เปิดกึ๋น! “พรรคการเมือง” จะลด ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ได้อย่างไร ?

 

เปิดวิสัยทัศน์พรรคการเมือง มีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ อย่างไร?

เราได้ยินกันมามานานหลายปีว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงอันดับต้นๆ ซึ่งนั่นก็เพียงพอแล้วที่เราจะหาทางแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำนั้นลง

แต่มาปลายปีที่แล้ว รายงาน Global Wealth Report 2018 ของ Credit Suisse บอกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก

คนไทยที่รวยที่สุดจำนวน 1 เปอร์เซ็นต์มีทรัพย์สินรวมกันเป็น 66.9 เปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ ข้อมูลใหม่ล่าสุดนี้ยิ่งตอกย้ำว่า เราไม่ควรนิ่งเฉยกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สั่งสมมายาวนานและนับวันยิ่งจะทวีช่องว่างให้ห่างยิ่งขึ้น

แน่นอนว่า ปัญหาใหญ่มากระดับนี้ต้องแก้ที่นโยบาย แก้โดยผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศ ดังนั้น การที่ประชาชนได้ทราบข้อมูลว่าพรรคการเมืองที่อาสาเข้ามาทำงานบริหารประเทศ มีมุมมองต่อเรื่องความเหลื่อมล้ำอย่างไรและมีนโยบายจะแก้ปัญหาอย่างไร จึงเป็นข้อมูลสำคัญ ซึ่งพอจะบอกได้ระดับหนึ่งว่า เรามีหวังหรือไม่

ในงานเสวนา “มุมมองทางการเมืองต่อความเหลื่อมล้ำทางสังคม” จัดโดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ บมจ.มติชน เมื่อเร็วๆ นี้ มีหลายพรรคการเมืองเข้าร่วมเสวนาเสนอแนวทางลดความเหลื่อมล้ำตามแนวคิดและนโยบายของแต่ละพรรค

นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ตัวแทนพรรคเพื่อชาติ เสนอนโยบาย 3 ข้อ คือ

1. ยกเลิกการผูกขาดทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเห็นว่าสาเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำคือการผูกขาดทางเศรษฐกิจ แต่การผูกขาดบางอย่างที่เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมจะยังคงไว้ เช่น รัฐวิสาหกิจบางอย่างที่ทำเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

2. ด้านการศึกษา ประเด็นแรกคือประเทศไทยใช้วิธีคัดคนออกด้วยการสอบ ไม่ให้โอกาสคนที่สอบไม่ผ่าน พรรคเพื่อชาติคิดว่าควรให้โอกาสคนที่สอบไม่ผ่านได้เรียนรู้ต่อไป เพราะเชื่อว่าทุกคนสามารถพัฒนาได้ และประเด็นสำคัญคือความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา ดังจะเห็นว่าครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาที่เก่งๆ มักจะกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่ในสถาบันการศึกษาดังๆ ในเมืองใหญ่เท่านั้น ต้องแก้โดยการให้คนเก่งๆ ไปสอนที่ต่างจังหวัด โดยให้สวัสดิการที่ดีกว่าในเมืองใหญ่ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ครู อาจารย์เก่งๆ อยากไปสอนตามต่างจังหวัด

3. ด้านสาธารณสุข ต้องกระจายแพทย์และบุคลากรเก่งๆ ออกไปอยู่โรงพยาบาลระดับอำเภอ และควรมีโรงพยาบาลประจำตำบลทั่วประเทศ และใช้บุคลากรในพื้นที่

โดยให้ทุนการศึกษาเด็กในพื้นที่และให้กลับไปทำงานในโรงพยาบาลประจำตำบล

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับการแก้ปัญหา 7 ประเด็น ดังนี้

1. ต้องบริหารเศรษฐกิจด้วยแนวคิดใหม่ เลิกดูที่จีดีพี เพราะตัวเลขจีดีพีไม่ได้สะท้อนว่าเศรษฐกิจดีสำหรับทุกคน รัฐบาลต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการบริหารเศรษฐกิจ โดยยึดการกระจายรายได้เป็นเป้าหมายสำคัญ สร้างตัวชี้วัดที่สะท้อนภาพรวมของความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีขึ้น การออกนโยบายและมาตรการจะต้องประเมินว่าส่งผลกระทบต่อการกระจายรายได้อย่างไร

2. การจัดสรรทรัพยากรหลายอย่างต้องเอามุมมองด้านความเหลื่อมล้ำเข้ามาจับ พรรคประชาธิปัตย์ถือว่าก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในอ่าวเป็นของทุกคน จึงเห็นว่าต้องตรึงราคาก๊าซหุงต้มที่ใช้ในครัวเรือน ขายให้ประชาชนในราคาต้นทุน แต่ให้ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจจ่ายในราคาที่สูงกว่าภาคครัวเรือน

