วิกฤติศตวรรษที่21 : สีจิ้นผิงกับปัญหาความมั่นคงการเงิน และการเคลื่อนไหวทำให้เงินหยวนเป็นเงินสากล

วิกฤติประชาธิปไตย (39)

สีกล่าวในหลายที่รวมทั้งในการประชุมที่ผู้นำพรรคระดับสูงเข้าร่วมว่าความมั่นคงทางการเงินเป็นส่วนสำคัญของความมั่นคงแห่งชาติและเป็นรากฐานหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจที่มั่นคงแข็งแรง

สีย้ำว่า “การเงินเป็นแกนของเศรษฐกิจสมัยใหม่ เราจะต้องทำงานให้ดีในภาคการเงิน เพื่อที่จะประกันการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและแข็งแรง”

สีได้เสนอภาระหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงทางการเงินไว้หลายประการ ได้แก่

ก) ส่งเสริมการตรวจสอบได้และการปฏิบัติตามข้อกำหนดของสถาบันการเงินต่างๆ ไม่ให้เกิดช่องโหว่

ข) เสริมความเข้มแข้งในการกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างเป็นระบบ

ค) ป้องปรามการละเมิดกฎหมายและระเบียบต่างๆ โดยเน้นการตรวจตลาดการเงินและอินเตอร์เน็ตการเงินอย่างครอบคลุม

ง) ให้ภาคการเงินสนับสนุนภาคธุรกิจที่เป็นจริง โดยพัฒนาตลาดทุนให้มีความลึกหลายระดับ ขยายขอบเขตของการเงินโดยตรงไม่ผ่านตัวกลาง ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ภาคธุรกิจสำคัญ เช่น การผลิตใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

จ) ผู้ปฏิบัติงานพรรคในระดับสูงจะต้องเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจทางด้านการเงิน และใช้ความรู้นี้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน

ฉ) ท้ายสุดได้แก่ ยึดหลักการนำของพรรคจีนในด้านการเงิน (ดูรายงานข่าวชื่อ Xi stresses financial security ใน xinhuanet.com 26.04.2017)

การให้ความสำคัญอย่างสูงนี้ ด้านหนึ่งเกิดจากความจำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจเองที่ได้ประสบปัญหาอุปสรรคหลายครั้ง จำต้องปฏิรูประบบการเงินของตนเป็นระยะ อีกด้านหนึ่งเกิดจากว่าจีนได้รับผลกระทบจากความไม่มั่นคงของระบบการเงินโลกมากขึ้นทุกที

เรื่องระบบการเงินโลก

ระบบการเงินโลกได้ถูกออกแบบและกำหนดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจโลกก้าวสู่ขั้นโลกาภิวัตน์ในยุคอุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน แต่ระบบการเงินนี้มีความไม่มั่นคงในตัวเอง จากการแสวงหาและการเก็งกำไร ความขัดแย้งรุนแรงจากการพัฒนาที่ไม่สม่ำเสมอในระบบทุน รวมทั้งการแยกตัวระหว่างทุนการเงินกับเศรษฐกิจที่เป็นจริง

การขยายช่องว่างทางรายได้ ไปจนถึงการก่อหนี้มหาศาลโดยเฉพาะหลังทศวรรษ 1970 ระบบการเงินโลกที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 มีลักษณะร่วมกันคือ ประกอบด้วยเงินสกุลหลักหนึ่งสกุล รายล้อมด้วยเงินสกุลอื่นอีกจำนวนหนึ่งเป็นสกุลเงินสากล ที่นอกจากใช้ในประเทศเจ้าของเงินเหล่านั้นแล้ว ยังใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมทั้งการค้า การลงทุนของชาติอื่นด้วย

ประเทศเหล่านี้เป็นชาติมหาอำนา0ทางเศรษฐกิจ ควบคุมการค้าโลก มีอำนาจทางการทหารและการเมือง มีทหารและฐานทัพทั่วโลก ในช่วงระหว่างปี 1870-1914 ซึ่งเป็นโลกาภิวัตน์ครั้งแรกในยุคอุตสาหกรรม มีเงินปอนด์ของอังกฤษเป็นแกน มีความมั่นคงสูง สามารถนำไปใช้แลกทองคำในอัตราที่กำหนดไว้ได้เสมอ เป็นการผูกเงินปอนด์เข้ากับทองคำ เป็นระบบมาตรฐานทองคำ มีการส่งออกและนำเข้าทองคำอย่างเสรี ชาติต่างๆ ก็ล้วนใช้ทองคำเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งดูน่าจะมีความมั่นคง แต่ก็ไม่มั่นคง

เนื่องจากอังกฤษต้องใช้จ่ายเกินตัวเพื่อรักษาอาณานิคมและอิทธิพลของตน ทั้งถูกท้าทายจากมหาอำนาจใหม่ เช่น ปรัสเซีย (เยอรมนี) และรัสเซีย จนระเบิดเป็นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

และอังกฤษได้ยกเลิกการผูกค่าเงินกับทองคำ ก็เท่ากับเลิกระบบนี้ไปในตัว

ในช่วงระหว่างสงครามโลกหรือปี 1918-1939 มีความพยายามที่จะฟื้นระบบมาตรฐานทองคำขึ้นมาใหม่ โดยเพิ่มสกุลเงินหลักเป็นสี่สกุล คือเงินฟรังก์ฝรั่งเศส เงินไรช์มาร์กของเยอรมนี เงินปอนด์อังกฤษ และดอลลาร์สหรัฐ เรียกว่าระบบมาตราปริวัตรทองคำ

ประเทศต่างๆ สามารถใช้ทั้งทองคำและเงินสกุลหลักเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะเหตุปัจจัยได้แก่ การเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำปี 1930 กลุ่มมหาอำนาจต่างดิ้นรนเอาตัวรอด และต้องการรักษาความเป็นอิสระทางการเงินเพื่อสร้างความชอบธรรมในประเทศ ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นทุกทีจนปะทุเป็นสงครามโลกครั้งที่สอง

ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศสมาชิกฝ่ายสัมพันธมิตรรวม 44 ประเทศ ได้ประชุมกันเพื่อสร้างระบบการเงินโลกใหม่ ป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติซ้ำอีก เรียกว่า ระบบเบรตตันวูดส์ (1944-1971)

ข้อตกลงมีว่า

ก) ใช้อัตราแลกเปลี่ยนการเงินคงที่คล้ายระบบมาตรฐานทองคำ แต่ให้ประเทศสมาชิกโดยเฉพาะที่ประสบปัญหาปรับความยืดหยุ่นได้ กำหนดให้ทองคำและดอลลาร์สหรัฐเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ และกำหนดค่าเงินดอลลาร์ให้คงที่เมื่อเทียบกับทองคำคือ 35 ดอลลาร์ต่อทองคำ 1 ออนซ์ และดอลลาร์จะต้องสามารถแลกเปลี่ยนกับทองคำอย่างไม่มีจำกัด ประเทศต่างๆ กำหนดค่าแลกเปลี่ยนเงินตราของตนให้คงที่เมื่อเทียบกับดอลลาร์หรือทองคำ และต้องเข้าแทรกแซงค่าเงินให้คงที่โดยให้เพิ่มขึ้นหรือลดลงไม่เกินร้อยละหนึ่ง

ข) ตั้งองค์การกำกับหรือบริหารงานเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ได้แก่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ กลุ่มธนาคารโลก และองค์การการค้าโลก แต่ระบบเบรตตันวูดส์ใช้อยู่ไม่นานก็ต้องเลิกไปเพราะการใช้จ่ายเกินตัวของสหรัฐและการท้าทายจากมหาอำนาจใหม่ที่แพ้สงครามคือเยอรมนีและญี่ปุ่น

นอกจากนี้ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกน้ำมันต้องการรักษาผลประโยชน์ของตน สหรัฐประกาศเลิกข้อตกลงแลกดอลลาร์เป็นทองคำ และลดค่าเงินของตนเป็นว่าเล่นในปี 1973

เมื่อระบบเบรตตันวูดส์ล้มเหลว เป็นโชคดีที่ไม่เกิดสงครามโลกครั้งที่สาม มีการคิดปรับเปลี่ยนระบบการเงินโลกขึ้นหลายประการ เช่น สร้างระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว สร้างระบบเงินตราภูมิภาคเช่นเงินยูโร รวมทั้งสร้างทฤษฎีเศรษฐกิจใหม่เช่นลัทธิเสรีนิยมใหม่ขึ้น แต่ก็ช่วยไม่ได้มาก

นับแต่ทศวรรษ 1980 ระบบการเงินโลกเข้าสู่ภาวะไร้เสถียรภาพขึ้นทุกที

Chinese investors sit in front of a screen showing stock market movements at a securities firm in Hangzhou, eastern China’s Zhejiang province on May 31, 2016.
Asian stocks rose on May 31, led by a surge in Shanghai, while the dollar edged higher as traders weighed the fallout from a likely US interest rate rise this summer. / AFP PHOTO / STR / China OUT

การเคลื่อนไหวของจีน

ในการทำให้เงินหยวนเป็นเงินสากล

หลังการปลดปล่อยปี 1949 จีนได้ประกาศใช้เงินหยวน (เรียกเป็นทางการว่า “เงินตราประชาชน” หรือ “เหริน หมิน ปี้” นิยมเรียกย่อในภาษาอังกฤษว่า RMB รหัสสกุลเงินสากลใช้ CNY)

