จัตวา กลิ่นสุนทร : 65 ปี สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ “เปลี่ยนแปลงเนื้อหา”

หลังตัดสินใจลงมือเขียนถึงเรื่องต่างๆ จากอดีตของ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” โดยส่งต้นฉบับล่วงหน้าไป 2 ตอน และเมื่อตอนที่ 1 ได้ลงตีพิมพ์ ปรากฏว่ามีเสียงโทรศัพท์จากคนคุ้นเคยในแวดวงนักเขียนส่งเสียงมาเตือนความจำว่า มีนักเขียนเรื่องสั้นอีกหลายคนที่แจ้งเกิดกับสยามรัฐ “ฉบับเบ่ง”

ความจริงพอจะทราบอยู่แต่ไม่คิดว่าจะเค้นค้นมาเขียนทั้งหมด ต้องการยกตัวอย่างแค่มือรางวัลระดับชาติซึ่งเคยผ่านสนามแห่งนี้ขึ้นมาเป็นบางท่านเท่านั้น เพราะเหตุว่าแม้จะสืบเสาะค้นหาเพื่อนำเอารายละเอียดมาเขียนอีกสักกี่ครั้ง คนไม่อ่านหนังสือ ก็คือคนไม่อ่านหนังสือ ย่อมไม่รู้ ไม่สนใจอยู่เหมือนเช่นเดิม

นักเขียนเรื่องสั้นบางคนได้มีผลงานลงตีพิมพ์ไม่น้อยในยุคที่ผมเองยังนั่งทำงานอยู่จนถึงเวลาที่ได้เป็น “บรรณาธิการบริหาร” เช่น “อารมณ์ พงศ์พงัน” (เสียชีวิต) นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน

และนักเขียนอื่นๆ ก็มีผลงานตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง “ประภัสสร เสวิกุล” (เสียชีวิต) นักเขียนในแวดวงการทูตผู้เต็มไปด้วยความสุภาพอ่อนน้อม

“นิเวศน์ กันไทยราษฏร์” คนคุ้นเคยกันเองได้รีบค้นเบอร์โทรศัพท์ ส่งเสียงมาบอกกล่าวว่า ในยุคที่ยังเฟื่องฟู เรื่องสั้นส่วนใหญ่ของเขาจะตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับนี้ และมีนักเขียนที่เริ่มสร้างสรรค์ผลงานเรื่องแรกกับสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ เช่น “กนกวลี พจนปกรณ์” นักเขียนมือรางวัล และนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย คนปัจจุบัน

แต่ที่แน่ๆ ย่อมไม่สามารถจดจำเรียงลำดับรายชื่อนักเขียนเรื่องสั้นทั้งหลายที่มีผลงานตีพิมพ์กับสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ได้ทั้งหมด

 

แม้คิดทบทวนอยู่หลายวันเพื่อเขียนถึง “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” นิตยสารอายุใกล้ 70 ปี ซึ่งเต็มไปด้วยตำนาน รวมทั้งเป็นผู้สร้าง “นักเขียน” จำนวนมาก เป็นสถาบันให้ได้แจ้งเกิด ได้ศึกษาเรื่องของการเขียนหนังสือ ทำหนังสือ แต่ก็ยังเกิดความผิดพลาดเรื่องข่าว “การปิดตัว” ของนิตยสารฉบับนี้ลงจนได้

“สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ในปีที่ 65 หลังจากผู้บริหารปัจจุบันตัดสินใจปิดตัว จนตกเป็นข่าวแพร่กระจายจึงได้ทบทวนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนใจ ได้คำตอบสุดท้ายให้ยืนหยัดต่อไป

เพียงแต่ได้ทำการ “เปลี่ยนแปลง” หน้าตาเนื้อหาเพื่อยืนหยัดอยู่บนถนนหนังสือต่อไป

คิดว่าคงจะพยายามลดต้นทุนในการผลิตหลายๆ สิ่งอย่างเพื่อให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน รวมทั้งต้นฉบับที่ต้องซื้อหาจากนักเขียนทั่วไปก็ได้ปรับลดเช่นกัน

“สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” บนแผงหนังสือวันนี้จึงกลายเป็นขนาดแท็บลอยด์ (Tabloid Size) หน้า 1 พิมพ์สี่สี/จำนวน 24 หน้า/ราคา 20 บาท

 

หลัง “เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” ผ่านพ้น มีการจัดตั้ง “สมัชชาแห่งชาติ” โดยช่วยกันเสนอชื่อผู้คนทุกสาขาอาชีพเข้ามาก่อนจะมาเลือกกันเองเข้าไปเป็น “สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” โดยใช้ “ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย” (ในพระบรมราชูปถัมภ์) หรือ “สนามม้านางเลิ้ง” เป็นที่มาประชุมรวมตัวเพื่อเลือกกันเอง

ในฐานะเป็นศิษย์นอกมหาวิทยาลัยของศาสตราจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จะว่าใกล้ชิดก็คงพอสมควร เพราะฉะนั้น จึงได้รับความไว้วางใจให้ช่วยเสนอชื่อเพื่อนพ้องในหลายๆ อาชีพให้เข้าไปเป็นสมาชิกสมัชชาสนามม้า โดยไม่กล้าใส่ชื่อตัวเองด้วยคิดว่าอาวุโสยังไม่ถึงประมาณนั้น

เพื่อนพ้องคนรู้จักจำนวนมากที่ได้รับการเสนอชื่อ คิดว่าเวลาผ่านไปใกล้ 50 ปีแล้ว บางคนเสียชีวิตแล้ว เขาคงไม่มีโอกาสได้ทราบว่าชื่อของเขาถูกเสนอได้อย่างไร ใครเป็นคนส่งเข้าไป?

เมื่อเลือกกันเองเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามจำนวนที่กำหนด สมาชิกได้พร้อมใจกันเลือกศาสตราจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธานสภา เพื่อดำเนินการจัดร่างรัฐธรรมนูญ

จนเสร็จสรรพในปี พ.ศ.2517

 

ท่านประธานจึงลาออกมาก่อตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคกิจสังคม” เพื่อส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามระบอบการปกครองประชาธิปไตย ถึงแม้จะได้รับเลือกมาจากประชาชนทั่วประเทศเพียง 18 เสียง แต่ท่านกลับได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 13) เมื่อปี พ.ศ.2518 จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศชาติท่ามกลางคมดาบคมหอกที่พยายามกันทุกวิถีทางจะยึดอำนาจรัฐบาล “ประชาธิปไตย” เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หัวหน้ารัฐบาล พยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้จนถึงวาระสุดท้ายเอาไม่อยู่จึงตัดสินใจเลือกการ “ยุบสภา” เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน และตัวนายกรัฐมนตรีรักษาการ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขต 1 (ดุสิต) กรุงเทพฯ แต่น่าเสียดายที่ท่าน “สอบตก” ด้วยกลเกมทางการเมืองตามใบสั่ง

พรรค “ประชาธิปัตย์” ซึ่งท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช (เสียชีวิต) เป็นหัวหน้าพรรคได้รับเลือกตั้งมาเข้ามากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ เมื่อบวกผสมกับพรรคชาติไทย และพรรคการเมืองอื่นๆ จึงได้จัดตั้งรัฐบาล โดยท่านหัวหน้าพรรค ท่านพี่ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เป็น “นายกรัฐมนตรี”

แต่น่าเสียดายรัฐบาล “ประชาธิปไตย” ที่มาจากการ “เลือกตั้ง” ของ “ประชาชน” ต้องถูก “ยึดอำนาจ” ไปในเวลาอันรวดเร็วแบบไม่ทันได้บริหารประเทศชาติ เมื่อเกิดเหตุการณ์ชุมนุมต่อต้านการกลับคืนประเทศของ “จอมพลถนอม กิตติขจร” จนบานปลายกลายเป็นการสังหารกันกลางเมือง

