เปิดตำนาน-ความหมาย ‘ปราสาทนกหัสดีลิงค์’ ปลงศพเจ้า เผาศพพระ ในวัฒนธรรมล้านนา-ล้านช้าง

เพ็ญสุภา สุขคตะ

     หากใครมีโอกาสสัมผัสดินแดนล้านนา บางสถานที่และบางจังหวะเวลา ซึ่งไม่บ่อยนัก ท่านอาจพบกับขบวนคนชุดดำปิดถนนนับพันมีพระสงฆ์นำหน้าเดินจูงลาก “ปราสาทศพนกหัสดีลิงค์” ไปตามท้องถนนจากวัดสำคัญมุ่งหน้าสู่สุสานหลวง

     ชาวล้านนาเรียกฉากนี้ว่่า พิธีส่งสการ หรือพิธีประกาศคุณความดีของผู้มีบุญญาธิการที่ได้สั่งสมไว้ชั่วชีวิต ให้กลับคืนไปเสวยสุขบนหล้าสรวง โดยใช้ “นกหัสดีลิงค์” ทำหน้าที่เป็นดั่ง “ภูตทูต” อัญเชิญดวงวิญญาณของผู้วายชนม์ไปสู่ปรโลก

นกหัสดีลิงค์ ทูตสวรรค์ จากแผ่นน้ำสู่แผ่นดินและจากแผ่นดินสู่แผ่นฟ้า

     บนแผ่นดินล้านนารู้จักสัตว์ในจินตนาการชนิดนี้มาตั้งแต่ยุค 1,400 ปีก่อน ชื่อของนกหัสดีลิงค์ปรากฏในตำนานการสร้างนครหริภุญไชย ว่าเหล่าฤๅษีทั้งสาม (วาสุเทพฤๅษี สุกทันตฤๅษี และอนุสิสฤๅษี) ที่ช่วยกันวางรากฐานเมืองลำพูน ได้เรียก “นกหัสดีลิงค์” ออกมาจากป่าหิมพานต์ ให้ทำหน้าที่บินไปคาบ “หอยสังข์” (สัญลักษณ์หนึ่งในสี่สวัสดิมงคลของพระนารายณ์หรือวิษณุเทพของฮินดู ประกอบด้วย ดอกบัว สังข์ จักร คทา แทน ดิน น้ำ ลม และไฟ) จากห้วงมหาสมุทร เพื่อนำมาใช้เป็นต้นแบบในการสร้างเมืองลำพูน

เหล่าฤๅษีใช้ไม้เท้าขีดเส้นเขตแดนเมืองตามขอบรูปร่างของหอยสังข์นั้น กลายเป็นแผ่นดินที่พูนนูนขึ้นตอนกลางคล้ายกระดองเต่าและมีน้ำล้อมรอบ อันเป็นที่มาของผังเมืองโบราณยุคทวารวดีที่มีอายุเกินพันปีมักมีรูปยาวรีแบบหอยสังข์ซึ่งเชื่อว่าเป็นผังเมืองที่จะทำให้ผู้อาศัยมีความสมบูรณ์พูนสุข

     จะเห็นได้ว่า “นกหัสดีลิงค์” ทำหน้าที่เสมือนดั่งทูตสวรรค์ที่ได้นำ “หอยสังข์” จากท้องสมุทรามาสู่ผืนแผ่นดิน มีบทบาทในฐานะผู้กำเนิดฐานรากหรือผู้วางผังเมืองให้แก่หริภุญไชยนคร
    แล้วนกหัสดีลิงค์ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับพิธีส่งสการศพชาวล้านนาได้อย่างไร? จากทูตที่เคยทำหน้าที่เชื่อมมหาสมุทรเข้ากับแผ่นดิน กลายมาเป็นทูตที่เชื่อมแผ่นดินเข้ากับแผ่นฟ้าด้วยตั้งแต่เมื่อไหร่?

