พิศณุ นิลกลัด : ความรักของพ่อลูกในวงการกีฬา

พิศณุ นิลกลัด

วันพ่อปีนี้มีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกชายที่มีความรักความผูกพันทั้งด้านส่วนตัวและอาชีพในวงการกีฬาต่างๆ มาเล่าครับ

แฮร์รี่ และ เจมี่ เรดแนปป์ คู่พ่อลูกชาวอังกฤษต่างเคยเป็นนักฟุตบอลในลีกสูงสุดของประเทศด้วยกันทั้งคู่

หลังจากเลิกเล่นไปแล้วก็ยังทำงานอยู่ในแวดวงฟุตบอลเหมือนกันอีก

ความสัมพันธ์ของสองพ่อลูกคู่นี้มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ทั้งในเรื่องของการเป็นแรงบันดาลใจ และการสนับสนุนซึ่งกันและกัน

แฮร์รี่ผลักดันทุกทางให้เจมี่ลูกชายเป็นนักฟุตบอลอาชีพอย่างที่ทั้งคู่หวัง

แฮร์รี่วันนี้อายุ 69 ปี เคยเป็นผู้จัดการทีมควีนส์ปาร์ก เรนเจอร์, บอร์นมัธ, เวสต์แฮม ยูไนเต็ด, พอร์ตสมัธ, เซาแธมป์ตัน, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ส และเวสต์แฮม ยูไนเต็ด

ในอดีตแฮร์รี่เคยเป็นนักฟุตบอลทีมท็อตแนม ฮอตสเปอร์ส และเวสต์แฮม ยูไนเต็ด

ส่วนเจมี่ ลูกชายวัย 43 ปี เคยเป็นนักฟุตบอลทีมบอร์นมัธ, ลิเวอร์พูล, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ส, เซาแธมป์ตัน และทีมชาติอังกฤษ

ปัจจุบันเจมี่มีอาชีพเป็นผู้วิเคราะห์ฟุตบอลทางช่องสกายสปอร์ต

ถามแฮร์รี่ว่าการที่เจมี่ลูกชายเป็นนักฟุตบอลอาชีพแบบเขานั้นเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์หรือเปล่า

แฮร์รี่ตอบว่าเขาเห็นว่าไม่ใช่เรื่องกรรมพันธุ์เพราะดูจากนักฟุตบอลอาชีพที่ผ่านๆ มา มีไม่กี่คนที่ลูกชายเจริญรอยตามเป็นนักฟุตบอลอาชีพเหมือนพ่อ

เขาเล่าถึงความทรงจำในความรักกีฬาฟุตบอลของเจมี่ลูกชายว่าตั้งแต่จำได้ เจมี่เตะลูกฟุตบอลตลอด

 

สมัยแฮร์รี่เป็นผู้จัดการทีมบอร์นมัธเมื่อ 30 กว่าปีก่อน เวลาเขาขับรถไปสนามเพื่อฝึกซ้อมซึ่งต้องผ่านโรงเรียนของเจมี่ เจมี่จะแอบมาถามเขาเสมอว่า “ผมขอไปซ้อมฟุตบอลกับพ่อแทนไปโรงเรียนได้มั้ย” ซึ่งแฮร์รี่จะตอบลูกตลอดว่า “ได้เลย แต่อย่าบอกแม่นะ”

แฮร์รี่บอกตั้งแต่เจมี่ยังเด็ก เขามั่นใจเลยว่าเมื่อโตขึ้น ลูกชายคนนี้จะเป็นนักฟุตบอลอาชีพเหมือนเขาแน่

ถามเจมี่ว่าทำไมสมัยนี้ถึงไม่มีนักฟุตบอลอาชีพคนใดที่พ่อเคยเป็นนักฟุตบอลระดับโลกมาก่อน

เจมี่ตอบว่าสมัยนี้ ลูกๆ ของนักฟุตบอลระดับโลกไม่มีความกระหายเพราะมีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมไปซะหมด “การจะเป็นนักฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จนั้นต้องมีความกระหาย แต่เด็กๆ เหล่านั้นไม่มี”

