รู้จัก ‘หนังอาร์ตจีน’ ที่รายได้งาม แต่คนพากันออกจากโรงทั้งที่ยังฉายไม่จบ! แถมยังไปโหวตกดคะแนนให้ต่ำ

คนมองหนัง

คนมองหนัง : “Long Day”s Journey into Night” หนังอาร์ต 3 มิติ จากจีนแผ่นดินใหญ่

“Long Day”s Journey into Night” ผลงานการกำกับของคนทำหนังหนุ่มวัย 29 ปี “ปี่กัน” (Bi Gan) คือภาพยนตร์อาร์ตเฮาส์จีนที่โดดเด่นมากๆ เรื่องหนึ่งในระดับนานาชาติเมื่อปีที่ผ่านมา

หนังได้เข้าประกวดในสาย Un Certain Regard ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ และคว้ารางวัลด้านโปรดักชั่นสำคัญๆ บนเวที “ม้าทองคำ” ของไต้หวัน

ได้แก่ กำกับภาพยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม และออกแบบเสียงยอดเยี่ยม

เมื่อเปิดตัวที่จีนแผ่นดินใหญ่ในค่ำวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.2018 หรือคืนส่งท้ายปีเก่า หนังเรื่องนี้ยังสามารถทำรายได้อย่างงดงาม

เพราะเพียงแค่คืนเดียวก็โกยเงินไปถึง 38 ล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 1 พันล้านบาท)!

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จทางด้านรายได้ในคืนแรกก่อให้เกิดข้อถกเถียงหรือกระแสด้านลบติดตามมา

กล่าวคือ แม้จะเป็นหนังอาร์ตเมืองคานส์ แต่ทีมการตลาดของ “Long Day”s Journey into Night” กลับประชาสัมพันธ์กับผู้บริโภคชาวจีนทำนองว่า นี่คือภาพยนตร์ส่งท้ายปีที่เหมาะสมสำหรับคู่รัก ซึ่งออกเดตเป็นครั้งแรก

“คุณจะใช้ถ้อยคำหวานซึ้งใด เอ่ยชวนใครบางคนไปชมภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของปี 2018” นี่เป็นถ้อยคำที่ฝ่ายพีอาร์ของหนังเรื่องนี้ สื่อไปถึงคนดูแดนมังกร

ก่อนหนังเข้าฉาย แผนการตลาดดังกล่าวดูเหมือนจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ถ้าพิจารณาที่จำนวนรายได้จากการจองตั๋วล่วงหน้า ซึ่งสูงถึง 15 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 500 ล้านบาท)

ทว่าฟีดแบ็กจากผู้ชมคนจีนภายหลังคืนวันที่ 31 ธันวาคม กลับตรงกันข้าม เนื่องเพราะพวกเขาผิดหวังเมื่อได้พบว่า ผลงานของ “ปี่กัน” ไม่ใช่หนังโรแมนติก-คอมเมดี้กระแสหลัก หากเป็นหนังศิลปะที่ดูยากและต้องตีความ

คนดูจำนวนไม่น้อยพากันเดินออกจากโรงทั้งที่หนังยังฉายไม่จบ หลายรายพร้อมใจกันไปโหวตกดคะแนนของหนังเรื่องนี้ให้ต่ำเตี้ยในเว็บไซต์ภาพยนตร์ชื่อดัง

ประจักษ์พยานเด่นชัดที่สุดของความไม่พอใจเหล่านั้นก็คือ รายได้หนังในวันที่ 1 มกราคม 2019 ซึ่งตกฮวบเหลือ 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 50 ล้านบาท)

ผมมีโอกาสได้ชม “Long Day”s Journey into Night” ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ เมื่อต้นเดือนธันวาคมปีก่อน

ต้องยอมรับว่า แม้หนังของ “ปี่กัน” จะไม่ใช่สื่อบันเทิงสำหรับทุกคน แต่มันก็ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ย่ำแย่ ทั้งยังเต็มไปด้วยองค์ประกอบแปลกใหม่จำนวนมากมาย ซึ่งท้าทายการขบคิดของผู้ชม

ประเด็นหลักของหนังเรื่องนี้ คือการเดินทางย้อนกลับไปทบทวนความทรงจำครั้งอดีตของชายวัยกลางคนรายหนึ่ง ที่มีต่อรักเก่า/เพื่อนเก่า ท่ามกลางภาวะปัจจุบันที่เปลี่ยวเหงาว่างเปล่า

ครึ่งแรก หนังทำตัวเป็น “โร้ดมูฟวี่-ภาพยนตร์สืบสวนสอบสวน” เมื่อพระเอกซึ่งเป็นนักเลงใหญ่คุมกาสิโน หวนคืนกลับมาบ้านเกิด หลังจากพ่อของตนเองเสียชีวิต

ที่บ้าน/ร้านอาหารของบิดา เขาได้พบรูปถ่ายเก่าๆ อันนำไปสู่การพยายามแกะรอยสืบหาผู้หญิงคนหนึ่ง ว่าปัจจุบันเธอไปอยู่ไหน? ทำอะไร? มีชีวิตอย่างไร?

