ประชา สุวีรานนท์ : ดอร่ากับแผนที่

Dora the Explorer เป็นหนังการ์ตูนสำหรับเด็ก เคยฉายทางทีวีและหาได้ทั่วไปในรูปของดีวีดี เริ่มออกอากาศในสหรัฐ และแพร่หลายไปทั่วโลกมาสิบกว่าปีแล้ว

บ้านไหนมีเด็กไม่เกินสิบขวบ น่าจะรู้จักเพราะทุกคนจะได้ดู แถมยังต้องเปิดซ้ำไปมาตอนละหลายสิบรอบ

ดอร่าเป็นนักผจญภัย เธอสะพายเป้วิเศษใบหนึ่งซึ่งติดหลังอยู่เกือบตลอดเวลา จุดเด่นคือเป็นเด็กละติน่าหรือเชื้อสายเม็กซิกันและพูดสองภาษา คือ อังกฤษกับสเปน เรื่องจะเดินอย่างเชื่องช้าและตลอดทางจะมี puzzle ดังขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เด็กตอบ

ทุกตอนมีเพลงและระบำรำฟ้อนมากมาย นี่เป็นรูปแบบของรายการซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ที่เด็กวัย preschool หรือก่อนประถม (คล้ายกับฟอร์แมตของ Teletubbbies)

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เดอะแม็ป หรือ “แผนที่” ตัวละครตัวหนึ่ง ซึ่งที่มีหน้าตาและรูปร่างเหมือนม้วนกระดาษ และทำหน้าที่ชี้ทิศและแสดงทาง

แถมยังต้องร้องเพลงทุกครั้งที่ปรากฏตัว คือ I’m the Map.

If there is a place you got to go
I am the one you need to know
I’m the Map! I’m the Map! I’m the Map!
If there is a place you got to get
I’m the Map! I’m the Map! I’m the Map!

01-22doraดอร่าชอบวางแผนการเดินทาง เธอจะพกเดอะแม็ปติดเป้ไว้

มันจะกางตัวเองออกเมื่อเป็นที่ต้องการและเฉลยปัญหาหรือบอกทางที่ดอร่าจะไปในวันนั้น ในแต่ละตอน ซึ่งมีกว่าร้อยแล้ว ไม่เพียงสอนภาษาและเรื่องของสี รูปร่าง และตัวเลข แต่จะสอนเรื่องแผนที่ด้วย

สิ่งที่ทำให้การสอนได้ผลดีมีหลายอย่าง เช่น เดอะแม็ปมีบุคลิกและหน้าที่เหมือนเดิมแต่เนื้อหาเปลี่ยนไปในแต่ละตอน ในแง่ที่เป็นรายการสำหรับเด็กเล็กก็จะมีความง่าย ช้าและทำซ้ำ เช่น ถ้ามีการแนะนำสถานที่ จะพูดซ้ำถึงสองสามครั้ง หรือถ้าจะทำให้เด็กเห็นความสัมพันธ์ของสองแห่งก็จะมีเส้นเชื่อม

การทำให้เดอะแม็ปเป็นตัวละครที่มีชีวิต มีบุคลิก เป็นวิธีหนึ่งในการบอกว่าแผนที่มีชีวิตจิตใจหรือจุดมุ่งหมายของมันเอง

แผนที่ไม่เคยทำให้เธอหลงทาง สามารถชี้ทางหรือหาวิธีแก้ปัญหาให้เธอเสมอ

Dora the Explorer จึงเป็นเสมือนห้องเรียนวิชาภูมิศาสตร์และความรู้เรื่อง visual/spatial สำหรับเด็กวัยนี้ และผู้สร้างหนังการ์ตูนชุดนี้คิดไว้แต่ต้นว่าแผนที่เป็น cognitive organizer

02-22dora

จุดเริ่มต้นและจุดมุ่งหมาย ไม่ว่าจะเป็นตึกรามบ้านเมือง ชายทะเล หรือป่าเขา ถูกขยายให้ใหญ่ขึ้น ไมล์สโตนอื่นๆ ก็เช่นกัน จะถูกวาดเป็นรูปที่เข้าใจง่าย วิธีนี้ทำให้เดอะแม็ปของดอร่าคล้ายกับแผนที่เพื่อการท่องเที่ยว คือมีประโยชน์เฉพาะทาง

เราอาจจะนึกถึงหนังสือนิทานที่มีภาพประกอบมากมาย หรือวลีที่ว่า “ภาพหนึ่งพูดได้พันคำ” ในแง่นี้ แผนที่ทำมากกว่าภาพเสียอีก มันแสดงข้อมูลพื้นที่และสถานที่ได้ด้วย

นอกจากนั้น ยังให้ภาพที่เน้นความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ของเรื่องราวหรือแนวคิดต่างๆ

ซึ่งก็ตรงกับคำจำกัดความของแผนที่โดยทั่วไป นั่นคือ สิ่งที่ระบุสถานที่และเวลา บรรจุเหตุการณ์ และคอนเซ็ปต์ต่างๆ เอาไว้ภายในพื้นที่หนึ่ง

