จีนยุคบุราณรัฐ : ร้อยสำนักเปล่งภูมิ (7)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ขงจื๊อ

ขงจื่อกับสำนักหญู (ต่อ)

ควรกล่าวด้วยว่า ปฏิสัมพันธ์ของ อี้จิง กับ เฟิงสุ่ย ที่กล่าวมาเพียงสังเขปนั้น เมื่อปฏิบัติจริงแล้วมิได้หมายความว่าหมอเฟิงสุ่ยจะใช้แต่ภูมิปัญญาเรื่องอัฏลักษณ์เท่านั้น หากยังต้องอาศัยภูมิปัญญาอื่นอีกหลายชุดที่ต่างก็สัมพันธ์กับหลักคิดเรื่องอิน-หยางทั้งสิ้น

ภูมิปัญญาที่ว่านี้มีอยู่ด้วยกัน 6 ชุด คือ

ชุดแรก พิจารณาตำแหน่งกลุ่มดวงดาวบนท้องฟ้า

ชุดสอง พิจารณาวันเดือนปีและฤดูกาลในปฏิทิน

ชุดสาม พิจารณาธาตุทั้งห้าหรือ อู่สิง ที่ประกอบไปด้วยน้ำ ไฟ ไม้ โลหะ และดิน

ชุดสี่ พิจารณาการเสี่ยงทายจากต้นหญ้าซือ หรือจากรอยแตกบนกระดองเตาและ/หรือกระดูกสัตว์

ชุดห้า พิจารณาจากการเสี่ยงทายด้วยวิธีอื่นๆ

และชุดหก พิจารณาจากหน้าตาของบุคคลและจากลักษณะภูมิประเทศ

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นการพิจารณาอย่างเป็นองค์รวมที่มิได้แยกส่วนออกเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งเฉพาะ จนทำให้เห็นถึงการเชื่อมร้อยชีวิตกับธรรมชาติเข้าด้วยกันของอี้จิง อย่างชัดเจน

ก. 5 ชุนชิว (วสันตสารท)

กล่าวกันว่า ในปกรณ์ทั้งห้าเล่มของอู่จิงนี้ ชุนชิว เป็นปกรณ์ที่มีการชำระที่พิสดารอยู่ไม่น้อย แต่จะพิสดารอย่างไรนั้นในที่นี้ขอเริ่มจากที่มาของปกรณ์นี้ก่อนว่าเริ่มจากแหล่งใด

กล่าวคือ จำเดิมแต่ในยุควสันตสารทและยุครัฐศึกนั้น แต่ละรัฐต่างก็มีบันทึกเหตุการณ์เป็นของตนเอง วิธีการบันทึกจะดำเนินไปตามฤดูกาลของแต่ละปีโดยลำดับ คือเริ่มที่วสันตฤดู (ชุน) คิมหันตฤดู (เซี่ย) สารทฤดู (ชิว) และเหมันตฤดู (ตง) อันเป็นฤดูกาลในแผ่นดินจีน

บันทึกตามวิธีนี้ทำให้รัฐต่างๆ ส่วนใหญ่มักเรียกบันทึกนี้อย่างย่นย่อว่า ชุนชิว มีรัฐส่วนน้อยเท่านั้นที่เรียกเป็นอย่างอื่น

สำหรับปกรณ์ ชุนชิว ที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้เป็นของรัฐหลู่ อันเป็นรัฐบ้านเกิดของขงจื่อ ที่เกริ่นว่าปกรณ์เล่มนี้มีความพิสดารก็คือว่า หลังจากที่ขงจื่อยุติการเดินทางในช่วงปลายชีวิตและกลับมายังบ้านเกิดของตนแล้ว สถานการณ์ความขัดแย้งกับสงครามระหว่างรัฐต่างๆ ยังมิได้สงบลง แต่ในเมื่อขงจื่อไม่มีอำนาจทางการเมืองที่จะเข้าไปแก้ไขสถานการณ์นี้ เขาจึงคิดที่จะใช้บันทึกประวัติศาสตร์ของรัฐหลู่มาแก้ไข คิดได้เช่นนั้นแล้วจึงได้ทำการชำระชุนชิวของรัฐนี้ วิธีชำระในครั้งนี้ได้แฝงนัยสำคัญโดยแก้ไขศัพท์ที่ใช้ในปกรณ์นี้

กล่าวคือ หากเป็นเหตุการณ์ที่ขงจื่อเห็นว่าผู้กระทำเป็นฝ่ายผิด ขงจื่อจะใช้ศัพท์ที่สื่อความหมายว่าผู้นั้นผิด แต่หากเป็นเหตุการณ์ทำนองนี้อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ขงจื่อเห็นว่าผู้กระทำเป็นฝ่ายถูกแล้ว ก็จะใช้ศัพท์ที่สื่อความหมายว่าผู้นั้นถูก เป็นต้น