นิยามและความหมายแห่งนกหัสดีลิงค์
      นกหัสดีลิงค์ ปรากฏนามตามภาษาบาลีว่า “หตฺถิลิงฺคสกุโณ” มาจากคำสามคำสมาสกัน สามารถแยกเป็น หัตถี+ลิงค์+สกุโณ
     หัตถี หมายถึง ผู้มีมืออันโดดเด่นขนาดใหญ่ ซึ่งก็คือ งวงของช้าง
     ลิงค์ แปลว่า การแสดงเพศ
     สกุโณ แปลว่านก
เช่นเดียวกับภาษาสันสกฤต หัสดิน + ลิงคะ แปลว่า นกที่มีงวงอันโดดเด่น ภาษาไทยใช้ว่า นกหัสดีลิงค์ ชาวล้านนานิยมเรียกชื่อย่อว่า “นกหัส” หรือไม่ก็ “นกงางวง” (ออกสำเนียงลื้อยองเป็น “งาโงง”)
นกหัสดีลิงค์ จากคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท ภาค2 กล่าวว่าเป็นนกขนาดใหญ่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ มีลักษณะผสมของสัตว์สี่ชนิด ดังนี้ ลำตัวเป็นนก ใบหน้าเป็นสิงห์ จะงอยปากเป็นงวงช้างเขี้ยวหน้าเป็นงา มีหางเป็นหงส์ มีพละกำลังดั่งช้างเอราวัณ 3-5 เชือกรวมกัน

     เรื่องราวของนกหัสดีลิงค์พบในวรรณกรรมหลายเรื่อง เช่นนิทานอาหรับราตรี เรียกว่า “นกกินช้าง” โดยวาดภาพประกอบหนังสือเป็นนกยักษ์หน้าตาคล้ายนกอินทรีย์เฉี่ยวเอาช้างไปกินหลายตัว
ส่วนในนิทานชาดกของศาสนาพุทธ ก็มีการกล่าวถึงนกหัสดีลิงค์หลายครั้ง เช่นตอนพระเจ้าอุเทนผู้ทรงบุญญาบารมี ก่อนพระองค์จะประสูตินั้น พระมารดาถูกนกหัสดีลิงค์คาบขณะทรงพระครรภ์แก่โดยบินโฉบเอาไปวางไว้ในระหว่างคาคบไม้ไทร ครั้นพระนางปรบมือร้องตะโกน นกตกใจบินหนีพระนางจึงลงจากคาคบไม้ แล้วประสูติพระโอรสในขณะที่ฝนตกฟ้าร้อง จึงขนานนามพระโอรสว่า อุเทน แปลว่ากึกก้องกัมปนาท

     เห็นได้ว่า “นกหัสดีลิงค์” เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในศาสนาพุทธและพราหมณ์จนถึงโลกอาหรับ โดยเฉพาะประเทศอินเดียนั้นมีเมืองโบราณหนึ่งชื่อ “หัสดินปุระ” ทำรูปนกหัสดีลิงค์ที่ซุ้มประตูทางเข้าเมือง ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นกรุงนิวเดลี

การปลงศพด้วยลม นกแร้ง สู่พิธีส่งสการ

     พิธีกรรมปลงศพของทั่วโลก เริ่มจากแนวคิดพื้นฐานเรื่องธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ
ปลงศพด้วยดิน เป็นการฝังศพด้วยโครงกระดูกมนุษย์นอนเหยียดยาว สืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จวบปัจจุบันศาสนาหลักๆ ของโลกยังคงมีวัฒนธรรมการปลงศพด้วยวิธีนี้อยู่ ทั้งศาสนาคริสต์ อิสลาม ขงจื๊อ
     ปลงศพด้วยน้ำ คือการลอยศพในแม่น้ำลำคลอง เริ่มจากศาสนาฮินดูนั่นคือให้พระแม่คงคาอันศักดิ์สิทธิ์ทำหน้าที่ชำระศพให้บริสุทธิ์ ไปจนถึงการลอยเถ้าอังคารใส่หม้อกระดูกของชาวพุทธ
     ปลงศพด้วยลม คือการโยนศพขึ้นสู่ฟ้าหรือกลางป่า ให้เหยี่ยวหรือแร้งคาบไปกิน
     ปลงศพด้วยไฟ คือการเผาตามคติของพุทธศาสนาให้เกิดการดับสูญซึ่งกายเนื้อ

จะว่าไปคติการปลงศพด้วยลมโดยให้นกเป็นผู้ชำระนี้มีมานานแล้ว เป็นหนึ่งในสี่พิธีกรรมหลักสากลของมนุษยชาติ ในไตรภูมิกถามีการกล่าวถึงการปลงศพด้วยนกใหญ่ ตอนที่พระเถระรูปหนึ่งพรรณนาถึงการเผาศพพระยาในอุตตรกุรุทวีป (ทวีปหนึ่งในสี่ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ อันตั้งอยู่ทางทิศเหนือ) ว่าเมื่อผู้มีบุญญาธิการนั้นตาย


