คุยกับทูตมาเลเซีย : เพื่อนบ้านไทย-มาเลย์ อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

คุยกับทูต ดาโต๊ะ โจจี แซมูเอล สองเพื่อนบ้านไทย-มาเลย์ ต้นแบบอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข (2)

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียปรับเปลี่ยนตามบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศในแต่ละยุคสมัย โดยทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงการมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน

“ไทยกับมาเลเซียมีความร่วมมือที่ดีต่อกัน เรามีประเด็นการลักลอบขนยาเสพติด อันเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบันที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ และเราอยู่ใกล้กับสามเหลี่ยมทองคำมาก ดังนั้น เราจึงมีการประชุมกันทุกปีร่วมกับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองและตำรวจปราบปรามยาเสพติด”

ดาโต๊ะโจจี แซมูเอล เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย เล่าถึงการดำเนินความร่วมมือภายใต้กลไกต่างๆ ที่มีอยู่

“ล่าสุด มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการป้องกันอาชญากรรม การวิจัยและพัฒนาบุคลากรตำรวจระหว่างมหาวิทยาลัยเคบังซาน มาเลเซียกับมหาวิทยาลัยมหิดล และผมได้พบกับ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) ซึ่งมีความกระตือรือร้นในการปฏิบัติงานมาก”

เมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบช.สตม. เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง “ในการป้องกันอาชญากรรมการวิจัยและพัฒนาบุคลากรตำรวจ” ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดลกับมหาวิทยาลัยเคบังซาน

ต่อด้วยการประชุมวิชาการในประเด็นเรื่อง “ความก้าวหน้าของตำรวจในด้านเทคโนโลยีและการป้องกันอาชญากรรม” ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

โดยมีเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย และผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคงและหนังสือเดินทาง กรมตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหพันธรัฐมาเลเซียร่วมด้วย

“ผมคิดว่าหนึ่งในเรื่องที่ ดร.มหาธีร์ บิน โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อปีที่แล้วได้พูดถึงในระหว่างการบรรยาย คือความพยายามทุ่มเทของทั้งสองฝ่ายเพื่อให้การลักลอบค้าของเถื่อนลดน้อยลง โดยเพิ่มความร่วมมือให้มากขึ้น เช่นเดียวกับทางภาคใต้ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน ส่วนผมก็ได้เดินทางไปภาคใต้เมื่อปีที่แล้ว”

ดร.มหาธีร์ บิน โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พร้อมด้วย ดร.ซีตี ฮัสมะฮ์ บินติ โมฮัมหมัด อาลี ภริยา ได้เยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 24-25 ตุลาคม ค.ศ.2018 ในฐานะแขกของรัฐบาล

โดยเป็นการเยือนไทยครั้งแรกนับตั้งแต่ ดร.มหาธีร์เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเป็นสมัยที่ 2 เมื่อพฤษภาคมปีที่ผ่านมา เพื่อแนะนำตัวตามธรรมเนียมปฏิบัติของผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน

มาถึงปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) และความร่วมมือด้านความมั่นคง ท่านทูตชี้แจงว่า

“สำหรับการแก้ปัญหาภาคใต้ที่มีความซับซ้อนนั้น ผมขอบอกว่าไม่ได้เป็นเรื่องของศาสนา แต่เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจของคนต่างวัฒนธรรมมากกว่า ผู้คนที่นี่ค่อนข้างคล้ายกับคนมาเลย์ตอนเหนือซึ่งต้องทำความเข้าใจในความคิด และการปฏิบัติในทางศาสนาของพวกเขา เพราะศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม แม้จะไม่ใช่หลักใหญ่ในวิธีที่พวกเขาปฏิบัติต่อผู้คน แต่เขามีความเป็นมิตรที่ดี ตามที่ผมได้พบมา ผมจึงมีความเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายต้องสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเชื่อมั่นว่า ความรุนแรงไม่ใช่วิธีการที่จะบรรลุถึงเป้าหมายใดๆ ทั้งสิ้น”

“จากเหตุการณ์ต่างๆ เราไม่ทราบว่าเกิดจากผู้ก่อการร้ายหรือผู้แบ่งแยกดินแดน แต่อยากบอกว่าการเจรจายังต้องดำเนินต่อไป สิ่งที่เราต้องการคือการทำความเข้าใจในความต้องการที่แตกต่างกัน เพราะเรื่องนี้มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากมาย”

