สุรชาติ บำรุงสุข : แนวโน้มการประท้วง 2019

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

เสื้อเหลืองที่ปารีส! แนวโน้มการประท้วง 2019

“เขา [ประธานาธิบดีมาครง] ปล่อยให้ไมตรีจิต [ของประชาชน] ที่นำพาเขาขึ้นสู่อำนาจหลุดลอยไป ชื่อเสียงของเขาในการเป็นผู้อยู่ไกลเกินเอื้อมและเย่อหยิ่งจึงเป็นสิ่งที่เขาสมควรได้รับ”

บทบรรณาธิการเดอะการ์เดียน

หนึ่งในข่าวสำคัญในเวทีระหว่างประเทศก่อนที่ปี 2018 จะปิดฉากลง คงหนีไม่พ้นการประท้วงใหญ่ที่ฝรั่งเศส

การประท้วงครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่ออนาคตของรัฐบาลปารีสเท่านั้น หากแต่อาจจะเป็นการสร้างแบบแผนใหม่ของการประท้วงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

จนอดคิดไม่ได้ว่าการประท้วงของผู้คนจากชนชั้นต่างๆ ในฝรั่งเศสในปี 2018 จะเป็นการย้อนรอยประวัติศาสตร์ห้าทศวรรษของการประท้วงในปี 1968 ที่เป็นดังจุดเริ่มต้นของการประท้วงใหญ่ในเวทีโลกในทศวรรษ 70 หรือไม่

อีกทั้งผลจากการประท้วงรัฐบาลที่มีรากของปัญหามาจากความ “เหลื่อมล้ำ” และ “ความไม่เท่าเทียม” ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสนั้น จะส่งผลอย่างไรต่ออนาคตของการประท้วงทั้งในยุโรปและในโลก

และต่อการเมืองฝรั่งเศสเองในปี 2019

ประวัติศาสตร์แห่งการประท้วง

สําหรับนักประวัติศาสตร์การเมืองแล้ว การประท้วงไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ “แปลกแยก” สำหรับผู้คนในสังคมฝรั่งเศสแต่อย่างใด

หรือมีคำกล่าวเปรียบเปรยเสมอว่า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่เราจะเห็นชาวฝรั่งเศสออกมาเดินประท้วงบนท้องถนน

ประเทศนี้ไม่ใช่ “คนแปลกหน้า” สำหรับการประท้วง จนดูเหมือนว่าจำนวนการประท้วงในฝรั่งเศสจะมีมากกว่าในประเทศอื่นๆ ในยุโรป

และการประท้วงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเมืองฝรั่งเศส และแม้ระบอบประชาธิปไตยจะเข้ามาทดแทนระบอบการปกครองเดิมในปี 1789 แต่วัฒนธรรมของการออกมาประท้วงบนถนนยังคงเป็นมรดกต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในยามที่ผู้คนรู้สึกถึงความไม่เทียมและไม่เป็นธรรม…

ถนนในกรุงปารีสยังคงเป็นพื้นที่หลักของการประท้วงไม่แตกต่างจากเดิม

วันนี้ผู้คนที่ไม่พอใจรัฐบาลออกมาเดินบนท้องถนนอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ได้มีเฉพาะในปารีสเท่านั้น การประท้วงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ

หากมองจากประวัติศาสตร์ว่า การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ของประเทศก็เริ่มมาจากการประท้วงของคนงาน พวกเขามีความรู้สึกร่วมกันถึงการถูกรัฐบาล “รีดภาษี”

และที่สำคัญ พวกเขารู้สึกอย่างมากถึง “ความเหลื่อมล้ำ” และ “ความไม่เท่าเทียม” ทางเศรษฐกิจในสังคม และมีทัศนะว่ารัฐบาลของระบอบการปกครองเก่าไม่ได้เป็นตัวแทนของพวกเขา ทั้งยัง “อยู่ไกลเกินเอื้อม”…