“เขาจึงเอาศพนั้นมาอาบน้ำทากระแจะแลจวงจันทน์น้ำมันอันหอม แลนุ่งผ้าห่มผ้าให้ แล้วประดับด้วยเครื่องถนิมอาภรณ์ แล้วนำศพนั้นไปไว้ในที่แจ้งเพื่อให้นก ซึ่งลางอาจารย์ว่านกหัสดีลิงค์ ลางอาจารย์ว่านกอินทรี ลางอาจารย์ว่านกกด บินมาโฉบเอาศพนั้นไปไว้ในแผ่นดินอื่นเพื่อไม่ให้แผ่นดินอุตตรกุรุสกปรก”
จากข้อความนี้จะเห็นถึงความเชื่อในเรื่องนกหัสดีลิงค์ ว่าเป็นสัตว์ที่มีพละกำลังมาก สามารถบินไปส่งดวงวิญญาณผู้วายชนม์ถึงสรวงสวรรค์ ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความมีบุญบารมีของผู้ตายที่มีเหนือนก จึงอยู่บนหลังนกนั้นได้ หากสิ้นชีวิตลงจะมีนกประเภทนี้มาคาบศพไปทิ้งที่อื่นโดยไม่ต้องมีการจัดงานศพในโลกมนุษย์
ในความเป็นจริงยุคโบราณนั้น มีการใช้นกแร้งมาชำระศพ แต่ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามกาลเวลา นกใหญ่ที่ดูมีอิทธิฤทธิ์สามารถส่งวิญญาณของศพสู่สรวงสวรรค์ได้ อันถือว่าเป็นการชำระความบริสุทธิ์ให้แก่แผ่นดินไม่ให้แปดเปื้อน มิให้ศพตกลงสู่พื้นดิน ได้ถูกจำลองด้วยนกหัสดีลิงค์แทน

ความเชื่อเรื่องนกหัสดีลิงค์ในภาคเหนือเริ่มขึ้นอย่างไร ?

     ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าพิธีกรรมปลงศพด้วยนกหัสดีลิงค์เริ่มขึ้นบนแผ่นดินล้านนาตั้งแต่ยุคใด และมีความเก่าแก่ไปถึงยุคหริภุญไชยหรือทวารวดีหรือไม่ ทราบแต่ว่าเริ่มมีแล้วแน่ๆ ในยุคล้านนาตอนปลาย
หนังสือ “พงศาวดารโยนก” กล่าวถึงการสร้างพิมานบุษบกบนหลังนกหัสดีลิงค์ในงานถวายพระเพลิงศพนางพระญาวิสุทธิเทวี กษัตรีย์แห่งราชวงศ์มังรายผู้ครองเมืองเชียงใหม่องค์สุดท้าย ราวปี พ.ศ. 2121 ซึ่งเป็นยุคที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าแล้ว ถือว่าเป็นหลักฐานที่เป็นรูปธรรมชิ้นแรกที่กล่าวถึงนกหัสดีลิงค์ในล้านนา
“จุลศักราช 940 ปีขาล สัมฤทธิศก เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ…..นางพระญาวิสุทธิเทวี….ตนนั่งเมืองนครพิงค์…ถึงสวรรคต พระญาแสนหลวงจึงแต่งการพระศพ….ทำเป็นวิมานบุษบกตั้งอยู่บนหลัง….นกหัสดินทร์ตัวใหญ่….แล้วฉุดลากไปด้วยแรงช้างคชสาร……ชาวบ้าน ชาวเมืองเดินตามไป…..เจาะกำแพงเมืองออกไปทางทุ่งวัดโลกโมฬี….และทำการถวายพระเพลิง ณ ที่นั้น…..เผาทั้งรูปปนกหัสฯและวิมานบุษบกนั้นด้วย….. “

ด้วยเหตุที่พระนางวิสุทธิเทวีปกครองล้านนาภายใต้การบังคับบัญชาของพระเจ้าบุเรงนองแห่งพม่า ทำให้นักวิชาการบางท่านเห็นว่าประเพณีนี้อาจถูกนำมาสถาปนาในล้านนาโดยพม่าหรือไม่ เมื่อศึกษาให้ลึกซึ้งขึ้นไปอีกชั้นพบว่าพม่ารับวัฒนธรรมส่วนใหญ่มาจากชาวมอญอีกทีหนึ่ง
แต่ที่น่าสงสัยก็คือในปัจจุบันทั้งชาวมอญ (หงสาวดี) และชาวพม่าในเมืองสำคัญๆ กลับไม่ปรากฏว่ามีพิธีการทำศพด้วยนกหัสดีลิงค์อีกต่อไป (อาจถูกตัดตอนไปแล้วในยุคล่าอาณานิคม?) ยกเว้นแต่คำบอกเล่าของปราชญ์ชาวมอญบ้านเกราะเกร็ดนนทบุรี ที่บอกว่าคนเฒ่าคนแก่เคยเล่าถึงพิธีลากปราสาทศพนกหัสดีลิงค์เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันพิธีนี้ก็ยกเลิกไปแล้วเช่นกัน