ตามปกติ โดยเฉพาะในแผนที่ภูมิศาสตร์หรือแบบที่เราเชื่อว่ามีความเป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด ไม่ควรจะมีผู้คน หรือไม่ควรจะเล่าเรื่องราวต่างๆ อย่างมีความรู้สึก

ทุกคนเริ่มต้นใช้แผนที่เพราะมีเรื่องบางอย่างที่จะปรึกษากับมัน หรือใช้มันเป็นอุปกรณ์ในการชี้ทิศนำทางเท่านั้น

แต่นั่นเป็นเพียงบทบาทหนึ่ง อีกบทบาทคือการเล่าเรื่องด้วย theme ซึ่งอาจจะว่าด้วยเส้นทางรถยนต์ รถไฟฟ้า แหล่งทรัพยากร ความสูงต่ำของภูมิประเทศ และสังคมการเมืองก็ได้ เมื่อเราเลือกแผนที่ จะโดยรู้ตัวหรือไม่ เรากำลังเลือกมุมมองบางอย่างสำหรับสถานที่นั้นๆ

นั่นคือเดอะแม็ปจะมี theme หรือเป็นแผนที่แบบที่เรียกว่า thematic map

อันที่จริง ไม่มีฉบับใดที่ “ถูกต้อง” หรือเป็นวิทยาศาสตร์ไปทุกด้าน การมี theme หมายความว่าแต่ละฉบับเป็นผลของอัตวิสัยหรือ subjective ของคนทำแผนที่ ซึ่งก็คือมีการกระทำ เช่น ตีความและตัดสินใจนั่นเอง แผนที่จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสะท้อนมุมมอง และความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสถานที่

เด็กจะโตมากับหนังชุดนี้และคุ้นเคยกับเดอะแม็ปตั้งแต่เมื่ออายุสองสามขวบ ซึ่งนับว่าอ่อนกว่าที่เคยเชื่อกัน (เดิมว่ากันว่าต้องเจ็ดขวบขึ้นไป)

นอกจากนั้น แม้แผนที่ส่วนมากจะไม่มีตัวละครหรือผู้คน แต่เด็กจะมองเห็นร่องรอยของสิ่งที่ชีวิต และสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นด้วยความรู้สึกส่วนตัวของเขาเอง

ถึงวันนี้ เขาอาจจะมีแผนที่อยู่ในหัว และสามารถนำคนอื่นเที่ยวสถานที่ต่างๆ ได้มากกว่าเรา

 

หนังการ์ตูนชุดนี้ถูกวิจารณ์มากในแง่ที่ใช้เด็กเม็กซิกันและภาษาสเปนเป็นจุดขาย บางคนบอกว่าเป็นสูตรการสร้างตัวละครยุคโพสต์โคโลเนียล

บางคนบอกว่า แปลกมากที่ใช้เด็กเม็กซิกันมาสอนการใช้แผนที่ เพราะแผนที่เป็นเครื่องมือในยุคล่าอาณานิคม ซึ่งเม็กซิโกก็เคยเป็นเหยื่อ

Dora the Explorer เป็นแบบเรียนพื้นฐานในการทำให้เด็กคุ้นเคยกับแผนที่ เดอะแม็ปทำให้สถานที่ต่างๆ ดู “จริง” กว่าที่มันเป็น ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่หรือการเคลื่อนที่จากจุด A ไปจุด B จะมีเรื่องราวให้ค้นหาและเล่าออกมาได้

แน่นอน แผนที่แบบนี้อาจจะทำขึ้นเพื่อความสนุกสนาน ไม่ได้มีไว้เพื่อชี้ทิศนำทางหรือมีประโยชน์ที่ชัดเจน และเรื่องที่เล่าด้วยแผนที่แต่ละฉบับ ก็ล้วนมาจากความสงสัยและมหัศจรรย์ใจของเด็ก ทั้งหมดคือจุดซึ่งไม่เคยมีชื่อและถูกมองข้ามไปโดยผู้ใหญ่คนอื่นๆ

จะมีประโยชน์มากในเชิงวรรณกรรม เช่น ทำให้เห็นว่านิยายนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ที่แน่นอน เช่น เส้นทางของยูลิซิสหรือพระอภัยมณี และในบางครั้งอาจจะน่าสนใจกว่าตัวละครที่สำคัญของเรื่องเสียอีก

และผลที่ได้ ก็เช่นเดียวกับการอ่านนิทานภาพ คือสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกและความพิศวงสงสัยของเด็ก

 

ไม่นานมานี้มียกเครื่องครั้งใหญ่ ดอร่าโตขึ้นเป็นเด็กสิบขวบ และเดอะแม็ป ซึ่งเคยเป็นตัวละครสำคัญ ก็ถูกปรับปรุงด้วย ตอนนี้ดอร่าใช้โทรศัพท์มือถือ และแผนที่ของเธอกลายเป็นแม็ปแอพไปแล้ว

สำหรับพ่อแม่ ที่กลัวอุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่ อาจจะสงสัยว่าเด็กสมัยนี้ไม่สนใจแผนที่กระดาษแล้วหรือ?

แต่สำหรับเด็กที่รู้จักเดอะแม็ปไม่มีปัญหา ทักษะเดิมๆ ในการอ่านแผนที่ยังคงอยู่ เพียงกำลังจะเปลี่ยนรูปไปเท่านั้นเอง