การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์/ โคโนะโทริ หมอสองชีวิต

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

โคโนะโทริ หมอสองชีวิต

 

เพื่อนให้หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องใหม่มา 6 เล่ม เห็นเป็นเรื่องเกี่ยวกับหมอก็มิได้เปิดอ่านในทันที วันนี้วางตลาดถึงเล่ม 9 แล้ว ได้ยินเสียงผู้คนกล่าวถึง จึงเปิดอ่านเล่ม 1

มีเรื่องชวนคุยเยอะเลย

หนังสือเล่าเรื่องคุณหมอโคโนะโทริ ซากุระ เขาเป็นสูติแพทย์ อีกชีวิตหนึ่งเขาเป็นนักเปียโนมีชื่อเสียง ชื่อเสียงหนึ่งคือบางครั้งเขาลงจากเวทีก่อนกำหนด

เพราะถูกตามไปดูคนไข้

นั่นเป็นส่วนดราม่าซึ่งเชื่อว่าหนังสือจะค่อยๆ เปิดเผยภูมิหลังของคุณหมอทีละนิดๆ ในเล่มต่อๆ ไป แต่ตอนนี้เรามาดูวิธีทำงานของสูติแพทย์ก่อน

 

ตอนที่ 1 เจ้าหน้าที่รถฉุกเฉินโทรศัพท์มาแจ้งล่วงหน้าว่ามีหญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอดคนหนึ่งที่ถูกปฏิเสธมาแล้ว 5 โรงพยาบาล ขอคุณหมอโคโนะโทริรับไว้ได้ไหม คุณหมอรับไว้แม้จะไม่สบายใจนัก

เหตุที่ผู้ป่วยถูกปฏิเสธจากโรงพยาบาลเพราะเธอไม่เคยฝากครรภ์เลย ไม่เคยมีประวัติที่ไหน ไม่เคยเจาะเลือด ไม่รู้อายุครรภ์ที่ชัดเจน และไม่มีญาติ นึกไม่ถึงว่าญี่ปุ่นก็ยังมีกรณีเช่นนี้

“การที่ไม่เคยเข้ารับการตรวจน่ะเป็นความผิดของคุณแม่เขา” คุณหมอว่า “เด็กทารกที่อยู่ในท้องเขาไม่ได้ทำผิดอะไรนี่นา” เมื่อเพื่อนร่วมงานโวยวาย คุณหมอจึงตัดบท “ถ้าพวกเราช่วยไม่ไหวจริงๆ ค่อยหาที่ที่จะส่งเขาไปต่อก็แล้วกัน”

คุณหมอโรงพยาบาลอื่นไม่รับเพราะนี่มิใช่เรื่องของคุณหมอคนเดียวที่แบกรับความเสี่ยงการทำคลอดหรือผ่าตัด หน่วยอภิบาลทารกเกิดใหม่ต้องเตรียมรับทารกที่ไม่รู้ว่าจะมีอะไรติดมาด้วย และถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์มีเชื้อตับอักเสบหรือเชื้อเอดส์

“หญิงตั้งครรภ์คนนั้นจะกลายเป็นผู้ป่วยที่อันตรายอย่างมากสำหรับเจ้าหน้าที่รักษาพยาบาล” หนังสือเขียนเช่นนี้

คุณหมอโคโนะโทริทำคลอดให้เรียบร้อย ทารกปลอดภัยดี งานต่อไปเป็นของนักสังคมสงเคราะห์เข้ามาหาแม่เด็ก เธอติดต่อพ่อเด็กไม่ได้ พ่อ-แม่ของเธอหย่าร้างกัน พ่อหายไป แม่แต่งงานใหม่แล้วไม่ติดต่อกันอีก เธอไม่มีเงิน

“ถ้าได้ยื่นคำร้องก่อน ทางรัฐจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้ แถมยังมีระบบช่วยเหลือการคลอดให้ด้วยนะคะ” นักสังคมสงเคราะห์คุยกับเธอ

