ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : “ขนมปัง” เพี้ยนมาจากคำว่า “ขนมแปง” เพราะทำจาก “แป้ง” จึงเรียกว่า “ขนม”

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เป็นเรื่องที่นิยามได้ค่อนข้างจะยากว่า “ขนมปัง” นั้นถือว่าเป็น “ขนม” จริงๆ หรือเปล่า?

เพราะถึงแม้ว่าขนมปังหลากหลายชนิด สารพัดไส้ ไม่ว่าจะเป็นไส้สังขยา ไส้ครีม ไส้ช็อกโกแลต และอีกให้เพียบนั้นนับกันว่าเป็นขนมได้แน่

แต่เอาเข้าจริงแล้ว เราจะทำใจนับเจ้าขนมปังแผ่นที่จับยัดเข้าเครื่องปิ้งให้กรุบกรอบและหอมกรุ่น แล้วเอามาทาเนย ควบแยมชนิดโปรดของใครของมันว่าเป็น “ขนม” ได้จริงๆ หรือครับ?

การที่จะตอบคำถามนี้ได้นั้น เราจึงควรจะต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า ทำไมพี่ไทยจึงเรียก “bread” ของพวกฝรั่ง (รวมถึงอะไรเทือกๆ นี้ เช่น loaf, biscuit และอื่นๆ อีกให้เพียบ) ว่า “ขนมปัง” ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีการง่ายๆ ก็คือ การกลับไปศึกษารากและประวัติศาสตร์ของคำว่า “ขนม” นี่แหละ

 

มีคำอธิบายในทำนองที่ว่า “ขนม” กร่อนมามาจากคำว่า “ข้าวนม” ซึ่งก็มักจะลากโยงกันต่อไปว่าคืออิทธิพลของอินเดีย เช่นเดียวกับอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่างที่พี่ไทยคิดไม่ออก ก็มักจะโยนความดีความชอบว่า รับเอามาจากอินเดียไปเสียหมด

แต่ข้อเสนอนี้ก็มักจะถูกตีตกไปด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่า ขนมไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มี “นม” เป็นส่วนประกอบสำคัญ ต่างไปจากสารพัดอาหารสัญชาติภารตะ แล้วขนมที่ทำมาจากนมจะสำคัญถึงขนาดที่ทำให้เราเรียกของหวาน ของกินเล่นทั้งหมดโดยมีนมเป็นที่ตั้งไปได้อย่างไรกัน?

อีกคำอธิบายที่ก็ดูจะไม่มีที่มาที่ไปไม่ต่างจากกันนักก็คือคำอธิบายที่ว่า “ขนม” มาจากคำว่า “ข้าวหนม” หรือ “เข้าหนม” ซึ่งสันนิษฐาน (ศัพท์วิชาการของคำว่า เดา) กันว่า หมายถึงข้าวที่ผสมกับน้ำอ้อยและน้ำตาล โดยมักจะอ้างว่า คำว่า “หนม” นั้น หมายถึงรสชาติหวานกันไปแบบงงๆ

แต่ก็อย่างที่บอกนะครับว่า แม้แต่รูปร่างหน้าตาของเจ้าข้าวหนมนั้นมันเป็นอย่างไรนั้น ก็ยังต้องเดา (ศัพท์ลำลองของคำว่า สันนิษฐาน) เอาโดยไม่มีหลักฐาน หรือร่องรอยอะไรเลย ดังนั้น นี่จึงอาจจะเป็นคำอธิบายที่ไม่ค่อยน่าเชื่อสักเท่าไหร่อีกเช่นกัน เพราะไม่มีหลักฐานที่ชวนให้น่าเชื่อถือเลยสักนิด

ที่สำคัญก็คือ มันมีใครที่ไหนในบ้านนี้เมืองนี้ ที่ใช้คำว่า “หนม” ในความหมายของรสชาติ “หวาน” เสียเมื่อไหร่กัน?

