หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/ ‘สายพันธุ์’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กวางกับนกขุนแผน - ในป่า การอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพา เป็นภาพที่พบเห็นได้เสมอ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘สายพันธุ์’

 

หลายปีกับการนั่งนิ่งๆ อยู่ในที่ซ่อน รอให้ได้เห็นสัตว์ป่า ดูเหมือนจะเป็นเวลาที่ผม “ได้ยิน” และ “เห็น” ความเป็นไปซึ่งอยู่รอบๆ ตัว

อย่างหนึ่งที่ผมเห็นเสมอในสังคมของสัตว์ป่า คือการพึ่งพาอาศัยกัน

ไม่เฉพาะในหมู่พวกเดียวกัน ต่างพวกพ้อง ต่างชนิด พวกมันก็คล้ายจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นอย่างดี

นกระวังภัย, กระรอก รวมถึงสัตว์อื่นๆ ที่มีหน้าที่เฝ้าระวัง หรือยาม ไม่ได้เตือนภัยแค่พวกตัวเอง แต่เตือนทุกชีวิตที่อยู่ในบริเวณนั้นว่ามีสัตว์ผู้ล่า หรือคนเข้ามาใกล้

การเตือนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รับเป็นทอดๆ โดยเฉพาะเมื่อพวกยามเห็นคน

เพราะรู้ดีว่า นี่คือผู้ล่าซึ่งอันตรายที่สุด

หากสัตว์ป่ารู้ตัว มีสติสมบูรณ์ พวกมันจะไม่ยอมให้คนเข้าใกล้

แต่ผู้ล่าอย่างเสือ หรือผู้ล่าตัวอื่นที่ไม่ได้อยู่ในเวลาทำงาน สามารถเดินผ่านหรือเข้ามาใกล้

บางครั้งเข้ามาอยู่ในฝูงสัตว์กินพืชได้

 

เดินในป่า โอกาสพบเจอสัตว์ป่าน้อยมาก ไม่ว่าจะพยายามระมัดระวังเพียงใด ไม่ใช่เพราะในป่านั้นไม่มีสัตว์ป่า เพียงแต่พวกมันมียามที่มีความสามารถสูงกว่าเรา จึงส่งสัญญาณให้พรรคพวกหลบให้พ้นก่อนเราจะเห็น

ในช่วงเวลาที่โป่งเป็นแหล่งชุมนุม เช่นในต้นฤดูหนาว ภาพความเอื้อเฟื้อกันของเหล่าสัตว์ป่าจะเห็นได้ชัดเจน

แอบซ่อนตัวอย่างมิดชิด ไม่ได้ทำให้ผมอยู่ร่วมในสังคมสัตว์ป่าได้หรอก

แต่พอที่จะทำให้เข้าใจรหัสที่พวกมันสื่อสารกันบ้าง

สำเนียงหรือเสียงร้องของนก, กระรอก รวมทั้งเก้ง เปลี่ยนไปตามสถานการณ์

นกเขาเปล้า นกแขกเต้า และนกลุมพู นับร้อยๆ ตัว จะฟังเสียงนกหกเล็กปากแดงอย่างเชื่อฟัง

เมื่อนกหกเล็กปากแดงส่งเสียง “จิ๊ก! จิ๊ก!” ห้วนๆ เร็วๆ นั่นคือสัญญาณอันตราย ต้องมีเหยี่ยวหรือผู้ล่าเข้ามาแน่

เสียงนี้ทำให้นกนับร้อยตัวบินพรึบขึ้นพร้อมๆ กัน

หากสถานการณ์ปกติ เสียง “ฮือ! ฮือ!”  คล้ายเสียงคราง หรือพึมพำในคอจากนกเขาเปล้า จะมีให้ได้ยินตลอด พวกมันส่งเสียงตอนเกาะอยู่บนกิ่งไม้ใกล้โป่ง สลับการบินวนๆ และร่อนลงกินน้ำ

ถ้าวันไหนรอบๆ โป่งเงียบ ไม่มีเสียงนก ไม่มีเก้ง หรือเหยี่ยวรุ้งมาบินร่อน ไม่นานนักจะเห็นเสือโคร่ง ไม่ก็เสือดาวเดินหางยาว ทำท่าลับๆ ล่อๆ

แต่ส่วนใหญ่ มักเดินมาถึงกลางๆ โป่ง มองซ้ายขวาไม่เห็นอะไร ก็มักล้มตัวลงนอนเล่นสักพัก จึงจะลุกขึ้นเดินต่อ