ที่ขงจื่อชำระด้วยวิธีนี้ก็เพื่อต้องการให้ชุนชิวเป็นสิ่งบ่งชี้ความผิดชอบชั่วดีผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยหวังว่าวิธีนี้จะกระตุ้นให้ผู้นำรัฐต่างๆ ได้รู้ว่าการกระทำใดผิด การกระทำใดถูก หากกระตุ้นได้ผล ความปั่นป่วนวุ่นวายก็จะบรรเทาลง

นี่คือความพิสดารของปกรณ์เล่มนี้ที่ต่างจากปกรณ์เล่มอื่น

ชุนชิว เป็นปกรณ์ที่มีอักษรทั้งหมด 18,000 คำ แต่ละตอนหรือเหตุการณ์จะใช้คำเพียงไม่กี่คำ บางที่ว่ามีอยู่ 17,000 คำ เนื่องจากเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของรัฐหลู่ การนับปีศักราชจึงยึดของรัฐหลู่เป็นที่ตั้ง โดยหากเทียบกับคริสต์ศักราชแล้ว ชุนชิวเริ่มบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดตั้งแต่ 722 ปีก่อน ค.ศ. ไปจนถึง 481 ปีก่อน ค.ศ.

เล่ากันว่า ที่ขงจื่อชำระปกรณ์เล่มนี้มาจบลงในปีดังกล่าวเป็นเรื่องที่พิสดารเช่นกัน

กล่าวคือ วันหนึ่งของปีที่ว่าขงจื่อทราบมาว่าทหารได้ฆ่ากิเลนตายในขณะที่กษัตริย์รัฐหลู่กำลังล่าสัตว์ เรื่องนี้ยังความเสียใจแก่ขงจื่อเป็นที่ยิ่ง ด้วยขงจื่อถือว่ากิเลนเป็นสัตว์ประเสริฐและเป็นสัตว์คู่บุญของตน

ความเสียใจนี้ทำให้ขงจื่อไม่มีแก่ใจที่จะชำระชุนชิวอีกต่อไป ชุนชิวจึงจบลงเพียงในปีที่ว่า และอีก 2 ปีต่อมาขงจื่อก็ลาจากโลกนี้ไป

ควรกล่าวด้วยว่า การที่ปกรณ์เล่มนี้มีคำไม่มาก บางตอนจึงมีความคลุมเครือไม่ชัดเจน เรื่องนี้ทำให้ชนรุ่นหลังต่อมาเกิดความสงสัยและสับสน

จากเหตุนี้ สาวกขงจื่อในรุ่นหลังๆ ต่อมาจึงได้อธิบายขยายความในส่วนที่คลุมเครือให้ชัดเจนขึ้นมา ทำให้ปกรณ์เล่มนี้มีจำนวนตัวอักษรเพิ่มขึ้นจากเดิมไปมาก

และด้วยเหตุที่เป็นชุนชิว ที่ถูกอธิบายขยายความ การเรียกขานชื่อปกรณ์นี้จึงมิได้ใช้คำว่า จิง แต่ใช้คำว่า จ้วน แทน คำว่า จ้วน นี้หมายถึง อรรถกถา ประวัติเหตุการณ์หรือบุคคล พงศาวดาร ตามความหมายนี้ จ้วน จึงใช้ได้กับชุนชิว แทบทุกความหมาย แต่ที่น่าจะตรงที่สุดคือที่หมายถึง อรรถกถา

กระนั้นก็ตาม คำว่า จ้วน ก็มิได้ถูกนำมากำกับคำว่าชุนชิว ตรงๆ หากแต่ใช้กำกับโดยพิจารณาจากฉบับที่มีการอธิบายขยายความโดยบุคคล 3 คนและมีอยู่ด้วยกัน 3 ชุด แต่ชุดที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือชุดที่ขยายความโดย จว่อชิวหมิง

ชุดนี้จึงเรียกว่า จว่อซื่อชุนชิว และเรียกโดยย่อว่า จว่อจ้วน (อรรถกถาจว่อ) ส่วนอีก 2 ชุดก็เรียกขานโดยมีคำว่า จ้วน กำกับข้างท้ายเช่นกัน

แต่ด้วยเหตุที่เป็นชุดที่ได้รับการยกย่องและยอมรับมากที่สุด จว่อจ้วน จึงเป็นปกรณ์สำคัญที่ผู้ปรารถนาเป็นบัณฑิตต้องศึกษาในเวลาต่อมา

