รู้จัก “ทานาคา” สารพัดประโยชน์! รักษาพิษ บำรุงผิว สิวอักเสบบอกลาได้!

ทานาคาเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ในวงศ์ส้ม RUTACEAE

คนไทยเราเรียกหลายชื่อ ทางเหนือเรียกต้นกระแจะ กระแจะจันทน์ ขะแจะ ภาคกลางเรียกพญายา อีสานเรียกตุมตัง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Naringi crenulata (Roxb.) Nicolson เป็นไม้กึ่งผลัดใบ

ต้นไม่ใหญ่มากขนาดใกล้เคียงกับต้นมะกรูดหรือส้มโอที่ต้นใหญ่หน่อย เปลือกต้นสีครีมปนเขียว มักแตกเป็นร่องตื้นๆ มีหนามแข็งเหมือนกันแต่ขนาดเล็กกว่า ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคี่ใบย่อยมี 3-9 ใบ ขอบใบหยักมนห่างๆ ที่เป็นความหมายของชื่อท้ายของชื่อวิทยาศาสตร์

มีความพิเศษที่ก้านและแกนใบประกอบที่มีลักษณะแผ่เป็นปีกหรือแผ่นเหมือนใบ ลักษณะเช่นนี้พบได้ในพืชวงศ์ส้ม ทั้งมะนาว ส้ม ส้มโอ และที่เห็นชัดและขนาดใหญ่กว่าใครเห็นจะเป็นใบมะกรูด ที่เห็นเป็น 2 แผ่นต่อกัน แผ่นด้านล่างเป็นก้านใบแผ่ออกเป็นแผ่น แผ่นตรงปลายเป็นแผ่นใบที่แท้จริง

ใบของทานาคาคล้ายกับเอาใบมะกรูดมาต่อกันหลายๆ อัน เมื่อยกขึ้นส่องกับแสงจะเห็นจุดโปร่งแสงของต่อมน้ำมัน

ดอกมีขนาดเล็กออกเป็นช่อแบบช่อหางนกยูงไทย แต่ขนาดเล็กและสั้นกว่ามาก ดอกย่อยลักษณะแบบดอกมะนาวขนาดเล็ก สีขาวกลิ่นหอมหวาน แต่มีกลีบเลี้ยงกลีบดอกอย่างละ 4 กลีบ ติดผลเป็นช่อ ผลสดแบบผลดอกแก้ว แต่ขนาดเล็กกว่า สุกสีดำน้ำเงิน รูปเกือบกลมขนาดเล็ก ภายในมี 1-4 เมล็ด

เนื้อไม้มีสีน้ำตาลปนเหลืองอ่อน เป็นมันเลื่อม เนื้อหยาบแต่สม่ำเสมอ แข็ง หนักปานกลาง ค่อนข้างเหนียว

นิยมใช้ในงานแกะสลัก ทำตู้ และหีบใส่ของที่ต้องการกันแมลง

ต้นที่จะนำมาใช้ฝนทาหน้า นิยมใช้ต้นที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป ซึ่งจะมีเปลือกไม้ที่หนาพอสมควร นำมาฝนผสมกับน้ำเป็นเครื่องหอมประทินผิวแบบโบราณ บางครั้งนิยมใช้ฝนผสมกับไม้จันทน์เป็นแป้งทาหน้าซึ่งมีกลิ่นหอม หรือที่ภาษาไทยโบราณเรียกขานกันว่า “กระแจะจันทน์”

กระแจะจันทน์ของไทยบางครั้งใส่เครื่องหอมอื่นๆ ผสมลงไปด้วย นับเป็นเครื่องสำอางที่อยู่คู่คันฉ่องของสาวไทยโบราณมาก่อน แต่ปัจจุบันนี้กระแจะจันทน์มีที่ใช้เป็นแป้งเจิม เพื่อความเป็นสิริมงคลเท่านั้น

ในตำรายาไทย กระแจะยังมีสรรพคุณแก้ไข้ แก้กระษัย แก้โลหิตจาง ผอมแห้ง ดับพิษร้อน ใช้เข้ายากวาดคอหรือยาเป่าคอแก้ไอ หรือใช้ในยาหอม เช่น ยาหอมจิตรารมย์ ยาหอมสุคนธโอสถ ยาหอมเทพประสิทธิ์ มีส่วนผสมของกระแจะเสมอ

หมอยาไทยใช้เปลือกต้นกระแจะ ลดไข้ ดับพิษร้อน เจริญอาหาร บำรุงจิตใจให้ชุ่มชื่นแจ่มใส รักษาโรคโลหิตผอมแห้ง และโรคกระษัย

รากใช้เป็นยาระบาย ช่วยขับเหงื่อ รักษาอาการปวดเกร็งในท้อง

ใบมีสรรพคุณแก้ลมชัก แก้ไข้ แก้ปวดข้อและกระดูก คุมกำเนิด

ผลใช้รักษาพิษ เป็นยาบำรุง รักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ เนื่องจากอาหารไม่ย่อย

จากรายงานผลการวิจัยผงทานาคาแล้วพบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส สามารถกรองรังสีอัลตราไวโอเลต ยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย และยับยั้งการอักเสบได้

ส่วนการศึกษาถึงความเป็นพิษ พบว่ามีความเป็นพิษต่ำมาก มีความปลอดภัยในการใช้เป็นเครื่องสำอางช่วยให้ผิวหน้าอ่อนเยาว์ ขาวเนียนกระจ่าง และรักษาสิวได้

รายงานสารเคมีที่พบในทานาคาคือ อาร์บูติน (Arbutin) ซึ่งเป็นสารประเภทไกลโคไซด์ พบได้ในพืชจำพวกแบร์เบอร์รี่ (Bearberry) มีฤทธิ์ช่วยลดจุดด่างดำบนผิวหนัง ฝ้า กระ โดยต้านการรวมตัวของเม็ดสีเมลานินในชั้นผิวหนัง

ดังนั้น หากทาทานาคาเป็นประจำแบบสาวพม่า จะมีหน้าใส ไร้ฝ้า แม้ว่าจะตากแดดเป็นประจำ นอกจากนี้ยังป้องกันสิวหรือสิวอักเสบได้ด้วย