“ชั้นไม่รู้เรื่องพวกนั้นค่ะ ไม่สามารถจะปรึกษาใครได้เลย” แม่เด็กว่า

“เรื่องนั้นไปใช้เป็นเหตุผลแก้ตัวกับเด็กไม่ได้หรอกนะครับ” คุณหมอซึ่งยืนฟังนักสังคมสงเคราะห์คุยกับแม่เด็กพูดขึ้น “สิ่งที่คุณทำน่ะ มันไม่ต่างกับการทารุณกรรมใส่เด็กทารกที่อยู่ในครรภ์เลยนะครับ”

“ทำไมฉันต้องมาถูกต่อว่าขนาดนั้นด้วยล่ะ! ผู้ชายที่ทำฉันท้องก็ทิ้งฉันไป เงินจะทำแท้งก็ไม่มี ความมั่นใจจะเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตก็ไม่มี คนที่ทำอาชีพหมออย่างคุณน่ะ ไม่เข้าใจความรู้สึกของคนที่เป็นแบบนั้นหรอก”

 

ตอนที่ 1 นี้จบลงด้วยการเปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นว่าคุณหมอโคโนะโทริเติบโตมากับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า

เรื่องแม่ท้องไม่พร้อมเป็นปัญหาด้านกระบวนทัศน์ของบ้านเรา คำถามแรกที่ต้องเผชิญคือแล้วท้องทำไม หลายประเทศก้าวข้ามคำถามนี้ไปนานแล้วจึงได้สร้างระบบดูแลและต้อนรับทั้งแม่และลูกเข้าสู่สังคม ให้เป็นบุคลากรคุณภาพของสังคม ในขณะที่อีกบางประเทศยังก้าวไม่พ้นคำถามนี้ เรื่องจึงจบลงด้วยโศกนาฏกรรมเสียมาก

ตอนที่ 2 เล่าเรื่องการแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม่ตั้งครรภ์คนหนึ่งน้ำเดินก่อนกำหนดมาโรงพยาบาล คุณหมอตรวจพบอายุครรภ์เพียง 21 สัปดาห์ และทารกมีน้ำหนักตัว 420 กรัมเท่านั้น

คุณหมอโคโนะโทริแจ้งแก่สามีและผู้ป่วยว่าทำคลอดตอนนี้ไม่ได้ ทารกจะไม่รอด แต่จะรับไว้นอนโรงพยาบาลให้คุณแม่พักอย่างสัมบูรณ์ กินและขับถ่ายบนเตียง ห้ามเดิน ห้ามไปไหน “เราจะช่วยกันประคองให้อายุครรภ์ไปถึง 24 สัปดาห์และทารกมีน้ำหนักตัวถึง 500 กรัมก่อน ถ้าทำได้โอกาสรอดของทารกจะเพิ่มขึ้นไปที่ร้อยละ 50” คุณหมอแม่นข้อมูล

“ถึงจะช่วยชีวิตของทารกไว้ได้ แต่ทารกก็จะมีโรคแทรกซ้อนหลายๆ อย่าง เช่น สมองพิการ ปัญหาการมองเห็น การหายใจล้มเหลว กรุณาใช้สิ่งที่ผมเล่าให้ฟังนี้ตัดสินใจ” คุณหมอจบการสนทนา “ตัดสินใจว่าจะช่วยหรือไม่ช่วยเด็กทารกเอาไว้น่ะครับ”

สามี-ภรรยาคู่นี้อายุ 40 ปีแล้ว และทั้งสองรอมา 10 ปีกว่าจะได้บุตรคนนี้มา พวกเขาตัดสินใจเอาเด็กไว้ เวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้าทีละวัน ทีละวัน ทีละวัน จนกระทั่งวันที่ 3 ของสัปดาห์ที่ 23 คุณหมอได้รับโทรศัพท์ฉุกเฉินจากเพื่อนร่วมงานขณะที่กำลังจะขึ้นเวทีเล่นเปียโน ชีพจรทารกแผ่วลง!