เมื่อเปรียบเทียบกับทางกรุงศรีอยุธยา เมื่อ 400 ปีก่อนได้พบคำว่า เมรุเผาศพ ขึ้น (เมรุแทนสัญักษณ์ของเขาพระสุเมรุ) ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง ราว พ.ศ. 2181 ว่ามีการสร้างวิมานขนาดใหญ่กลางนคราเพื่อเป็นที่ถวายพระเพลิงศพกษัตริย์เป็นการเฉพาะ อันเป็นรูปแบบที่จำลองมาจากปราสาทหินนครวัด ซึ่งทางกรุงศรีอยุธยามีความสัมพันธ์กับทางขอมมากกว่ามอญ จึงไม่ปรากฏเรื่องราวของนกหัสดีลิงค์

นกสักกะไดลิงค์จากเชียงรุ้งสู่ทุ่งศรีเมือง

พิธีส่งสการศพด้วยนกหัสดีลิงค์ในล้านนามีธรรมเนียมสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยพระนางเจ้าวิสุทธิเทวี เคียงคู่ขนานกับรัฐหลายรัฐในสายตระกูล “ล้านนา-ล้านช้าง” อาทิ รัฐฉาน และเชียงตุงในพม่า เมืองหลวงพระบาง เมืองจำปาสัก ในลาว
ข้อสำคัญยังพบพิธีกรรมนี้ที่อำเภอทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีเจ้านายสืบเชื้อสายมาจากเมืองเชียงรุ้ง (เชียงรุ่ง) ในสิบสองปันนา

ตำนานการทำศพด้วยนกสักกะไดลิงค์ฉบับทุ่งศรีเมืองกล่าวว่า
“มีนครหนึ่งชื่อนครเชียงรุ้งตักศิลา พระเจ้าแผ่นดินถึงแก่สวรรคต พระมเหสีนำพระบรมศพแห่แหนไปถวายพระเพลิงนอกเมือง นกสักกะไดลิงค์ บินจากป่าหิมพานต์มาเห็นเข้าจึงได้โฉบลงแย่งพระศพ พระมเหสีให้หาคนที่จะสู้นกแย่งเอาพระศพคืน ในที่สุดมีหญิงสาวผู้หนึ่งชื่อ เจ้านางสีดา เป็นบุตรีของมหาราชครู อาสาต่อสู้นก เจ้านางสีดามีวิชายิงศรเป็นเยี่ยม ได้ใช้ศรยิงถูกนกใหญ่ตกลงมาถึงแก่ความตาย พระมเหสีจึงให้ประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของกษัตริย์พร้อมนกใหญ่ จนกลายเป็นธรรมเนียมสำหรับเจ้านายเชื้อสายจำปาสักว่า เมื่อถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ให้ทำพระเมรุรูปนกสักกะไดลิงค์ประกอบหอแก้วแล้วเชิญศพขึ้นตั้ง ชักลากออกไปบำเพ็ญพระกุศลครบถ้วน 3 วันจึงเผา ก่อนเผาต้องมีพิธีฆ่านก แล้วเผาทั้งศพทั้งนก”

พิธีปลงศพด้วยนกสักกะไดลิงค์ที่อุบลราชธานีในอดีตนั้นมีความหรูหราอลังการมาก นั่นคือต้องชักลากปราสาทศพออกไปบำเพ็ญกุศลกลางท้องทุ่งศรีเมืองเป็นเวลา 3 ถึง 5 วันจึงจะเผา เจ้าภาพต้องจัดโรงทานไว้ตลอดงานสำหรับคนที่มาร่วมงานพิธีฆ่านก ผู้ฆ่าต้องเป็นนางทรงที่สืบสกุลจากเจ้านางสีดา ซึ่งมีการสืบทอดเชื้อสายกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ก่อนมีพิธีฆ่านก เจ้าภาพจะจัดพิธีทอดผ้าบังสุกุลตามพุทธศาสนาเสียก่อน หลังจากเผานกและเมรุแล้ว คืนนั้นจะมีมหรสพสมโภชอัฐิไปด้วย รุ่งเช้าเก็บอัฐิและอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย แล้วนำอัฐิไปก่อธาตุบรรจุต่อไป

