สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/สมุนไพร ที่ผู้หญิงครึ่งโลกต้องการ

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

สมุนไพร

ที่ผู้หญิงครึ่งโลกต้องการ

 

ประชากรทั่วโลก ณ พฤศจิกายน 2561 มี 7.7 พันล้านคน เป็นชายร้อยละ 50.4 เป็นหญิงร้อยละ 49.6 หรือประมาณ 3,800 ล้านคน (สำหรับในประเทศไทยสลับกัน ชายประมาณร้อยละ 49 หญิงร้อยละ 51) เป็นหญิงที่มีอายุมากกว่า 64 ปี 315 ล้านคน อายุ 15-64 ปี 2,400 ล้านคน และอายุน้อยกว่า 15 ปี 937 ล้านคน

หากผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนประมาณอายุ 51 ปี อายุขัยเฉลี่ยของผู้หญิงทั่วโลก (ปี 2550-2558) อยู่ที่ 72 ปี 8 เดือน

นั่นหมายความว่า การหมดประจำเดือนจะมีผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้หญิงไปนาน 22 ปี ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีหญิงวัยหมดและหลังหมดประจำเดือนทั่วโลกถึง 1,200 ล้านคน

โดยมีรายใหม่ปีละ 47 ล้านคน

 

การคงความเป็นหนุ่มสาวนั้นเป็นความใฝ่ฝันของคนทั่วโลก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

มีตำนานและความเชื่อมากมายที่จะทำให้ร่างกายกลับคืนคงความหนุ่มสาว อายุยืนยาวในทุกชนชาติ ตั้งแต่น้ำพุแห่งความหนุ่มสาว จอกศักดิ์สิทธิ์ ยาอายุวัฒนะ พลังจักระของอินเดีย เป็นต้น

การแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านก็มีตำรับยาอายุวัฒนะมากมาย

การคงความหนุ่มสาวนั้น การแพทย์แผนปัจจุบันเชื่อว่า เกิดจากฮอร์โมนในร่างกายที่สำคัญคือเอสโตรเจนในผู้หญิง และเทสโทสเตอโรนในผู้ชาย เมื่อฮอร์โมนเหล่านี้ลดน้อยลงหรือหมดไป ร่างกายจะเข้าสู่ความชรา ผิวหนังเหี่ยวย่น กล้ามเนื้อลีบลง ผมร่วง กระดูกบางไขมันในเลือดสูง เกิดโรคหัวใจหลอดเลือด ฯลฯ

ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างรวดเร็วในช่วง 4-5 ปีหลังหมดประจำเดือน

บางรายต้องใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์เพื่อลดอาการร้อนวูบวาบ อารมณ์เปลี่ยนแปลง กระดูกบาง แต่ก็มีผลข้างเคียงจากฮอร์โมนสังเคราะห์ จึงมีการหาฮอร์โมนทดแทนที่ได้จากธรรมชาติ เพื่อความปลอดภัย

และได้ผลเหมือนฮอร์โมนจากร่างกายมากที่สุด

 

สมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีความน่าสนใจมาก คือว่านชักมดลูกตัวเมียกับฮอร์โมนเพศหญิงธรรมชาติ ข้อมูลจากสำนักข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับว่านชักมดลูกตัวเมีย (Curcuma comosa) ว่า สรรพคุณตามตำรายาไทย มีการใช้เหง้าว่านชักมดลูกรักษาอาการของสตรี เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน ตกขาว ขับน้ำคาวปลา แก้ธาตุพิการอาหารไม่ย่อย ริดสีดวงทวาร และไส้เลื่อน

ซึ่งจากภูมิปัญญาดั้งเดิมนี้ นักวิจัยไทยได้ทำการวิจัยในหนูทดลอง พบว่าว่านชักมดลูกตัวเมียมีสารสำคัญคือกลุ่มไฟโตเอสโตรเจน (สารที่ได้จากพืชในธรรมชาติที่ออกฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจน) ซึ่งมีศักยภาพในการรักษาสุขภาพของสตรีวัยทอง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระต้านการอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของความเสื่อมและความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย

นอกจากนี้ ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเทียบเท่าวิตามินซี ต้านการอักเสบซึ่งเป็นผลดีกับโรคในระบบประสาท รักษาและซ่อมแซมระบบหลอดเลือดและหัวใจ กระตุ้นการหลั่งน้ำดี ลดการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี

ยังพบสารช่วยลำเลียงไขมันออกจากเนื้อเยื่อต่างๆ เข้าไปในตับ และเสริมให้เกิดการขับคอเลสเตอรอลและกรดน้ำดีสู่ทางเดินอาหารและออกจากร่างกายพร้อมอุจจาระ ว่านชักมดลูกตัวเมียยังช่วยทำให้หลอดเลือดแข็งแรงป้องกันเยื่อบุผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจขาดความยืดหยุ่น ป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนในหนูทดลองที่ถูกตัดรังไข่ รักษาความหนาแน่นของมวลกระดูกได้เท่ากับกลุ่มหนูที่กินเอสโตรเจน ป้องกันจอประสาทตาเสื่อม

ป้องกันโรคสมองเสื่อมในหนูทดลอง

 

ข้อมูลการใช้ว่านชักมดลูกในประเทศไทย พบว่าว่านชักมดลูกเป็นสมุนไพรในตระกูลขมิ้น ในตำรายาไทยใช้รักษาอาการของสตรี แก้มดลูกพิการ ทำให้มดลูกเข้าอู่ แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ

ปัจจุบันมีการนำว่านชักมดลูกมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ขายกันอย่างกว้างขวาง

จึงทำให้ ศ.ดร.ภาวิณี ปิยะจตุรวัฒน์ ทำการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชและพิษวิทยา

พบว่าว่านชักมดลูกที่ขายในท้องตลาดนั้นมีการปะปนกันทั้งตัวเมียและตัวผู้ ว่านชักมดลูกตัวผู้ จะมีพิษต่อตับ ไต ม้าม แถมยังไม่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือมีน้อยมากอีกด้วย

ว่านชักมดลูกตัวผู้ (Curcuma latifolia) มีลักษณะต่างจากตัวเมียเล็กน้อย หัวจะกลมแป้นกว่า แขนงข้างจะยาวกว่า แต่ผู้ปลูกมักจะตัดหรือหักแขนงข้างออกเพื่อนำไปปลูก ทำให้แยกตัวผู้ตัวเมียไม่ออก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โรงพยาบาลของรัฐที่เคยส่งเสริมต้องเลิกทำการผลิตยาว่านชักมดลูกสำหรับสตรีหมดประจำเดือน เพราะหาแหล่งวัตถุดิบที่ถูกต้องไม่ค่อยได้

ดีที่ในเวลานี้ทางมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการเพาะเนื้อเยื่อว่านชักมดลูกตัวเมีย ได้ทดลองปลูกไปจนขยายพันธุ์ในพื้นที่ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา มานานร่วม 10 ปี จนเป็นแหล่งปลูกและขยายพันธุ์ว่านชักมดลูกตัวเมียมากที่สุดของประเทศไทย

แล้วด้วยความพอดีที่ประธานมูลนิธิสุขภาพไทยมีที่ดินอยู่ละแวกนั้น จึงได้ร่วมขอพันธุ์ว่านชักมดลูกทำการปลูกตามประสาคนชอบปลูกดอกไม้ ต้นไม้ ทำไปทำมาหลายปีจึงแบ่งวัตถุดิบมาให้สถานที่ผลิตยาของมูลนิธิสุขภาพไทยผลิตออกมาเผยแพร่

 

ว่านชักมดลูกตัวเมียเป็นฮอร์โมนธรรมชาติจากพืช มีศักยภาพในการรักษาสุขภาพของสตรีวัยทอง ช่วยชะลอความเสื่อม และป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ ที่เกิดจากความเสื่อมเนื่องจากการสูงวัย มีความปลอดภัยเพราะมีการใช้กันมายาวนาน

สุขภาพหญิงวัยทองกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลกยังคงแสวงหาสมุนไพรจากธรรมชาติ ว่านชักมดลูกตัวเมียเป็นสมุนไพรธรรมดาๆ ปลูกง่าย ใช้เป็นยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการผลิตซับซ้อน จึงมีราคาไม่แพง ผู้หญิงทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ไม่ยาก จะปลูกและใช้เพื่อการพึ่งตนเองของชุมชนก็ได้ จะพัฒนาเป็นเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนก็ได้อีกด้วย

สนใจศึกษาข้อมูลลึกซึ้งสอบถามสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หากสนใจถามการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพว่านชักมดลูก

ติดต่อมูลนิธิสุขภาพไทย โทร. 0-2589-4243, 09-4489-7887 หรือ 08-1300-3300