ถึงเวลา “ซาร์รี่” นับถอยหลัง?

ตั้งแต่ “โรมัน อับราโมวิช” อภิมหาเศรษฐีชาวรัสเซีย เข้าไปเทกโอเวอร์สโมสร “เชลซี” เมื่อปี 2003 เป็นต้นมา สิ่งที่มาพร้อมๆ กับความสำเร็จหลายอย่าง ทั้งตำแหน่งแชมป์พรีเมียร์ลีก 5 สมัย, เอฟเอคัพ 5 สมัย, ลีกคัพ 3 สมัย, ยูโรป้าลีก 1 สมัย และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก 1 สมัย ก็คือความเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งผู้จัดการทีมอย่างปัจจุบันทันด่วนหลายต่อหลายครั้ง

ตั้งแต่อับราโมวิชเข้าไปซื้อหุ้นใหญ่ของทีม สิงห์บลูส์ใช้โค้ชทั้งแบบถาวรและขัดตาทัพไปแล้วทั้งสิ้น 15 คน โดยบางคนก็หวนกลับมาทำงานรอบสองกับทีม ขณะที่บางคนอยู่ด้วยเพียงชั่วครู่เท่านั้น

ด้วยสไตล์การบริหารแบบนักธุรกิจ เชลซีมีวิธีการดำเนินการที่ค่อนข้างแตกต่างกับหลายสโมสร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้อำนาจบอร์ดบริหารตัดสินใจในหลายๆ เรื่อง ที่ชัดเจนที่สุดคือตลาดซื้อขายนักเตะซึ่งเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของบอร์ด มี “มาริน่า กรานอฟสกาย่า” ผู้อำนวยการสโมสรคอยดูแลเรื่องการเจรจาสัญญากับนักเตะและสโมสรต่างๆ

ขณะที่โค้ชหรือผู้จัดการทีมทำได้เพียงเสนอแนะความคิดเห็นว่าอยากได้ผู้เล่นแบบไหนหรือระบุชื่อที่ต้องการไป แต่ไม่มีอำนาจแทรกแซงการซื้อขายหรือต่อสัญญานักเตะคนใดทั้งสิ้น

หน้าที่หลักของโค้ชคือการดูแลการฝึกซ้อม การจัดระบบการเล่น และการวางแผนกับแก้ไขสถานการณ์ในสนาม เพื่อให้ผลแข่งออกมาเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย

เมื่อยึดผลลัพธ์เป็นสำคัญ ถ้าผลงานไม่ถูกใจ ไม่เข้าตา บรรดาโค้ชเหล่านี้ก็มักจะโดนปลดได้โดยง่าย เรียกว่าอายุงานมาตรฐานของโค้ชเชลซีในยุคโรมัน อับราโมวิช อยู่ที่ไม่เกิน 2 ฤดูกาล และบางคนอาจจะชะตาขาดเร็วกว่านั้นถ้าผลงานย่ำแย่จริงๆ

ประสานักธุรกิจใหญ่ บทจะตัดรอนกัน โรมันทำได้โดยง่ายไม่มัวมาคำนึงถึงผลงานในอดีตหรือความดีความชอบที่เคยทำมา ดังนั้น ตอนที่สิงห์บลูส์ในยุคโชเซ่ มูรินโญ่ (ทั้ง 2 รอบ) หรืออันโตนิโอ คอนเต้ เริ่มไปได้ไม่ดีในฤดูกาลถัดจากที่เพิ่งคว้าแชมป์ลีกได้ พวกเขาจึงตกงานไปอย่างไม่มีโอกาสได้แก้ตัวในฤดูกาลถัดไป

สําหรับกุนซือคนปัจจุบัน “เมาริซิโอ ซาร์รี่” นั้น ถือว่าเริ่มต้นได้น่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง พาทีมออกสตาร์ตช่วงต้นฤดูกาลด้วยการทำสถิติไร้พ่ายในทุกถ้วยถึง 18 นัดรวด ก่อนจะสะดุดลงด้วยการพ่ายแพ้ให้ “ท็อตแนม ฮอตสเปอร์” คู่ปรับร่วมเมืองเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