3. จัดการปัญหาการผูกขาด ซึ่งมีทั้งการผูกขาดในภาคเอกชนและผูกขาดในภาครัฐ

4. สร้างระบบสวัสดิการ จะนำแนวทางการประกันรายได้ที่เคยทำกับภาคเกษตรขยายไปสู่ภาคอื่นๆ เช่น การประกันรายได้ในภาคแรงงาน

5. บริการพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านการศึกษาและสาธารณสุขจะต้องมีความเป็นธรรมมากขึ้น จะขยายเรื่องการเรียนฟรี การกระจายโอกาสเรื่องสถานศึกษา และสถานพยาบาล

6. ปรับระบบโครงสร้างภาษี ให้คนที่มีกำลังจ่ายจ่ายมากขึ้น มิฉะนั้นระบบจะไม่มีประโยชน์ในการลดความเหลื่อมล้ำ

7. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพราะความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีแค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่ยังมีเรื่องกฎหมาย และที่สำคัญที่สุด การเมืองต้องไม่มีเรื่องประโยชน์ทับซ้อน ความเหลื่อมล้ำจะถูกตอกย้ำถ้าการเมืองมีผลประโยชน์ทับซ้อน มีผลประโยชน์ทางธุรกิจ มีการผูกขาดในคนกลุ่มเล็กๆ ที่เข้ามามีอำนาจในทางเศรษฐกิจและการเมือง

นายวราวุธ ศิลปอาชา ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา เสนอแนวทาง 2 ด้าน ได้แก่

1. ด้านการเกษตร จะทำอย่างไรให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พรรคชาติไทยพัฒนาจะติดอาวุธทางปัญญาให้เกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิต ในการหาช่องทางการขายผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยนำความรู้ของปราชญ์ชาวบ้านเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต และส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวเป็นนิคมการเกษตร เพื่อลดต้นทุนการผลิต ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนามั่นใจว่าถ้าคนในชนบทมีรายได้มากขึ้น ช่องว่างระหว่างคนเมืองกับชนบทจะลดลง

2. ด้านการศึกษา จะทำให้ระบบการศึกษาไทยหลุดจากวงจรการเมือง ซึ่งสิ่งที่เสนอคือ อยากให้ตั้งสภาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติใหม่ โดยที่กรรมการในสภาร่างต้องมาจากทุกองค์ประกอบของสังคม ทั้งนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ผู้ประกอบการ

และที่สำคัญคืออายุเฉลี่ยของคณะกรรมการต้องไม่ใช่ 60 ปีขึ้นไปเหมือนการร่างกฎหมายต่างๆ ที่ผ่านมา

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้เสนอนโยบาย แต่พูดในเชิงแนวคิดของพรรค โดยกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเชิงประเด็นไม่สามารถตอบโจทย์ประเทศไทยได้ ปัญหาของประเทศไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งโครงสร้างที่ทำให้สังคมไทยไม่ก้าวหน้าก็คือโครงสร้างที่อยุติธรรมที่กดทับประเทศไทยอยู่

โครงสร้างนี้ประกอบด้วยกลุ่มคนที่ผูกขาดระบบเศรษฐกิจมานาน นายทหารชั้นนำในกองทัพ ข้าราชการระดับสูง ชนชั้นนำอนุรักษนิยม เป็นกลุ่มคนที่รวมตัวกันผูกขาดอำนาจทางการเมือง และผูกขาดผลประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจมานาน ถ้าไม่แก้ไขปัญหาโครงสร้าง จะไม่สามารถแก้ปัญหาอื่นได้

“ผมไม่สามารถพูดนโยบายทั้งหมดได้ ผมขอพูดเรื่องใหญ่ๆ คือ แนวคิดของเรา เราตั้งพรรคนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นการรวมตัวประชาชนที่จะไปต่อรองกับคนกลุ่มเพียงน้อยนิดที่ได้ผลประโยชน์จากการพัฒนาของประเทศไทย ดึงอำนาจทางการเมือง ดึงผลประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจที่อยู่ในมือคนไม่กี่ตระกูลลงมา แล้วกระจายออกไปให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ”

“นี่คือไอเดียหลัก นโยบายทั้งหมดของพรรคตั้งอยู่บนแนวคิดแบบนี้ ผมเชื่อว่าถ้าไม่ทำแบบนี้ นโยบายที่ดีอื่นๆ ไม่สามารถทำได้เลย”

