บทวิเคราะห์ : “คิม-ทรัมป์” ซัมมิตหน 2 จุดเปลี่ยนหรือโอกาสสุดท้าย

มีความเคลื่อนไหวที่บ่งชี้แนวโน้มความเป็นไปได้เริ่มมาตั้งแต่ต้นปีว่าการพบปะสุดยอดครั้งที่ 2 ระหว่างคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ กับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อหาทางแนวทางยุติข้อพิพาทขัดแย้งกันบนคาบสมุทรเกาหลี อาจจะเกิดขึ้นได้ที่ไหนสักแห่งที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายสะดวกใจ

ซึ่งข่าวลือที่ออกมาก่อนหน้านี้มีทั้งชื่อของสิงคโปร์ เจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือ-สหรัฐครั้งแรกครั้งประวัติศาสตร์ เวียดนาม ฮาวาย รวมถึงไทย ที่อยู่ในรายชื่อแคนดิเดตสถานที่จัดประชุม

กระทั่งสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มมีความเคลื่อนไหวชัดเจนมากขึ้นว่าการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐ-เกาหลีเหนือครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

และอาจเป็นเวียดนามที่จะรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพคอยดูแลอำนวยความสะดวกให้ในการจัดประชุม

เนื่องจากเวียดนามเป็นชาติที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับทั้งสองประเทศ

 

แหล่งข่าววงในรัฐบาลเวียดนามแย้มพรายว่าฝ่ายเวียดนามได้เริ่มดำเนินการเตรียมการด้านโลจิสติกส์สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐ-เกาหลีเหนือแล้ว

ซึ่งสถานที่จัดอาจจะเป็นที่กรุงฮานอย หรือไม่ก็ดานัง เมืองท่าชายฝั่งของเวียดนามที่ผ่านประสบการณ์จัดการประชุมเวทีระดับนานาชาติมาแล้ว

และการออกมาพูดเองของทรัมป์ว่าได้ตัดสินใจเลือกประเทศแล้ว ยังเป็นการย้ำสำทับว่าการพบปะเจรจากันโดยตรงของทรัมป์กับคิมน่าจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่จะต้องจับตาดูกัน หากการพบปะสุดยอดผู้นำสหรัฐ-เกาหลีเหนือ ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นได้จริง ว่าเนื้อหาสาระของสิ่งที่ผู้นำทั้งสองชาติจะบรรลุความเห็นพ้องร่วมกันได้เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสูงสุดของความพยายามแก้ไขปัญหาพิพาทระหว่างกันว่าจะเป็นอย่างไร

นั่นก็คือการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีและการนำความสงบสันติมาสู่ภูมิภาคนี้อย่างแท้จริง

 

มุน แจ อิน ผู้นำเกาหลีใต้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการโน้มน้าวให้คิมและทรัมป์ยอมมานั่งโต๊ะเจรจาพูดคุยทำความเข้าใจกันได้ ตั้งความหวังว่าการพบปะสุดยอดผู้นำสหรัฐ-เกาหลีเหนือครั้งที่ 2 อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันทำงานอย่างจริงจังเพื่อให้เป้าหมายที่ตั้งไว้บรรลุผลสัมฤทธิ์

แต่อีกหลายคนก็หวั่นใจว่า ไม่แน่การพบปะกันครั้งนี้อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่คู่พิพาทคู่นี้จะยอมนั่งโต๊ะเจรจากันด้วยดี

สิ่งที่น่าห่วงที่อาจทำให้การเจรจาไปต่อไม่ได้ นั่นคือผลประโยชน์ของตนเองที่แต่ละฝ่ายตั้งธงเอาไว้ ซึ่งต้องดูว่าแต่ละฝ่ายจะยอมถอยกันคนละก้าว หรือต่างฝ่ายต่าง “ให้และรับ” ไปพร้อมกันอย่างเท่าเทียมได้หรือไม่

ซึ่งที่ผ่านมาพัฒนาการที่เกิดขึ้นยังไม่เห็นความคืบหน้านัก นับจากการพบปะกันครั้งประวัติศาสตร์ของทรัมป์และคิม

โดยเกาหลีเหนือยังคงตั้งเงื่อนไขให้สหรัฐผ่อนคลายหรือยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดที่มีต่อเกาหลีเหนือและหยุดการกระทำที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของเกาหลีเหนือก่อน

ขณะที่ทรัมป์ก็ยืนกรานให้เกาหลีเหนือแสดงให้เห็นถึงความจริงใจและทำลายทิ้งคลังนิวเคลียร์และมิสไซล์เสียก่อนแล้วมาคุยกันเรื่องยกเลิกการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ

 

ไม่ว่าการเจรจาต่อรองและผลลัพท์ ของการเจรจาระหว่าง “ทรัมป์-คิม” จะเป็นอย่างไร แต่ในมุมมองของนักวิเคราะห์หลายคนที่เฝ้าตามดูพัฒนาการความสัมพันธ์ของสองชาติคู่ปฏิปักษ์ ต่างมองเห็นตรงกันว่าหากทั้งสองฝ่ายต้องการแก้ข้อพิพาทขัดแย้งที่มีอยู่ระหว่างกันอย่างจริงจัง

ทรัมป์และคิมจำเป็นจะต้องใช้โอกาสนี้ในการสร้างบรรยากาศประนีประนอมและทำให้เกิดความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้จริงว่าจะลงมือดำเนินการอย่างไรในการก้าวไปสู่เป้าหมายของการปลดนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีและยุติความเป็นปรปักษ์ต่อกันของทั้งสองฝ่าย

แฮร์รี แคเซียนิส ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติในกรุงวอชิงตัน บอกว่าอย่างน้อยๆ ครั้งนี้ทั้งทรัมป์และคิมจะต้องแสดงให้เห็นแนวทางความร่วมมือกันแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมชัดเจน

ไม่ใช่เหมือนครั้งแรก ที่แม้ผู้นำทั้งสองจะประกาศบรรลุความตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อนำสันติภาพมาสู่คาบสมุทรเกาหลี

แต่กลับไร้ซึ่งรายละเอียดและวิธีการที่ชัดเจนว่าจะทำกันอย่างไร

จนทำให้มีการมองกันว่าการพบปะกันครั้งนั้นของทรัมป์และคิมที่สิงคโปร์ ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากปาหี่การเมืองหรือเรียลลิตี้โชว์

 

ขณะที่ในความเห็นของคิม ซอง ฮัน นักรัฐศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเกาหลี มองว่าควรจะทุ่มความพยายามทั้งหมดที่มีอยู่ในการนำเกาหลีเหนือมาสู่โต๊ะเจรจาให้ได้พร้อมกับบัญชีคลังแสงนิวเคลียร์ที่เกาหลีเหนือมีอยู่ในความครอบครองทั้งหมดให้อยู่บนโต๊ะเจรจา ซึ่งคิม ซอง ฮัน ยังแนะว่าทรัมป์ยังไม่ควรจะยกเลิกการคว่ำบาตรหรือยอมตกลงที่จะประกาศให้มีการยุติภาวะสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการ เว้นเสียแต่จะได้เห็นบัญชีคลังนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือฉบับสมบูรณ์เสียก่อน

ส่วนลิม อึล ชอล อาจารย์ภาควิชาเกาหลีเหนือศึกษา มหาวิทยาลัยคยองนัม มองว่าข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นในการพบปะสุดยอดผู้นำสหรัฐ-เกาหลีเหนือครั้งที่ 2 หากไร้ซึ่งถ้อยคำแสดงความชัดเจน จะยิ่งเป็นการเพิ่มความกังขาที่มีต่อความจริงใจของเกาหลีเหนือ

ซึ่งถ้ายังออกมาเหมือนเมื่อครั้งการพบปะสุดยอดครั้งแรก ก็จะเป็นงานยากยิ่งขึ้นสำหรับทรัมป์ในการที่จะปกป้องนโยบายของตนเองที่มีต่อเกาหลีเหนือ

และที่สำคัญ ทั้งสองฝ่ายจะต้องสร้างข้อผูกพันให้กับอีกฝ่ายปฏิบัติตามกรอบความตกลงในสิ่งที่สามารถบรรลุความเห็นพ้องกันไว้ให้ได้ เพราะอย่างน้อยก็ยังทำให้มีหวังว่าทั้งคู่ยังจะสานต่อการแก้ปัญหากันอยู่ ไม่ใช่ปิดประตูแห่งโอกาสนั้นไปเลย

อย่างไรก็ดี คงต้องรอลุ้นว่าทรัมป์และคิมจะมีอะไรเซอร์ไพรส์ให้ชาวโลกได้เห็นหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงแค่ปาหี่โชว์อีกคำรบ!