อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : อลังการแห่งเส้นสายและสีสัน (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนที่ผ่านๆ มาได้กล่าวถึงงานของศิลปินแนวนามธรรมทั้งไทยและเทศไปก็หลายคนแล้ว

ในคราวนี้จะขอกล่าวถึงศิลปินนามธรรมอีกคนที่เป็นหนึ่งในศิลปินคนสำคัญที่สุดของศิลปะสมัยใหม่มาจนถึงยุคสมัยนี้

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า ไซ ทว์อมบลี (Cy Twombly)

จิตรกร, ประติมากร, นักวาดเส้น ผู้เป็นที่รู้จักจากภาพจิตรกรรมขนาดใหญ่ ฝีแปรงยุ่งเหยิงตวัดไปมาอย่างอิสระ บางครั้งใช้ลายเส้นตัวอักษรขีดเขียนหวัดๆ

ถ้าใครไม่เคยรู้จักผลงานของเขาหรือไม่เข้าใจศิลปะแนวนี้ก็อาจจะคิดว่าเป็นภาพวาดหรือลายเส้นไก่เขี่ยของเด็กอมมือไปนั่นเลย

 

ไซ ทว์อมบลี หรือในชื่อจริงว่า เอ็ดวิน ปาร์กเกอร์ ทว์อมบลี (Edwin Parker Twombly) เกิดเมื่อวันที่ 25 เมษายน 1928 ณ เมืองเล็กซิงตัน มลรัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

อนึ่ง ชื่อเล่น “ไซ” ของเขาได้มาจากชื่อของนักกีฬาตัวขว้างชื่อดังจากทีมเบสบอลเมเจอร์ลีก “ไซ ยัง” (Cy Young)

เขาเริ่มศึกษาศิลปะกับครูสอนศิลปะชาวสเปนเมื่ออายุได้ 12 ปี และจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมปลาย Lexington และ Darlington School ตามลำดับ

ต่อมาในปี 1948-1949 เขาได้เข้าศึกษาที่ School of Museum of Fine Arts ในเมืองบอสตัน และมหาวิทยาลัย Washington and Lee ในเมืองเล็กซิงตัน ในปี 1950-1951

ต่อมา เขาได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อที่ Art Students Leage ในนิวยอร์ก และที่นี่เองที่เขาได้พบเจอกับศิลปินหนุ่มอีกคนอย่าง โรเบิร์ต ราวส์เชนเบิร์ก (Robert Rauschenberg) ผู้ที่ต่อมาได้กลายเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดังเช่นเดียวกันซึ่งแนะนำเขาให้เข้าไปศึกษาศิลปะที่สถาบัน Black Mountain College ในมลรัฐนอร์ธ แคโรไลนา

ด้วยอิทธิพลจากคณาจารย์ในสถาบันนี้ ซึ่งต่างก็เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมอย่าง ชาร์ส โอลเซ่น, ฟรันซ์ ไคลน์ (Franz Kline), โรเบิร์ต มาเธอร์เวล (Robert Motherwell) และ จอห์น เคจ (John Cage) ที่ช่วยเปิดโลกทรรศน์ และช่วยกระตุ้นพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์และเติมเต็มประสบการณ์ในการทำงานศิลปะให้กับเขา

และเป็นช่วงสำคัญที่ทำให้เขาได้ศึกษากับงานศิลปะแอ๊บสแตร็ก เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (Abstract Expressionism) และ แอ๊กชั่น เพ้นติ้ง (Action Painting)

ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาพัฒนารูปแบบการทำงานศิลปะเฉพาะตัวในสไตล์ “การคัดลายมือ” ซึ่งเป็นการใช้ตัวอักษรเป็นองค์ประกอบในภาพเขียนที่สอดคล้องกับเนื้อหาในการนำเสนอของเขา

lepanto%2c-2001-panel-7-of-12-acrylic%2c-wax-crayon-and-graphite-on-canvas

ต่อมา เขาและราวส์เชนเบิร์กได้ทุนให้เดินทางท่องเที่ยวและดูงานศิลปะในหลายประเทศทั้งในยุโรปและแอฟริกา ก่อนที่จะเดินทางกลับมาที่นิวยอร์กและเปิดตัวสู่โลกศิลปะของนิวยอร์กอย่างสง่างาม ด้วยผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมที่แหวกแนวเหนือความคาดหมาย และฉีกออกจากกระแสความเคลื่อนไหวที่เป็นค่านิยมแบบเบ็ดเสร็จในศตวรรษที่ 20 อย่าง แอ๊บสแตร็ก เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ ป๊อปอาร์ต และ มินิมัลลิสม์ (Minimalism) โดยสิ้นเชิง

