วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์ /ตัวพิมพ์ : หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (2)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

ตัวพิมพ์ : หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (2)

ที่โด่งดังกว่าคือ “เกิดสำเพ็ง” หนึ่งในชุดสามเกลอของ ป. อินทรปาลิต (พ.ศ.2493) นิยายทั้งเรื่องเกี่ยวกับการพิมพ์หนังสือของกิมหงวน และมีชื่อที่บอกชัดว่าล้อเลียนกับ “เกิดวังปารุสก์” หนังสือของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

ในบทความชื่อ “กิมหงวนเป็นไทยแท้หรือไม่?” (ศิลปวัฒนธรรม, เมษายน 2536) เกษียร เตชะพีระ ได้เขียนไว้ว่า “ก็ในเมื่อเจ้าลูกครึ่งฝรั่งยังเขียน ‘เกิดวังปารุสก์’ ได้ เสี่ยลูกครึ่งเจ๊กจะเขียน ‘เกิดสำเพ็ง’ บ้างจะเป็นไรมี”

บทความนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับช่วงนี้ว่ามีผู้รู้หนังสือไม่มาก ราคาหนังสือก็ยังไม่สูง คือ หนังสือพิมพ์รายวัน 50 สตางค์ หนังสือปกอ่อน 2-5 บาท การที่กิมหงวนจะพิมพ์หนังสือหนาสี่สิบยก จำนวนห้าหมื่นเล่มเพื่อวางตลาดในราคา 20 บาท จึงเป็นเรื่องใหญ่

แต่ก็เป็นไปได้ เพราะนั่นเป็นยุคทองของการพิมพ์ โรงพิมพ์ทั้งของรัฐและเอกชนมีจำนวนรวมแล้วหลายร้อยแห่ง ซึ่งส่วนมากอยู่ในกรุงเทพฯ และมีการรวมกลุ่มเป็นสมาคมที่มีฐานะ “แห่งประเทศไทย” ถึงสองแห่งคือ สมาคมการพิมพ์ และสมาคมกิจการพิมพ์

นิตยสารและหนังสือเล่มกลายเป็นสื่อใหม่ ในวงการนักเขียน นอกจากจะมีคณะ ค่าย และสำนักพิมพ์ต่างๆ แล้ว ยังมีการรวมกลุ่มในลักษณะอื่นด้วย เช่น ชมรมนักประพันธ์ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่บริษัทไทยพณิชยการ ถนนสีลม และมีอารีย์ลี วีระเป็นผู้ก่อตั้ง และจักรวรรดิศิลปิน ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่โรงพิมพ์อักษรนิติ บางขุนพรหม และมีสด กูรมะโรหิต เป็นผู้ก่อตั้ง ทั้งสองกลุ่มมีบทบาทในการออกนิตยสารและจัดพิมพ์งานของนักเขียน

แบบเรียนและตำราเพิ่มมากขึ้น ในวงการศึกษา มีการจัดตั้ง “โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง” ที่ซอยประสานมิตร ถนนสุขุมวิท และประกาศใช้ “แผนการศึกษาชาติ พ.ศ.2494”, ยกฐานะกองโรงเรียนประชาบาลในกรมสามัญศึกษาขึ้นเป็นกรมประชาศึกษา เพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษาพิเศษ

“เกิดสำเพ็ง” ชี้ว่าเพราะนั่นเป็นช่วงที่การพิมพ์กลายเป็นเทคโนโลยีที่คนทั่วไปซึ่งอาจจะ “ไม่มีหัวนอนปลายตีน” เข้าถึงได้

 

หนังสือพิมพ์ค่ายสังคมนิยมเป็นตัวอย่างของความรุ่งเรืองของสิ่งพิมพ์ หรือการที่โรงพิมพ์เล็กๆ เกิดขึ้นมากมาย

สาเหตุหนึ่งเพราะการเมืองโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงภายหลังสงครามโลกสิ้นสุด ในช่วงต้นของทศวรรษ 2490 บทบาทของโซเวียตรัสเซียในคณะกรรมาธิการเพื่อความมั่นคง หรือ United Nations Security Council ของสหประชาชาติ ทำให้ไทยต้องยกเลิกกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และเมื่อบวกกับการเปลี่ยนแปลงในจีน ก็ยิ่งทำให้ความคิดมาร์กซิสต์หลั่งไหลเข้ามาในไทยอย่างเต็มที่

อีกสาเหตุคือ ในช่วงแรกประเทศไทยมีบรรยากาศเสรีทางการเมือง และฝ่ายซ้ายดึงดูดสมาชิกกลุ่มใหม่คือนักศึกษาและปัญญาชนนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์ให้เข้าร่วมในการผลิตเผยแพร่ความคิดมาร์กซิสต์ และในช่วงปลาย เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เปิดเสรีอีกครั้ง

