วรศักดิ์ มหัทธโนบล : หลักความเชื่อสำนักเต้าในสายธารประวัติศาสตร์จีน

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ความเปลี่ยนแปลงในจักรวรรดิที่สั่นคลอน (ต่อ)

ส่วนที่ว่าความเชื่อชีวิตอมตะคลี่คลายไปอีกระดับหนึ่งก็คือว่า เมื่อฮั่นตะวันออกอ่อนแอลง กบฏข้าวสารห้าถังและกบฏโพกผ้าเหลืองที่หวังจะโค่นล้มราชวงศ์ฮั่น และเป็นกบฏที่ต่างก็สมาทานลัทธิเต้านั้นก็ได้ขยายความเชื่อของตนไปสู่เรื่องชีวิตที่สันติสุข

ดังจะเห็นได้จากที่กบฏโพกผ้าเหลืองมีสำนักของตนคือสำนักเต้าแห่งสันติภาพสูงสุด (ไท่ผิงเต้า, the Way of Supreme Peace) เป็นต้น

ที่สำคัญ กบฏทั้งสองต่างก็ได้สร้างรัฐหรืออาณาจักรเป็นของตนเองขึ้นมา และสิ่งที่ขาดแทบไม่ได้ในรัฐที่ตั้งขึ้นก็คือพิธีกรรม ซึ่งจะมีผู้ที่ทำพิธีเฉพาะ ความเชื่อทั้งเรื่องชีวิตอมตะและสันติภาพสูงสุดยังคงอยู่ต่อมาแม้กบฏจะถูกปราบไปแล้ว

อย่างเช่นช่วงหนึ่งที่จิ้นล่มสลายในราวศตวรรษที่ 3 นั้น ได้มีบุคคลของจิ้นกลุ่มหนึ่งที่สมาทานลัทธิเต้าเคลื่อนย้ายไปยังซื่อชวน (เสฉวน) จากนั้นก็ตั้งรัฐของตนขึ้นเรียกว่ามหาอุตตมะ (ต้าเฉิง, Great Perfection) จนถึงกลางศตวรรษที่ 4 จึงถูกขุนศึกฮว๋านเวินแห่งจิ้นตะวันออกโค่นล้มลงในที่สุด

อย่างไรก็ตาม หากไม่นับบทบาททางการเมืองแล้ว บทบาทที่เกี่ยวกับหลักคำสอนของลัทธินี้ก็ปรากฏในยุคนี้อย่างโดดเด่นเช่นกัน

บุคคลหนึ่งที่มีบทบาททางด้านนี้ที่พึงกล่าวถึงก็คือ เก๋อหง

 

เก๋อหง (ค.ศ.283-243) เป็นผู้ที่มีความเชื่อเรื่องชีวิตอมตะอย่างโดดเด่น และเพื่อพิสูจน์ความเชื่อนี้ เขาได้ปลีกตัวออกจากสังคมไปพำนักยังขุนเขา จากนั้นก็ค้นคว้าหามรรควิธีสู่ชีวิตอมตะผ่านพลังลมปราณ โยคะ และกามกิริยา

นี่คือบาทก้าวแรกของประเพณีของฝ่ายเต้าที่เรียกกันว่าการบำรุงชีวิต (หยังเซิง, nourishing the life)

การบำรุงชีวิตนี้จักต้องทำควบคู่ไปกับความซื่อสัตย์ ความศรัทธา ความสุภาพ ความเชื่อฟัง ความเมตตา และความชอบธรรม ทั้งยังต้องจำกัดการบริโภคเนื้อสัตว์ สุรา พืชผักที่มีกลิ่นรุนแรง หรือธัญพืช

การบำรุงชีวิตนี้เป็นไปเพื่อหลีกเลี่ยงหนอนทั้งสาม (ซันฉง, Three Worms) ที่สิงอยู่ในร่างกายตั้งแต่แรกเกิดเพื่อคอยทำลายชีวิตเจ้าของร่าง1 หากบำรุงชีวิตได้เช่นที่ว่าแล้วชีวิตก็จะเป็นอมตะ

