ศัลยา ประชาชาติ : “หมอเสริฐ” แก้เกม หลังถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษ ชิงลาออก “สู้คดีปั่นหุ้น”

กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ สำหรับกรณีนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “หมอเสริฐ” ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ และลูกสาว-แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราเสริฐทองโอสถ รวมทั้งนางนฤมล ใจหนักแน่น เลขานุการสำนักประธานคณะผู้บริหาร (หมอเสริฐ) ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งลงโทษทางแพ่งในกรณี “สร้างราคาหลักทรัพย์” หรือปั่นหุ้น บมจ.การบินกรุงเทพ หรือ BA เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส

โดยเรียกค่าปรับรวม 499.45 ล้านบาท และสั่งห้ามเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน

เนื่องจาก ก.ล.ต.ตรวจสอบพบว่า ระหว่างวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 12 มกราคม 2559 ทั้ง 3 คนร่วมกันซื้อขายหุ้น BA อย่างต่อเนื่อง และจับคู่ซื้อขายหลักทรัพย์ BA ระหว่างกันเองในลักษณะอำพรางการซื้อขาย ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ และส่งผลให้ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้น BA ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด

สำหรับกรณีนี้เป็นที่สนใจมากของวงการ ด้วยว่าบุคคลที่ถูกกล่าวโทษนั้นมีสถานะเป็น “มหาเศรษฐี” อันดับต้นๆ ของไทย และเป็นแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยปี 2561 ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

แม้ว่ากรณีปั่นหุ้นจะเกิดขึ้นกับหุ้น BA แต่เนื่องจากหมอเสริฐมีตำแหน่งสำคัญเป็นทั้งประธานคณะผู้บริหาร และประธานกรรมการบริหารในบริษัท BA รวมทั้งเป็นประธานคณะผู้บริหาร/กรรมการอำนวยการใหญ่ และประธานกรรมการบริหารของ BDMS

ขณะที่แพทย์หญิงปรมาภรณ์ก็เป็นประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ และกรรมการใน BDMS ทำให้กรณีนี้สั่นสะเทือนกับธุรกิจของหมอเสริฐถึง 2 บริษัทพร้อมกันเต็มๆ

 

อย่างไรก็ตาม หลังถูก ก.ล.ต.ประกาศใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งในวันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2562 เช้าวันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2562 ทางบริษัท BDMS และ BA ก็ได้ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า นายแพทย์ปราเสริฐ, แพทย์หญิงปรมาภรณ์ และนางนฤมล ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งในบริษัททั้งสองแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2562

พร้อมประกาศจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์

การชิงประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งของหมอเสริฐและลูกสาวทันที เป็นการตัดสินใจเพื่อปกป้องความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อหุ้น BDMS และ BA เพราะแม้ว่าช่วงแรกของการประกาศลงโทษของ ก.ล.ต. บรรดานักลงทุนต่างเทขาย และมีการจับตาว่านักลงทุนสถาบัน กองทุนต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาล (CG) อาจต้องมีการปรับลดพอร์ตการลงทุนของหุ้นสองตัวนี้

แต่เมื่อหมอเสริฐและลูกสาวประกาศลาออกจากทุกตำแหน่ง เท่ากับเป็นการแยกปัญหาส่วนตัวกับเรื่องของ “บริษัท” ออกจากกัน ก็ทำให้ผลกระทบต่อหุ้นบรรเทาเบาบางไป

 

เช่นที่นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า จากการหารือกันในสมาคมเห็นตรงกันว่า ที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษเป็นกรณีเฉพาะบุคคล เมื่อทั้งนายแพทย์ปราเสริฐและแพทย์หญิงปรมาภรณ์ได้ออกจากการเป็นกรรมการของทั้ง BA และ BDMS แล้ว ในกรณีบุคคลจะต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ส่วนกรณีของบริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เนื่องจากบริษัทไม่ได้ถูกกล่าวหา

กรณีนี้จึงแตกต่างจากในอดีต กรณีของ บมจ.แห่งหนึ่ง ซึ่งถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษว่า กรรมการ/ผู้บริหาร ปฏิบัติไม่เหมาะสม และไม่ยอมลาออก จนนำไปสู่การแบน หรืองด-หลีกเลี่ยงการลงทุนใน บมจ.แห่งนั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการชิงลาออกจะช่วยให้สถานะของ BA และ BDMS ไม่ถูกเกี่ยวโยงถึงปัญหาธรรมาภิบาลภายในองค์กรได้ แต่การที่กิจการขาดคีย์แมนคนสำคัญทั้งสองไปก็เป็นเรื่องใหญ่

โดยในส่วนของบริษัท BDMS ณ ไตรมาส 3/2561 มูลค่าสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 125,805 ล้านบาท รายได้ 60,570 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7,841 ล้านบาท สำหรับ BA สินทรัพย์รวม 61,922.25 ล้านบาท รายได้ 21,663.99 ล้านบาท กำไรสุทธิ 663.83 ล้านบาท