พวกเขามองว่ารัฐบาลไม่มีความรู้สึกร่วมหรือรับรู้ถึงปัญหาของประชาชน

วันนี้ผู้ประท้วงในสังคมฝรั่งเศสมีความรู้สึกเหมือนกับพวกเขากำลังย้อนอดีตกลับไปสู่ก่อนการปฏิวัติใหญ่ในปี 1789

คนเหล่านี้ใช้ “เสื้อกั๊กสีเหลือง” (Yellow Vests หรือในภาษาฝรั่งเศสคือ Gilet Jaunes) เป็นสัญลักษณ์ และพวกเขาเขียนตัวอักษรบนกำแพงว่า “มาครง=หลุยส์ที่ 16” หรือพ่นสีว่า “กษัตริย์มาครง” (King Macron)

สิ่งเหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนอย่างน่าสนใจถึงความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลว่า แม้จะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ก็เป็นดังรัฐบาลในระบอบเก่าที่ “อยู่ไกลเกินเอื้อม” จากประชาชนแล้ว

และในครั้งนั้นการประท้วงจบลงด้วยการปฏิวัติใหญ่

กำเนิดเสื้อกั๊กเหลือง

ผู้นำฝรั่งเศสปัจจุบันถูกมองจากบรรดาผู้ประท้วงว่า เขาเป็นตัวแทนของชนชั้นนายทุนมากกว่าจะยืนกับประชาชน จนมีการตั้งสมญาว่าเขาเป็น “สหายของคนรวย” (Friend of the Rich)

หรือเป็น “ประธานาธิบดีของคนรวย” (The President of the Rich)

และมองด้วยทัศนะว่า รัฐบาลมีแต่นโยบายช่วยคนรวย และทอดทิ้งผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศ

ดังนั้น เมื่อการประท้วงขยายตัวทั้งจำนวนผู้เข้าร่วมและความรุนแรง แม้รัฐบาลจะหาทางประนีประนอม

แต่ภาพลักษณ์ของประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้ถูกทำลายลงแล้วในครั้งนี้

หรือที่กล่าวว่าการแก้ปัญหาการชุมนุมของรัฐบาล “ช้าเกินไปและน้อยเกินไป”

สำหรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศก็ต้องถือว่ารัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา

ดังจะเห็นได้ว่าอัตราการว่างงานของฝรั่งเศสนั้นสูงมากกว่าร้อยละ 9 ซึ่งสูงที่สุดในยุโรป

และใช้นโยบายการขึ้นภาษี สิ่งนี้ทำให้ปัญหาเศรษฐกิจในชีวิตประจำวันของคนในสังคมเชื่อมต่อได้อย่างลงตัวกับการต่อต้านรัฐบาล

โดยการต่อต้านนี้เริ่มต้นมาจากคนงานและชนชั้นกลางระดับล่างที่รู้สึกตลอดเวลาว่า รัฐบาลที่เป็นพวกชนชั้นนำทอดทิ้งพวกเขา และละเลยความต้องการทางเศรษฐกิจของพวกเขาด้วย

ซึ่งปัญหานี้เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ชัยชนะของประชานิยมปีกขวา เช่น ในอิตาลี โปแลนด์ อังกฤษ (กรณี Brexit) รวมถึงการขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีทรัมป์ในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ความรู้สึกต่อต้านเกิดจากรัฐบาลประกาศขึ้นภาษีทรัพย์สิน และตามมาด้วยจุดหักเหสำคัญคือการประกาศขึ้นภาษีเชื้อเพลิง ซึ่งภาษีนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตของคนจน

โดยเฉพาะผลต่อชีวิตของคนระดับล่างในฤดูหนาว และความรู้สึกว่ารัฐบาลละทิ้งคนจน และไม่ใส่ใจกับปัญหาของคนทั่วไป กลายเป็นความรู้สึกที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง

“Yellow vests” (gilets jaunes) protestors clash with riot police amid tear gas on the Champs Elysees in Paris on December 8, 2018 during a protest of against rising costs of living they blame on high taxes. – Paris was on high alert on December 8 with major security measures in place ahead of fresh “yellow vest” protests which authorities fear could turn violent for a second weekend in a row. (Photo by Lucas BARIOULET / AFP)

จากเดิมเมื่อการประท้วงเริ่มขึ้นนั้น กลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองถูกมองว่าเป็นเพียงการรวมตัวของชนชั้นล่าง

แต่ผลของความรู้สึกร่วมที่เกิดขึ้นทำให้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมตัดสินใจเข้าร่วมการประท้วงด้วย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มคนขับรถบรรทุก ตลอดรวมถึงบรรดาคนงานบางส่วน

พวกเขาประกาศว่า การเข้าร่วมการต่อสู้ในครั้งนี้เป็นเพราะ “ทุกกลุ่มในสังคมล้วนได้รับผลกระทบจากความอยุติธรรมทางสังคมในโลกสมัยใหม่” ไม่แตกต่างกัน

และเสียงสนับสนุนต่อการประท้วงครั้งนี้มีมากขึ้น ประมาณว่าราวร้อยละ 70 ของคนฝรั่งเศสเห็นด้วยกับการประท้วง

โดยเฉพาะเกิดความรู้สึกว่าชนชั้นนำทางการเมืองได้ “ทรยศ” ต่อพวกเขา

และยิ่งเศรษฐกิจแห่งชาติเติบโตมากเท่าใด ประชาชนทั่วไปกลับยิ่งยากจนลงเท่านั้น

การรวมกลุ่มครั้งนี้มีลักษณะเป็น “ขบวนการของทุกฝ่าย” (คือเป็น “inclusive movement” อย่างแท้จริง) จนนักวิชาการบางคนมองว่า การรวมตัวครั้งนี้เป็น “ขบวนการประชาชน” อย่างแท้จริง

เพราะคำว่า “ประชาชน” (The People) นั้น ถือเป็นหนึ่งในคำศักดิ์สิทธิ์ของการเมืองฝรั่งเศส

แน่นอนว่าการเขียนบนกำแพงเชิงเปรียบเทียบว่าประธานาธิบดีมาครงเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นั้น ไม่ได้มีความหมายว่า กลุ่มผู้ประท้วงต้องการ “ตัดศีรษะ” ของเขากลางกรุงปารีสแต่อย่างใด

หากแต่การประท้วงคือการส่งสัญญาณว่า เสียงของพวกเขาไม่ได้ยิน… รัฐบาลไม่เคยฟังเสียงประชาชน และเป็นการสื่อสารโดยตรงถึงรัฐบาลอีกว่า ความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจจะไม่ได้รับการอดทนอีกต่อไป

การประท้วงในเงื่อนไขเช่นนี้จึงไม่ต้องการผู้นำในการชุมนุมแบบเดิมๆ

แต่เกิดขึ้นจากความรู้สึกร่วมของประชาชน และพร้อมที่จะออกมาเดินบนถนนร่วมกัน

การประท้วงครั้งนี้จึงมีลักษณะแบบใหม่ที่เป็นแบบ “ไร้ผู้นำ” แต่ผู้เข้าร่วมเชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ข่าวสารแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และยิ่งข่าวสารกระจายออกไปมากเท่าใด ก็ยิ่งนำไปสู่การมีความรู้สึกร่วมมากขึ้นเท่านั้น

ทัศนะอย่างนี้เกิดขึ้นกับคนในหลากหลายอาชีพ และพวกเขามีความรู้สึกร่วมที่จะพาตัวเองออกมาบนถนน โดยมีพื้นฐานทางความคิดที่สำคัญว่า สำหรับชาวฝรั่งเศสแล้ว การประท้วงคือการพูดโดยตรงกับผู้มีอำนาจ

