เปิด 3 ร่าง กม.การศึกษา ฉบับ “ศธ.-สปท.-สนช.” ไม่แตกต่าง หลอมรวมกันได้

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เร่งยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาให้แล้วเสร็จก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

โดยร่างกฎหมายฉบับหนึ่งที่มีความสำคัญเพราะถือเป็นกฎหมายแม่บทในการจัดการศึกษา และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เร่งดำเนินการในนามของ ศธ. อยู่นั่นคือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

“ศธ. เร่งยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … โดยจะนำข้อเสนอทั้งของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และของ ศธ. มาผนวกเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้ตุ๊กตา และเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาขึ้นภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ใน 60 วัน จะได้นำตุ๊กตาดังกล่าวให้คณะกรรมการอิสระฯ พิจารณาทันทีเพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ประกาศใช้ได้ทันภายในปี 2560 ตามเงื่อนเวลาที่กำหนด”

พล.อ.ดาว์พงษ์ ระบุ

 

สําหรับสาระร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติของทั้ง 3 ฉบับ มีรายละเอียดดังนี้

ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับของรัฐบาลโดย ศธ. (สกศ.) หลักการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ เพื่อให้ระบบการศึกษาของประเทศสามารถตอบสนองต่อความต้องการและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีทั้งหมด 7 หมวด 62 มาตรา

โดยการจัดการศึกษายังคงยึดหลักมีเอกภาพด้านนโยบายและมีความหลากหลายในการปฏิบัติ มีการกระจายอำนาจไปสู่ภูมิภาค สถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีการกำหนดมาตรฐานการศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับและประเภทการศึกษา ให้รัฐมีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง โดยการจัดการศึกษามี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.การศึกษาในสถานศึกษา เป็นการศึกษาตามแนวระบบโรงเรียน และ 2.การศึกษาที่เกิดจากการเรียนรู้ในวิถีชีวิต ประกอบด้วยการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย การเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานและการเรียนรู้ผ่านไอซีที ซึ่งต่างจากเดิมที่เป็นการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

สาระที่โดดเด่นของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว จะไม่มีการกำหนดว่าการศึกษาระดับใดเป็นการศึกษาภาคบังคับ

แต่เขียนว่า “การกำหนดให้ระดับการศึกษาใดเป็นการศึกษาภาคบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น”

ทั้งนี้ เพื่อความคล่องตัวในการออกกฎหมายโดยที่ไม่ต้องมาปรับแก้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติหลายครั้ง ที่สำคัญกำหนดให้จัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียนตั้งแต่เกิดจนชรา

โดยมาตรา 16 กำหนดให้เตรียมความพร้อมของเด็กเล็ก (0-2 ปี) เป็นการเตรียมความพร้อมของพ่อแม่สำหรับการดูแลเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์และหลังคลอด

การศึกษาตามปฐมวัย (3-5 ปี) มุ่งเน้นการปลูกฝัง อบรม ดูแลและพัฒนาความพร้อมของเด็ก

การศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชน (6-18 ปี) มุ่งส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้รับการปลูกฝังคุณลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมที่พึงประสงค์

การศึกษาสำหรับผู้ที่อยู่ในวัยแรงงาน (15-59 ปี) เป็นการศึกษา อบรมและพัฒนาทักษะความรู้ ความสามารถและสมรรถนะให้ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน

การศึกษาสำหรับผู้สูงวัย (60 ปีขึ้นไป) เป็นการศึกษา อบรมและพัฒนาให้ผู้สูงวัยสามารถปรับตัวกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของวัย นอกจากนี้ จะมีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ ทำหน้าที่พัฒนาการศึกษาและมนุษย์อย่างรอบด้านตลอดชีวิต

ตลอดจนให้มีองค์กรวิชาชีพครูเรียกว่า “คุรุสภา” มีฐานะเป็นองค์กรอิสระภายใต้การบริหารของสภาวิชาชีพในกำกับของกระทรวง

 

สําหรับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … (ฉบับ สปท.) นั้น เป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติเช่นกัน โดยมีหลักการที่ไม่ต่างจาก สกศ. มากนัก แต่ในเรื่องของการจัดการศึกษา เป็นการศึกษาตลอดชีวิตที่บูรณาการการศึกษา 3 รูปแบบ ดังนี้

1. การศึกษาในระบบ

2. การศึกษานอกระบบ

และ 3. การศึกษาตามอัธยาศัย และการจัดการศึกษาตามวัยของผู้เรียน

มีการจำแนกเหมือนฉบับของ ศธ. (สกศ.) เพียงแต่ไม่ได้กำหนดเป็นช่วงอายุ โดยกำหนดกว้างๆ ดังนี้ การเตรียมความพร้อมของเด็กเล็ก, การศึกษาอนุบาลศึกษา, การศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชน, การศึกษาสำหรับผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน และการศึกษาสำหรับผู้สูงวัย นอกจากนี้ มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ เช่นเดียวกับฉบับของ ศธ.

ส่วนที่น่าสนใจคือ กำหนดให้มีกองทุนช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ทางด้านการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา

โดยให้มีการจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนดังกล่าวอย่างเพียงพอเพื่อเป็นการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษา

รวมถึงให้สถานศึกษาของรัฐที่ผ่านเกณฑ์การประเมินความพร้อมเป็นสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคล และให้รัฐกระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษาทุกด้านให้สถานศึกษา และในหมวดที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

กำหนดให้รัฐต้องจัดสรรคลื่นความถี่ สื่อตัวนำและโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่จำเป็นต่อการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ วิทยุโทรคมนาคมและการสื่อสารในรูปอื่นเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมตามความจำเป็น

ให้มีกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาโดยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ค่าสัมปทาน และผลกำไรที่ได้จากการดำเนินกิจการด้านสื่อสารมวลชน

 

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … (ฉบับ สนช.) ยกร่างขึ้นโดยการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2552 เพื่อกำหนดถึงหลักการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยในความมุ่งหมายและหลักการจัดการศึกษาให้ชัดเจน

เพื่อกำหนดอำนาจการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษาซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลให้สามารถบริหารและจัดการศึกษาได้อย่างอิสระคล่องตัวตามศักยภาพและความพร้อมรองรับการกระจายอำนาจทางการศึกษา

และเพื่อกำหนดให้มีสำนักงานวิจัยและพัฒนาการศึกษาและหลักสูตรการเรียนรู้ เพื่อทำหน้าที่วิจัยและพัฒนางานวิชาการ หลักสูตรการศึกษา และระบบการศึกษาจัดระบบการจัดการองค์ความรู้และฐานข้อมูลที่ทันสมัย

รวมทั้งประสานและส่งเสริมการดำเนินงานด้านการวิจัยและวิชาการกับหน่วยงานการศึกษา สถานศึกษาและชุมชน

 

ด้าน นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ ได้เตรียมนัดหารือร่วมกันระหว่าง สกศ. สนช. และ สปท. เพื่อปรับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวให้เหลือ 1 ชุด ก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ สนช. ตามลำดับ

พล.อ.ดาว์พงษ์ อยากให้ถกเถียงกันตั้งแต่ต้น เพื่อว่าเมื่อเข้าสู่ที่ประชุม ครม. และ สนช. จะได้มีความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

โดยเฉพาะในที่ประชุม สนช. จะได้ไม่เสียเวลาถกเถียงกันมาก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะหารือระหว่าง 3 หน่วยงานจนได้ตุ๊กตาเรียบร้อยแล้ว ศธ. จะยังไม่นำเสนอเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนดว่าหลังรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้ 2 เดือน จะต้องตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาให้เสร็จภายใน 2 ปี

ดังนั้น สกศ. จะรอหารือกับคณะกรรมการอิสระฯ ดังกล่าวเผื่อมีข้อเสนอเพิ่มเติม

สาระของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ของทั้ง 3 หน่วยงาน ไม่แตกต่างกันมากนัก สามารถหลอมรวมมาเป็นฉบับเดียวกันได้ไม่ยาก

และที่สำคัญประธานคณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับ ศธ. (สกศ.) คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และเป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญด้วย

ฉะนั้น คณะกรรมการอิสระฯ ที่เกิดขึ้นภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ย่อมต้องมาจากผู้ที่เข้าใจในการเชื่อมโยงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติกับงานการศึกษาทั้งระบบ