นิ้วกลม : คานธี ว่าด้วย เคารพโดยไม่ต้องเห็นด้วย (1)

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

1มนุษย์เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย เมื่อใครสักคนพูดอะไรสักอย่างออกมาย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บ้างก็เห็นด้วยอย่างแรง บ้างก็ไม่เห็นด้วยอย่างแรง ในสังคมที่มีความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรง หลายคนจึงเลือกที่จะเงียบ ไม่แสดงความคิดเห็น เพราะนั่นคือสิ่งที่ปลอดภัยที่สุดจากกำปั้นของหลายฝ่ายที่กำลังเหวี่ยงไปมากันอยู่

การไม่แสดงความคิดเห็นเลยจะว่าปลอดภัยก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่จะว่าไม่ปลอดภัยก็อาจจะถูกอีกส่วนหนึ่ง เพราะการที่เราเงียบแล้วปล่อยให้บางสิ่งที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ไม่เป็นธรรม หรือเลวร้ายดำเนินต่อไปเรื่อยๆ วันหนึ่งสิ่งนั้นอาจกระทบกับชีวิตของเราเอง หรือหากความเลวร้ายนั้นก่อตัวมากขึ้นเรื่อยๆ สร้างความขัดแย้งให้ปะทุรุนแรง เราเองก็จะตกอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง

การแสดงความคิดเห็นจึงสำคัญ

ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ วิธีการแสดงความคิดเห็น

และรากลึกของ “วิธีการ” ก็คือ “ทัศนคติ” ของเจ้าของความคิดเห็นว่ามีเจตนาอย่างไร ผู้ที่ต้องการเอาชนะคะคานย่อมแสดงความคิดเห็นด้วยวิธีที่แตกต่างจากผู้ที่ต้องการปรึกษาหารือ ผู้ที่ปรารถนาให้อีกฝ่ายแพ้พ่ายไม่ได้ผุดได้เกิดย่อมมีวิธีที่แตกต่างจากผู้ที่ปรารถนาจะอยู่ร่วมกัน ผู้ที่คิดว่าความคิดตัวเองดีที่สุดย่อมมีวิธีที่แตกต่างจากผู้ที่เปิดกว้างทางความคิด

ถึงที่สุดแล้ว “เป้าหมาย” ของการถกเถียงหรือแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งสำคัญ และบางครั้งก็เป็นสิ่งที่กำหนดผลลัพธ์ของการถกเถียงนั้น

สังคมใดที่มีแต่ผู้ถกเถียงที่หวังจะเอาชนะคะคานกัน กำจัดอีกฝ่ายให้หมดสิ้นไป ย่อมอบอวลไปด้วยความเกลียดชัง โกรธแค้น และอารมณ์รุนแรง

ตรงข้ามกับสังคมที่ถกเถียงกันโดยตั้งเป้าว่าเถียงเพื่อหาวิธีอยู่ร่วมกัน เถียงเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา เถียงเพื่อยกระดับความคิดความเข้าใจ หรือเถียงเพื่อให้เพื่อนร่วมสังคมมีชีวิตที่ดีขึ้น ย่อมมีบรรยากาศที่ต่างไป

แน่นอน ยังมีความผิดใจ ทุกข์ร้อน ขัดแย้ง แต่อย่างน้อยก็มิใช่การเถียงกันเพื่อให้ฝ่ายหนึ่งชนะ อีกฝ่ายแพ้

แต่เถียงโดยเล็งเป้าหมายไปที่ “ประโยชน์ร่วมกัน”

 

2ในยุคสมัยของคานธีย่อมเต็มไปด้วยความขัดแย้งจากผู้ที่คิดต่าง ทั้งต่างศาสนา ต่างอุดมการณ์ ต่างวรรณะ หรือกระทั่งในกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกันก็อาจมีความเห็นที่แตกต่างในรายละเอียดของวิธีการบางอย่าง

สิ่งที่น่าเรียนรู้จากคานธีคือ เขาเป็นคนที่ขับเคลื่อนการเมืองโดยมีหลักยึดหรือเป้าหมายในใจที่ชัดเจน

และเตือนตนเองให้กลับมาตรวจสอบอยู่เสมอว่าสิ่งที่ทำอยู่ผิดเพี้ยนไปจากหลักยึดหรือเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่

สิ่งที่พูด เขียน และปฏิบัติ นำไปสู่ประโยชน์ของคนที่กำลังต่อสู้เพื่อพวกเขาจริงๆ หรือไม่ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพทางจิตใจของผู้คนในสังคมหรือไม่

หากคำตอบคือ-ไม่ ก็ไม่ควรไปทางนั้น

หากการต่อสู้ทางการเมืองนำไปสู่ความรุนแรง นำไปสู่จิตใจที่ตกต่ำ หรือเพื่อเสริมสร้างอัตตาของตัวเองในการบอกว่าฉันถูก ฉันฉลาดกว่า ฉันต้องชนะพวกแก เช่นนี้แล้วถือว่าเป็นการต่อสู้ที่เพี้ยนไปจากเป้าหมาย ซึ่งเกิดขึ้นได้เสมอถ้าหลักยึดและเจตนาไม่ชัดเจน

บางครั้ง การต่อสู้เพื่อผู้อื่นกับการเสริมสร้างอัตตาให้ตัวเองก็สลับร่างกันอย่างแนบเนียนจนเราไม่ทันสังเกต แบบแรกทำให้เราอ่อนโยน แบบที่สองทำให้เราแข็งกร้าว