การสื่อสารทางการเมืองด้วยการประท้วงเช่นนี้มิได้หมายความว่าจะต้องนำไปสู่อาการ “เลือดตกยางออก” เสมอไป

สำหรับชาวฝรั่งเศสหลายคนแล้ว พวกเขามีความคิดที่ยึดโยงกับแก่นรากของการเมืองฝรั่งเศสที่ถือกันว่า “จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์การเมืองฝรั่งเศสคือการปฏิวัติ”

อันทำให้ผู้ประท้วงหลายคนคาดหวังว่า การประท้วงครั้งนี้จะเป็นดังการปฏิวัติครั้งใหม่ของฝรั่งเศส

วัฒนธรรมแห่งการประท้วง

การประท้วงของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองที่ขยายวงและนำไปสู่การเข้าร่วมของกลุ่มต่างๆ ทำให้มีการกล่าวถึงการประท้วงใหญ่ในปี 1968 ในครั้งนั้นเป็นการจับมือระหว่างนักศึกษาและคนงาน จนถือกันว่าเป็นดัง “การปฏิวัติครั้งที่สอง”

แม้พวกเขาจะถูกปราบปรามและพ่ายแพ้ในการประท้วง แต่พวกเขาก็ชนะในเชิงนโยบายที่ทำให้เกิดการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 35 และเงินเดือนร้อยละ 10

ฉะนั้น แม้รัฐบาลจะสลายการชุมนุมได้ แต่ผู้นำรัฐบาลในขณะนั้นก็สูญเสียความชอบธรรมอย่างมาก และประธานาธิบดีเดอโกลต้องลงจากอำนาจในปีถัดมา

นอกจากนี้ การประท้วงในฝรั่งเศสยังนำไปสู่การปฏิรูปในเรื่องสำคัญของประเทศ เช่น การประท้วงใหญ่ได้บังคับให้รัฐบาลปารีสต้องปฏิรูประบบการรับคนเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยในปี 1986 การปฏิรูปเงินบำนาญของคนทำงานในระบบขนส่งสาธารณะในปี 1995 ก็เกิดจากการประท้วงใหญ่ หรือการปรับค่าตอบแทนของบัณทิตที่จบมหาวิทยาลัยในปี 2006 เกิดจากการประท้วงเช่นกัน

จนอาจกล่าวได้ว่าการประท้วงคือเครื่องมือหลักในการต่อสู้กับรัฐบาล

หรือในอดีตก็เห็นถึงการเกิด “กบฏชาวนา” หลายครั้งในชนบท

ดังนั้น คงต้องยอมรับความเป็นจริงทางการเมืองว่า การประท้วงของชนขั้นล่างที่เสียเปรียบทางเศรษฐกิจดูจะเป็นเรื่องปกติในประวัติศาสตร์การเมืองฝรั่งเศส

และในทุกการประท้วงก็จะมีการสร้างสิ่งกีดขวางบนถนนในปารีส ดังเช่นที่ปรากฏในงานของนักเขียนใหญ่อย่างวิกเตอร์ ฮิวโก เรื่อง “เหยื่ออธรรม” (Les Miserables) และที่สำคัญการประท้วงคือหลักประกันของความสำเร็จของการเรียกร้องทางการเมือง เพราะหากปราศจากการประท้วงแล้ว โอกาสที่รัฐจะตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประชาชนคงเป็นไปได้ยาก

วันนี้การประท้วงใหญ่ก็หวนกลับมาเป็นเครื่องมือของประชาชนในการต่อสู้กับรัฐบาลไม่แตกต่างจากเดิม

ถนนในปารีสเคยรองรับการเรียกร้องของคนชั้นล่างมาแล้วเช่นไร วันนี้ถนนก็ยังคงทำหน้าที่เดิมไม่เปลี่ยนแปลง

และมีภาพของสิ่งกีดขวางบนถนนไม่ต่างจากสิ่งที่เราเห็นจากภาพยนตร์หรือบทละคร

ปัญหาและความไม่แน่นอน!