ความเชื่อในเรื่องชีวิตอมตะดังกล่าวย่อมหลีกเลี่ยงในเรื่องหนึ่งไปไม่ได้ นั่นคือ การเล่นแร่แปรธาตุ (alchemy) เก๋อหงเองก็มีงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้

กล่าวกันว่า หลังจากงานชิ้นที่ว่าเขียนแล้วเสร็จ จิ้นตะวันตกก็ล่มสลายแล้วอพยพมายังทางใต้เพื่อตั้งจิ้นตะวันออก ตอนที่ลงใต้นี้ได้นำพาลัทธิเต้าในสายของเก๋อหงมาด้วย

ดังนั้น พอจิ้นตะวันออกตั้งขึ้นแล้ว ลัทธิเต้าสายนี้จึงมีที่ทางของตนอยู่ในราชสำนักจิ้นไปด้วย

โดยวงศานุวงศ์สกุลซือหม่าและเสนามาตย์บางสกุลได้ร่วมกันตั้งสำนักเหมาซัน (Maoshan School) ขึ้นมา

สำนักนี้เรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่าสำนักบรมพิสุทธิ์ (ซั่งชิง, Highest Clarity, Supreme Clarity)

บทบาทของสำนักนี้ดำรงอยู่เรื่อยมาแม้ล่วงเข้าสู่ยุคราชวงศ์ใต้-เหนือแล้วก็ตาม โดยในปลายศตวรรษที่ 5 สำนักนี้ได้รับการอนุเคราะห์จากราชวงศ์หนันฉี แต่พอถึงเจ้าสำนักคนที่เก้าของสำนักนี้ก็ปรากฏว่าเจ้าสำนักกลับมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับผู้ก่อตั้งราชวงศ์เหลียง

ถึงแม้ผู้ก่อตั้งราชวงศ์นี้เป็นผู้โค่นล้มราชวงศ์หนันฉีก็ตาม

 

ส่วนบทบาทของลัทธิเต้าในทางตอนเหนือนั้น ผู้มีบทบาทคนหนึ่งคือโค่วเชียนจือ (ค.ศ.365-448) สาวกเต้าจากมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) โดยในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 5 โค่วเชียนจือเล่าว่าได้ปรากฏนิมิต (revelation) กับตน

ในนิมิตนี้ตนได้พบกับเหลาจื่อ และเหลาจื่อได้กล่าวกับตนว่า ขณะนี้เต้า (วิถี, Way) กำลังเสื่อมถอยลง ยัญพิธีและกามกิริยาอยู่ในภาวะชะงักงัน ถึงคราวที่ลัทธิเต้าจักต้องปรับวิธีการทำสมาธิ การบริโภค พลังลมปราณ และโยคะขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งเพื่อดำรงชีวิตอมตะ

ในนิมิตยังมีอีกว่า จักรพรรดิแห่งราชวงศ์เป่ยเว่ยคือเทพมหาสันติผู้ประเสริฐ (Perfect Lord of the Great Peace)

จากเหตุนี้ โค่วเชียนจือจึงเดินทางไปยังเป่ยเว่ยและได้เข้าไปยังราชสำนัก ที่ราชสำนักนี้เขาได้อ้างอิงว่าชนชาติฮั่นมีความเหนือกว่าชนชาติที่มิใช่ฮั่น ไม่ควรที่จักรพรรดิจะนับถือศาสนาพุทธตามคำชักชวนของชนชาติที่มิใช่ฮั่น

จากนั้นเขาก็ชักชวนจักรพรรดิให้หันมานับถือลัทธิเต้าในฐานะเทพมหาสันติผู้ประเสริฐ และแล้วให้ใช้ลัทธินี้เป็นหลักคิดในการปกครองรัฐ

ผลคือ จักรพรรดิเชื่อโค่วเชียนจือ พร้อมกันนั้นก็ตั้งเขาให้เป็นมหาอำมาตย์ใน ค.ศ.442 นับแต่นั้นมาลัทธิเต้าก็รุ่งเรืองขึ้นในเป่ยเว่ย