ห้าเดือนก่อนถูกลอบสังหาร คานธีมอบคำแนะนำไว้ให้แก่นักต่อสู้รุ่นหลัง

“ข้าพเจ้าจะให้เครื่องรางชิ้นหนึ่งแก่ท่าน ทุกครั้งที่ท่านเกิดความสงสัย หรือเมื่อตัวตนของท่านมันลำพองจนเกินไป ท่านจงตรวจสอบตัวเองแบบนี้ จงนึกถึงใบหน้าของคนที่ยากจนที่สุดและอ่อนแอที่สุดที่ท่านเคยพบ จากนั้นถามตัวเองว่าวิธีที่ท่านจะนำไปใช้นั้นเป็นประโยชน์กับพวกเขาหรือไม่ พวกเขาจะได้อะไรตอบแทน และมันจะทำให้พวกเขากำหนดชะตากรรมของตัวเองได้หรือไม่ เมื่อนั้นท่านจะพบว่าความสงสัยและตัวตนของท่านจะหมดไป”

 

3กาลครั้งหนึ่ง คานธีเคยมีวิวาทะกับนักคิดร่วมยุคคนสำคัญ-ท่านรพินทรนาถ ฐากูร เกี่ยวกับข้อเสนอของคานธีที่รณรงค์ให้คนอินเดียเลิกใช้สินค้าจากต่างประเทศ ไม่ซื้อผ้าจากผู้ผลิตรายใหญ่ และให้หันมาสนับสนุนการทอผ้าเอง อุดหนุนผ้าคาดี้ที่ปั่นและทอโดยคนอินเดียผู้ยากจนนับล้าน

คานธีมองว่า การไม่ซื้อผ้าฝ้ายคาดี้ที่คนจนในบ้านตัวเองทำ แต่ไปอุดหนุนผ้าราคาแพงจากต่างประเทศนั้นเป็นบาป

แม้ผ้าจากต่างประเทศจะมีคุณภาพดีกว่า แต่ถ้าทุกคนมีธรรม (ในภาษาอินเดียแปลว่าหน้าที่) ก็ไม่ควรเห็นแก่ความสุขกายสบายใจมากไปกว่าการมุ่งทำประโยชน์ให้เพื่อนบ้าน (คนอินเดีย)

แนวความคิดนี้ถูกนำไปปฏิบัติแพร่หลาย กระทั่งบางคนถึงขั้นเผาผ้าต่างประเทศที่ตนใช้อยู่ทิ้งไป

 

รพินทรนาถ ฐากูร เขียนบทความท้วงติงคานธีในสองประเด็น

เรื่องแรกคือ

“ดูเหมือนบ้านเมืองจะถูกปกคลุมด้วยบรรยากาศแห่งการกดขี่ข่มเหง เมื่อข้าพเจ้าต้องการสอบถามหรือแลกเปลี่ยนความเห็น พวกที่หวังดีก็รีบเอามือมาปิดปากข้าพเจ้าไว้และว่า “ไม่ใช่เวลานี้” …ข้าพเจ้าค้นพบว่า คนที่นึกตั้งคำถามกับกิจกรรมที่กำลังเป็นไปในปัจจุบัน ถ้าบังเอิญเผลอหลุดคำถามนั้นออกมา พวกเขาจะรู้สึกเหมือนมีมือที่มองไม่เห็นมาบีบคอพวกเขาไว้เป็นการติเตียน มีหนังสือพิมพ์ซึ่งวันหนึ่งกล้าอวดดีแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเผาผ้า แต่ก็ด้วยน้ำเสียงอ่อยๆ แล้ววันรุ่งขึ้นบรรณาธิการก็ถูกผู้อ่านรุมด่าจนเสียศูนย์ ภาพที่ข้าพเจ้ามองเห็น ด้านหนึ่งเป็นภาพผู้คนที่สาละวนอยู่กับภารกิจของชาติ ขณะที่อีกด้านเป็นภาพผู้คนที่กำลังหวาดกลัวสุดขีด สิ่งที่ข้าพเจ้าได้ยินมาจากทุกด้านคือ เราต้องเก็บการใช้เหตุผลรวมถึงวัฒนธรรมเอาไว้ก่อน เพราะสิ่งเดียวที่จำเป็นเวลานี้คือ การเป็นคนเชื่อฟังคำสั่งโดยไม่ตั้งคำถาม”

รพินทรนาถตั้งคำถามว่า เหตุใดคานธีไม่เรียกร้องให้ผู้คนมีจิตใฝ่รู้และกล้าตั้งคำถาม คือตั้งคำถามกับสิ่งที่คานธีกำลังชวนให้ปฏิบัติ

มหากวีไม่เห็นด้วยกับการเผาผ้า ด้วยเหตุผลว่า

หนึ่ง-มันเป็นการหลับหูหลับตาทำตามคำสั่ง

และสอง-ผ้าที่ถูกเผาก็สามารถเอาไปทำประโยชน์ได้ มีคนต้องการใช้มัน กระนั้นก็เขียนเสนอความคิดด้วยถ้อยคำที่วิจิตรบรรจง

“ณ อรุณสมัยแห่งการตื่นขึ้นของโลก หากการต่อสู้เพื่อชาติของเราไม่ตอบสนองความปรารถนาของมนุษยชาติอันเป็นสากล นั่นย่อมแสดงถึงจิตใจอันคับแคบขัดสน…เราจะพอใจอยู่แค่การพร่ำพูดถึงการปฏิเสธไม่เห็นด้วย เฝ้าจับผิดคนอื่นอย่างนั้นหรือ…เป็นหน้าที่ของเรามิใช่หรือ ที่จะสวดอ้อนวอนขอให้พระผู้ประทานปัญญา ช่วยผนึกรวมเราให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน” (โปรดติดตามท่าทีของคานธี)