แต่จีนได้เริ่มใช้ระบบเงินตราเหมือนอย่างประเทศเสรีนิยมอื่นอย่างจริงจังในปี 1992 นี้เอง หลังการปฏิรูปและการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 1980

ก่อนหน้านั้นแม้จีนจะมีเงินตราของตน แต่ก็ไม่ได้ใช้เงินตราครบตามหน้าที่ของมัน

ที่สำคัญไม่ได้ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน หากแต่ใช้ระบบใบสั่งจ่ายที่สนับสนุนโดยเงินตรา เนื่องจากความจำเป็นในการสะสมทุนเบื้องต้นของจีน การสะสมทุนเบื้องต้นโดยทั่วไปใช้ภาคการเกษตรหรือชนบทเป็นฐานดูดซับความมั่งคั่งจากชนบทมาสู่เมือง เพื่อสร้างฐานอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เวลานานและความทุกข์ยากของชาวนาในชนบทอย่างหนัก ในจีน สินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิต

ในระยะแรกไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เนื่องจากใช้เทคโนโลยีต่ำ จำต้องขายให้แก่ชาวนาในประเทศของตน การแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างเมืองกับชนบทนี้ ถ้าปล่อยให้เงินทำหน้าที่ของมันเต็มที่ ไม่ช้าก็จะเกิดเงินเฟ้อรุนแรงในเมือง และลามไปยังชนบท เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

รัฐบาลจึงได้เข้ามากำกับดูแลการแลกเปลี่ยนอย่างเต็มตัว เรียกกันว่า “เศรษฐกิจแบบวางแผน”

เมื่อจีนปฏิรูปเศรษฐกิจ หันไปผูกพันกับตลาดโลกและตลาดการเงินโลก และเมื่อการสะสมทุนเบื้องต้นในจีนเสร็จสมบูรณ์แล้ว จีนจึงสร้างระบบการเงินของตนในปี 1992 ดังกล่าว การสร้างระบบการเงินของจีนที่สำคัญกระทำโดยการยกเลิกระบบใบสั่งจ่าย วิเคราะห์กันว่าที่ปฏิบัติเช่นนี้เพราะได้เห็นบทเรียนการล่มสลายของสหภาพโซเวียตว่า ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะไม่ได้สร้างระบบการเงินขึ้นอย่างทันกาล

ในการสร้างระบบการเงินขึ้น จีนได้เพิ่มเงินหมุนเวียนขึ้นเป็นอันมาก รวมทั้งการแปรสินทรัพย์ทางกายภาพ มีอสังหาริมทรัพย์เป็นต้นให้กลายเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน สะดวกในการแลกเปลี่ยน ทำให้สินทรัพย์ทางการเงินของจีนพุ่งพรวดขึ้น

เห็นได้ว่าในทศวรรษ 1970 สินทรัพย์ทางการเงินของจีนมีราว 1 แสนล้านหยวน เพิ่มเป็น 1 ล้านล้านหยวนในทศวรรษ 1980

และ 10 ล้านล้านหยวนในทศวรรษที่ 1990

ในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 สินทรัพย์ทางการเงินของจีนขึ้นมาอยู่ที่ 100 ล้านล้านหยวน

การสร้างระบบการเงินนั้นได้ช่วยให้เศรษฐกิจจีนที่ตกอยู่ในอาการป่วยไข้ ได้ฟื้นพลังจนเป็นที่หวั่นเกรงของตะวันตก

อนึ่ง เป็นที่สังเกตว่าการสร้างระบบการเงินของจีนครั้งนี้ เกิดขึ้นประจวบกับที่ทางการจีนนำเสนอแนวคิด “ตลาดเชิงสังคมนิยม” ขึ้นด้วย

แต่การสร้างระบบการเงินดังกล่าว ก็มีผลเสียในตัวของมันได้แก่ ภาวะหนี้สินขยายตัว ช่องว่างทางรายได้ ช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบท และช่องว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคต่างๆ ขยายตัว

นอกจากนี้ยังถูกกดดันจากสหรัฐอย่างหนักหน่วงขึ้น ในด้านการเงิน การค้าและการลงทุน เพื่อให้เปิดกว้างยิ่งขึ้น (ดูบทความของ Sit Tsui และคณะ ชื่อ Renminbi : A Century of Change ใน monthlyreview.org ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2018)

ในปี 1997-1998 ได้เกิดวิกฤติการเงินโลก เริ่มจากเอเชียตะวันออกลามไปยังรัสเซีย ละตินอเมริกา สถาบันการเงินในนิวยอร์ก สเปน กรีซ ไอร์แลนด์และยุโรป เนื่องจากการเงินโลกเป็นแบบโลกาภิวัตน์โดยมีดอลลาร์สหรัฐเป็นแกน ค้ำจุนด้วยแสนยานุภาพที่ไม่มีใครพิชิตได้