ในการที่จะหาบุคคลที่มีบารมีและความสามารถขึ้นมาบริหารและขับเคลื่อนธุรกิจ สำหรับในส่วนของบริษัทการบินกรุงเทพนั้น ปัญหาอาจน้อยกว่า เพราะปัจจุบันมีนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ลูกชายนายแพทย์ปราเสริฐเข้ามารับช่วงการบริหารในตำแหน่ง “กรรมการผู้อำนวยการใหญ่” อยู่แล้ว

แต่สำหรับ BDMS ซึ่งทั้งหมอเสริฐและลูกสาวถือว่าเป็นหัวเรือหลักในองค์กรแห่งนี้ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ว่าจะส่งใครขึ้นมากุมบังเหียนแทน

ซึ่งทางบริษัทแจ้งว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการเมื่อ 23 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อพิจารณามาตรการที่เหมาะสมกับเรื่องที่เกิดขึ้น รวมถึงแต่งตั้งบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทน

 

แหล่งข่าววงในโรงพยาบาลกรุงเทพระบุว่า บุคคลที่คาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งให้มาทำหน้าที่แทนนายแพทย์ปราเสริฐมีหลายคน อาทิ นายแพทย์จุลเดช ยศสุนทรากุล ที่ปัจจุบันเป็นรองประธานกรรมการบริษัท รวมทั้งนายแพทย์ชาตรี ดวงเนตร ลูกหม้อและคีย์แมนคนสำคัญที่ทำงานร่วมกับนายแพทย์ปราเสริฐมาอย่างยาวนาน แต่ช่วงปีที่ผ่านมาได้ถอยออกจากการบริหารไปนั่งตำแหน่งที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร

รวมทั้งนางนฤมล น้อยอ่ำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของบริษัท ก็เป็นแคนดิเดตที่น่าจับตาอีกคนหนึ่ง

ส่วนการต่อสู้ทางคดีนั้นก็คงต้องใช้เวลาเป็นปี นอกจากนี้ นายสมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์ ผู้ช่วยเลขาธิการด้านกฎหมาย ก.ล.ต. ระบุว่า นอกจากค่าปรับ 499.45 ล้านบาท ก.ล.ต.ยังมีคำสั่ง “ห้ามผู้กระทำความผิด 3 ราย” เป็นกรรมการ/ผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียน ตามประกาศเรื่องการแบนกำหนดสูงสุดไม่เกิน 3 ปี

แบ่งเป็น 2 กรณีคือ 1.หากผู้ถูกกล่าวหา ยอมรับมาตรการลงโทษทางแพ่งและลงนามในบันทึกยินยอม การแบนจะมีผลในวันรุ่งขึ้น 2.กรณีผู้ถูกกล่าวหาไม่ยินยอมรับมาตรการลงโทษทางแพ่ง ก.ล.ต.จะส่งเรื่องให้อัยการฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง และมีหนังสือแจ้งการแบนให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบในวันเดียวกัน และการแบนจะมีผลในวันรุ่งขึ้น

นั่นหมายความว่า ตามกฎหมาย แม้ว่าหมอเสริฐและลูกสาวจะไม่ลาออก ถึงที่สุดก็จะต้องถูกแบนห้ามนั่งกรรมการและผู้บริหารบริษัทเป็นเวลา 3 ปีอยู่แล้ว

 

ผู้ช่วยเลขาธิการด้านกฎหมาย ก.ล.ต.ชี้แจงว่า กรณีผู้กระทำความผิด 3 รายในคดีสร้างราคาหุ้น BA ไม่จ่ายค่าปรับภายใน 14 วันตามกฎหมาย โดยต้องการต่อสู้คดีนั้น ก.ล.ต.จะดำเนินการส่งเรื่องให้อัยการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อเรียกเงินค่าปรับ ซึ่งศาลจะเป็นผู้ตัดสินว่ามีความผิดหรือไม่ และไม่ว่าผู้กระทำความผิดนั้นจะใช้วิธีการอย่างไร ก.ล.ต.เชื่อมั่นว่าได้ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการตามขั้นตอนอย่างรัดกุมที่สุดแล้ว

“เพราะกว่าที่เราจะออกประกาศคำสั่งคดีนี้ เราทำอย่างระมัดระวังที่สุดจนเรามั่นใจแล้ว และเชื่อว่าไม่มีจุดที่กระบวนการพิจารณาจะถูกย้อนกลับมาทำใหม่แน่นอน เพราะถ้าเราไปดำเนินการกับคนระดับนี้และไปทำซี้ซั้ว เราก็คงถูกฟ้องกลับได้” นายสมชายกล่าว

เดิมพันการต่อสู้คดีของ “หมอเสริฐ” ในรอบนี้ไม่ใช่เพียงแค่การปกป้องผลประโยชน์ (ค่าปรับ) 500 ล้านบาทเท่านั้น

หากแต่เป็นเกมยืดเยื้อที่ต้องเดินหมากอย่างรอบคอบรัดกุม เพื่อปกป้องชื่อเสียงและความมั่นคงของอาณาจักรธุรกิจ โรงพยาบาล-สายการบิน มูลค่าแสนล้าน ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้