หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/ ‘รู้’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกเงือกหัวแรด - นำอาหารมาป้อน เป็นการเอาใจตัวเมียที่นกตัวผู้ทำเสมอ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘รู้’

 

21 มกราคม พ.ศ.2562

20.44 นาฬิกา

ผมโทรศัพท์หาอาแซ มาเสะ ผู้ชายที่ผมเรียกเขาว่า “บาบอ”  ซึ่งหมายถึงครู เขาบอกผมว่า กำลังนั่งคุยกับเพื่อนๆ อยู่ในร้านน้ำชากลางหมู่บ้านตาเปาะ เชิงเขาบูโด จังหวัดนราธิวาส

ไม่ใช่เพราะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในระยะนี้ ผมจึงโทร.หาเขา

แต่เป็นเรื่องปกติที่เราจะโทร.หาพูดคุยกันเสมอๆ

เราไม่ได้พูดถึงความรุนแรง หรือสถานการณ์อะไรหรอก เราคุยถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ เรื่องราวครั้งที่ผมเดินตามเขาขึ้นภูเขา

เมื่อสักครู่ ก่อนยุติการสนทนา อาแซถามผมว่า

“เมื่อไหร่จะมา”

ด้วยเหตุผลที่ช่วงเวลานี้งานผมอยู่ในพื้นที่ดอยทางภาคเหนือ

“ไม่รู้” คือคำตอบที่ผมบอกกับบาบอ

 

“พ่อเราเป็นโจรอยู่บนภูเขา” อาแซเคยบอกผม ด้วยประโยคนี้และหัวเราะ เขาใช้คำว่าโจรอย่างไม่จริงจังอะไรนัก

ในช่วงปี พ.ศ.2522 ทิวเขาบูโด ซึ่งเป็นรอยต่อของจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส คือแหล่งอาศัยของกลุ่มหรือขบวนการที่อยากปลดปล่อยพื้นที่แถบนั้นเป็นเอกเทศ

มันเป็นพื้นที่แห่งการสู้รบ ชาวบ้านต้องปรับตัว เอาอาหาร เครื่องใช้ให้คนบนเขาเพื่อเป็นค่าคุ้มครอง ไม่เช่นนั้นก็จะใช้ชีวิตตามปกติอย่างเข้าไปกรีดยางหรือเก็บผลไม้ไม่ได้

“มีขบวนการจริงๆ และพวกโจรธรรมดาๆ ที่หนีขึ้นไปอยู่บนเขานั่นแหละ” อาแซเล่าให้ฟัง

เสียงปืนและการฆ่า ทำให้ทิวเขาบูโดกลายเป็นภูเขาต้องห้ามสำหรับคนภายนอกตลอดมา

แม้เราจะรู้ว่า ที่นั่นคือแหล่งอาศัยของนกเงือกหลายชนิด เช่น นกชนหิน และนกเงือกหัวแรด ที่หาพบได้ยากในพื้นที่อื่น

เหตุการณ์เริ่มคลี่คลายในปี พ.ศ.2526

สมาชิกในขบวนการทยอยมอบตัว ประกอบอาชีพสุจริต มีไม่น้อยเป็นอาสาสมัครป้องกันหมู่บ้าน

ส่วนหนึ่งของทิวเขาบูโด อันมีเนื้อที่ 341 ตารางกิโลเมตร หรือราว 213,125 ไร่ ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์คือ อุทยานแห่งชาติบูโด- สุไหงปาดี

สงครามบนภูเขา ระหว่างคนกับคนจบลง

ช่วงเวลาแห่งการทำลายล้างชีวิตนกเงือกเริ่มต้น

 

“เราเริ่มขึ้นไปเก็บลูกนกช่วงนั้นแหละ” อาแซยึดการขึ้นไปเก็บลูกนกเงือกขาย และเลื่อยไม้เป็นอาชีพ

“บนเขามันปลอดภัยแล้ว” นอกจากเลื่อยไม้ พอถึงเวลาลูกนกโตพอ อาแซและคนอื่นๆ ในหมู่บ้านต่างพากันเสาะหารังนก ปีนขึ้นไปล้วงลูกนกจากในโพรง

ฤดูกาล หรือพูดให้เข้าใจง่ายว่า ช่วงเวลาแห่งความรักของนกเงือกที่อาศัยอยู่แถบทิวเขาบูโด เริ่มประมาณกลางเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์

พวกมันทำกิจกรรมซ้ำๆ ทุกๆ ปี แม้นกเงือกจะเป็นชีวิตซึ่งเมื่อตกลงปลงใจกันแล้วจะอยู่ด้วยกันไปตลอดไม่เปลี่ยนคู่ใหม่ แต่เมื่อถึงฤดูกาล ตัวผู้ก็จะต้องเริ่มต้นจีบตัวเมียอีกครั้ง

เริ่มจากตัวผู้พาตัวเมียไปดูโพรง

“ตัวเมียไม่ยอมง่ายๆ หรอก เพราะจะต้องเข้าไปอยู่ในนั้นหลายเดือน เธอจึงเลือกมากหน่อย” อาแซบอก

แต่ดูเหมือนในสถานการณ์ที่ต้นไม้ใหญ่ที่มีโพรงอันเหมาะสมเหลือไม่มาก ตัวเมียไม่มีโพรงให้เลือกมากนักหรอก

กระนั้นก็เถอะ การบินเข้าออก ชะโงกหัวเข้าไปดู บินออกมา เหมือนไม่ชอบ ก็เป็นสิ่งที่ตัวเมียทำ ส่วนตัวผู้พยายามเอาใจ กระแซะเข้าใกล้ ป้อนอาหาร บางคู่ใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าตัวเมียจะตกลงปลงใจ