ส่วนศาสนาพุทธไม่เพียงถูกลดความสำคัญเท่านั้น หากบางช่วงยังถูกทำลายล้างอีกด้วย ตราบจนโค่วเชียนจือเสียชีวิตใน ค.ศ.448 และจักรพรรดิถูกปลงพระชนม์ใน ค.ศ.452 ไปแล้ว เทวาธิปไตย (theocracy) โดยลัทธิเต้าก็หมดบทบาทลง

ส่วนการกวาดล้างทำลายศาสนาพุทธก็ยุติลงไปด้วย

 

ถัดมาคือความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธ ซึ่งช่างตรงกันข้ามกับลัทธิเต้าอย่างมาก เพราะหากลัทธิเต้าเป็นหลักคิดที่ได้รับการยอมรับจากชนชั้นปกครองแล้ว ศาสนาพุทธกลับเป็นหลักคิดที่ได้รับการยอมรับจากมวลชน

กล่าวกันว่า ศาสนาพุทธได้เข้ามายังจีนโดยนายวาณิชที่มาจากเอเชียกลาง และจากการค้าทางทะเลที่มีมณฑลเจียงซูเป็นสถานีการค้าที่สำคัญ โดยมีภิกษุชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งเป็นผู้นำเข้ามาเผยแพร่ตั้งแต่ยุคฮั่นตะวันออก

นับแต่นั้นศาสนาพุทธก็ลงหลักปักฐานอยู่ในจีนเรื่อยมา จนลุล่วงสู่ยุคจิ้นจึงค่อยๆ มีความรุ่งเรืองขึ้นมา และมารุ่งเรืองอย่างมากในยุคราชวงศ์ใต้-เหนือ การที่ศาสนาพุทธมีที่ทางอยู่ในสังคมจีนยาวนานย่อมมีผลต่อพัฒนาการของศาสนานี้ไม่น้อย กล่าวเฉพาะในช่วงที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ก็มีบุคคลและผลงานของศาสนานี้อยู่เช่นกัน

ในยุคนี้ศาสนาพุทธมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชนชั้นปกครองไม่แพ้ลัทธิเต้า ชั่วอยู่แต่ว่าช่วงเวลาใดใครจะใกล้ชิดและมีอิทธิพลต่อชนชั้นปกครองมากกว่าใครเท่านั้น ทั้งนี้ อาจเห็นได้จากรัฐโฮ่วเจ้าในยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐที่มีภิกษุเข้ามารับใช้ราชสำนักนี้ เป็นต้น

 

โดยทั่วไปแล้วเมื่อศาสนาพุทธเดินทางจากเอเชียกลางมาถึงจีนแล้ว จะมีหลายรัฐให้การอุปถัมภ์สนับสนุนการแปลคัมภีร์พุทธ ผู้แปลที่มีชื่อเสียงคือกุมารชีพ (Kumarajiva) ภิกษุที่จาริกมาจากตุนฮว๋างมาถึงฉังอันใน ค.ศ.401 โดยผู้อุปถัมภ์ก็คือ ฝูเจียนแห่งรัฐเฉียนฉิน

นอกจากนี้ ก็ยังมีภิกษุจีนบางรูปที่เสนอแนวทางปฏิบัติใหม่ๆ อีกด้วย ที่มีชื่อเสียงก็คือภิกษุที่มีนามว่าฮุ่ยหยวน ที่ได้สร้างแนวทางที่เรียกว่า อมิตาภา ซึ่งเชื่อในชีวิตที่จักได้เกิดใหม่ในแดนพิสุทธิ์ (จิ้งถู่จง, Pure Land) ที่เพียงแค่เห็นมโนภาพหรือเพียงเอ่ยนามของภิกษุรูปนี้ก็จะเข้าถึงแดนที่ว่า