สหรัฐเล่นเกมการเงินอย่างเชี่ยวชาญเพื่อแก้ปัญหาของตน และผลักปัญหาให้ผู้อื่น แต่วิกฤติการเงินครั้งนี้กลับลามสู่ประเทศตน

ต้องอาศัยการร่วมมือจากจีนในการช่วยแก้ไข แรงกดดันต่อจีนจึงบรรเทาลงบ้าง

ระหว่างปี 1998 ถึง 2003 จีนได้ใช้โอกาสนี้ในการปัดเป่าวิกฤติการเงินออกไป พร้อมกับดำเนินการปฏิรูประบบธนาคาร ที่สำคัญคือธนาคารของรัฐให้เป็นเชิงพาณิชย์ จนกระทั่งก้าวขึ้นมาสู่ฐานะการเป็นมหาอำนาจทางการเงินของภูมิภาคเอเชียตะวันออก ที่จีนรอดพ้นจากวิกฤติ 1998 ไปได้ ที่สำคัญเนื่องจากยึดมั่นในการรักษาอธิปไตยทางการเงิน โดยถือว่าสิ่งนี้เป็นหัวใจของอธิปไตยทางเศรษฐกิจ

แต่จีนที่ผูกพันและมีบทบาทในระบบการเงินโลกที่ไม่ยั่งยืน ย่อมไม่สามารถตักตวงผลประโยชน์จากระบบการค้าและการเงินโลกต่อไปได้เรื่อยๆ

ในปี 2005 จีนต้องประกาศให้ค่าเงินหยวนลอยตัวอย่างมีการจัดการ ทำให้เงินหยวนมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เป็นสัญญาณของการเปิดเสรีทางการเงิน และการทำให้เงินหยวนเป็นสากลอย่างเป็นรูปธรรม

หลังเกิดวิกฤติการเงินใหญ่ในสหรัฐ-สหภาพยุโรปที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจ-การเงินของจีน ก็มาถึงทางตันที่ต้องทะลุทะลวงออกไปอีกครั้ง ในปี 2015 จีนก็ประกาศแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ-การเงินครั้งใหญ่ เพื่อรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดต่ำเร็วเกินไป

ได้แก่ การปรับการเติบโตจากการเน้นการลงทุนและการส่งออก มาเป็นการบริโภคภายในประเทศ ปรับดอกเบี้ยธนาคารให้มีความยืดหยุ่น ประกันเงินฝากธนาคารในระดับหนึ่ง ปฏิรูปและเปิดกว้างเศรษฐกิจ-การเงินของประเทศ เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของตนต่อไป โดยเฉพาะในการค้าการลงทุนโครงการแถบและทาง ที่เป็นกลไกหลักการการช่วยทำให้เงินหยวนเป็นสากล ไอเอ็มเอฟก็รับลูกด้วยการประกาศให้เงินหยวนอยู่ในกลุ่มสกุลเงินที่ใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับเงินดอลลาร์ ยูโร และเงินเยน (ปี 2016)

แต่เรื่องก็ไม่ได้ง่ายเช่นนั้น เพราะว่าเงินหยวนเองมีบทบาทสำคัญทางการค้าราวร้อยละ 26 ของธุรกรรมทั้งหมดในโลก แต่ส่วนที่เป็นทุนสำรองมีเพียงร้อยละ 1 เศษๆ ตามหลังเงินเยนอีก ภายในประเทศต้องจัดความสมดุลระหว่างทุนการค้าส่งออก ทุนการเงินในประเทศ และทุนการเงินระหว่างประเทศ

ด้านภายนอกสหรัฐได้เปิดฉากทำสงครามการค้าแบบไม่สนใจผลประโยชน์ของจีน ตัวแบบการปฏิรูปเศรษฐกิจ-การเงินของจีนที่เน้นการสร้างความสมดุลถูกท้าทายอย่างหนัก

จีนอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านใหญ่กว่าทุกครั้ง การไม่ปฏิรูปและเปิดกว้างเศรษฐกิจ-การเงินอาจทำให้ผลได้จากการพัฒนาหลายสิบปีต้องล้มคลืนลง แต่ถ้าหากปฏิรูปมากเกินไปก็จะสูญเสียอธิปไตยทางการเงินที่นำมาสู่การล่มสลายทางเศรษฐกิจได้ สหรัฐและตะวันตกมีแนวโน้มเชื่อว่าจีนจะชะลอการปฏิรูปและเปิดกว้าง มากกว่าที่จะเปิดกว้างอย่างที่ให้สัญญา ดังนั้น การเงินจึงยิ่งทวีความสำคัญขึ้นอีกต่อความเป็นความตายของชาติและเศรษฐกิจโลก

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสงครามและการเผชิญหน้าหลายรูปแบบระหว่างจีน-สหรัฐ