“ผ่าท้องไม่ได้” โคโนะโทริออกปากห้ามคุณหมอชิโมยะ “สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกตอนนี้คือเอาข้อมูลความเสี่ยงของการผ่าตัดที่มีต่อทารกและที่มีต่อแม่ไปบอกแก่ผู้ป่วยและสามี หากพวกเขายังตกลงใจว่าจะเอาชีวิตเด็กไว้ทั้งที่อาจจะเกิดอันตรายต่อชีวิตแม่ด้วยเราจึงจะเริ่มทำงาน”

ประเด็นคือจะพูดเพียงเรื่องเด็กกำลังจะเป็นอันตรายอย่างเดียวมิได้ หากพูดเช่นนั้นผู้ป่วยย่อมบอกให้เอาชีวิตลูกไว้ก่อน

เมื่อได้รับคำแนะนำแล้ว คุณหมอชิโมยะจึงไปแจ้งข้อมูลแก่คู่สามี-ภรรยาที่กำลังรออยู่ คุณหมอชิโมยะแจ้งว่าหากทำคลอด เด็กตัวเล็กจะทนการขาดออกซิเจนได้ไม่นานน่าจะเสียชีวิต

หากผ่าท้องคลอดเด็กอาจจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เส้นเลือดอุดตัน และอวัยวะภายในเสียหาย การลงมีดที่มดลูกจำเป็นต้องลงแนวตั้งเพราะทารกตัวเล็กมาก นั่นทำให้คุณแม่อาจจะตั้งครรภ์มิได้อีกเพราะเสี่ยงต่อมดลูกแตก

โคโนะโทริไม่ขึ้นเวทีในนาทีสุดท้าย ขับรถกลับโรงพยาบาลเปลี่ยนชุดไปรอที่ห้องผ่าตัดเลย การผ่าตัดเรียบร้อยได้ทารกน้ำหนักตัวไม่ถึง 500 กรัมต้องนำเข้าตู้อบทันที ส่วนคุณแม่นั้นปลอดภัย

“เราต้องเผชิญหน้าและพูดคุยกับผู้ป่วยอย่างตรงไปตรงมา แล้วก็ทำให้ดีที่สุดเพื่อตอบสนองการตัดสินใจของพวกเขา ถ้าเธอคิดว่าเธอกลัวเรื่องพวกนั้น เธอก็มีทางเลือกแค่ลาออกจากการเป็นสูติแพทย์แล้วหนีไป”

คุณหมอโคโนะโทริพูดกับแพทย์หญิงรุ่นน้องคุณหมอชิโมยะในภายหลัง

 

อาจจะเพราะเป็นการ์ตูน ฉากการแจ้งข้อมูลจึงดูจะง่ายดายและครบถ้วน ผู้ป่วยและสามีรับข้อมูลได้และตัดสินใจเร็ว ที่บ้านเราภารกิจนี้ไม่ง่าย ใช้เวลามาก และหลายๆ ครั้งที่ผู้ป่วยและญาติก็ไม่อยู่ในฐานะจะตัดสินใจอะไรได้ง่ายนัก บ่อยครั้งที่โยนการตัดสินใจไปสู่ญาติคนอื่นๆ อีกต่อๆ กันไป

ทารกนั้นอยู่ในตู้อบอีก 2 เดือน ตัวใหญ่ขึ้น แข็งแรงขึ้น กำนิ้วมือพ่อและแม่ได้ ตอนนี้จบลงเมื่อแม่อุ้มลูกขึ้นแนบอกเป็นครั้งแรกแม้ว่าลูกยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

งานของแพทย์ยิ่งใหญ่เสมอ ทำเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ให้เป็นไปได้ แต่ก็ต้องการแพทย์ที่มีความสามารถรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอย่างชัดเจน และรู้มาตรฐานทุกขั้นตอนเหมือนคุณหมอโคโนะโทริด้วย