สมหมาย ปาริจฉัตต์ : พ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา อีกหนึ่งไม้เด็ดปฏิรูปการศึกษา

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ผลงานที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) คิดว่าเป็นหมัดเด็ดอีกหมัดหนึ่งที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษารอบใหม่นี้ประสบความสำเร็จ คือการผลักดันให้เกิดเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

เริ่มเกิดผลแล้ว เมื่อร่าง พ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาผ่านที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปพร้อมๆ กับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561

มาตรา 60 เขียนไว้ว่า การบริหารและการจัดการศึกษาระดับการศึกษาก่อนวัยเรียนและระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสามารถกำหนดให้มีเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาขึ้นได้ เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระในการจัดการศึกษาระดับพื้นที่ เพื่อรองรับความต้องการด้านการศึกษาหรือความต้องการด้านอื่นของชุมชนโดยเฉพาะ หรือเพื่อนำร่องและประเมินผลรูปแบบการจัดการศึกษาในระดับพื้นที่ก่อนขยายผลเป็นการทั่วไป

ครับ โดยตัวของมันเอง เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ก็คือนวัตกรรมใหม่ทางการบริหารจัดการการศึกษานั่นเอง

 

วัตถุประสงค์หลักของการสร้างองค์กรที่ว่านี้ขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกผลักดันให้นวัตกรรมทางการศึกษาที่ดีๆ มีร่องรอยความสำเร็จถูกนำไปขยายผลให้เกิดขึ้นกว้างขวางเป็นการทั่วไป เพื่อให้โรงเรียนไทยมีคุณภาพ มาตรฐานที่ใกล้เคียงกันให้มากที่สุด

เพราะที่ผ่านมา แม้จะพบว่าหลายพื้นที่ของประเทศ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้นำชุมชน องค์กรท้องถิ่น องค์กรพันธมิตรทางการศึกษาจำนวนไม่น้อยช่วยกันสร้างสรรค์แนวทางพัฒนาการศึกษาที่ดีๆ ส่งผลทั้งด้านการยกระดับคุณภาพการศึกษาและแก้ปัญหาการขาดโอกาส และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจนเป็นที่ยอมรับ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานมากมาย แต่ก็ไม่สามารถนำไปขยายผลในที่อื่นๆ ได้มากเท่าที่ควร

เหตุจากปัจจัยที่เป็นอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดความเป็นอิสระของสถานศึกษา การบริหารจัดการแบบสั่งการจากเบื้องบนหรือส่วนกลาง วัฒนธรรมอำนาจราชการ อีกทั้งกฎระเบียบต่างๆ ไม่เอื้ออำนวย

เหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของแนวคิดเลือกเขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งขึ้นมา สร้างสภาพแวดล้อม กำหนดกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ให้เอื้ออำนวยต่อการนำนวัตกรรมทางการศึกษาที่ดีๆ ไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผล

 

ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขานรับแนวคิดนี้และเริ่มทดลองนำร่องไปแล้วใน 6 พื้นที่ โดยใช้จังหวัดเป็นตัวตั้ง ได้แก่ ระยอง ศรีสะเกษ สตูล เชียงใหม่ กาญจนบุรี และ 3 จังหวัดชายแดนใต้

สาระแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าววางโครงสร้างการบริหารเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้มีกรรมการระดับชาติรับผิดชอบ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายคนหนึ่งเป็นรองประธาน

กรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ทรงคุณวุฒิอันจะเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของสถานศึกษาในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจำนวนไม่เกินห้าคน ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นกรรมการและเลขานุการ และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

ระดับรองลงไปให้มีคณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในแต่ละเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งตามคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายหนึ่งคนเป็นประธาน

กรรมการประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิภาคธุรกิจในพื้นที่ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งตามคำแนะนำของคณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย จำนวนสามคน ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งตามคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายจากภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จำนวนสี่คน

ผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษานำร่อง ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของผู้บริหารสถานศึกษานำร่อง จำนวนไม่เกินสามคน ผู้แทนครูและบุคลากรการศึกษาในสถานศึกษานำร่องซึ่งมาจากการเลือกกันเองของครูและบุคลากรการศึกษาในสถานศึกษานำร่อง จำนวนไม่เกินสามคน

นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานั้นตั้งอยู่ นายกเทศมนตรีหรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่สถานศึกษานำร่องตั้งอยู่

ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นเลขานุการ

 

รายละเอียดอำนาจ หน้าที่มีอย่างไรบ้าง คลิกไปที่เว็บไซต์คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา หาอ่านได้เลย ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง ในชั้นการแปรญัตติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วาระสอง-สาม คาดว่าจะเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก่อนการเลือกตั้ง

ในชั้นการพิจารณาวาระแรก สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นักคิดทางการศึกษาหลายท่านให้ข้อสังเกตน่าคิดหลายประการ ความโดยสรุปตามการตีความของผมคือ เป็นกังวลว่าจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษากับโรงเรียนทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่ไม่อยู่ในเขตพื้นที่นวัตกรรม

ประเด็นนี้รวมถึงช่องว่างระหว่างตัวเขตพื้นที่การศึกษาเอง ทั้งเขตประถมศึกษาและมัธยมศึกษาส่วนใหญ่ กับเขตพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นเขตนวัตกรรมการศึกษา ได้รับเงื่อนไขสิทธิพิเศษทางการศึกษาต่างๆ ทำให้มีโอกาสพัฒนามากกว่าขึ้นไปอีก

นานเข้าจะทำให้เกิดเป็นคนกลุ่มพิเศษ เป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง ขณะที่เขตพื้นที่ทั่วไปเดิม ส่วนใหญ่กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง การพัฒนาจะมีแนวโน้มเป็นเช่นไร

ในเขตจังหวัดเดียวกัน จะมีตัวละครเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งตัว นอกจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา ต่อไปจะมีคณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพิ่มเข้ามา จะประสานบทบาทความสัมพันธ์กันอย่างไร ให้ผลการจัดการศึกษาตกถึงเด็กอย่างแท้จริง

เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะทำให้องค์กรภาคประชาสังคม ไม่ว่าสภาการศึกษาจังหวัด สมัชชาการศึกษาจังหวัด หรือภาคีปฏิรูปการศึกษาจังหวัดที่มีอยู่เข้มแข็งขึ้นตามไปด้วย ขณะที่จังหวัดที่ไม่ได้รับการยกฐานะให้เป็นเขตพื้นที่นวัตกรรมยิ่งจะฝ่อจนฟุบลงหรือไม่

ล้วนเป็นข้อคิดที่น่าพิจารณาอย่างยิ่ง