ส่วนที่ว่าศาสนาพุทธรุ่งเรืองมากในยุคราชวงศ์ใต้-เหนือนั้นก็ด้วยเหตุที่ว่า ในยุคนี้ศาสนาพุทธถูกยกระดับถึงขั้นเป็นอภิปรัชญา (metaphysical) และหลักความเชื่อในหมู่ชนชั้นนำในราวศตวรรษที่ 3 มีการแปลคัมภีร์พุทธเป็นภาษาจีน ทั้งยังมีการวิวาทะและสนทนาธรรมระหว่างภิกษุกับชนชั้นนำอีกด้วย

แต่ที่น่าสังเกตก็คือว่า ชนชั้นนำของรัฐทางเหนือจะให้ความสนใจกับศาสนาพุทธค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าชนชั้นนำเหล่านี้ล้วนคือชนชาติที่มิใช่ฮั่น จนถึงศตวรรษที่ 5 ที่เป็นช่วงที่บรรดาขุนศึกต่างตั้งตนเป็นจักรพรรดิในนามราชวงศ์ต่างๆ นั้น ก็พบว่าศาสนาพุทธได้รับการอุปถัมภ์ทั้งจากชนชั้นนำทางใต้และทางเหนือ

การอุปถัมภ์นี้มีตั้งแต่การปฏิญาณตนในศาสนา การสร้างวัดวาอาราม การบวชบุคคลเป็นภิกษุ การจัดตั้งกลุ่มมังสวิรัติขึ้นในหมู่สงฆ์และเสนามาตย์ และการสนับสนุนให้สาธารณชนได้อ่านและอธิบายพระสูตร เป็นต้น

ครั้นเวลาผ่านไปการอุปถัมภ์ที่ว่าก็ข้ามไปสู่สถานะพิเศษในอีกขั้นหนึ่ง เช่น ผู้ปกครองของบางรัฐในทางเหนือจะเป็นผู้แต่งตั้งสังฆราช หรือภิกษุในรัฐทางใต้อย่างจิ้นตะวันออกไม่จำเป็นต้องถวายบังคมจักรพรรดิ

 

กรณีหลังนี้แม้สะท้อนความอ่อนแอของจิ้นตะวันออกและชนชั้นนำในราชสำนักที่ให้การอุปถัมภ์พุทธศาสนาก็จริง แต่ความจริงแล้วจักรพรรดิกลับได้รับความเคารพมากขึ้น แม้กระทั่งจากขุนศึกที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับศาสนา เพราะไม่มีข้อห้ามมิให้จักรพรรดิใช้ศาสนาพุทธมาทำให้ราชบัลลังก์มีความมั่นคงแต่อย่างใด

ในทางตรงกันข้าม จักรพรรดิของรัฐทางเหนืออย่างเป่ยเว่ยจะมีฐานะเป็นองค์อวตารของพระพุทธเจ้า ซึ่งภิกษุทั้งปวงพึงเคารพ ฐานะเช่นนี้ของจักรพรรดิจึงไม่ต่างกับเทพ ซึ่งเข้ากันได้ดีกับความเชื่อเดิมของชนชาติต่างๆ ที่เร่ร่อนอยู่ในรัฐของตน และฐานะเช่นนี้ก็ติดเป็นภาพลักษณ์ของราชวงศ์เป่ยเว่ยในที่สุด

จะเห็นได้ว่านิกายของศาสนาพุทธในยุคนี้ก็คือนิกายมหายาน

———————————————————————————————————————-
(1) ลัทธิเต้าเชื่อว่า หนอนทั้งสามคือปีศาจร้ายที่เข้าสิงในร่างมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิด และเฝ้าคอยที่จะทำลายชีวิตมนุษย์หากมนุษย์ปกป้องตนเองได้ไม่ดี โดยส่วนของร่างกายที่ปีศาจนี้ชอบสิงสู่คือ หัว อก และท้อง วิธีป้องกันก็คือการดูแลชีวิตตามที่กล่าวมา หากดูแลได้ไม่ดีชีวิตก็จะถูกทำลาย จากนั้นปีศาจก็จะอิสระจากร่างนั้นกลายเป็นปีศาจที่ดุร้ายต่อไป