เมื่อกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ ปกครองเมืองอุบล ได้มาร่วมงานประเพณีนี้ เห็นว่าเป็นการแข่งบารมีกับพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยามที่มีการเผาพระบรมศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกประเพณีการเผาศพเจ้านายที่ทุ่งศรีเมืองเสีย จากนั้นแนวความคิดรวมศูนย์อำนาจดังกล่าวได้แพร่หลายนำไปใช้เป็นแบบอย่าง ในการออกคำสั่งให้ยกเลิกพิธีปลงศพเจ้านายด้วยนกหัสดีลิงค์บนแผ่นดินล้านนาทั่วทุกเมืองอีกเช่นกัน

ด้วยเหตุผลที่ว่าอาณาจักรล้านนาและล้านช้างฟากตะวันตกของแม่น้ำโขงถูกรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกับราชอาณาจักรสยามแล้ว ดังนั้นจึงมีพระมหากษัตริย์ได้เพียงหนึ่งเดียว ทางรัฐบาลสยามเกรงว่าหากปล่อยให้มีพิธีถวายพระเพลิงศพเจ้านายบนปราสาทนกหัสดีลิงค์ซึ่งมีความสง่างาม ยิ่งใหญ่สมฐานะบารมีต่อไปเรื่อยๆ จะเป็นการแข่งขันกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงของกษัตริย์ราชวงศ์จักรี

การเมืองเรื่องปราสาทศพนกหัสดีลิงค์

      แม้กระนั่้นชาวล้านนาและชาวอุบลยังขออนุโลมให้ได้จัดพิธีดังกล่าวสำหรับพิธีศพของพระเถระชั้นผู้ใหญ่บ้าง เพื่อมิให้ประเพณีนี้สูญหายไป เฉพาะการลากจูงศพนั้น ต้องใช้ภูมิปัญญาของชาวบ้านแบบโบราณ ด้านล่างของปราสาทไม่มีล้อและกลไกขับเคลื่อน แต่ใช้ต้นมะพร้าวสองต้นเป็นส่วนฐานลากแทนล้อรถ ต้องใช้แรงงานคนในการบังคับการเลี้ยว และใช้ไม้พลองในการงัดต้นมะพร้าว ให้ไปตามทิศทางที่จะเลี้ยวด้วยความยากลำบากยิ่ง แต่การลากจูงสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจของวิถีชาวบ้านอย่างแท้จริง

ภาพของประชาชนนับหมื่นที่แห่เข้าร่วมขบวนลากจูงปราสาทศพนกหัสดีลิงค์ของพระเถระผู้ใหญ่ จากวัดเคลื่อนไปตามท้องถนนสู่เมรุเผาศพในแผ่นดินล้านนานั้น กว่าจะมีให้เห็นประปรายสักครั้งจึงยากแสนเข็ญ เหตุเพราะภาครัฐและการเมืองได้เข้ามาอุปถัมภ์การจัดพิธีกรรมนี้ เพื่อจะได้กลั่นกรองพิจารณาเห็นชอบอนุญาตให้จัดได้เฉพาะพระเถระที่ทรงคุณธรรมเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีความรู้ในพระปริยัติแตกฉานเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ตนบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา แต่ถูกสยามมองว่าเป็น “กบฏผีบุญ” ทั้งหลายเช่นครูบาเจ้าศรีวิชัย จะไม่ได้รับอนุญาตให้จัดพิธีศพด้วยปราสาทนกหัสดีลิงค์
แม้รัฐบาลจะมีส่วนช่วยให้พิธีกรรมส่งสการศพด้วยนกหัสดีลิงค์นี้ยังดำรงอยู่ หากแต่ในแง่หนึ่งนั้นก็สะท้อนให้เห็นว่า ภาคการเมืองได้พยายามใช้พิธีกรรมนี้เป็นเวทีการกดข่มและขีดวงล้อมกรอบทางประเพณีของคนในท้องถิ่นไว้ด้วยเช่นกัน


     ปัจจุบันไม่มี “เจ้านาย” องค์ไหนของทางล้านนาและเมืองอุบลราชธานี มีสิทธิ์ได้รับเกียรติอันสูงส่ง ในการปลงศพด้วยปราสาทนกหัสดีลิงค์อีกต่อไปแล้ว แต่หากไม่ช่วยกันรักษา “พื้นที่” อนุรักษ์พิธีกรรมนี้ไว้เมื่อพระสงฆ์ผู้หลักผู้ใหญ่ถึงแก่มรณภาพ คนในท้องถิ่นก็จะขาดสำนึกทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ในแง่ของการผลิตซ้ำอุดมการณ์ความเชื่อที่ว่าพวกตนต่างสืบเชื้อสายมาจากกลุ่ม “ล้านนา-ล้านช้าง”