หลังจากนั้นเชลซีกลับไม่สามารถรักษามาตรฐานทีมเหมือนในช่วงแรกเอาไว้ได้ เริ่มมีสถิติเสมอบ้าง แพ้บ้าง แม้แต่ชัยชนะก็ยังทำได้แบบหืดขึ้นคอในหลายนัด

ตัวซาร์รี่เองก็โดนตั้งคำถามเรื่องแท็กติกและแผนการเล่น จากช่วงแรกที่สไตล์ “ซาร์รี่บอล” เหมือนจะใช้ประโยชน์จากความสามารถของลูกทีมออกมาได้เต็มที่ ตอนนี้กลายเป็นโดนมองว่าไม่ค่อยมีลูกเล่นอะไรใหม่

เวลาแก้เกมในสนามก็ไม่ให้ความรู้สึกว่าจะพลิกสถานการณ์ได้ เพียงแค่การเปลี่ยนตัวตามตำแหน่งเท่านั้น และบางครั้งการขยับนักเตะไปเล่นในตำแหน่งไม่ถนัด เช่น จับ “เอ็นโกโล่ ก็องเต้” กองกลางตัวรับที่หลายคนยกย่องว่าเก่งที่สุดในโลกไปยืนเป็นมิดฟิลด์ตัวรุก หรือให้เพลย์เมกเกอร์อย่าง “เอเด็น อาซาร์” เป็นกองหน้าตำแหน่ง “ฟอลส์ไนน์” ก็ทำให้เขาโดนวิจารณ์ว่าหัวดื้อฝืนธรรมชาติเกินไป

กรณีของก็องเต้ต้องขยับตำแหน่งเพื่อเปิดทางให้ “จอร์จินโญ่” ลูกรักที่ซาร์รี่หนีบมาจาก “นาโปลี” พร้อมกันได้ทำหน้าที่ครองบอลจ่ายบอลอย่างที่เคยทำแล้วได้ผลในกัลโช่ เซเรียอา ส่วนกรณีของอาซาร์เป็นเพราะกุนซือชาวอิตาเลียนไม่ไว้ใจในศักยภาพกองหน้าที่มีอย่าง “อัลบาโร่ โมราต้า”

สุดท้ายสโมสรจึงตัดสินใจช่วยซาร์รี่แก้ปัญหาด้วยการดึงตัว “กอนซาโล่ อิกวาอิน” กองหน้ายูเวนตุสที่เล่นให้เอซี มิลาน ด้วยสัญญายืมตัวยาวตลอดฤดูกาล โดยเข้าไปรับช่วงสัญญาแทนมิลาน ให้ดาวยิงชาวอาร์เจนไตน์ช่วยถมช่องว่างเรื่องกองหน้าตีนบอดให้ได้

ซาร์รี่แสดงท่าทีชัดเจนมาตลอดว่าอยากได้อิกวาอิน เพราะมั่นใจในฝีเท้าของเขามาตั้งแต่ร่วมงานกันที่นาโปลี ซึ่งการตามใจเขาของบอร์ดบริหารเที่ยวนี้จะว่าไปก็เหมือนการวัดใจกัน

ถ้าสุดท้ายแล้ว อิกวาอินทำไม่ได้อย่างที่ซาร์รี่คาดหวัง สถานการณ์ของทีมยังคงไม่ดีขึ้น เวลานี้ก็สุ่มเสี่ยงจะโดนเบียดร่วงตำแหน่งท็อปโฟร์เพราะโดน “อาร์เซนอล” และ “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” ไล่จี้ห่างเพียง 3 คะแนน ก็มีแนวโน้มว่าอนาคตของซาร์รี่อาจจะจบลงเร็วเหมือนกับกุนซือคนก่อนๆ ของทีม

ยิ่งถ้าช่วงโค้งสุดท้ายผลงานไม่ดีจนหลุดท็อปโฟร์ แถมมีสิทธิที่อาซาร์อาจตัดสินใจย้ายไป “รีล มาดริด”

เผลอๆ ซาร์รี่อาจไม่มีเวลาได้แก้ตัวในฤดูกาลถัดไปก็เป็นได้!