ทั้งหมดนี้ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายสังคมนิยม รวมทั้งการพิมพ์และจำหน่ายสิ่งพิมพ์ฝ่ายซ้ายขึ้นมาอยู่บนดิน หนังสือพิมพ์และนิตยสาร เช่น มหาชน อักษรสาส์น ปิตุภูมิ และการเมืองรายสัปดาห์ ปรากฏขึ้นอย่างเปิดเผย

Commodifying Marxism : The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958 เกษียร เตชะพีระ ผู้เขียน พูดถึงความรุ่งเรืองของซ้ายไทยในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งมีการพิมพ์หนังสือเป็นปัจจัยสำคัญ

หนังสือเล่มนี้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเครือข่ายของโรงพิมพ์ สายส่ง รวมทั้งร้านหนังสือของฝ่ายซ้าย ตารางที่ 7-1 หน้า 150 มีรายชื่อหนังสือกว่าสิบฉบับที่ออกมาแข่งขันกันในท้องตลาดในช่วงทศวรรษ 2490

 

ในขณะเดียวกันโรงพิมพ์เล็กและกลางตามหัวเมืองและต่างจังหวัดเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โรงพิมพ์เหล่านี้สามารถรับพิมพ์งานได้หลายประเภท ทั้งหนังสือและสิ่งพิมพ์อื่นๆ ที่จำเป็นต่อสังคมและชีวิตประจำวัน เช่น นามบัตร ใบเสร็จ ใบกฐิน และฉลากพัสดุภัณฑ์ บ้างก็มีแท่นกริ๊ก ซึ่งเป็นแบบเพลตเทน บ้างก็มีแท่นฉับแกระ ซึ่งเป็นแบบแฟลต-เบด ซีลินเดอร์

ในหนังสือ งานแสดงการพิมพ์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 (2505) ในบทความชื่อ “อนาคตของฉับแกระ” ของรัชดา หงส์ลดารมภ์ ประชาสัมพันธ์ของงาน รวมเรียกระบบการพิมพ์แบบนี้ว่าเลตเตอร์เพรส และบอกว่า

“เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่งหัดงานมาด้วยกัน อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบได้จำนวนหนึ่งไปซื้อแท่นใช้เท้าถีบมาเครื่องหนึ่ง ตัวเองไปทำงานกลางวัน ติดป้ายโฆษณาไว้ตามเรือเมล์ โรงพิมพ์ตั้งอยู่ในบ้านกลางสวนในคลองลึก เวลาเย็นคอยรับงานที่ท่าเรือเมล์ ได้นามบัตร การ์ด ฎีกา ก็ไปซื้อเอามาพิมพ์ตอนกลางคืน รุ่งเช้าก็เอางานไปส่งที่ท่าเรือเมล์หรือในเรือเมล์นั่นเอง ไม่ช้าก็ตั้งตัวได้”

ผู้เขียนแจกแจงราคาของการตั้งโรงพิมพ์ขนาดเล็กว่า “มีเงินทุนสักหมื่นบาทก็ทำกันได้แล้ว แท่นกริ๊กใช้แล้วสภาพยังดีๆ อยู่ ราคาไม่กี่พันบาท ตัวเรียงสองสามเคส ไม่เกินพันบาท ขาดก็ซื้อเพิ่มทีละน้อย แม้เจ้าของไม่เป็นเลย มีแต่สถานที่พอควรและมีไฟไม่กี่แอมป์ก็ทำงานได้ การป้อนแท่น การเรียงพิมพ์ หัดด้วยตนเอง ไม่กี่อาทิตย์ก็เป็น ซื้อการ์ดมาทีละร้อยหรือสองร้อยใบ ไม่ต้องมีเครื่องตัดกระดาษ เท่านี้ก็รับงานได้แล้ว เป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวได้”

บทความสรุปว่า “มีโรงพิมพ์อย่างนี้นับเป็นพันๆ โรง รับใช้ประชาชนเป็นล้านคนเหมือนกัน โรงพิมพ์เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นแก่ประชาชาคมย่อยๆ ซึ่งมีกระจัดกระจายทั่วประเทศ และมีคุณแก่กิจการพิมพ์โดยส่วนรวมไม่น้อย…”

ปลายทศวรรษ 2490 ขณะที่โรงพิมพ์ในกรุงเทพฯ กำลังใช้แท่นลมและแท่นโรตารี ซึ่งมีความเร็วสูงและใช้กระดาษนับพันตันต่อปี โรงพิมพ์ในต่างจังหวัดกำลังใช้แท่นฉับแกระและแท่นกริ๊ก ซึ่งแม้จะไม่เร็วนักและใช้กระดาษน้อยกว่ามาก แต่ก็มีจำนวนนับพันๆ เครื่องและขยายตัวไปในขอบเขตทั่วประเทศ

ก่อนที่การพิมพ์ระบบออฟเซ็ตจะมาถึง สิ่งพิมพ์ได้แปลงเทคโนโลยีเก่าให้กลายเป็นระบบหรือแพลตฟอร์มใหม่ ทั้งในแง่เนื้อหา การผลิต และการตลาด