“เราต้องพูดคุยกับผู้มีอำนาจหลายฝ่ายเช่น ผู้นำทางศาสนาทั้งพุทธและมุสลิม นักวิชาการ ครูบาอาจารย์ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการ เมื่อผมพูดว่าผู้นำทางศาสนาไม่ได้หมายถึงเฉพาะชาวไทยมุสลิมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวพุทธซึ่งเราต้องสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นในชุมชนทั้งสอง”

“ผมไม่คิดว่าพวกเขาส่วนใหญ่จะไม่ต้องการ ดังนั้น คุณจึงต้องมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนมากๆ ให้เป็นที่เข้าใจกันทุกฝ่ายว่าคุณต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพราะทุกคนก็เป็นพลเมืองของประเทศไทย”

“รัฐบาลทหารบอกว่าอยู่ไม่นาน เพราะกำลังจะมีการเลือกตั้ง เราไม่ทราบว่ารัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามา จะเห็นต่างในนโยบายที่มีอยู่หรือจะมีนโยบายใหม่ๆ ออกมาอีก ขั้นตอนการดำเนินงานต่อไปจะเป็นอย่างไร คิดว่าน่าจะมีกลยุทธ์ที่แน่ชัดเป็นรูปธรรมบ้าง ที่แน่นอนคือต้องส่งเสริมการสร้างความเข้าใจต่อกัน”

“ผมเชื่อว่า คุณก็ทราบดีว่าคนมาเลย์ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาด้วยความซื่อสัตย์ เพราะต้องการเห็นประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสงบสุข เมื่อประเทศไทยมีความสงบสุข เรา มาเลเซียก็มีความสงบสุขด้วยเช่นกัน”

“เราเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทั้งการซื้อขายแลกเปลี่ยนและการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางภาคใต้ในด้านการศึกษา การฝึกอบรม การให้ความรู้อย่างมากมายเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าว”

มาเลเซียให้การสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด และเมื่อ ดร.มหาธีร์ บิน โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนปัจจุบันไปบรรยายพิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปลายปีที่แล้ว ความสำคัญตอนหนึ่งกล่าวว่า

“ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้นเป็นหน้าที่ของมาเลเซียที่จะช่วยแก้ไขปัญหาด้วย เพราะช่วงที่มาเลเซียมีเหตุการณ์จลาจลกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ ไทยก็ช่วยเหลือไว้มาก”

และ “แต่เดิมปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวไม่มี เมื่อ 70 ปีที่แล้วในพื้นที่มีเพียงความแตกต่างทางศาสนา ส่วนตัวไม่เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากศาสนาอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของกลุ่มที่มาแสดงออกถึงความโกรธเกรี้ยวเพราะอยากได้ดินแดนของพวกเขาคืน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก ณ ขณะนี้”

ไทยเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือมาเลเซีย ระหว่างวิกฤตการณ์มลายาครั้งที่ 2 ที่รู้จักในชื่อสงครามจลาจลคอมมิวนิสต์ ในช่วงหลังการประกาศเอกราชเมื่อปี ค.ศ.1957

ในอดีตชาวมาเลย์และชาวไทยมีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศและมีความเชื่อมโยงกันทางครอบครัว โดยสามรัฐทางเหนือสุดของคาบสมุทรมาเลเซีย ได้แก่ กลันตัน เคดาห์ และปะลิส เคยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของไทย

แต่ในปี ค.ศ.1909 ประเทศไทยได้ลงนามในสนธิสัญญากรุงเทพฯ (Bangkok Treaty) ซึ่งไทยได้มอบสามรัฐให้กับอังกฤษ

แม้ไทยและมาเลเซียจะมีความขัดแย้งกันบ้าง แต่ถือว่าเป็นมหามิตรในอาเซียนที่มีความสัมพันธ์มายาวนาน ตั้งแต่ก่อนมาเลเซียจะประกาศเอกราชจากอังกฤษ

“ตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียที่มีการจัดการกับปัญหาอย่างสันติ จากกรณีพิพาทพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยและมาเลเซียในอ่าวไทยที่มีทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำมัน ซึ่งในที่สุดทั้งสองฝ่ายตัดสินใจแบ่งผลผลิตน้ำมันในพื้นที่พิพาทคนละครึ่ง (Malaysia-Thailand Joint Development Area : JDA) ซึ่งถือเป็นวิธีแก้ปัญหาที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และเป็นเหตุผลว่าทำไมไทย-มาเลย์จึงเป็นต้นแบบที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข สำหรับประเทศอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์กัน ดังนั้น ปัญหาความขัดแย้งที่ประเทศไทยเผชิญในพื้นที่ภาคใต้ ก็ควรต้องแก้ไขได้ด้วยหนทางสันติเช่นกัน”

“นอกจากการเพิ่มความแข็งแกร่งในการเชื่อมต่อระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศแล้ว ผมพยายามที่จะหาวิธีเพิ่มการลงทุนระหว่างประเทศของเรา การค้าโดยรวมระหว่างมาเลเซียกับไทยมีมูลค่าประมาณ 22.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เราเคยมีเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี ค.ศ.2018 เป็นเงิน 30 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่เราไม่สามารถทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ โดยหวังว่าจะสามารถทำได้ในปี ค.ศ.2020”

“มาเลเซียนำสินค้าเข้าจากประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์การขนส่ง ผลิตภัณฑ์เคมี อุปกรณ์เครื่องจักรและชิ้นส่วน รวมทั้งชิ้นส่วนยานยนต์ เราผลิตรถยนต์ในประเทศสองยี่ห้อคือ Proton และ Perodua ซึ่งชิ้นส่วนบางชนิดผลิตในประเทศไทย”

“มาเลเซียส่งสินค้าออกมายังประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รองลงมาคือปิโตรเลียมดิบ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์อื่นๆ รวมถึงอาหารแปรรูปและผลิตภัณฑ์พลาสติก เรายังส่งออกเครื่องจักรและชิ้นส่วนบางอย่าง แต่ไม่ได้ส่งออกรถยนต์มายังประเทศไทย”

ประเทศไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ามาเลเซียมาตลอด โดยเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับห้าของมาเลเซียและมีความสำคัญในแง่ของการลงทุน มีบริษัทมาเลเซียที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยสองแห่งที่ใหญ่ที่สุดคือ CIMB Thai และ RHB Bank และมีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เช่น Aapico, Ingress และ Petronas

“ประชากรในมาเลเซียมี 32 ล้านคน ประเทศไทยมีประชากร 66-67 ล้านคน ซึ่งผมคิดว่าไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร แต่เศรษฐกิจจะยังคงดำเนินต่อไป ไม่เหมือนในมาเลเซียซึ่งมุ่งแต่เรื่องการเมืองมากกว่า เพราะชาวมาเลย์ทุกคนสนใจในการศึกษา แสวงหาข้อมูล และใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นอย่างมาก”

มาเลเซียปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีการจัดการแบบพิเศษ โดยบัลลังก์กษัตริย์จะมีการเปลี่ยนมือทุกๆ 5 ปีระหว่างผู้ปกครองของรัฐทั้ง 9 ในประเทศ และกษัตริย์พระองค์ต่อไปคาดว่าจะมาจากรัฐปะหัง สืบเนื่องจากเมื่อวันอาทิตย์มี่ 6 มกราคมที่ผ่านมานี้ สมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่าน โมฮัมหมัดที่ 5 ทรงสละราชบัลลังก์อย่างเหนือความคาดหมายหลังดำรงตำแหน่งเป็นเวลาเพียง 2 ปี

นับเป็นกษัตริย์พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ที่ตัดสินพระทัยก้าวลงจากพระราชอำนาจนับตั้งแต่ประกาศเอกราชจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเรื่องนี้ท่านทูตมาเลเซีย ดาโต๊ะโจจี แซมูเอล กล่าวว่า

“เรากำลังจะมีกษัตริย์พระองค์ใหม่ในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามปกติ ไม่ได้เป็นปัญหา และการเลือกกษัตริย์พระองค์ใหม่ของมาเลเซียภายในที่ประชุมเจ้าผู้ปกครองรัฐ จะมีขึ้นในวันที่ 24 มกราคม”