เมื่อตัวเมียยอมรับ นกจะช่วยกันทำความสะอาดโพรง ตัวเมียเข้าไปอยู่ข้างใน เริ่มปิดปากโพรง วัสดุที่หาได้ ถูกนำมาผสมกับขี้ รวมทั้งอาหารที่สำรอกออกมา พอกปากโพรง ใช้จะงอยปากด้านข้างตีให้ติดกัน พอแห้งจะเหนียวมาก

“ตอนที่ตัวเมียทำอยู่ข้างใน ตัวผู้เกาะข้างนอก มองให้กำลังใจ แต่ถ้าตัวผู้หายแวบไป ตัวเมียจะออกมาตามทันที ตัวผู้ต้องง้ออีกนาน กว่าตัวเมียจะยอมกลับมาที่โพรงอีก”

งานหนักของนกเงือกตัวผู้เริ่มต้นเมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง และหนักยิ่งขึ้นตอนลูกออกจากไข่แล้ว

“อาหารที่ตัวผู้หามา ถ้าซ้ำๆ ตัวเมียคาบมา แต่ทิ้งต่อหน้าต่อตาเลย” อาแซเล่า

“นกเงือกตัวเมียนี่เอาใจยากมาก”

อาแซ มาเสะ ผู้มีลูก 7 คน ส่ายหัว

 

ปีพ.ศ.2537

ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ เดินทางมาถึง อาจารย์พบว่า ที่นี่ไม่เพียงเป็นที่อาศัยของนกชนหิน นกเงือกหัวแรด ยังมีนกเงือกปากดำ นกเงือกหัวหงอก นกเงือกกรามช้าง และนกกก

อาจารย์พิไลพยายามชักจูงชาวบ้านให้เห็นความเป็นชีวิตของเหล่านกเงือก เปลี่ยนวิธีการ ให้คนล้วงลูกนกที่พบรังมาแจ้ง จะได้รับเงิน และผู้แจ้งจะดูแลจนกระทั่งนกโตออกจากโพรงได้

อาแซเป็นรุ่นแรกๆ ที่ร่วมโครงการ และเขากลายเป็นผู้ช่วยดูแลนกเงือกที่เข้มแข็งในเวลาต่อมา

 

นกเงือกตัวโต ปีกใหญ่ ไม่มีขนคลุมใต้ปีกทำให้อากาศผ่านช่องว่าง จึงมีเสียงดังขณะกระพือปีก

หัวโตๆ ดูเหมือนจะหนัก

ภายในโหนกที่คล้ายจะหนักนั้น กลวง มีเพียงนกชนหินเท่านั้นที่ภายในโหนกตัน

ข้อดีของโหนก ในทัศนะคนคือ แยกชนิดนกเงือกได้ง่าย

ข้อเสียของโหนกตันๆ ทำให้หัวนกชนหินเป็นที่ต้องการ มีราคาสูง

คนนำโหนกนกชนหินมาแกะสลักทำเครื่องประดับ

วิธีเดียวที่จะได้โหนกนกชนหิน

คือ ฆ่านก

 

ตลอดเวลาที่อยู่แถบทิวเขาบูโด ผมเป็นลูกศิษย์อาแซ ในระยะแรก เขาทำหน้าที่คล้ายล่าม และสอนภาษายาวี อันเป็นภาษาถิ่นให้

เขาพาผมไปงานกินเหนียว ร่วมพิธีสุหนัด ไปมัสยิด สอนให้นุ่งโสร่ง พาผมเดินเล่นในหมู่บ้าน เข้าบ้านโน้น ออกบ้านนี้ บ้านนี้เงาะอร่อย บ้านนั้นลองกองหวาน บ้านโน้นมีมังคุด ทุกคนที่พบ ผมได้รับคำทักทายและรอยยิ้ม

ผมพูดถึงอาแซและเพื่อนๆ ที่เคยอยู่ร่วมกันที่บูโดบ่อยๆ

ระหว่างอยู่ที่นั่น ความขัดแย้งระหว่างคนหวนกลับมาแล้ว

บนภูเขา ขณะเฝ้ารอนกเงือก เสียงระเบิดแทรกมากับเสียงอาซาน หรือเสียงเรียกให้ไปมัสยิด

 

เสียงปืนบนภูเขาดังขึ้นอีก

เสียงเลื่อยยนต์จากการเลื่อยไม้ดังไม่หยุด

ในสถานการณ์เช่นนี้ ผมไม่รู้หรอกว่า เหล่านกเงือกจะมีชีวิตต่อไปเช่นไร แต่ก็หวังว่าพวกมันจะอยู่รอดไปได้ เพราะความพยายามปกป้อง ช่วยเหลือจากการทำงานของคนจำนวนไม่น้อย

อาแซออกจากโครงการแล้ว เขาทำงานเป็นช่างไม้ รับงานก่อสร้าง

แต่เพื่อนๆ ของเขา รวมทั้งลูกๆ หลานๆ ของเพื่อนๆ ยังคงทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง

 

อยู่ที่นั่น ผมเห็นการอยู่ร่วมกันอย่างมีมิตรภาพ

หรือแท้จริง “สันติภาพ” บนโลกนี้ไม่มีจริง

“ไม่รู้” เป็นคำที่ผมตอบอาแซ

เพราะพบว่าบนโลกใบนี้ สิ่งที่ผม “รู้”

มีไม่มากนัก