หมดไปจากจิตใจด้วย ในแง่นี้ ผู้คุมเกาหลีได้สูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือความเป็นเกาหลีไปไม่น้อยแล้ว ชีวิตเหลือแต่การอยู่ให้รอด จึงพร้อมจะเป็นเครื่องมือให้อำนาจอธรรม

ผมคิดว่าระบอบเผด็จการที่ไหนๆ ก็คล้ายกับกองทัพญี่ปุ่น เมื่อยึดอำนาจได้ก็ต้องเผชิญกับ “เชลยศึก” จำนวนมหึมา ซึ่งลุกฮือขึ้นเมื่อไร ระบอบเผด็จการนั้นก็ไปไม่รอด จึงต้องใช้จิตวิทยาของค่ายเชลยในการรักษาอำนาจของตนไว้ การกดขี่เสรีภาพและละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของ “เชลย” แต่ค่ายเชลยจะลุกขึ้นปลดแอกตนเองหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้คุม “เกาหลี” ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นประชากรส่วนใหญ่ แต่เป็นคนขยันขันแข็งที่คอยข่มขู่คุกคาม “เชลยศึก” เพื่อเอาใจ “ญี่ปุ่น” ด้วยความหวังว่าชีวิตตัวจะ “รอด” หรือ “รวย” ผู้คุม “เกาหลี” จะคอยระแวดระวังมิให้ “เชลยศึก” กลุ่มใดรื้อฟื้นสำนึกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ขึ้นมาได้อีก

นี่ออกจะนอกเรื่องที่ผมอยากจะพูดไปเสียแล้ว

ที่ผมอยากยกขึ้นมาชวนคุยก็มีเพียงว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศที่สิงคโปร์ตัดสินลงโทษผู้คุมเกาหลีไปจำนวนมาก เพราะมีคำให้การ (affidavits) ของเชลยศึกที่เขียนกล่าวโทษไว้ แต่ผู้เขียนก็มิได้มาขึ้นศาลให้ฝ่ายจำเลยซักค้าน การตรวจสอบคำให้การก็ไม่ถี่ถ้วนนัก เพราะจำเลยบางคนถูกกล่าวโทษในคำให้การบางฉบับ แต่ได้รับคำยกย่องจากเชลยศึกในอีกบางฉบับ แม้แต่ที่จับผิดตัวจนต้องปล่อยไปก็มี

ความหละหลวมด้านการดำเนินคดีเช่นนี้มีผู้วิจารณ์และชี้ให้เห็นมามากแล้ว แต่ที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือ ศาลไม่เคยสืบไปถึงชีวิตส่วนลึกของผู้คุมเกาหลีสักคน คำถามที่ว่าเขามี “ทางเลือก” ที่จะทำเป็นอื่นหรือไม่ ถูกตอบจากปรากฏการณ์เฉพาะหน้า (เช่น ไม่มีใครเอาปืนจี้หัวเขาในขณะที่เตะเชลยศึกที่กำลังป่วยหนัก) “ทางเลือก” ของมนุษย์แต่ละคนมีเพียงถูกบังคับทางกายภาพหรือไม่เท่านั้นหรือ ผมหวังว่าหลายคนคงเห็นด้วยกับผมว่า ไม่ใช่หรอก “ทางเลือก” ในชีวิตของทุกคนถูกจำกัดด้วยปัจจัยอื่นๆ อีกมาก นับตั้งแต่เงื่อนไขทางจิตวิทยาส่วนตัวขึ้นไปจนถึงเงื่อนไขทางสังคม-เศรษฐกิจและสังคม-การเมือง

การเอาซาลาเปาที่เหลือกำลังจะทิ้งไปฝากลูกที่บ้าน อาจไม่ใช่แม้แต่การ “ขโมย” ในทัศนะของผู้กระทำ ขึ้นอยู่กับว่าเขาเติบโตมาในวัฒนธรรมอะไร ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงความหิวของลูก อาจจำกัด “ทางเลือก” ของคนเสียยิ่งกว่าปืนจ่อหัวอีกก็ได้

นักกฎหมายอาจบอกว่า ศาลไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้า ย่อมตัดสินคนไปตามเนื้อหาของกฎหมาย ไม่อาจล้วงลึกไปถึงชีวิตจิตใจของแต่ละคนได้ และถ้าขืนปล่อยให้ผู้พิพากษาตัดสินคดีอย่างพระผู้เป็นเจ้า (ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นพระผู้เป็นเจ้า) สังคมจะยิ่งปั่นป่วนวุ่นวายหนักขึ้นไปอีก เพราะจะแยกอคติของผู้พิพากษาออกจากกฎหมายไม่ได้เลย

ผมเห็นด้วยกับนักกฎหมายอย่างไม่มีทางโต้เถียงใดๆ ได้เลย

แต่ถ้ายอมรับเสียแต่ต้นว่าผู้พิพากษาไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้า แต่เป็นมนุษย์เหมือนคนอื่นๆ จึงต้องถูกกำกับด้วยกฎหมายอย่างเคร่งครัดแล้ว ก็ควรยอมรับต่อไปด้วยว่า

1. ตราชั่งของศาลทั้งโลกย่อมเอียงทั้งนั้น ไม่ใช่เอียงด้วยอคติของผู้พิพากษา (เท่านั้น) แต่ที่สำคัญกว่าคือ เอียงเพราะเป็นความยุติธรรมเท่าที่มนุษย์ด้วยกันเองจะให้กันได้ ไม่ใช่ความยุติธรรมสูงสุดเด็ดขาดของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุดังนั้นจึงมีตาที่มองเห็นได้ระดับปรากฏการณ์เท่านั้น

2. เมื่อผู้พิพากษาเป็นมนุษย์ คำพิพากษาจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ตราบเท่าที่การวิจารณ์นั้นไม่ทำให้กระบวนการพิจารณาคดีด้วยระบบศาลเป็นที่เหยียดหยามหมิ่นแคลน

มักกล่าวกันว่าวิจารณ์ตามหลักวิชาการย่อมทำได้ ก็หมายความว่าสิทธิวิจารณ์คำพิพากษานั้นไม่ใช่สิทธิทั่วไป เป็นสิทธิของนักวิชาการหรือผู้ที่สามารถใช้ภาษาให้ดูเป็นวิชาการเท่านั้น แท้จริงแล้วการวิจารณ์คำพิพากษาน่าจะเป็นสิทธิทั่วไป ที่ทุกคนย่อมทำได้ ตราบเท่าที่คนส่วนใหญ่ในสังคมต้องการรักษาระบบศาลไว้เป็นหนทางยุติกรณีพิพาทที่สงบที่สุด ผู้วิจารณ์คำพิพากษาอย่างไม่มีเหตุผล ย่อมถูกโต้แย้งคัดค้านจนความเห็นของเขาไม่เป็นที่รับฟังในสังคม จึงไม่มีทางกระทบต่อความมั่นคงของระบบศาลแต่อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ต้องชัดเจนในข้อหา “หมิ่นศาล” ว่า มีไว้เพื่อรักษาระบบศาล จึงมุ่งปกป้องกระบวนการพิจารณาคดี ไม่ใช่ปกป้องตัวบุคคลที่เป็นผู้พิพากษา และไม่ใช่ปกป้อง “ศักดิ์ศรี” ของสถานที่