รท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ตัวแทนไทยรักษาชาติ กล่าวว่า พรรคไทยรักษาชาติเห็นถึงความสำคัญที่จะช่วยเหลือประชาชนรายเล็กรายน้อยด้วยปรัชญาเดิมที่เคยสำเร็จในอดีตสมัยพรรคไทยรักไทย คือ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” โดยเพิ่มแหล่งที่มาของเงินทุน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงที่ดินทำมาหากิน ปลดล็อกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคกับประชาชน ผู้ประกอบการ

และสิ่งสำคัญที่สุดคือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งการกระจายรายได้เป็นการผูกโยงกับระบบเศรษฐกิจ การรดน้ำที่ดีต้องรดที่โคน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบันเป็นการรดที่ใบ

“พรรคไทยรักษาชาติมีมาตรการการดูแลคนในสังคมซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่มีรายได้น้อย อย่างการช่วยเหลือเกษตรกร โดยในระยะต้นจะช่วยพยุงราคาสินค้าเกษตร ส่วนระยะกลางและระยะยาวจะช่วยให้เกษตรกรยืนหยัดได้อย่างเข้มแข็งด้วยการเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาทำเกษตรเชิงแม่นยำ วิเคราะห์ข้อมูลให้การทำการเกษตรมีประสิทธิภาพสูงสุด การเชื่อมโยงกับอีคอมเมิร์ซ ให้ตลาดของทั้งโลกเป็นตลาดของคนไทย”

“จะทำให้กลุ่มเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเรียกว่า opportunity fund เป็นกองทุนสำหรับการเริ่มต้นทำธุรกิจ สำหรับสตาร์ตอัพ สำหรับผู้ที่เรียนจบใหม่”

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยมองว่าสิ่งที่จะเป็นเหตุแห่งการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้คือ โอกาส ทั้งโอกาสในการเข้ารับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน โอกาสในการประกอบสัมมาอาชีพ โอกาสในการรับบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมกัน

“ความเหลื่อมล้ำนั้นอยู่ที่ว่าใครจะสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่ากัน ความเหลื่อมล้ำที่เห็นชัดที่สุดในประเทศไทยคือ กรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด ประชากร 20% อยู่กรุงเทพฯ อีก 80% อยู่ต่างจังหวัด แต่งบประมาณ 80% อยู่กรุงเทพฯ”

นายสิริพงศ์เสนอแนวทางการแก้ปัญหาของพรรคภูมิใจไทย 3 ข้อ ได้แก่

1. ปรับแนวคิดของภาครัฐ วิธีคิดนโยบายของภาครัฐต้องเปลี่ยนใหม่ แทนที่จะลด แลก แจก แถม ต้องปรับว่าทำอย่างไรให้ประชาชนมีโอกาสมากขึ้น

2. ต้องมีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง หลายนโยบายกำหนดจากส่วนกลางแล้วปัญหาไปตกที่ส่วนภูมิภาค ซึ่งส่วนภูมิภาคไม่มีโอกาสแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

3. แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของหน่วยงานราชการ เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานราชการยังมีความเหลื่อมล้ำ ตัวอย่างเช่น กรมการขนส่งทางบกบอกว่ามีใบขับขี่อัจฉริยะ แต่ตำรวจบอกว่ากฎหมายยังแก้ไม่ได้

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ตัวแทนพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ที่ยากจนส่วนมากเป็นเกษตรกร ขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 131 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ชลประทานเพียง 29 ล้านไร่ เกษตรกรไทยต้องรอพึ่งฟ้าฝนตามธรรมชาติ เมื่อฝนแล้งส่งผลให้ผลผลิตเสียหายหรือทำการเกษตรไม่ได้ ผลผลิตเสียหาย ขาดทุน

แนวทางแก้ปัญหาของพรรคชาติพัฒนาโฟกัสที่ภาคการเกษตร โดยเสนอว่า

1. รัฐบาลต้องลงทุนพัฒนาสร้างความพร้อมด้านแหล่งน้ำ เพื่อให้สามารถทำการเกษตรได้เพียงพอ ไม่ต้องพึ่งพาธรรมชาติเพียงอย่างเดียว

2. พัฒนาคุณภาพดิน โดยนำองค์ความรู้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในการพัฒนาดินมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง

3. ส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง ซึ่งมีผลดีหลายอย่าง ทั้งเป็นการลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรต่อร่างกาย และขายได้ราคาสูงกว่า

4. ส่งเสริมการทำสมาร์ทฟาร์มมิ่ง ทั้งการผลิต การแปรรูป และการขาย โดยส่งเสริมให้เพาะปลูกพืชผลที่มีราคา ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตให้มีมูลค่าเพิ่ม

ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อร่วมกันบริหารจัดการผลผลิตและการขายอย่างมีคุณภาพ

ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ตัวแทนพรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวว่า ต้องคิดเรื่องปากท้องของประชาชนควบคู่กันกับการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยทำเรื่องการเกษตรเป็นหลัก ต้องทำเกษตรแบบมีแผนการ มีโซนนิ่ง จะต้องทำให้มีของดีของเด่นประจำพื้นที่เกิดเป็นผลิตผลที่ได้ราคาดีเป็นพิเศษ เช่น ทุเรียนเมืองจันท์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และจะต้องมีการรับประกันราคาขายผลผลิตให้ได้อย่างน้อยเท่าต้นทุน ขณะเดียวกันต้องเน้นภาคท่องเที่ยวควบคู่ไปกับภาคเกษตร โดยพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ฟาร์มสเตย์ต่างๆ

“ถ้าเราเป็นรัฐบาล เราจะคิดว่าทำ 4.0 เท่าที่พอจะทำได้ แต่ไม่ควรไปเน้น เรื่องหลักต้องแก้เรื่องภาคเกษตรและทำธุรกิจท่องเที่ยว เวลานี้ภาคท่องเที่ยวทำรายได้ให้ประเทศถึง 20% ของจีดีพี ภาคอุตสาหกรรม 30% ภาคเกษตร 8% ภาคเกษตรกับท่องเที่ยวรวมกันแล้ว 28% ของจีดีพี และถ้าเป็นไปตามทิศทางที่เป็นอยู่ ภาคธุรกิจท่องเที่ยวโตเร็วกว่าภาคอุตสาหกรรม ภายใน 10 ปีข้างหน้าภาคธุรกิจท่องเที่ยวบวกกับภาคเกษตรที่ทำให้เป็นเกษตรอินทรีย์ เกษตรที่รายได้สูง รวมกันแล้วประเทศไทยอาจไม่ใช่ประเทศที่จะตามหลังคนอื่น”

ดร.เอนกกล่าว

นายนพดล ปัทมะ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีแนวคิดว่าพรรคต้องดูแลประชาชนที่มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส โดยมีนโยบายสร้างรายได้ สร้างโอกาส และสร้างอนาคต ดังนี้

1. ด้านเกษตรกรรม ราคาพืชผลการเกษตร ชาวนาไม่ควรมีรายได้ต่ำกว่าเกวียนละ 10,000 บาท, ต้องเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชมาปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง, การใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น, ต้องปรับกฎหมายให้เกษตรกรมีโอกาสจะเปลี่ยนการครอบครองไปใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. เพื่อที่จะเป็นเกษตรยุคใหม่ สามารถใช้เป็นปัจจัยการผลิตได้ นำไปค้ำประกันเงินในธนาคารได้

2. นโยบายป่าพารวยและน้ำพารวย ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าสงวนประมาณ 90 ล้านไร่ สามารถสร้างสินทรัพย์อนาคตของประเทศได้โดยการปลูกป่าไม้มีค่า จ้างประชาชนปลูกและรักษาป่า แล้วแบ่งกำไรเมื่อตัดไม้ขาย ส่วนเรื่องน้ำ ต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้มากขึ้น ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานประมาณ 60 ร้านไร่เพื่อให้น้ำไปถึงชาวนา

3. ด้านแรงงาน ต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 350 บาท

4. ด้านการท่องเที่ยว ต้องทำให้นักท่องเที่ยวสามารถไปเที่ยวชนบทได้สะดวกสบาย รวดเร็ว ให้ประชาชนในชนบทมีรายได้จากการทำที่พักรับรองนักท่องเที่ยว และขายสินค้าเกษตร ขายสินค้าในชุมชน

5. ทำโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ชนบท

6. การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างคือเรื่องการศึกษา ซึ่งมีปัญหา 3 เรื่อง คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ ความยากจนทำให้ได้รับการศึกษา เรื่องโรงเรียนไม่มีคุณภาพ หลักสูตรไม่ทันสมัย เรื่องการใช้งบประมาณยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร พรรคเพื่อไทยจะแก้โดยมีกองทุนเพื่อการศึกษา ปรับศูนย์เด็กอ่อนทั่วประเทศให้เป็นสมาร์ตเดย์แคร์ เพิ่มงบประมาณการศึกษาประถมวัย เพื่อสร้างให้เด็กมีสมองดี

เปลี่ยนหลักสูตรให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นและมีความรู้ 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ จีน

และปรับโครงสร้างหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)