ทางด้านเจมี่แนะนำพ่อแม่ที่ฝันอยากให้ลูกเป็นนักฟุตบอลอาชีพว่าเวลาดูลูกแข่งขัน อย่าตะโกนดุหรือตะโกนสอนลูก ควรปล่อยให้ลูกรู้จักคิดและใช้จินตนาการในการเล่นฟุตบอลด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งสิ่งที่พ่อแม่ตะโกนสอนลูกข้างสนามส่วนใหญ่มักไม่ถูกต้อง

 

ส่วนวงการบาสเกตบอล NBA มีคู่พ่อลูกที่ลงแข่งใน NBA มากกว่ากีฬาฟุตบอล และมีจำนวนมากกว่าประเทศอื่นๆ

นักบาสเกตบอล NBA ชื่อดังของโลกที่มีพ่อเคยลงเล่นใน NBA เช่น สตีเฟ่น เคอร์รี่ วัย 28 ปี แห่งทีมโกลเด้น สเตต วอร์ริเออร์ส พ่อของเขาคือ เดล เคอร์รี่ วัย 52 ปี สมัยเล่น NBA ก็เล่นกับทีมยูท่าห์ แจซ, คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส, ชาร์ล็อตต์ ฮอร์เน็ตส์, มิลวอกี้ บัคส์ และโทรอนโท แร็พเทอร์ส

เดลเป็นนักบาส NBA ถึง 16 ฤดูกาล เป็นคนเก่งคนหนึ่งแต่ไม่โด่งดังมากเหมือนลูกชาย เพราะเดลเป็นนักบาสเกตบอลรุ่นราวคราวเดียวกับ “เทพ” อย่าง ไมเคิล จอร์แดน, คาร์ล มาโลน และ แกรี่ เพย์ตัน

เคลย์ ธอมป์สัน เพื่อนร่วมทีมโกลเด้น สเตต วอร์ริเออร์สของ สตีเฟ่น เคอร์รี่ ก็มีพ่อเป็นอดีตนักบาส NBA ชื่อ ไมเคิล ธอมป์สัน เคยเล่นให้กับทีมพอร์ตแลนด์ เทรล เบลเซอร์ส, สเปอร์ส, เลเคอร์ส

โคบี้ ไบรอันต์ ยอดนักบาสเกตบอลแห่งทีมเลเคอร์สที่เพิ่งอำลาวงการ NBA เมื่อฤดูกาลที่แล้ว ก็มีพ่อเป็นนักบาสเกตบอล NBA ชื่อ โจ ไบรอันต์

นับตั้งแต่มี NBA (National Basketball Association) ในปี 1946 โดยตอนนั้นใช้ชื่อว่า BAA (Basketball Association of America และปี 1949 เปลี่ยนชื่อเป็น NBA) มีนักบาสเกตบอลคู่พ่อลูกที่เป็นนักบาสเกตบอลใน NBA เกือบ 80 คู่ ถือว่ามากเมื่อเทียบกับกีฬาประเภทอื่นๆ

อย่างฟุตบอลซึ่งนานๆ จะมีนักฟุตบอลคู่พ่อลูกที่เล่นในลีกเดียวกัน อย่าง ปีเตอร์ และ แคสเปอร์ ชไมเคิล และคู่พ่อลูก แฟรงก์ แลมพาร์ด ซีเนีย์-จูเนียร์

 

จากการรวบรวมสถิติล่าสุดในปี 2014 NBA มีนักบาสเกตบอลรุ่นลูก ที่พ่อเคยเป็นนักบาสเกตบอล NBA มาก่อน ถึง 19 คน จากนักบาสเกตบอล NBA ทั้งหมด 447 คน คิดเป็นจำนวน 4.2% มากกว่าเมื่อ 10 ปีก่อนถึงเท่าตัว และในอนาคตคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะตอนนี้มีบรรดาลูกชายของอดีตนักบาสเกตบอล NBA หลายคนเป็นดาวดังในบาสเกตบอลระดับมหาวิทยาลัยที่กำลังไต่เต้าเข้าไปเล่นใน NBA

นอกจากนี้ มีการรวบรวมสถิติโดย Wall Street Journal ถึงสายเลือดนักกีฬาของนักบาสเกตบอล NBA

พบว่า เมื่อฤดูกาลที่แล้ว จากนักบาสเกตบอล NBA ทั้งหมด 447 คน มีจำนวน 218 คน ที่มีพ่อแม่ พี่น้องหรือญาติที่เป็นนักกีฬาแถวหน้า ซึ่งคิดเป็น 48.8%

