มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส /การแปรเปลี่ยนของบ้านเมือง (2)

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

การแปรเปลี่ยนของบ้านเมือง (2)

ช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากขบวนเสรีในพื้นที่ต่างๆ ร่วมกับกลุ่มพันธมิตร ขับไล่ทหารญี่ปุ่นออกจากพื้นที่สำเร็จ

ในขณะที่เพื่อนบ้านเสรียังต้องต่อสู้กับกลุ่มพันธมิตร เพื่อพ้นจากสถานะอาณานิคมนั้น ประเทศไทยจึงมีเวลาพัฒนาบ้านเมืองอย่างเต็มที่ โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ที่ฉวยโอกาสใช้เป็นฐานต่อต้านการแพร่ขยายระบอบคอมมิวนิสต์ ที่นำโดยรัสเซียและจีน ที่มีเครือข่ายทั่วทั้งเอเชีย

จนมาถึงยุคสงครามเวียดนาม ที่ไทยกลายเป็นฐานการรบสำคัญของกองทัพอเมริกันและพันธมิตร

ประจวบเหมาะกับการผ่องถ่ายด้านอุตสาหกรรม ที่ฐานการผลิตย้ายจากญี่ปุ่น ผ่านไต้หวันและฮ่องกงมาไทย ด้วยในเวลานั้น แรงงานช่างฝีมือยังราคาถูก และทรัพยากรธรรมชาติเหลือเฟือ

ครั้นเมื่อกระแสโลกาภิวัตน์แผ่อิทธิพลในสังคมไทย การเปลี่ยนแปลงโลกอะนาล็อกเข้าสู่โลกดิจิตอล ด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศหลายฉบับที่ผ่าน ส่งผลให้อาคารสิ่งก่อสร้างและบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค

นอกจากถนน ยังมีทางหลวง ทางหลวงพิเศษ ทางด่วน และทางยกระดับ เช่นเดียวกับรถไฟที่มีทั้งรถไฟใต้ดิน รถไฟลอยฟ้า และรถไฟความเร็วสูง

 

อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากยุคอาณานิคม ที่ต่างชาติได้เข้ามาขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นไม้สัก ดีบุก และอื่นๆ นั้น ทำให้พื้นที่ชนบทหลายแห่งกลายเป็นเมือง ส่งผลให้เกิดการทำลายธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างมาก นำมาซึ่งปัญหามลภาวะและภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรง ดังเช่นมหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 เป็นต้น

ครั้นเกิดวิกฤตทางด้านพลังงาน การเดินทางติดต่อทางบกโดยรถยนต์ที่พัฒนาต่อเนื่อง เริ่มเป็นปัญหา เช่นเดียวกับการพัฒนาพื้นที่ชานเมืองเป็นหมู่บ้านจัดสรร จึงนำไปสู่พัฒนาการที่อยู่อาศัยหนาแน่น ในรูปแบบอาคารชุดพักอาศัยหรือคอนโดมิเนียม และระบบขนส่งมวลชนระบบราง

ทำให้การขยายตัวเมืองแบบเส้นยาว ที่เคยคิดว่าเป็นปัญหา กลับเป็นตอบรับการพัฒนาเมืองโดยบังเอิญ

การขยายตัวของเมืองที่เกิดขึ้นตามแนวทางหลวงสายต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาการเดินทางติดต่อภายในชุมชน กับการเดินทางผ่านเมือง เป็นเหตุให้มีการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองหรือทางอ้อมเมือง

แต่เมื่อขาดการควบคุมทางเข้าออก ทางหลวงจึงกลายเป็นตัวเร่งการพัฒนา มีการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนและกิจการการค้าบริเวณสองข้างทาง

จนทางหลวงกลายเป็นตัวชี้นำการขยายพื้นที่เมือง

เมืองไทยจึงมาถึงทางแพร่ง ที่ต้องเลือก ว่าจะเดินตามกระแสจากตะวันตกเทคโนโลยีขั้นสูง หรือจะแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่กำลังเสื่อมโทรม โดยการเรียนรู้เข้าใจอดีตประวัติความเป็นมา เรียนรู้จากประสบการณ์ที่บรรพบุรุษสั่งสมมา เรียนรู้เข้าใจปัจจุบัน เรียนรู้เทคโนโลยีและวิทยาการที่แปรเปลี่ยนไป

และที่สำคัญเรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพในประเทศไทยต่อไป