กรองกระแส / 2 แนว 2 พลัง เผด็จการ กับ ประชาธิปไตย คสช. กับ เพื่อไทย

กรองกระแส

2 แนว 2 พลัง

เผด็จการ กับ ประชาธิปไตย

คสช. กับ เพื่อไทย

 

มีการเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐที่ทำให้ภาพทางการเมือง การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นมีความแจ่มชัดมากยิ่งขึ้น

แจ่มชัดว่าใครสำแดงตนเป็นฝ่ายกำหนด “เกม”

เห็นได้ชัดจากการออกมายอมรับในที่สาธารณะอย่างเปิดเผยว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา”

นี่ทำให้ภาพของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการประชามติถูกเปิดโปงล่อนจ้อน

ยิ่งเมื่อมีเสียงสำทับตามมาด้วยว่า หากไม่อยากได้ยินเสียงระเบิดต้องเลือกพรรคพลังประชารัฐ หากไม่ต้องการให้มีการรัฐประหารก็ต้องเลือกพรรคพลังประชารัฐ

ยิ่งทำให้ภาพของสถานการณ์ก่อน “รัฐประหาร” มีความแจ่มชัด

ไม่ว่าสถานการณ์ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าสถานการณ์ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อยู่ในความรับผิดชอบของใคร ระหว่างคนที่ปูทางสร้างเงื่อนไขอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรืออย่าง กปปส. กับคนที่ลงมือก่อรัฐประหาร

ไม่ว่าจะเรียกตัวเองว่า “คมช.” ไม่ว่าจะเรียกตัวเองว่า “คสช.”

เมื่อฝ่ายใดกำหนด “เกม” สังคมก็เริ่มมองเห็นในเจตนารมณ์ของผู้กำหนดเกมว่ามีเป้าหมายในทางการเมืองเป็นอย่างไร

นั่นก็คือ ต้องการที่จะสืบทอดอำนาจ

 

เป้าหมายสงคราม

กำหนดยุทธศาสตร์

 

ยุทธศาสตร์แห่งการสืบทอดอำนาจของ คสช.จึงมิได้เป็นเรื่องลี้ลับ สามารถอ่านได้อย่างเด่นชัดจากรัฐธรรมนูญ จากการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อชะลอและเบี่ยงเบนแม้กระทั่ง พ.ร.ป.อันเกี่ยวกับการเลือกตั้งผ่านคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับแล้วฉบับเล่า

นั่นก็คือ การสืบทอดอำนาจโดยอาศัยกระบวนการเลือกตั้ง

เมื่อยุทธศาสตร์ของ คสช.เป็นเช่นนี้ พรรคการเมืองที่ต้องการต่อสู้กับ คสช.มีความจำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์ของตนออกมาให้มีความแจ่มชัดเช่นเดียวกัน

พรรคการเมืองบางพรรคอาจต้องการสนับสนุนและยืนอยู่ข้างเดียวกับ คสช.

พรรคการเมืองบางพรรคอาจไม่ต้องการสนับสนุนและไม่ยอมยืนอยู่ข้างเดียวกับ คสช.

กล่าวสำหรับพรรคการเมืองที่สนับสนุน คสช. บางพรรคอาจจะเปิดเผย ตรงไปตรงมาโดยเข้าไปอยู่ในเครือข่ายโดยตรง บางพรรคอาจยังแต่งเนื้อแต่งตัวให้ดูดี แต่ในที่สุดเป้าหมายอย่างแท้จริงก็แอบอิงอยู่กับ คสช.

ขณะเดียวกัน พรรคที่ต้องการจะต่อสู้กับ คสช.ก็จะต้องกำหนดยุทธวิธีไปตามยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้

 

กำหนดยุทธวิธี

บรรลุยุทธศาสตร์

 

หากมองผ่านพรรคอันเป็นเครือข่ายของ คสช. เกมของพรรคเหล่านี้เป็นไปเพื่อสนองต่อยุทธศาสตร์ของ คสช.ทั้งอย่างเด่นชัดและอย่างแอบแฝง

เพราะตระหนักในอำนาจของ คสช. เพราะตระหนักในการวางแผนอันแยบยลของ คสช.

จุดเด่นก็คือ การได้รับความสะดวกจากกลไกอำนาจรัฐ ขณะเดียวกัน จากจุดเด่นนี้ก็สร้างความลำพองใจให้กระทั่งเปิดเผยความในบางอย่าง บางประการออกมา

ขณะเดียวกัน หากมองผ่านพรรคที่ต้องการต่อสู้กับ คสช.ก็จะสัมผัสได้ถึงความพยายามอย่างเต็มกำลังที่จะพลิกจุดอ่อนของตนที่ตกเป็นฝ่ายกระทำให้สามารถพลิกกลับเป็นฝ่ายรุก ฝ่ายกระทำ เห็นได้จากการกระจายกำลังออกไปเพื่ออาศัยช่องทางของรัฐธรรมนูญมาเป็นประโยชน์

จึงได้เกิดพรรคการเมืองอันมีรากฐานจากพรรคเพื่อไทยแยกไปจัดตั้งพรรคประชาชาติ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ

ขณะเดียวกันก็มีพรรคเกิดใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่ พรรคสามัญชน

พรรคการเมืองเหล่านี้โดยรากฐานแล้วต้องถือว่าพรรคเพื่อไทยเป็นทัพหลวง เป็นทัพใหญ่ แต่ลำพังเพียงพรรคเพื่อไทยพรรคเดียวก็ยากที่จะเอาชนะพรรคของ คสช.ได้ จำเป็นต้องผนึกพลังร่วมกับพันธมิตรอันเรียกโดยรวมว่าฝ่ายประชาธิปไตย

จากพื้นฐานเช่นนี้เองทำให้การต่อสู้ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นเท่ากับเป็นการปะทะระหว่างฝ่ายเผด็จการโดย คสช. กับฝ่ายประชาธิปไตยโดยพรรคเพื่อไทยไปโดยปริยาย

 

2 แนวรบ 2 พลัง

เผด็จการ ประชาธิปไตย

 

ในที่สุดแล้วสถานการณ์ของการเลือกตั้งก็จะนำไปสู่การปะทะกันระหว่าง 2 แนวรบ 2 แนวพลังอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้พ้น

1 คือ แนวรบที่ คสช.เป็นผู้นำ 1 คือ แนวรบที่พรรคเพื่อไทยเป็นผู้นำ

1 คือ พลังอันมีพื้นฐานมาจากรัฐประหาร พลังอันเป็นจิตวิญญาณแห่งเผด็จการ 1 คือ พลังอันสะท้อนจิตวิญญาณประชาธิปไตย พลังอันต่อต้านการรัฐประหาร

  สถานการณ์จะเป็นปัจจัยกำหนดเกม กำหนดกระบวนการในการเคลื่อนไหว สัประยุทธ์