ผลงานของเขาได้แรงบันดาลใจจากภูมิศาสตร์/ประวัติศาสตร์โบราณของประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน ตำนานเทพปกรณัมของกรีกและโรมัน และลำนำมหากาพย์

ผลงานของเขามักจะมีขนาดใหญ่มหึมา เป็นแผงต่อเนื่องหลายชิ้น ที่แสดงออกถึงโลกอันลี้ลับแห่งประติมานวิทยา (Iconography – สาขาหนึ่งของประวัติศาสตร์ศิลป์ที่เป็นการตีความหมายหรือถอดรหัสภาพวาดในสมัยโบราณ) การอุปมาอุปไมย และเรื่องเล่าปรัมปรา

ภาพเขียนของเขาทำลายเส้นแบ่งระหว่างงานจิตรกรรมและงานวาดเส้น มันมีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับความทรงจำแห่งวัฒนธรรม ผลงานจิตรกรรม วาดเส้นและประติมากรรมที่เกี่ยวกับเทวตำนานของเขาได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของความทรงจำนั้น

สื่อที่ทว์อมบลีถนัดใช้ที่สุดก็คือ “การเขียน” โดยเขามักจะเริ่มต้นจากเครื่องหมายภาพง่ายๆ และพัฒนาระบบภาษาในการใช้สัญลักษณ์ ด้วยการแรเงา การวาดเส้นโค้ง วงกลม การใช้ตัวเลข และการใช้ภาพสัญลักษณ์อันเรียบง่าย วางกระจายไปทั่วระนาบของภาพเขียนของเขา เพื่อสร้างความเคลื่อนไหวทางสายตาอย่างต่อเนื่อง บวกกับการลบทิ้งและเขียนทับซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งเป็นรูปแบบอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ส่งให้เขาได้รับความนิยมและทะยานขึ้นแถวหน้าของวงการศิลปะของนิวยอร์กในยุคนั้นไปได้อย่างไม่ยาก

ซึ่งในอีกนัยหนึ่ง สัญลักษณ์ที่ว่าของเขาเหล่านี้มันก็ได้กลายเป็นรูปแบบทางภาษาอีกรูปแบบหนึ่งไปในที่สุด

ผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของเขาชุดหนึ่งก็คือ บรรดาภาพวาดลายเส้นสีขาวบนพื้นสีเทาดำที่ทำให้เรารำลึกไปถึงกระดานดำในโรงเรียนที่มีคนกำลังหัดขีดเขียนตัวอักษรอยู่

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีนักวิจารณ์ศิลปะหลายคนที่ไม่ปลื้มไปกับสไตล์การทำงานแบบนี้ของทว์อมบลีสักเท่าไหร่นัก บางคนถึงกับกล่าวว่า “มันก็เป็นแค่ลายเส้นไก่เขี่ย ภาพวาดแบบนี้ลูกอายุไม่กี่ขวบของเขาที่บ้านก็ทำได้” (ว่าเข้าไปนั่น!)

อย่างไรก็ดี ก็ยังมีนักวิจารณ์อีกฝ่ายผู้หลงใหลได้ปลื้มผลงานของทว์อมบลีจนต้องออกโรงมาปกป้องโดยกล่าวว่า

“คนที่ออกมาบอกว่า เด็กเล็กๆ ที่ไหนก็สามารถวาดภาพแบบเดียวกับทว์อมบลีได้ มันก็เหมือนกันการกล่าวว่า ไอ้หน้าโง่คนไหนก็ได้ที่มีค้อน ก็สามารถทำประติมากรรมแบบ โรแดง (Auguste Rodin) ได้ หรือช่างทาสีบ้านคนไหนก็สามารถสาดเทสีได้ไม่ต่างจาก แจ็กสัน พอลล็อก (Jackson Pollock) ซึ่งมันเป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดี

เพราะจะว่าไป ศิลปะไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชี่ยวชาญหรือเชิงชั้นทางเทคนิคของศิลปินแต่ละคนเท่านั้น หากแต่มันอยู่ในกระบวนการทำงานศิลปะ ซึ่งต่างก็มีระบบและกฎเกณฑ์อันไม่ตายตัวของแต่ละบุคคลที่จะบอกว่า สิ่งไหนควรทำ หรือสิ่งไหนไม่ควรทำ และเมื่อไหร่ควรจะไปต่อ หรือเมื่อไหร่ควรจะหยุด

ซึ่งสิ่งเหล่านี้นี่แหละที่จะเป็นตัวนิยามความเป็นศิลปะที่แท้จริงออกจากสิ่งที่พวกเขาพูดถึงอย่างไม่อาจลอกเลียนแบบหรือเสแสร้งได้”