นักกีฬาแถวหน้า (Elite athlete) ในงานศึกษาชิ้นนี้ หมายถึง นักกีฬาอาชีพ, นักกีฬาระดับมหาวิทยาลัย และนักกีฬาทีมชาติ

นักบาสเกตบอล NBA มีพ่อแม่ พี่น้อง หรือญาติที่เป็นนักกีฬาแถวหน้าถึง 48.8% มากกว่านักกีฬาอเมริกันฟุตบอล NFL ซึ่งอยู่ที่ 17.5% และนักเบสบอล MLB ที่มีจำนวนคิดเป็น 14.5%

 

เกจิบาสเกตบอลวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่บาสเกตบอลเป็นกีฬาที่ลูกชายเจริญรอยตามพ่อมากกว่ากีฬาประเภทอื่นก็เพราะ

1. กรรมพันธุ์เรื่องส่วนสูง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเป็นนักบาสใน NBA ที่ส่วนสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 200 เซนติเมตร

นอกจากนี้ ยังได้กรรมพันธุ์แขนยาว มือใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากอีกเช่นกัน

2. การได้ฝึกฝนกับโค้ชเก่งๆ ตั้งแต่เด็ก เพราะบรรดาลูกชายของนักบาสเกตบอล NBA ที่มีแววเก่งบาสเกตบอล พ่อซึ่งเป็นนักบาสเกตบอล NBA จะพาเข้าแคมป์ฝึกซ้อมกับโค้ชฝีมือดี ตั้งแต่เด็ก, ซ้อมเองที่บ้านกับพ่อ ซึ่งนักบาสเกตบอล NBA ส่วนใหญ่ มีสนามบาสเกตบอลหลังบ้าน หรือพ่อพาไปซ้อมกับเพื่อนร่วมทีม

ถามบรรดาอดีตนักบาสเกตบอล NBA ที่ตอนนี้ที่ลูกชายเป็นนักบาสเกตบอล NBA ว่าการเล่นให้ได้แชมป์ NBA กับการเลี้ยงลูก… อย่างไหนยากกว่ากัน

คุณพ่ออดีตนักบาสเกตบอล NBA ตอบเหมือนกันทุกคนว่า เลี้ยงลูกนั้นยากกว่า

ไมเคิล ธอมป์สัน พ่อของ เคลย์ ธอมป์สัน ซึ่งไมเคิลเคยได้แชมป์ NBA กับทีมเลเคอร์ส 2 สมัยบอกว่า การเลี้ยงลูกมีเรื่องให้ต้องกังวลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยของลูก สุขภาพของลูก ซึ่งเป็นหน้าที่ต้องทำตลอด 24 ชั่วโมง

ในขณะที่การเป็นนักบาสเกตบอลอาชีพ ทำงานแค่ 5-6 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น

 

นักจิตวิทยาด้านการกีฬาได้ให้คำแนะนำแก่พ่อแม่ในการสนับสนุนให้ลูกรักเล่นกีฬา เพื่อเป็นการพัฒนาร่างกาย จิตใจ และเล่นอย่างมีความสุข ไม่ถูกบังคับใจไว้ว่า

พ่อแม่ควรสอนให้ลูกเล่นกีฬาอย่างมีความสุข คิดถึงประสบการณ์ที่จะได้รับเป็นสำคัญ ไม่ใช่ผลการแข่งว่าแพ้หรือชนะ

เป็นธรรมดาที่พ่อแม่อยากเห็นลูกเล่นกีฬาเก่ง เล่นชนะ แต่เด็กแต่ละคนมีพรสวรรค์ด้านกีฬาไม่เท่ากัน

การที่ลูกเล่นกีฬาแล้วแพ้ ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดี แต่การที่ลูกเล่นกีฬาแล้วมีความสุข เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่าพ่อแม่สนับสนุนลูกถูกทางแล้ว

เพราะประสบการณ์ที่ดีจากการเล่นกีฬา ไม่จำเป็นว่าเล่นแล้วต้องชนะเสมอไป ความพ่ายแพ้ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีได้ เพราะสอนให้ลูกมุ่งมั่น ไม่ท้อถอย มีเป้าหมายในชีวิต

เมื่อลูกเล่นกีฬาอย่างมีความสุข พ่อ แม่ ลูก ถือว่าเป็นผู้ชนะแล้ว