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของท่านเองชื่อ “พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่” (เสียชีวิต) อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ (ซึ่งเรียกขานกันว่าจอร์ส) เป็นหัวหน้าคณะเข้ายึดอำนาจ เรียกว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน”

หลังเหตุการณ์ วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

 

เหตุการณ์ “ประวัติศาสตร์” 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งกล่าวกันเสมอว่า “โหดร้ายทารุณ” นิสิตนักศึกษา ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ได้เอาชีวิตมาทอดทิ้งบนถนนราชดำเนิน ท้องสนามหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บางคนถูกแขวนคอกับต้นมะขาม ถูกเผากลางถนนด้วยยางรถยนต์ สาวน้อยผู้บริสุทธิ์ถูกลากไปกลางสนามหลวง ในขณะไม่มีชีวิต โดยภาพเหล่านี้ได้ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก ฝ่าย “ประชาธิปไตย” ต่างลงความเห็นกันว่าเป็นการกลับมาทวงคืนอำนาจของซีก “เผด็จการ” ซึ่งได้ถูกต่อต้านล้มล้างขับไล่ไประยะหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2516

มีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ในเวลาต่อมา โดยท่านธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็น “นายกรัฐมนตรี” ท่านสมัคร สุนทรเวช (เสียชีวิต) คนคุ้นเคยกันเองเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย

และมีการสั่งปิดหนังสือพิมพ์ ให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไปรายงานตัว

 

หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐรายวัน” ซึ่งมียอดจำหน่ายอยู่ในระดับพอสมควรในช่วงปี พ.ศ.2516 ได้กลับเริ่มถดถอยลงบ้างในปี พ.ศ.2517-2518 เนื่องจากท่านอาจารย์เจ้าของผู้ก่อตั้งได้ไปเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่อด้วยนายกรัฐมนตรี

สยามรัฐรายวันมีการเปลี่ยนแปลงบรรณาธิการอีกครั้งหนึ่งในเวลาต่อมา

ในขณะที่ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” เป็นเหมือนไม้ประดับในเครือสยามรัฐ แต่ยังออกจำหน่ายในรูปแบบแท็บลอยด์ (Tabloid Size) หน้าแรกเป็นสีฟ้าพาดหัวข่าวแห้งๆ เนื้อในแทบไม่มีอะไรน่าจับต้องติดตาม

หลังจากผู้บริหารของบริษัทเห็นดีเห็นงามให้ทำการปรับปรุง “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ได้เตรียมพร้อมจัดหาทีมงานประชุมพูดคุยปรึกษากำหนดนโยบาย และรูปแบบ โดยพยายามคงจิตวิญญาณหนังสือรายสัปดาห์ ปกสีฟ้า-ดำที่ถือกำเนิดตรงริมถนนราชดำเนินเอาไว้

“สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” มีหน้าปกเป็นกระดาษอาร์ตพิมพ์ 4 สี นโยบายการเมือง-เศรษฐกิจ ต่างประเทศ ในประเทศ แต่ยังคงสารคดีภาพ เรื่องสั้น เรื่องแปล คอลัมน์วิจารณ์หนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี กีฬา และ ฯลฯ ครบตามแบบฉบับของหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย

แต่สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาเป็นฉบับแรกๆ เรียกได้เต็มปากว่าเป็นผู้นำคอลัมน์ “ศิลปะ” และเรื่องของ “หมอดู”–

กำหนดเปิดตัวฉบับปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่างในปี พ.ศ.2519-2520 เป็นฉบับแรก ได้ตกลงหยิบเอาภาพ “พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่” ซึ่งเป็นหัวหน้า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” มาขึ้นเป็นหน้าปก

เรียกฉบับ “ปฐมฤกษ์” ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่ว่าฉบับ “ปฏิรูป”–?