อู่จิง หรือ เบญจปกรณ์ จากที่กล่าวมาแต่เพียงสังเขปนี้ พอจะทำให้เห็นได้บ้างว่า เหตุใดปกรณ์ทั้งห้าเล่มนี้จึงมีความสำคัญ กระทั่งถูกยกให้เป็นตำราพื้นฐานในการศึกษาระดับสูงของสังคมจีน

คำตอบที่สั้นกระชับที่สุดคือ เป็นเพราะปกรณ์ทั้งห้านี้มีเนื้อหาที่ครอบคลุมต่อทั้งสังคมส่วนรวมและสังคมปัจเจก เนื้อหาที่ครอบคลุมเช่นนี้แม้มิอาจกล่าวได้ว่าเป็นไปอย่างรอบด้าน แต่ก็กล่าวได้ว่าเป็นการครอบคลุมประเด็นที่สำคัญต่อชีวิตทางสังคมเอาไว้ได้มาก

ด้วยเหตุที่ขงจื่อให้ความสำคัญกับอู่จิงเป็นอย่างสูง ในยามที่ยังมีชีวิตอยู่เขาจึงใช้ความรู้จากอู่จิงมาเป็นหลักคำสอนแก่ศิษย์ของเขา

จากเหตุนี้ เมื่อหลักคำสอนของขงจื่อค่อยๆ เติบโตจนมีความเป็นสถาบันมากขึ้น ฐานะการเป็นสำนักคิดจึงตามมาและเป็นที่รู้จักกันในชื่อ สำนักหญู (หญูเจีย) ส่วนศิษย์หรือบัณฑิตที่สมาทานหลักคำสอนของสำนักนี้มักเรียกกันว่า บัณฑิตหญู และสารัตถะของหลักคำสอนก็จะเรียกกันว่า ปรัชญาหญู

ลำพังคำว่า หญู คำเดียวในสมัยโบราณจะหมายถึงบัณฑิตหรือผู้มีการศึกษาสูง หรืออาจหมายถึงนักปรัชญาหรือปราชญ์ในบางบริบท แต่ในคำเดียวกันนี้หากอยู่ในบริบทสำนักคิดของขงจื่อ เช่น สำนักหญู บัณฑิตหญู หรือปรัชญาหญูแล้ว กลับมีนิยามที่สัมพันธ์กับลิ่วจิง หรือที่ต่อมากลายเป็นอู่จิง อย่างมาก

ทั้งนี้ นักประวัติศาสตร์ในสมัยฮั่นตะวันตกได้ให้นิยามคำดังกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า หมายถึง ผู้ที่ใช้ปกรณ์ ลิ่วจิง อบรมและกล่อมเกลาจิตใจ และให้ความสำคัญกับเมตตาธรรมและความชอบธรรมเป็นอย่างสูง

จากนิยามนี้ทำให้เห็นว่า บุคคลที่เข้าข่ายที่จะถูกเรียกว่าหญูย่อมเป็นผู้ใดไปไม่ได้นอกจากชนชั้นสูงกับเหล่าผู้ดีในสมัยราชวงศ์โจว

แต่ครั้นโจวอ่อนแอลงกลายเป็นยุควสันตสารทและยุครัฐศึกแล้ว บุคคลเหล่านี้จำนวนมากได้ตกอับลง จนจำต้องเลี้ยงตนด้วยการนำความรู้ที่ได้จากลิ่วจิง หรืออู่จิง มาสอนแก่ชนชั้นล่าง

หรือไม่ก็รับประกอบพิธีกรรมตามงานประเพณีและเทศกาลต่างๆ แม้จะอยู่ในสภาพที่ตกอับเช่นนี้ แต่มิได้ตกอับทางปัญญาความรู้ บุคคลเหล่านี้จึงยังคงได้รับการเรียกขานว่า หญู อยู่เช่นเดิม

ดังนั้น เมื่อหลักคำสอนของขงจื่อได้ถูกนำมาเป็นหลักในการปกครองนับแต่ราชวงศ์ฮั่นเรื่อยมา บัณฑิตหญูจึงเจริญรุ่งเรืองจนกลายเป็นสำนักคิดที่มีชื่อเสียงและความมั่นคงสืบมาอีกนานนับพันปี

แต่จนถึงตอนนั้นสำนักนี้ก็ได้ผลิตผลงานทางความคิดออกมาไม่ขาดสาย และผลงานชิ้นแรกที่มีอิทธิพลสูงก็คือ หลุนอี่ว์ นั้นเอง