น่าสนใจว่าการประท้วงของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองเช่นนี้จะทำให้ “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” กับอดีตของประธานาธิบดีเดอโกลที่ต้องลาออกหลังจากการประท้วงใหญ่ในปี 1968 หรือไม่

เพราะเห็นได้ชัดว่าในขณะนี้เสียงสนับสนุนประธานาธิบดีลดลงอย่างมาก และบ่งบอกว่าอนาคตของประธานาธิบดีหนุ่มคนนี้อาจจะประสบปัญหาอย่างแน่นอน

แต่สิ่งที่เป็นความกังวลในอนาคตก็คือ ความพ่ายแพ้ของเขาจะเป็นหนทางไปสู่ชัยชนะของประชานิยมปีกขวาที่ปารีสหรือไม่

และหากเป็นเช่นนี้แล้ว ความหวังว่าความร่วมมือที่สำคัญระหว่างเยอรมนีและฝรั่งเศสจะเป็น “เสาหลัก” ที่ค้ำประกันความเข้มแข็งของสหภาพยุโรปในอนาคต ก็อาจจะเป็นความท้าทายย่างยิ่ง

เพราะหากกลุ่มการเมืองปีกขวาที่มีทิศทางในแบบของพรรคแนวร่วมแห่งชาติเมื่อครั้งหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งก่อน และหากพรรคนี้ชนะแล้ว ก็จะกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หากฝรั่งเศสตัดสินใจถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (ดังเช่นกรณี Brexit)

ในอีกด้านหนึ่งการรวมตัวของคนชั้นล่าง (ชนชั้นคนงาน) และคนชั้นกลางระดับล่างจากตัวแบบในฝรั่งเศส กำลังกลายเป็นสัญญาณทางการเมืองใหม่ของปี 2019 และได้ขยายตัวเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และสวีเดนแล้ว

อาจจะไม่ต่างกับการขยายตัวของการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 หรือการปฏิวัติ 1968 ในอดีต ถ้าเช่นนั้นแล้วตัวแบบเช่นนี้จะส่งผลต่อการชุมนุมประท้วงของคนในชนชั้นนี้ในอนาคตอย่างไร

อีกทั้งหลังจากชัยชนะของประชานิยมปีกขวาจากตัวแบบในอังกฤษและสหรัฐในปี 2016 แล้ว การประท้วงในฝรั่งเศสครั้งนี้กำลังบ่งบอกอีกครั้งถึงความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นกับระบอบประชาธิปไตยในโลกปัจจุบัน จะทำอย่างไรเมื่อคนโดยทั่วไปในสังคมรู้สึกอย่างมากกับสภาวะ “คนรวย ยิ่งรวย… คนจน ยิ่งจน” และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนี้เกิดจากการ “ทรยศ” ของผู้นำรัฐบาล ฉะนั้น ปัญหาสำคัญที่ระบอบประชาธิปไตยจะต้องแก้ไขให้ได้ก็คือปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น ในสภาวะที่ประชาชนต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจ และรู้สึกว่ารัฐบาลคือตัวแทนของพวก “คนรวย” นั้น เครื่องมือสองประการที่ประชาชนมีอยู่กับตัวคือ หนึ่ง “มีเท้า” ออกมาเดินบนถนนเช่นที่ปารีส และการประท้วงคือการสื่อสารทางตรงกับผู้มีอำนาจ… อำนาจของคนจนผู้ใต้ปกครองอยู่บนถนนเสมอ

และสอง “มีมือ” ที่จะจับปากกา!โดยไม่ลงคะแนนให้กับผู้ที่ทรยศต่อประชาชน…

อำนาจของประชาชนมีเต็มที่เสมอในคูหาเลือกตั้ง