จรัญ พงษ์จีน : ได้เลือกตั้งแล้ว! ทุกอย่างต้องแข่งกับเวลา

จรัญ พงษ์จีน

“ประเทศไทย” กำลังไหลกลับ ก้าวเข้าสู่สังคมประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่งแล้ว ภายหลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ “พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป พ.ศ 2562”

และ “สำนักนายกรัฐมนตรี” ออกแถลงการณ์ เรื่องการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 พร้อมกับนำพระราชกฤษฎีกาประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้แล้ว ผลคือภายใน 5 วันนับตั้งแต่วันประกาศ

พร้อมกับแจ้งเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ว่า โดยที่มาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 267(1) (2) (3) และ (4) มีผลบังคับใช้แล้ว สมควรกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไป

ก้าวถัดไป คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ “กกต.” จะได้ประชุมหารือ กำหนดวันเลือกตั้ง และรับสมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขต จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี จำนวนเขตเลือกตั้งแต่ละจังหวัด และสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ

ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 นอกจากนั้น วิธีการหาเสียงเลือกตั้ง ตลอดจนระยะเวลาในการคำนวณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 173

“กกต.” ก็รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม เคาะโรดแม็ปว่าด้วยการเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทันทีทันใดหลัง พ.ร.ฎ.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพียงไม่กี่ชั่วโมง

โดยกำหนดวันเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 กำหนดวันรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต วันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ ประกาศรายชื่อผู้สมัคร วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ลงคะแนนนอกราชอาณาจักร 4-16 มีนาคม และลงคะแนนนอกเขต วันที่ 17 มีนาคม 2562

ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่นำเอาระบบการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” มาบังคับใช้ โดยให้ประชาชนเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต 350 เขต และนำคะแนนผู้สมัคร ส.ส.ทั่วประเทศของพรรคนั้นๆ ไปคำนวณคิคสัดส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน

นอกจากนั้นแล้ว ยังกำหนดให้พรรคการเมืองแจ้งชื่อบุคคลที่จะเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคละไม่เกิน 3 รายชื่อ และประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

ตามรัฐธรรมนูญแล้ว พรรคต้องเสนอชื่อคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคตัวเอง ในช่วงเวลาที่ กกต.เปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง 5 วัน และต้องไม่เกินวันสุดท้าย หลังจากนั้นไม่สามารถเสนอได้แล้ว

และแต่ละพรรคไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำกันได้ เนื่องจากเจ้าตัวเซ็นยินยอมได้เพียงพรรคเดียวเท่านั้น

 

เรียงร้อยไทม์ไลน์ของโรดแม็ปเลือกตั้งกันลืมอีกครั้ง เริ่มจากวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2561 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้น กกต.จัดระเบียบว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง วันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 กกต.จึงประกาศเขตเลือกตั้ง/จำนวนประชากรที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง

11 ธันวาคม 2561 พ.ร.ป.เลือกตั้งมีผลบังคับใช้ 150 วันตามรัฐธรรมนูญกำหนดทุกอย่างต้องเสร็จสิ้น ไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2562

การที่ กกต.ประกาศวันทำศึกเลือกตั้งออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คือวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 รัฐธรรมนูญมาตรา 84 กำหนดไว้ว่า

“ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเลือกถึงร้อยละ 95 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดแล้ว ก็ให้เรียกดำเนินการประชุมรัฐสภาได้ โดยให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่”

ดังนั้น กรอบเวลาของ “กกต.” ในประเด็นนี้ถือว่ากระชับ กระชั้นชิดมากๆ ต้องเร่งลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบเบื้องต้นและต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้ได้จำนวนที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 มีเวลาจำกัดจำเขี่ยมาก ไม่ถึง 60 วัน นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง

คือ กกต.มีเวลาเต็มพิกัดแค่ 45 วัน หากนับจากวันเลือกตั้ง วันที่ 24 มีนาคม กับวันสุดท้ายที่ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งมีผลบังคับใช้ 150 วัน ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ไม่ถึง 60 วัน

ด้วยประการดังกล่าว เชื่อกันว่า 7 กกต.ต้องเร่งคีย์ตีจังหวะ ชนิดกดปรี๊ดๆ ด้วยการ “ปล่อยผี” ไปพลางๆ ก่อน สำหรับผู้ที่ถูกร้องเรียน เพื่อให้ ส.ส.เข้าเกณฑ์ ได้จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 แล้วค่อยตามสอยในภายหลัง แต่ต้องมากด้วยความระมัดระวัง เพื่อรักษาสมดุล ร้อยละ 95 ตามรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้

อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ครบเกณฑ์ร้อยละ 95 แล้ว จึงสามารถเรียกประชุมรัฐสภาได้ กับสมมุติฐานที่ว่า กกต.แก้ปัญหาได้ตามกรอบ เท่ากับว่าต้นเดือนพฤษภาคม 2562 จึงจะสามารถรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส.ได้ครบตามรัฐธรรมนูญแห่งมาตรา 84

จากนั้น “สภาผู้แทนราษฎร” จะสามารถเรียกประชุมครั้งแรกเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อได้ประธานแล้ว ก้าวต่อไปประธานสภาจะเรียกประชุมสมาชิกเพื่อลงมติเห็นชอบ “เลือกนายกรัฐมนตรี” ตามช่องทางแรก คือ ผู้ที่จะมีสิทธิ์ มาจาก “บัญชีรายชื่อจากพรรคการเมือง” เสนอ

เมื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่นำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ ทาง “คสช.และคณะรัฐมนตรี” ชุดปัจจุบัน พร้อมแม่น้ำ 5 สาย เป็นอันสิ้นสุดลงโดยอัตโนมัติ

จากนั้นคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วัน

“ใคร” จาก “พรรคการเมืองไหน” ที่จะก้าวมาเป็นผู้นำประเทศไทยในลำดับถัดไป