จากนั้นไม่นาน นกเขาเปล้ามักมาก่อนเป็นทัพแรก

โป่งกลับมาคึกคักเช่นเดิม

 

ริมฝั่งลำห้วยช่วงฤดูแล้งเดินสะดวก สิ่งที่หลีกไม่พ้นคือ นกกระแตหาด ซึ่งเป็นยามที่เคร่งครัดมาก มันจะบินล่องไปตามลำห้วย ปากส่งเสียงลั่นทั่วคุ้งน้ำ

ส่วนเก้งแม้จะมีประสาทสัมผัสในการระวังดี แต่พวกมันเลือกที่จะออกมาในโป่งพร้อมนกยูง ด้วยเหตุผลว่า นกยูงก็มีประสาทสัมผัสระวังภัยเป็นเลิศ

เก้งมีจมูกรับกลิ่นดี

นกยูงมีสายตาที่ดีกว่า

อยู่ด้วยกัน พวกมันจะปลอดภัยมากขึ้น

 

กระทั่งถึงวันนี้ เรารู้จักสัตว์ป่ามากขึ้น เทคโนโลยีใหม่ๆ ถูกนำมาใช้ในการทำความรู้จักกับพวกมันอย่างได้ผล

หลายคนเชื่อว่า พฤติกรรมอันซับซ้อนของสัตว์ป่า ไม่ใช่เรื่องของการแสดง ความฉลาดเสมอไป มันอาจเป็นแค่ผลของปฏิกิริยาที่เกิดจากสัญชาตญาณเท่านั้น

เฝ้าดูพวกมันด้วยสายตาเปล่า ไม่ผ่านเลนส์

ผม “เห็น” สัตว์ป่า

แต่ไม่เคยรู้เลยว่าพวกมันคิดอะไร

 

วิธีหนึ่งที่ผมใช้ในการทำงาน นอกจากทำความรู้จัก “ตัว” สัตว์ป่าแล้ว ผมคิดแบบสัตว์ป่า และมองพวกมันด้วยความรู้สึกพยายามทำความเข้าใจท่าทางที่สะท้อนด้านอารมณ์ของพวกมัน

ผมเรียกสัญชาตญาณที่สัตว์ป่าแสดงความเอื้ออาทร

อยู่ร่วมกันอย่างห่วงใยว่า “มิตรภาพ”

เป็นมิตรภาพของชีวิตที่อยู่ในสายพันธุ์เดียวกัน

 

ในป่านั้น โป่งเป็นเพียงแหล่งอาหารเสริม บางแห่งมีน้ำเฉพาะฤดูฝน บางแห่งในฤดูแล้ง ดินแห้งแข็ง แม้แต่งาหรือตีนอันแข็งแรงของช้างก็ขุดเอาแร่ธาตุขึ้นมาไม่ไหว

หมดเวลาอันเหมาะสม น้ำแห้งขอด เหลือเพียงดินแตกระแหง

สัตว์แยกย้ายไปตามวิถี

ความพยายามเข้าใจสัตว์ป่าในด้านของความรู้สึกได้ผลอยู่บ้าง ประการหนึ่งคือ มีโอกาสเห็นสัตว์ป่า

แต่มันล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในความรู้สึกที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในสังคมของพวกมัน

แม้หลายครั้งพวกมันยอมให้อยู่ใกล้ อนุญาตให้สบตา

ดูเหมือนจะมีบรรยากาศแห่งมิตรภาพ

แต่เมื่อเป็นมิตรภาพที่ต่างสายพันธุ์

ช่องว่างจึงไกลห่าง

 

ระหว่างเก้งกับนกยูงนั้น หลังหมดช่วงเวลาแห่งความรัก นกยูงตัวผู้ทิ้งหางยาวสลวยไว้บนพื้นอย่างไม่แยแส นานๆ ครั้งพวกมันจึงจะเข้ามาในโป่งด้วยกัน

นี่ไม่ใช่ช่วงเวลาที่อวดความแข็งแรงให้ใครเห็นแล้ว

มีสมาธิในการระมัดระวังตัวเองเป็นอย่างดี

การอาศัยผู้อื่นก็ไม่จำเป็นนัก

 

ชีวิตในป่าสอนว่าในป่ามีมิตรภาพ

ชีวิตในป่าอีกนั่นแหละสอนให้รู้ว่า

อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญว่าจะเป็นมิตรภาพในสายพันธุ์เดียวกัน หรือต่างสายพันธุ์

ความจำเป็นของเรื่องนี้

คือต้องรู้ว่าตัวเราอยู่ในสายพันธุ์ใด…