และแม้แต่ในพจนานุกรมภาษาไทยสารพัดฉบับนั้น ก็ไม่มีศัพท์บัญญัติว่า “หนม” อยู่เลยด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะในความหมายใดก็ตาม

ไม่ใช่เฉพาะแค่ความหมายที่มักจะอ้างต่อกันมาอย่างไม่มีทั้งที่มาและที่ไปว่า “หวาน”

พูดง่ายๆ ก็คือ คำว่า “หนม” นั้น เป็นคำที่ไม่มีความหมาย

 

คําอธิบายที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ “ขนม” เป็นคำเดียวกันกับคำว่า “คะนอม” ในภาษามอญ ที่แปลว่า “อาหารที่ทำจากแป้ง”

มีตัวอย่างเปรียบเทียบที่สำคัญก็คือ “ขนมจีน” ซึ่งไม่ใช่ทั้งขนม และไม่ได้เกี่ยวอะไรกับจีน (แน่นอนว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวของจีน เป็นคนละเรื่องกันเลยกับเส้นขนมจีนบ้านเรา และอาหารจีนก็ไม่มีเส้นก๋วยเตี๋ยวราดด้วยน้ำยา น้ำพริก แกงเขียวหวาน หรืออะไรอีกสารพัดเหมือนอย่างเราแน่)

ในภาษามอญยังมีคำศัพท์เกี่ยวกับอาหารที่ออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า “จีน” คือ “จิน” ที่แปลว่า “สุกแล้ว” (จากการหุงต้ม)

ดังนั้น ถ้าคำว่า “ขนมจีน” จะมาจากคำว่า “คะนอมจีน” ก็ไม่เห็นจะแปลกที่ตรงไหน การเรียกอาหารคาวด้วยคำว่า “ขนม” ซึ่งหมายถึงอาหารกินเล่น (ที่มักจะมีรสหวาน) ต่างหาก ที่เป็นเรื่องชวนให้น่าหลากใจมากกว่า

และก็แน่นอนด้วยว่า “ขนมปัง” นั้น มีส่วนประกอบสำคัญมาจาก “แป้ง”

ดังนั้น ถ้า “ขนม” ในภาษาไทยคือคำเดียวกันกับที่พวกมอญออกเสียงว่า “คะนอม” แล้ว คำว่าขนมในภาษาไทย ก็ควรจะหมายถึงอะไรที่ทำมาจากแป้งมาก่อน ที่จะหมายถึงของกินเล่น (โดยเฉพาะที่มีรสชาติหวาน) อย่างเช่นความหมายในปัจจุบันนี้

(เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจ เพราะมีการอ้างด้วยว่า คำว่า “หนม” ในภาษาเขมร ก็หมายถึงอาหารที่ทำมาจาก “แป้ง” เช่นเดียวกับ “คะนอม” ในภาษามอญ แต่เท่าที่ผมเคยเดินทางสำรวจในประเทศกัมพูชามาหลายสิบครั้ง ตลอดรอบหลายปีที่ผ่านมา คำว่าหนมในภาษาเขมรปัจจุบัน หมายถึง “ขนม” มากกว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าคำว่าขนมในภาษาไทย ยังหมายถึงอาหารที่ทำมาจากแป้งมาก่อนที่จะหมายถึงของกินเล่นได้แล้ว ก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรที่คำว่าหนมในภาษาเขมร จะเป็นเช่นเดียวกันไม่ใช่หรือครับ?)

 

ข้อความในจดหมายเหตุการเดินทางสู่สยาม ของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า กีย์ ตาชาร์ด (Father Guy Tachard) เมื่อ พ.ศ.2228 ตรงกับแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์ มีข้อความระบุว่า “ขนมปัง” เป็นสิ่งที่หาซื้อได้ยาก และมีราคาแพงในอยุธยา เพราะต้องซื้อ “แป้งสาลี” มาจากเมืองสุหรัด ในประเทศอินเดีย หรือนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น

แต่นั่นก็แสดงให้เห็นว่า คนอยุธยารู้จักกับขนมปังเรียบร้อยแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์นั่นเอง

น่าสังเกตว่า รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2199-2231) ที่พบร่องรอยที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับขนมปังในไทยนั้น เป็นยุคสมัยที่การเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชาติฝรั่งเศส

อย่างบาทหลวงตาชาร์ด ซึ่งพูดถึงเรื่องขนมปังเอาไว้เป็นหลักฐานสำคัญชิ้นแรกนี่แหละ

เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า คำว่า “ปัง” คงจะเป็นคำที่คนในสมัยอยุธยาเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า “pain” ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งออกเสียงว่า “แปง” โดยคำที่ว่า ก็หมายถึง “ขนมปัง” นี่แหละ

ดังนั้น ถ้าคนในสมัยอยุธยาจะเรียก “pain” ว่า “แปง” ตามอย่างชาวฝรั่งเศส ที่เข้ามามากในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ แล้วมีคำกำกับเอาไว้ข้างหน้าว่า “ขนม” เพราะทำมาจาก “แป้ง” ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ชวนพิศวงอะไรไม่ใช่หรือครับ?