จากนั้นหนังพาคนดูออกเดินทางไปพบกับความคลุมเครือ ภาวะสับสนระหว่างความจริงกับความไม่จริง ตลอดจนความทรงจำที่ขาดห้วงและดำเนินไปอย่างกระท่อนกระแท่น

หนังไม่ฟันธงชี้ชัดว่า “หญิงสาว” ที่พระเอกได้พบเจออีกครั้งคือบุคคลที่เขาตามหาจริงๆ หรือเปล่า

หรือสุดท้าย เขาทำได้เพียงแค่จวนเจียนจะเจอเธอ แต่เธอที่เจอก็ยังไม่ใช่ตัวจริง กระทั่งต้องปล่อย “เธอ” หลุดหายเข้าไปในปล่องโพรงลึกลับซับซ้อนของความทรงจำครั้งแล้วครั้งเล่า

จุดหักเหหรือไคลแม็กซ์ซึ่งผลักดันให้ “Long Day”s Journey into Night” ลอยล่องไปสู่ครึ่งหลังอันน่าตื่นตาตื่นใจ ก็คือการคล้อยเคลื่อนดำดิ่งลงใน “โลกแห่งภาพยนตร์สามมิติ” พร้อมๆ กันของตัวละครนำและผู้ชม

ประเด็นหนึ่งที่ชวนคิดคือ ก่อนหน้านั้น พระเอกได้พูดเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่าง “หนัง” กับ “ความทรงจำ” เอาไว้ว่า ในขณะที่ “ความทรงจำ” มีทั้งเรื่องจริงและไม่จริงปนเปกันไป แต่ทุกอย่างในหนังคือสิ่งไม่จริง

นอกจากนี้ เรื่องราวของหนังใน “ภาคสามมิติ” ก็เป็นเหมือน “ภวังค์ฝัน” ซึ่งขับเคลื่อนผ่านระลอกของเหตุการณ์ “เหนือจริง” ห้วงแล้วห้วงเล่า

อย่างไรก็ดี น่าตลกร้ายว่า “ความไม่จริง” และ “ความฝัน” ทั้งหมดทั้งมวลดังกล่าว กลับถูกนำเสนอด้วย “ภาพสามมิติ” ซึ่งแลดู “สมจริง” ยิ่งกว่า “หนังสองมิติ” แบบเดิมๆ

จุดเด่นพิเศษอีกประการหนึ่งของ “พาร์ตสามมิติ” ใน “Long Day”s Journey into Night” คือการสาธิตแสดงให้เห็นถึงวิธีฉายภาพหรือเล่าเรื่องราวว่าด้วย “ความทรงจำ-อดีต” ที่เปลี่ยนแปลงไป

เดิมทีมนุษย์อาจมีกลวิธีบางอย่างในการถ่ายทอดลักษณะนามธรรมทั้งหลายเหล่านั้นผ่านสื่อชนิดเดิม เช่น หนังสือนิยายหรือภาพเคลื่อนไหวสองมิติ

อย่างไรก็ตาม พวกเราไม่มีทาง (แม้แต่เพียงแค่คิด) ที่จะพูดถึงความลี้ลับพิศวงของ “ความทรงจำ-อดีต” ผ่านเทคโนโลยี 3D แน่ๆ

รายละเอียดเล็กๆ อีกอย่างที่ผมชอบมากในหนังคือ อุปมาอันคมคายตอนท้ายเรื่อง เมื่อพระเอกมอบ “นาฬิกา (ตาย)” ให้ “สตรีปริศนา” เป็นที่ระลึก ส่วนเธอมอบ “ไฟเย็น” ตอบแทนเขาเป็นการแลกเปลี่ยน

ทั้งสองคนสนทนากันว่า “นาฬิกา” คือสัญลักษณ์แห่งความเป็นนิรันดร์

แต่เมื่อ “นาฬิกาชำรุด” เราอาจตีความได้ว่า การดำรงคงอยู่อย่างปราศจากจุดสิ้นสุดของสรรพสิ่งนั้น เป็นเพียงแรงปรารถนาทะเยอทะยานที่ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นจริงของมนุษย์

(อีกด้านหนึ่ง ผมแอบแปลความอย่างเชยๆ ว่า ถ้า “นาฬิกา” คือกาลเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ “นาฬิกาที่ไม่เดิน” ก็อาจสื่อแทนความต้องการที่จะหยุดยั้งกาลเวลาเอาไว้ให้แน่นิ่ง)

ส่วน “ไฟเย็น” ย่อมบ่งชี้ถึงสภาวะใดๆ ก็ตาม ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งคราว ประเดี๋ยวประด๋าว ไม่จีรังยั่งยืน

หากนำนัยยะของสิ่งของที่ระลึกสองอย่างที่แลดูย้อนแย้งสวนทางมาผนึกรวมกัน ความหมายใหม่ที่ปรากฏขึ้นก็คงคล้ายคลึงกับพันธกิจของพระเอกในหนังเรื่องนี้

นั่นคือการเดินทางไปทบทวนความทรงจำอันแหว่งวิ่นผุพังใกล้แตกสลาย ที่หลงเหลือติดตรึงอยู่ในใจจนยากลบเลือน

ทว่าบ่อเกิดแห่งความทรงจำนั้นกลับเป็นเพียงสายสัมพันธ์สว่างไสวช่วงสั้นๆ ซึ่งได้วูบดับลับหายไปจนหมดสิ้นเมื่อกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว